มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – อบรมตนมุ่งสู่ทางสวรรค์

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – อบรมตนมุ่งสู่ทางสวรรค์

การเจริญสมาธิภาวนา เป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ พระสัทธรรมที่พระพุทธองค์ได้นำมาแสดงแก่พุทธศาสนิกชนนั้น จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งโดยอาศัยเพียงการอ่าน หรือฟังมาอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ จะต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงจะรู้แจ้งเห็นจริง เพราะธรรมะของพระพุทธองค์เป็นเอหิปัสสิโก ต้องลงมือพิสูจน์ด้วยตนเอง หากเข้าถึงแล้ว เราจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆไปตามความเป็นจริง ความสว่างไสวในดวงจิตจะบังเกิดขึ้น ขจัดความไม่รู้ คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้

มีวาระพระบาลีใน จุลลสุตโสมชาดก ว่า

“เราเข้าใจว่า ชีวิตนี้ถูกชรานำไป เป็นของนิดหน่อย ดุจน้ำในโคลน เมื่อชีวิตเป็นของน้อยเหลือเกินอย่างนี้ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะประมาทเลย เราเข้าใจว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย แม้ชีวิตเป็นของน้อยเหลือเกินอย่างนี้ แต่พวกคนพาล ย่อมพากันประมาท คนพาลเหล่านั้น ถูกเครื่องผูก คือ ตัณหา ผูกไว้แล้ว ย่อมยังนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน เปตวิสัยและอสุรกายให้เจริญ”

ชีวิตนี้เป็นของน้อย ผู้มีปัญญาจะต้องไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ดังเรื่องในอดีตกาล * เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดในพระครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต แห่งสุทัสนนคร ครั้นประสูติออกมา พระกุมารมีพระพักตร์ประหนึ่งดวงจันทร์ในวันเพ็ญ พระชนกชนนีได้ขนานพระนามว่า “โสมกุมาร”

เมื่อราชกุมารรู้เดียงสา ทรงเป็นผู้ที่สนใจในการฟังธรรม ชาวประชาจึงถวายพระนามว่า “สุตโสม” ครั้นเจริญวัย พระราชกุมารได้เสด็จไปเรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกศิลา จากนั้นก็เสด็จกลับมาเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา พระองค์มีสนมกำนัลถึง ๑๖,๐๐๐นาง มี พระนางจันทาเทวี เป็นอัครมเหสี

ต่อมา พระองค์ทรงประสงค์ที่จะเสด็จเข้าป่าเพื่อออกผนวช จึงรับสั่งกับนายภูษามาลาว่า “หากเจ้าเห็นผมที่ศีรษะของเราหงอก จงรีบบอกเราด้วย” ครั้นเวลาล่วงไปหลายพันปี นายภูษามาลาเห็นพระเกศาหงอกหนึ่งเส้น จึงกราบทูลพระราชา พระองค์ตรัสสั่งว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงถอนผมเส้นนั้นมาวางไว้ในมือเราเถิด” นายภูษามาลาจึงเอาแหนบทองถอนพระเกศาวางไว้ในพระหัตถ์

พ ระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรดูพระเกศาหงอกนั้น ทรงตกพระทัยว่า สรีระของเราถูกชราครอบงำแล้ว จึงทรงถือเส้นพระเกศาหงอกนั้นเสด็จลงจากปราสาท ประทับนั่งบนราชบัลลังก์ แล้วตรัสสั่งให้เรียกอำมาตย์ประมาณ ๘๐,๐๐๐คนมีเสนาบดีเป็นประมุข พราหมณ์ ๖๐,๐๐๐มีปุโรหิตเป็นประธาน และชาวแว่นแคว้นอีกมากมาย มาเข้าเฝ้าพลางตรัสว่า “เกศาหงอกเกิดที่ศีรษะของเราแล้ว เราเป็นคนแก่เฒ่า ท่านทั้งหลายจงรับรู้ว่า เราจะออกบรรพชาในวันพรุ่งนี้”

มหาชนได้ฟังพระดำรัสเช่นนั้นแล้ว เกิดความโกลาหล พากันทูลทัดทานไม่ให้ออกผนวช เมื่อไม่สามารถทูลทัดทานพระโพธิสัตว์ได้ ก็รีบส่งคนไปทูลพระมารดาของพระโพธิสัตว์ให้ทรงทราบ เมื่อพระราชชนนีทรงทราบก็รีบเสด็จมาทัดทานทันที

พระราชบิดารีบเสด็จมาห้ามเช่นกัน พลางตรัสว่า ” พ่อสุตโสม การบวชจะช่วยลูกได้อย่างไร เจ้าจะละทิ้งเราสองคนผู้แก่เฒ่า ไม่ห่วงใยเราทั้งสองเลยหรือ สุตโสมลูกรัก ถึงแม้ลูกไม่มีความสิเนหาอาลัยในมารดาบิดา แต่บุตรธิดาของลูกที่ยังเล็กๆมีอีกมาก ไม่อาจขาดลูกได้ ขอให้บุตรธิดาเหล่านั้นเจริญวัยก่อนเถิด ลูกจึงค่อยบวช”

พระบรมโพธิสัตว์ตรัสสั้นๆว่า “การพลัดพรากจากกันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ขอพระโอรสและพระธิดาของหม่อมฉันจงเสวยสมบัติอย่างมีความสุขเถิด ส่วนหม่อมฉันปรารถนาสวรรค์ จึงขอทูลลาออกบรรพชา ณ บัดนี้” เมื่อพระชายา ๗๐๐นางของพระโพธิสัตว์ ได้ยินข่าวการเสด็จออกผนวช ต่างรีบลงจากปราสาท พากันเข้าไปยึดข้อพระบาท ร้องไห้อ้อนวอนพระองค์ว่า “พระหทัยของทูลกระหม่อมจะตัดขาดจากหม่อมฉันทั้ง๗๐๐ ไปเชียวหรือ ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันในชาตินี้เถิด”

ส่วนพระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์ กำลังทรงพระครรภ์ ได้สดับข่าวก็รีบเสด็จมาทูลอ้อนวอนว่า “ข้าแต่พระสุตโสมผู้ประเสริฐ หม่อมฉันผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ มีความอาลัยอาวรณ์ในพระองค์ เหตุไรเมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้ออยู่ พระองค์จึงมิได้ทรงเยื่อใยจะทรงผนวชอย่างเดียว ข้าแต่พระสุตโสมผู้ประเสริฐ หม่อมฉันเป็นพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้วทำไมพระองค์จึงมิได้ทรงเยื่อใยในลูก ผู้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของหม่อมฉัน ครรภ์ของหม่อมฉันแก่แล้ว ขอพระองค์ทรงอยู่รอก่อน จนกระทั่งลูกหม่อมฉันประสูติเถิด อย่าให้หม่อมฉันเป็นหม้ายอยู่เพียงลำพังคนเดียวเลย”

พระโพธิสัตว์ทรงปลอบโยนพระนาง พร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารว่า “อย่าได้ทำอันตรายต่อการบรรพชาของเราเลย เรายังคงยืนยันในความตั้งใจเดิมว่า จะออกบรรพชาอย่างแน่นอน” ขณะนั้น กุลพันธนเศรษฐีได้ลุกขึ้นถวายบังคมว่า “ขอเดชะ ทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้ามีมากมาย ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะนับได้หมด ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายทรัพย์ทั้งหมดนั้นแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงยินดี อย่าทรงออกผนวชเลย พระพุทธเจ้าข้า”

จากนั้น มีผู้คนมากมายซึ่งต่างไม่ปรารถนาจะให้พระราชาออกผนวช พากันยื่นข้อเสนอมากมาย แต่พระองค์ไม่ได้ทรงยินดีกับสิ่งเหล่านั้น ยังคงมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะเสด็จออกบรรพชาให้ได้ พระองค์ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจว่า “ชีวิตนี้ถูกชรานำเข้าไป เป็นของน้อยนิด ดุจน้ำที่อยู่ในโคลน เมื่อชีวิตเป็นของน้อยเหลือเกินเช่นนี้ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะประมาท ถ้าเข้าใจว่า ชีวิตนี้ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย เป็นของน้อยเหลือเกินเช่นนี้ พวกคนพาลย่อมพากันประมาท พวกคนพาลถูกเครื่องผูก คือ ตัณหา ผูกไว้แล้ว ย่อมยังนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน เปตวิสัยและอสุรกายให้เจริญ แต่เราปรารถนาสวรรค์ เราจึงตัดสินใจออกบรรพชา”

พระราชาทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วเสด็จออกจากพระราชวังไป พระราชมารดา พระราชบิดา พระชายา พระโอรสธิดากับหญิงฟ้อน ๑๖,๐๐๐นาง ได้พร้อมใจกันสละสมบัติติดตามพระองค์ไปด้วย ชาวเมืองมากมายพากันชักชวนออกบวช ทั้งเมืองดูเหมือนว่างเปล่า เพราะทุกคนยินดีที่จะออกบวชตามพระเจ้าสุตโสม พระโพธิสัตว์ทรงพาบริษัทประมาณ ๑๒โยชน์ มุ่งตรงไปยังป่าหิมพานต์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ทุกท่านไม่ต้องทำมาหากิน อยู่ได้ด้วยอำนาจบุญและศีลที่ทุกคนรักษาไว้ดีแล้ว จึงสามารถปฏิบัติธรรมกันได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อละโลกแล้ว ต่างมีสวรรค์เป็นที่ไปกันถ้วนหน้า

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจทำความดีของบุคคลคนหนึ่ง มีความหมายต่อผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วน การตัดสินใจบวชไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว ย่อมมีผลทั้งต่อตนเอง และคนรอบข้างอีกมากมาย เพราะเป็นการฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น แล้วยังเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังอีกด้วย เพราะนี่คือหนทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน

เพราะฉะนั้น ในช่วงปิดภาคเรียนของทุกปี หลวงพ่อขอเชิญชวนเยาวชนชายทั้งหลายที่ไม่ติดภาระเรื่องการเรียน มาหาโอกาสศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฝึกเจริญสมาธิภาวนา เพื่อบ่มเนกขัมมบารมีของเราให้แก่รอบ เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสีขาว เส้นทางที่จะไปสู่ความสุขเป็นเส้นทางสายเดียวที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ในกาลก่อนได้ประพฤติปฏิบัติกัน

การบวชไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นประเพณีของชาวพุทธ ที่มีคุณค่าสำหรับเยาวชน ถือเป็นเส้นทางอันประเสริฐของชีวิต ที่จะทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิตของความเป็นคนที่สมบูรณ์มากขึ้น ท่านหญิงควรมาร่วมอบรมธรรมทายาทหญิง ท่านชายมาบวชอบรมธรรมทายาทชาย หรือท่านใดจะบวชกับพระอาจารย์ที่วัดใกล้บ้านก็ตามสะดวก ขอเพียงให้ตั้งใจฝึกฝนตนเองให้มีความรู้คู่คุณธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายในภาคฤดูร้อนนี้กันทุกคน

* มก. จุลลสุตโสมชาดก เล่ม ๖๑ หน้า ๖๙๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4711
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *