มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – บัณฑิตผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – บัณฑิตผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์

เราเกิดมาสร้างบารมี มีเป้าหมายว่าจะทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อไปดับต้นเหตุแห่งทุกข์ ให้เข้าถึงบรมสุขอันแท้จริงที่เป็นนิรันดร์ เมื่อเรามีความตั้งใจที่ดีอย่างนี้แล้ว ก็ต้องทำความดีของเราให้เต็มที่ สร้างบารมีให้สมบูรณ์ ซึ่งทุกๆวันเราได้ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส จะได้มีกำลังใจที่เข้มแข็งในการสร้างบารมี และอาจหาญในการทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ไปชักชวนผู้มีบุญทั้งหลายให้มาสร้างบารมี จะได้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม เพราะเราเกิดมาก็เพื่อการนี้

ฉะนั้น ให้ขวนขวายตักตวงบุญกุศลกันให้เต็มที่ คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการสร้างบารมีเท่าไร เพราะเขาไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร แต่พวกเราทุกคนรู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และจะมีผลดีต่อชีวิตในปัจจุบันนี้เรื่อยไปเลย ตั้งแต่ชีวิตที่เป็นปุถุชนจนถึงได้เป็นพระอริยเจ้า ดังนั้น เราต้องสร้างบารมีทุกๆวัน และก็ชวนชาวโลกให้มาสร้างบารมีด้วย ให้ใช้วันเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อภินันทสูตร ว่า

“ผู้ใดมีความเพลิดเพลินในรูป ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์”

เราเกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่ทำให้น่าเพลิดเพลินอยู่มาก ทั้งรูปที่สวยๆ เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมๆ รสที่อร่อย สัมผัสที่นุ่มนวลและธรรมารมณ์ที่น่าพอใจ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้รู้แจ้ง เห็นแจ้ง ทรงรู้ว่าอะไรเป็นของจริง อะไรเป็นเพียงเครื่องอาศัยที่ไม่ควรไปติดยึด ท่านจึงตรัสสอนเพื่อเตือนสติพวกเราทั้งหลายว่า อย่าไปมัวหลงใหลเพลิดเพลินกับสิ่งอันน่าพอใจที่ไม่จริงไม่จังเหล่านี้ ซึ่งมีสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะผู้ที่ลุ่มหลงเพลิดเพลินไปกับเบญจกามคุณทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่ากำลังเพลิดเพลินอยู่กับทุกข์และจะไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้

เราเกิดมาภพชาตินี้ ไม่ได้มาเสวยสุข หรือมาเพื่อเพลิดเพลินอยู่ในโลกให้หมดเวลาไปวันหนึ่งๆ แต่เราเกิดมาเพื่อต้องการโอกาสที่จะสร้างบารมี โลกนี้เป็นโลกแห่งการสร้างบารมี สิ่งที่เราจะต้องทำในขณะนี้ คือ ต้องสร้างบุญสร้างบารมีติดตัวไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนาให้เต็มที่ โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้พ้นทุกข์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวของเราเองโดยตรง

การแสวงหาหนทางที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์ เพื่อให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง กระทั่งได้พบกับพระรัตนตรัยภายใน เป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของทุกๆคน ที่จะต้องลงมือปฏิบัติเป็นอันดับแรก ส่วนความเพลินในโลกติดในวัตถุไม่ใช่สิ่งสำคัญ และไม่ใช่สาระแก่นสารของชีวิต เราเป็นนักสร้างบารมี ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรเป็นสาระ อะไรไม่เป็นสาระ อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ อะไรมีคุณ และอะไรมีโทษ เราจะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด หรือหวั่นไหวต่อสิ่งรบกวนยั่วเย้าทั้งหลาย รวมทั้งอุปสรรคที่เราพบเห็นในชีวิต ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นจะลงก็ตาม แต่ใจเราอย่าไปขึ้นลงตาม ให้รักษาใจให้หยุดนิ่งไว้ เราจะได้ไม่เป็นทุกข์ใจ

ความรู้ที่จะทำให้ใจไม่เป็นทุกข์ หรือเพื่อให้พ้นทุกข์ ใครๆก็อยากจะรู้ เพราะทุกคนไม่ชอบความทุกข์ อยากจะหนีให้ห่างไกล แต่ยิ่งหนีก็เหมือนยิ่งวิ่งเข้าหาความทุกข์ เพราะไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง และหาใครมาช่วยดับทุกข์ให้ไม่ได้ เพราะทุกข์นั้นเกิดขึ้นที่ใจของแต่ละคน แต่กว่าจะมีผู้มาแนะนำวิธีการดับทุกข์ หาได้ยากแสนยาก ต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นในโลก เราจึงจะทราบวิธีการที่จะพ้นทุกข์ โดยอาศัยศึกษาจากคำสอนของพระพุทธองค์ เหมือนในสมัยพุทธกาล บัณฑิตนักปราชญ์จะแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ แต่ว่าไม่พบ ตราบจนกระทั่งได้มาพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพบหนทางสว่าง เรื่องมีอยู่ว่า…

* ท่านอชิตะ ซึ่งเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญามากในสมัยนั้น ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ได้สำเร็จไตรเพทในสำนักของพราหมณ์พาวรี อชิตมาณพท่านนี้ เป็นคนละคนกับพระอชิตะภิกษุบวชใหม่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต และมีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย

อชิตมาณพได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยะ ทรงออกผนวชและได้ปฏิญาณพระองค์ว่า เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วทรงมีพระมหากรุณาแสดงธรรมสั่งสอนมหาชน มีคนเคารพเลื่อมใสกันมาก ต่างยอมสละความสะดวกสบายในทางโลก ที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณ มาเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ท่านอชิตะได้ทราบกิตติศัพท์อันดีงามนี้ จึงมีความเลื่อมใส เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา จึงทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ารู้น่าสนใจมากว่า “โลก คือ หมู่สัตว์อันอะไรปิดบังไว้ จึงเป็นผู้หลงดุจอยู่ในความมืด เพราะอะไรเป็นเหตุ จึงไม่มีปัญญาเห็นแจ้งปรากฏ และอะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตวโลกให้ติดอยู่ อะไรเป็นภัยใหญ่หลวงของสัตวโลกทั้งหลาย”

พระบรมศาสดา ทรงตอบคำถามของท่านอชิตะว่า “โลก คือ หมู่สัตว์อันอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง ปิดบังไว้ หมู่สัตว์จึงเป็นผู้หลงดุจอยู่ในที่มืด เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเพลิดเพลินในโลก จึงไม่มีปัญญาเห็นแจ้งปรากฏ เราตถาคตทราบชัดว่าความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตวโลกให้ติดอยู่ และเห็นแจ้งว่าทุกข์เป็นภัยใหญ่หลวงของสัตวโลกทั้งหลาย”

ท่านอชิตะฟังแล้วก็ปลื้มใจ มีดวงปัญญาสว่างไสวเกิดขึ้นในใจ และได้ตรัสถามปัญหาต่อไปอีกว่า “ขอพระองค์จงโปรดชี้แนะว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เครื่องปิดกั้นความอยาก ซึ่งเป็นประดุจกระแสน้ำหลั่งไหลไปในอารมณ์ต่างๆ ความอยากนั้นจะละได้เพราะอาศัยธรรมอะไร”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า “สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องปิดกั้น และป้องกันความอยาก ความอยากที่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆนั้น จะละได้เพราะอาศัยปัญญา”

ท่านอชิตะได้ถามต่อไปอีกว่า “เมื่อมีสติปัญญาแล้ว นามรูปจะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระองค์กราบทูลด้วยความใคร่รู้ ขอพระองค์โปรดเมตตาตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าอชิตมาณพเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ที่ใคร่ในการศึกษาจริงๆ จึงตรัสตอบคำถามที่ลึกซึ้งนั้นว่า “เรารู้ถึงที่ดับของนามรูปทั้งหมดอย่างไม่มีเหลือ เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับไป ณ ที่นั้นเอง”

ในขณะนั้นเอง ดวงตาเห็นธรรมได้บังเกิดขึ้นกับท่านอชิตะ และท่านได้ทูลถามถึงข้อควรปฏิบัติ โดยกล่าวถามอย่างชาญฉลาดว่า “ชนผู้ได้เห็นธรรมแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ สองพวกนี้มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก พระองค์มีปัญญาแก่กล้า ขอทรงโปรดตรัสบอกวิธีการปฏิบัติแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า “ผู้ได้เห็นธรรมแล้ว และชนผู้ต้องศึกษาอยู่ ต้องเป็นผู้ไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง และมีสติอยู่ทุกเมื่อ”

ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาให้อชิตมาณพแล้ว ท่านได้สำเร็จพระอรหัตผลในกาลบัดดล และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย

เราจะเห็นได้ว่า ผู้รู้กับผู้รู้สนทนากัน จะสนทนาแต่เรื่องที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ที่จะนำออกจากทุกข์ ให้หลุดพ้นออกไปจากภพทั้งสาม พูดแล้วชวนให้หมดกิเลสไปสู่อายตนนิพพาน ไม่ได้คุยเรื่องที่ติดอยู่ในโลกติดกับวัตถุเลย เราเป็นชาวพุทธต้องศึกษาไว้ จะได้รู้ว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นเปลือก เป็นกระพี้ ศึกษาแล้วก็ตั้งใจลงมือปฏิบัติกันให้ดี ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้ทุกๆคน

* มก. อชิตมาณพ เล่ม ๖๗ หน้า ๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5277
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *