มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – โอกาสแห่งการบรรพชา

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – โอกาสแห่งการบรรพชา

การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุด ทั้งต่อตัวเราและต่อโลก การจะทำให้โลกเข้าถึงยุคแห่งสันติสุขที่แท้จริงได้ ต้องเริ่มต้นจากการปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ เพราะเป็นทางเอกสายเดียวที่จะเข้าสู่ภายในได้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีธรรมกายอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน พูดภาษาใดก็ตาม สามารถที่จะเข้าถึงธรรมกายได้เมื่อปฏิบัติถูกต้องและทำอย่างถูกวิธี ถ้าเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าถึงธรรมกาย การเริ่มลงมือปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจ และมีความวิริยอุตสาหะ มีความเพียรที่สม่ำเสมอ ย่อมจะเข้าถึงธรรมกายได้อย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท

การกลับได้อัตภาพมนุษย์เป็นการยาก
ความเป็นอยู่ของสัตว์หาได้ยาก
การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นสิ่งที่หาได้ยาก
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก

การเกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ นับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก และร่างกายของมนุษย์เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมีที่สุด เรายังโชคดีที่ได้เกิดมาในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ที่ผู้รู้ได้ถ่ายทอดกันมา จึงควรที่จะนำสิ่งที่เราได้โดยยากนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

การออกบวช เป็นหนทางที่จะนำเราไปสู่ความหลุดพ้น ทำให้เรามีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางลัดที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต การบวชอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสลัดออกจากกองทุกข์และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในโลก เพราะผู้บวชจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนบริบูรณ์ คือ ได้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ในดินแดนที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เกิดเป็นมนุษย์ มีร่างกายสมประกอบ ไม่พิกลพิการ ได้เกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฐิ และตนเองต้องเป็นสัมมาทิฐิบุคคลด้วย

นอกจากการบวช จะเป็นการให้โอกาสแก่ตัวเราเอง ที่จะได้สั่งสมบุญอย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเราอีกด้วย มารดาบิดานับเป็นบุคคลที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อเรา ท่านได้ให้กำเนิดกายเนื้อ เป็นต้นแบบทั้งทางกายและทางใจ ทำให้เรามีโอกาสสร้างความดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาโอกาสตอบแทนคุณของท่าน ใครทำได้เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นลูกยอดกตัญญู

ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “บุคคลจะพึงแบกมารดาไว้บนบ่าซ้าย แบกบิดาไว้บนบ่าขวา คอยป้อนข้าวป้อนน้ำ ให้ท่านถ่ายอุจจาระและปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง ปฏิบัติดูแลเอาใจใส่ท่านทั้งสองเป็นอย่างดี แม้มีชีวิตยืนยาวถึง ๑๐๐ปีก็ตาม ยังไม่ได้ชื่อว่า ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาอย่างแท้จริง”

ผู้ที่จะได้ชื่อว่า ตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาอย่างแท้จริงนั้น คือ ผู้ที่ชักชวนมารดาบิดาที่ยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้มีศรัทธา ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็ชักชวนให้ยินดีในการบริจาคทาน ถ้าท่านยังไม่ได้รักษาศีล ก็พยายามให้รักษาศีล ถ้าท่านยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ก็พยายามชักชวนให้ได้ปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้

การบวชเป็นโอกาสที่จะทำคุณประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและมารดาบิดา ตลอดจนหมู่ญาติทั้งหลาย เพราะหากไม่ได้บิดามารดาเป็นต้นแบบของกายมนุษย์ หรือหากเราพลาดพลั้งไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานแล้ว เราก็คงหมดโอกาสที่จะทำความดี หมดโอกาสที่จะชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี

เช่นในสมัยพุทธกาล * มีพญานาคตนหนึ่ง เกิดความอึดอัดอิดหนาระอาใจ รังเกียจกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานของตน เหตุเพราะเคยอธิษฐานจิตไว้ไม่ดี คิดว่าเป็นพญานาคแล้วจะมีความสุข แต่เมื่อได้อัตภาพนั้นกลับพบว่า ไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง จึงอยากจะพ้นจากอัตภาพของนาค ได้คิดอุบายว่า “เราจะต้องหากุศโลบายที่ทำให้ได้อัตภาพกลับเป็นมนุษย์อีก” นาคเห็นว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เคยเป็นกษัตริย์ครองกรุงกบิลพัสดุ์ พรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณทุกอย่าง แต่ทรงสละราชบัลลังก์ออกบวช โดยไม่มีความเยื่อใยอาลัยอาวรณ์ ประหนึ่งบุคคลบ้วนน้ำลายทิ้งแล้ว”

พญานาคคิดต่อไปว่า “ถ้าเราจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราก็จะได้อัตภาพกลับเป็นมนุษย์อีกครั้ง” จึงแปลงร่างเป็นชายหนุ่ม เข้าไปหาพระภิกษุเพื่อขอบรรพชา ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นพญานาคแปลงกายมา เห็นว่ามีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงอุปสมบทให้ พระภิกษุผู้เป็นพญานาคได้อยู่ในวิหารเดียวกันกับเพื่อนสหธรรมิกอีกรูปหนึ่ง

ในเวลาใกล้อรุณรุ่งของวันหนึ่ง เพื่อนสหธรรมิกลุกขึ้นจากจำวัด ออกไปเดินจงกรมแต่เช้าเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อภิกษุผู้เป็นนาคเห็นว่า เพื่อนสหธรรมิกออกไปแล้ว จึงวางใจและจำวัดต่อไป แต่ครั้นหลับไหลไปด้วยความเผลอสติ ร่างกายได้กลับเป็นพญานาคเช่นเดิม ขนดหางยื่นออกไปทางหน้าต่าง ร่างกายใหญ่โตเต็มกุฏิ

เพื่อนสหธรรมิกกลับมาพบเข้า ตกใจกลัวมาก นึกว่ามีพญานาคที่ไหนจะมาทำร้าย จึงร้องเอะอะเสียงดัง พระภิกษุในวัด ได้ยินเสียงร้องของเพื่อนภิกษุ ต่างรีบพากันมาดู พญานาคได้ยินเสียงร้องเอะอะก็ตกใจสะดุ้งตื่น แล้วทำทีเป็นนั่งสมาธิอยู่บนอาสนะ พวกภิกษุพากันคาดคั้นถามว่า “ท่านเป็นใครกันแน่ ท่านทำเช่นนี้เพื่อประสงค์อะไร” พญานาครักษาศีล จึงไม่โกหก รับสารภาพว่า ตนเองเป็นพญานาค อยากจะได้บุญจากการบวช และอยากจะหลุดพ้นจากอัตภาพของพญานาค จึงได้ปลอมตัวมาบวช

พวกภิกษุได้ฟังเรื่องราวนั้นแล้ว ต่างก็พาภิกษุรูปนั้นไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาทแก่พญานาคว่า “เจ้าเป็นนาค แม้แปลงร่างมาเป็นมนุษย์ บวชแล้วก็ไม่สัมฤทธิ์ผลในพระธรรมวินัย ไม่สามารถหาหนทางสายกลางภายในได้ จึงทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งไม่ได้ เพราะมีอัตภาพเป็นไปตามขวาง เจ้าจงกลับไปเถิด หากปรารถนาความเป็นมนุษย์ จงรักษาอุโบสถศีลไว้ให้มั่น ก็จะพ้นจากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน” พญานาคร้องไห้ที่ไม่สามารถบวชในธรรมวินัยนี้ ครั้นจะปรารภความเพียรให้บรรลุมรรคผลก็ทำไม่ได้เช่นกัน

สิ่งใดที่เราได้มาโดยยาก ควรจะรักษาหวงแหนไว้ และใช้ให้คุ้มค่าที่สุด การสละเวลาทำมาหากิน สละความสุขทางโลก เพื่อมาแสวงหาความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ด้วยการเข้ามาบวช เพื่อประพฤติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ชำระกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นการให้โอกาสอันทรงคุณค่าแก่ตัวของเราเอง

การบวชเป็นภิกษุสามเณร ดำรงชีวิตในเพศสมณะ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้นหรือยาว นับเป็นประวัติชีวิตอันงดงาม นำมาซึ่งความปลื้มปีติ ประทับใจ แม้ตัวเราก็เลื่อมใสตนเอง ชาวโลกที่ได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใส ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้นไป เราจะเป็นต้นแบบต้นบุญให้อนุชนผู้มาในภายหลัง ได้ถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี เขาจะเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำความดีตามเราไปด้วย กระแสแห่งความดีจะขยายต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเราขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขาสูงกลางทะเล แล้วโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จะเกิดกระแสคลื่นกระทบกันต่อไปเรื่อยๆจนถึงฝั่ง กระแสคลื่นแห่งความดี จะขยายออกไปเช่นนั้น เป็นที่น่าชื่นชมอนุโมทนาของเหล่ามนุษย์และเทวาทั้งหลาย

อานิสงส์ที่เราจะได้ จากการบวชเป็นภิกษุสามเณรนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ชาติสองชาติเท่านั้น แต่จะส่งผลเป็นเวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม และบุญนี้ยังถึงแก่มารดาบิดาผู้มีพระคุณทั้งหลาย ที่ท่านให้กำเนิดกายเนื้อแก่เรา ถ้าท่านรับรู้ก็จะได้อานิสงส์ใหญ่ คือ ถึงครึ่งหนึ่งของผู้บวช หมู่ญาติและผู้มีบุญที่มาเป็นเจ้าภาพร่วมอนุโมทนา จะพลอยได้อานิสงส์ผลบุญกับเราไปด้วย ยิ่งถ้าเราบวชแล้วได้เข้าถึงธรรมกาย มหัคคตกุศลย่อมจะบังเกิดขึ้น บุญจะทับทวีอีกนับไม่ถ้วน

ตัวของเราซึ่งเป็นผู้บวช จะได้เข้าถึงความสุขในปัจจุบัน บวชทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นผ้าสีสุดท้ายที่พระอริยเจ้าทั้งหลายใช้ครองกาย ส่วนภายในก็เข้าถึงพระธรรมกายที่ชัดใสสว่าง มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก บุญเกิดขึ้นนับอสงไขยไม่ถ้วน และยังจะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภพเบื้องหน้า เราควรจะยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป ดำเนินชีวิตเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลาย จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด

* มก. นาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช เล่ม ๖ หน้า ๓๒๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4704
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *