มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม – กาลเวลาพิสูจน์ความดี

มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม – กาลเวลาพิสูจน์ความดี

ชีวิตเปรียบเสมือนการเดินทางไกล การเดินทางจำเป็นต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ การเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน จะต้องมีเสบียง คือ บุญ บุญเป็นสิ่งที่ชำระใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์ ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบหลักการในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธไว้ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ ต้องละชั่วทุกอย่าง
กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจให้ผ่องใส

ชาวพุทธทั้งหลายได้ถือปฏิบัติ สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ นอกจากนี้ พระพุทธองค์ทรงประทานวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ว่า “ไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่เบียดเบียนใคร มีความสำรวมในศีล รู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักที่นอนที่นั่งอันสงัด และประกอบความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

เมื่อมีความไม่เข้าใจใดๆเกิดขึ้น พระพุทธองค์ทรงสอน ไม่ให้ไปว่าร้ายใคร หรือไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร คิดแล้วตรองแล้วว่า สิ่งที่เราทำนั้นดีอยู่แล้ว ให้ทำความดีต่อไป อย่าได้หวั่นไหว ให้อดทน อย่าไปประทุษร้ายใคร แม้เขาจะไม่เห็นด้วย หรือขัดขวางการทำความดีของเราก็ตาม พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญการเบียดเบียน หรือการทำร้ายซึ่งกันและกัน เพราะนั่นเป็นทางมาแห่งบาปอกุศล ให้หันกลับมาพิจารณาตนเอง สำรวมในศีล รักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่าให้ด่างพร้อย ตรงไหนบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพิ่มเติมความบริสุทธิ์เข้าไปทุกวัน

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภค รับประทานแต่พอดี นั่งหรือนอนที่ไหนดูให้เหมาะสมกับตนเอง ให้หาสถานที่ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้เข้าถึงธรรมง่ายๆ ควรเป็นสถานที่ที่สงบสงัดจากเสียงรบกวน เหมาะแก่การฝึกใจให้หยุดนิ่ง ทำความเพียรให้เต็มที่ ทำจิตให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ถ้าทำได้อย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา สมกับที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง

* ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา มีมหาชนศรัทธาเลื่อมใส ออกบวชตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก มนุษย์และเทวาทั้งหลายต่างมาฟังธรรมจากพระองค์จนมีดวงตาเห็นธรรมกันนับไม่ถ้วน เมื่อสาวกของพระพุทธองค์มีมากขึ้น พระพุทธศาสนาแผ่ขยายกว้างขวางออกไป เกียรติคุณขจรขจายไปทั่วทั้งชมพูทวีป ทำให้พวกเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเสื่อมจากลาภสักการะ เป็นเช่นกับแสงของหิ่งห้อยในยามที่พระอาทิตย์ส่องแสง ความศรัทธาที่พวกตนเคยได้รับก็ถดถอยลงไป เพราะคำสอนที่ไม่มีแก่นสารสาระอะไรนั่นเอง

พวกเดียรถีย์เหล่านั้น จึงป่าวประกาศให้มหาชนได้ทราบว่า “มิใช่เพียงพระสมณโคดมเท่านั้นที่เป็นพระพุทธเจ้า แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่ถวายพระสมณโคดมมีผลมากอย่างไร ทานที่ถวายพวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงมาถวายทานแก่พวกเราเถอะ”

ถึงจะเที่ยวป่าวประกาศอย่างไร คำพูดนั้นก็ไร้ผล ความศรัทธาและลาภสักการะยิ่งเสื่อมถอยลงไปทุกวันๆ ในขณะที่พระพุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีคนมานับถือกันมาก เพราะผู้ปฏิบัติต่างได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั่นเอง พวกเดียรถีย์จึงประชุมกันว่า “พวกเราควรร่วมมือกัน หาอุบายใส่ร้ายพระสมณโคดม เพื่อให้เกิดความมัวหมอง คนทั้งหลายจะได้ไม่เลื่อมใส กลับมาเป็นพวกของเราตามเดิม ลาภสักการะทั้งหมดจะตกเป็นของเรา”

ในกรุงสาวัตถี มีปริพาชิกาคนหนึ่ง ชื่อว่า จิญจมาณวิกา นางเป็นหญิงรูปงาม ความงามของนางเปรียบประดุจเทพอัปสรในสรวงสวรรค์ สวยงามจนมีรัศมีเปล่งออกจากสรีระของนาง พวกเดียรถีย์เหล่านั้น คิดที่จะใช้นางเป็นเครื่องมือในการล้มล้างพระพุทธศาสนา เมื่อจิญจมาณวิกาไปสู่อารามของเหล่าเดียรถีย์ พวกเดียรถีย์แกล้งกล่าวให้นางเห็นใจว่า “นี่เธอ…พระสมณโคดมทำให้พวกเราเป็นทุกข์ใจมาก ต้องเสื่อมจากลาภสักการะ ได้รับความลำบาก ถ้าหากเธออยากให้พวกเรามีความสุข จงหาโทษให้พระสมณโคดมเถิด หากเธอทำได้ จะเป็นกุศลใหญ่แก่เธอ”

นางหลงเชื่อ จึงตอบตกลงที่จะทำตามคำแนะนำของพวกเดียรถีย์ ในตอนเย็น จึงเริ่มแผนการด้วยการเดินมุ่งหน้าไปวัดพระเชตวัน แต่งตัวเรียบร้อย ถือดอกไม้ของหอมเข้าไป เดินสวนทางกับสาธุชนทั้งหลายที่กลับจากการฟังธรรม เมื่อเดินสวนทางกัน คนก็สงสัย จึงถามว่า…

“นี่เธอจะไปไหนล่ะ”
นางตอบว่า “ฉันจะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า”

แต่พอลับสายตาของคนทั้งหลาย แทนที่นางจะเข้าไปในวัด กลับแวะไปพักค้างที่อารามของพวกเดียรถีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดพระเชตะวัน

ในตอนเช้า เมื่อสาธุชนออกจากพระนครไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นางทำทีเหมือนกับเพิ่งออกมาจากวัดพระเชตวัน เดินสวนทางกับสาธุชนเหล่านั้น

ครั้นเขาถามว่า “แม่นาง เมื่อคืนเธอไปนอนที่ไหนมา”
นางตอบว่า “เมื่อคืนฉันพักอยู่ในวัดพระเชตะวันนี่แหละ”

ทำอยู่อย่างนี้เป็นเดือน เมื่อถูกถามอีก จึงบอกว่า “ฉันพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม”

พุทธบริษัททั้งหลายที่เป็นปุถุชนอยู่ เกิดความคลางแคลงสงสัย บางคนก็เชื่อ เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นทุกวัน ล่วงไป ๓-๔เดือน นางทำเหมือนว่าเริ่มตั้งครรภ์ โดยเอาผ้าพันท้องให้ดูหนาขึ้น ให้พวกเดียรถีย์ไปโพนทะนาว่า นางได้ตั้งครรภ์กับพระสมณโคดม เวลาผ่านไป ๙เดือน นางทำเป็นครรภ์แก่ โดยเอาไม้กลมวางที่หน้าท้อง เอาผ้าห่มทับอีกที ให้พวกเดียรถีย์เอาไม้ทุบที่หลังมือหลังเท้าให้ดูบวมขึ้นมา เหมือนคนใกล้จะคลอด

เย็นวันหนึ่ง ในขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมแก่มหาชน นางได้เดินเข้าไปท่ามกลางฝูงชน หยุดยืนต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ พูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “พระองค์ดีแต่แสดงธรรมให้คนอื่น หม่อมฉันครรภ์แก่แล้ว ไม่เห็นมาสนใจเลย ทำไมพระองค์ไม่รีบไปหาสถานที่สำหรับคลอดลูกของเราล่ะ หากพระองค์ไม่ทำเอง ก็น่าจะบอกอุปัฏฐากให้จัดการให้ก็ได้”

นางด่าบริภาษพระตถาคตเจ้าในท่ามกลางพุทธบริษัท โดยไม่มีความละอาย พระพุทธองค์ทรงนิ่งอย่างประเสริฐ แล้วตรัสด้วยพระสุรเสียงอันสงบราบเรียบว่า “ดูก่อนน้องหญิง คำที่เธอกล่าวนั้นมีแต่เพียงเราและเธอเท่านั้นที่รู้กัน”

แล้วทรงนิ่งด้วยพระพักตร์ที่เป็นปกติ มหาชนที่มีศรัทธาตั้งมั่นก็ไม่หวั่นไหว แต่ผู้ที่มีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่ก็เริ่มไขว้เขว เกิดความคลางแคลงสงสัย

นางจิญจมาณวิกาบริภาษด่าว่าอยู่คนเดียวมิได้หยุดปาก จนเป็นเหตุให้อาสนะของท้าวสักกะมีอาการร้อน จึงสอดส่องทิพยจักษุลงมา ทรงทราบว่าจิญจมาณวิกากล่าวหาพระตถาคตด้วยคำที่ไม่จริง จึงดำริว่าเราจะต้องชำระคดีนี้ให้หมดจด แล้วเสด็จมาพร้อมกับเทพบุตร ๔องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ไว้ แล้วทำลมให้พัดผ้าห่มขึ้น นางมัวแต่ยืนด่าไม่ทันรู้ตัว ไม้กลมที่มัดไว้กลิ้งตกลงบนหลังเท้า นางได้รับความเจ็บปวด เมื่อความเป็นจริงปรากฏขึ้น นางตกใจมาก มหาชนรู้ความจริง จึงพากันไล่ทุบตีนาง นางรีบวิ่งหนีไป

พอลับคลองจักษุ คือ ลับจากสายตาของพระตถาคต แผ่นดินไม่สามารถจะรองรับกรรมอันชั่วช้าที่นางได้ทำไว้ จึงแยกออกเป็นช่อง เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจีมหานรก ดึงดูดนางลงไปสู่อเวจีมหานรกทันที เนื่องจากกรรมที่นางก่อขึ้นในครั้งนี้เป็นกรรมหนัก คือ ไปใส่ร้ายพระบรมศาสดาผู้บริสุทธิ์ จึงได้รับผลกรรมทันตาเห็น

จะเห็นได้ว่า ความจริงก็คือความจริง พระพุทธศาสนาเป็นของจริงแท้ ของแท้ย่อมทนต่อการพิสูจน์ เหมือนทองแท้ไม่กลัวไฟ ในขณะที่เรากำลังสั่งสมบุญบารมีอยู่นี้ เป็นธรรมดาที่จะต้องพบกับอุปสรรค แต่ไม่ว่าอุปสรรคจะมาในรูปแบบไหน มากน้อยเพียงไร ต้องไม่หวั่นไหว ตั้งใจทำความดีเรื่อยไป หลวงพ่อขอยืนยันว่า “ทำดีต้องได้รับผลแห่งความดี ทำบุญย่อมได้บุญ” กาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์การทำความดีของเรา

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รักษาความสงบของใจไว้ ทำใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจเป็นกลางๆ อย่ายินดียินร้าย จงอดทนประหนึ่งช้างศึกที่เข้าสู่สงคราม โดยไม่ครั่นคร้ามต่อคมลูกศรของข้าศึกที่มาจากทิศทั้งสี่ จงอดทนประหนึ่งผ้าขี้ริ้วหรือผ้าเช็ดเท้าที่คอยแต่จะทำความสะอาดให้กับทุกๆคน

ให้ทุกคนอย่าได้หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น อุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องพบ ถ้าทำใจให้หยุด เดี๋ยวก็จะเกิดปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้โดยไม่ยากอะไร การฝึกใจให้หยุดนิ่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหยุดได้ก็เข้าถึงความสุขภายใน ไม่เป็นทุกข์ ปัญหาทั้งหลายจะไม่เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจ ดังนั้นควรฝึกหยุดฝึกนิ่งใจให้ดี “ผู้ที่มีใจหยุดแล้วเท่านั้น จึงจะมีความสุขท่ามกลางความทุกข์ได้”

* มก. นางจิญจมาณวิกา เล่ม ๔๒ หน้า ๒๕๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5310
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *