มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย – การฝึกตน บนเส้นทางอริยะ

มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย – การฝึกตน บนเส้นทางอริยะ

โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นโลกแห่งการสั่งสมบุญบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทำควบคู่กันไปกับการสร้างบารมี คือ การรักษาใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่กลางกาย ส่วนร่างกายจะเคลื่อนไหว เพื่อทำกิจกรรมอะไรก็ทำไป แต่ใจต้องให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตลอดเวลา เหมือนคลื่นที่เคลื่อนไหวบนผิวน้ำ แต่ภายใต้ท้องทะเลกลับสงบนิ่ง

เราจึงควรทำทั้งสองสิ่งนี้ควบคู่กันไป ถ้าทำได้เช่นนี้ บุญบารมีย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งบุญหยาบและบุญละเอียด เราจะเป็นยอดนักสร้างบารมีตัวอย่างของโลก จะมีความสุขกายสุขใจ ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งนั่งนอนยืนเดิน เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ใจก็จะหยุดนิ่งได้ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป ฉะนั้นการรักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์หยุดนิ่งให้ได้ตลอดเวลา จึงมีอานิสงส์ใหญ่ ทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน คาถาธรรมบท ว่า…

น หิ เอเตหิ ยาเนหิ คจฺเฉยฺย อคตํ ทิสํ
ยถาตฺตนา สุทนฺเตน ทนฺโต ทนฺเตน คจฺฉติ

บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมไปสู่ทิศ คือ พระนิพพานที่ยังไม่เคยไป
ได้ด้วยตนที่ฝึกดีแล้ว ทรมานดีแล้วเท่านั้น
ก็บุคคลพึงไปสู่ทิศ คือ พระนิพพานที่ยังไม่เคยไป
ได้ด้วยยานพาหนะอันใดก็หามิได้

พระนิพพานนั้นอยู่ที่ตรงไหน พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่อยู่บนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาว ไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เราเห็นกันด้วยตาเนื้อ แต่อายตนะนั้นมีอยู่ ไปไม่ถึงด้วยยวดยานพาหนะทั้งสิ้น

จะไปด้วยรถ เรือ จรวด หรืออะไรก็แล้วแต่ ไปไม่ถึงทั้งนั้น ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการนอน มีแต่เข้านิโรธสมาบัติสงบนิ่ง อายตนนิพพานนั้นอยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกของเรานี่เอง หนทางนั้นเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เส้นทางสายกลาง อยู่ที่กลางกายของเรา ตรงนี้ คือ ทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้นเข้าถึงสุขอันเป็นอมตะ เป็นเอกันตบรมสุข คือ สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน เมื่อไปถึงพระนิพพาน ความทุกข์จะมลายหายสูญ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ฝึกตนมาดีแล้ว ต่างดำเนินไปตามเส้นทางสายนี้ เมื่อพระองค์เข้าถึงพระนิพพาน ทรงเกิดมหากรุณาธิคุณ ได้นำความรู้อันบริสุทธิ์นี้มาสั่งสอนแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เข้าถึงพระนิพพานเช่นเดียวกับพระองค์ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นยอดแห่งบรมครู เพราะทรงสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส และพุทธวิธีที่ทรงสั่งสอนนั้น ก็มีหลายวิธี ดังเช่น

*ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามครูฝึกม้าชื่อ เกสี ที่ไปเข้าเฝ้าพระองค์ว่า…

“ดูก่อนเกสี ใครๆก็รู้ว่าท่านเป็นครูฝึกม้าฝีมือดีคนหนึ่ง ท่านฝึกม้าอย่างไรเล่า”
นายเกสีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การฝึกม้าของข้าพระองค์มี ๓วิธี คือ วิธีแรก ข้าพระองค์จะฝึกด้วยวิธีละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป วิธีที่สอง ฝึกด้วยวิธีรุนแรง และวิธีสุดท้ายฝึกผสมกันทั้งสองวิธี”
พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “สมมติม้าที่นำมาฝึกนั้น อยู่นอกเหนือจากวิธีที่ท่านใช้ ท่านจะทำอย่างไร”
นายเกสีกราบทูลว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์ก็จำเป็นต้องฆ่าเสีย หากเก็บไว้ก็เสียชื่อครูผู้ฝึก”

นายเกสีทูลย้อนถามพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพุทธองค์ทรงเป็นสารถีผู้ฝึกคนชั้นเยี่ยม พระองค์ทรงมีวิธีการฝึกคนที่ควรฝึกอย่างไรบ้าง พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนเกสี ตถาคตมีวิธีฝึกคน ๓วิธีเช่นเดียวกัน คือ ฝึกด้วยวิธีละม่อม ค่อยเป็นค่อยไปบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง และวิธีสุดท้ายฝึกผสมกันทั้งสองวิธี”

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงอธิบายให้นายเกสีได้เข้าใจต่อไปว่า…

วิธีละม่อม คือ ทรงชี้แจงเรื่องความดี และผลของการทำความดี ให้ผู้ที่ควรฝึกได้รู้และปฏิบัติตาม ทรงเน้นการปฏิบัติชอบทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผลที่ได้รับ คือ ความสุขในปัจจุบัน และได้ไปอุบัติในสุคติภพ คือ ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาในปรโลก

วิธีรุนแรง คือ การชี้แจงเรื่องความชั่ว และผลของการทำความชั่ว ถ้าใครประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมประสบความเดือดร้อนในปัจจุบัน และไปอุบัติในทุคติภูมิ คือ นรก ภูมิของเปรต กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน และภูมิของอสุรกายในปรโลก

วิธีสุดท้าย คือ วิธีผสม เป็นวิธีฝึกที่ชี้ให้คนที่ควรฝึก ได้รู้ถึงความดีและการกระทำความดีว่า จะได้รับผลดี ทั้งชี้ถึงความชั่วและการกระทำความชั่วว่า จะได้รับผลกรรมชั่วนั้นตอบสนอง วิธีนี้เป็นวิธีที่ชี้ให้เห็นผลของการกระทำ ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วว่า มีผลไม่เหมือนกัน

นายเกสีทูลถามต่อไปอีกว่า “ถ้าคนที่พระองค์ทรงฝึก อยู่นอกเหนือจากวิธีฝึกทั้ง ๓วิธี พระองค์จะทรงทำประการใด พระเจ้าข้า”

เมื่อได้รับคำตอบที่ชวนฉงนว่า “เราก็ฆ่าทิ้งเสีย” ครูฝึกม้าจึงทูลถามพระองค์ว่า “เมื่อพระองค์เป็นถึงพระพุทธเจ้า การฆ่ามนุษย์จะเป็นการสมควรหรือ พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาทรงอธิบายให้หายสงสัยว่า การฆ่าทิ้ง คือ นิ่งเฉยเสีย ไม่ว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือน และไม่ยอมรับว่าบุคคลนี้ คือ “สาวกของเราตถาคต” เพราะถ้าเป็นสาวก หมายถึงผู้ปฏิบัติตาม หากไม่ทำตามที่สั่งสอน ก็ไม่สมควรเรียกว่าเป็นสาวก การไม่กล่าวสอนบุคคลนั้นอีกต่อไป จึงถือเป็นการฆ่าอย่างดีในวินัยของพระอริยเจ้า

เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว นายเกสีจึงทูลสรรเสริญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสุดยอดของครูผู้ฝึกทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ทรงมีศิลปะในการสอนคนให้เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของแต่ละคน คนที่อัธยาศัยละเอียดประณีต พระองค์จะทรงใช้วิธีการแบบนุ่มนวล ส่วนคนมีอัธยาศัยหยาบ จะทรงใช้วิธีการสอนที่รุนแรงขึ้น และพวกที่มีอัธยาศัยทั้งหยาบทั้งประณีต จะทรงใช้วิธีการทั้งนุ่มนวลและรุนแรงผสมกัน เรียกว่า มีทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง เพื่อตะล่อมใจของแต่ละคนให้น้อมเข้ามาสู่พระนิพพาน

ดังนั้น ทุกท่านจะต้องดูพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรว่า คนที่เราไปชักชวนนั้นมีจริตอัธยาศัยอย่างไร และให้พูดด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับจริตและอัธยาศัยของบุคคลนั้น เราจะประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ และที่สำคัญ คือ เราต้องฝึกตัวของเราให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

ก่อนจะไปชักชวนผู้อื่น ทำความดีทั้ง ทาน ศีล ภาวนา อย่าให้ขาด และหมั่นทำใจของเราให้ใสๆ ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ เพราะพระธรรมกายเท่านั้น จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ประดุจยานแก้ว ที่นำเราไปสู่พระนิพพานได้ เมื่อเราไปรู้ไปเห็นแล้ว จะได้ทำหน้าที่ด้วยความมั่นใจ ด้วยใจที่ผ่องใสเบิกบาน เพื่อเป็นต้นบุญต้นแบบของโลกกันต่อไป

*มก. เกสีสูตร เล่ม ๓๕ หน้า ๒๙๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4220
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *