มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน – ขันติและเมตตาพาสู่ดุสิตบุรี

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน – ขันติและเมตตา พาสู่ดุสิตบุรี

ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้ ไม่มีอะไรเป็นของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หรือปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มักทำให้เราเสียขวัญ ตื่นตระหนกตกใจกลัว จนไม่กล้าทำอะไร แท้ที่จริงแล้วปัญหาไม่ได้ทำให้คนย่ำแย่ แต่วิธีมองปัญหาต่างหาก ที่ทำให้คนต้องย่ำแย่อยู่ทุกวันนี้

หากมีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตั้งสติ หยุดความคิดฟุ้งซ่าน หยุดความกระวนกระวาย ทำใจให้สงบ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กลับคืนมา ใจที่สงบเป็นใจที่มีพลัง ทั้งพลังแห่งสติปัญญาและพลังแห่งความสำเร็จ

ถ้ากำลังใจดี แม้เกิดปัญหาก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถขจัดได้ด้วยปัญญา เมื่อมีกำลังใจ ปัญหาและอุปสรรค ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดก ว่า…

ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่โกรธ ทำไมจึงทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่น

ทุกคนที่เกิดมา ต่างก็อยู่ในระหว่างกำลังฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้สมบูรณ์ คำว่า สมบูรณ์ คือ มุ่งกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงออกจากใจ ขจัดกิเลสอาสวะทั้งหลาย ทั้งอนุสัยกิเลส และสังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงให้หมดสิ้นไป หากเป็นภิกษุก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ดังเช่นพระดำรัสข้างต้น ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งให้ภิกษุกำจัดความโกรธออกจากใจ ไม่ให้เป็นคนมักโกรธ เจ้าอารมณ์ แต่ให้เป็นผู้เยือกเย็นด้วยกรุณา ผ่องแผ้วด้วยปัญญา แม้จะถูกประทุษร้ายหมายเอาชีวิต ก็ไม่คิดโกรธแค้นหรือประทุษร้ายตอบ เพราะหนทางไปนิพพานมีแต่ความสงบเยือกเย็น ซึ่งสวนทางกับโกรธเคือง ขุ่นข้องหมองใจ ความรุ่มร้อน ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงสอนให้ภิกษุกำจัดความโกรธเสีย

*ในครั้งพุทธกาล เมื่อครั้งที่ภิกษุสงฆ์นั่งสนทนากันในโรงธรรมสภา เกี่ยวกับเรื่องที่พระเทวทัตออกอุบายปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ด้วยการว่าจ้างนายขมังธนู กลิ้งศิลา และให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังแล้ว เกิดความโกรธเคืองต่อพระเทวทัตขึ้นมา ที่เป็นคนอกตัญญูไม่รู้บุญคุณของพระบรมศาสดา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมา ทรงทราบเรื่องแล้วตรัสสอนว่า…

ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความโกรธ ทำไมจึงทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่นเลย แล้วทำไมเธอไม่ประพฤติตามเราผู้เป็นตถาคตเล่า เมื่อทรงสอนภิกษุไม่ให้ผูกโกรธพระเทวทัตแล้ว ก็ตรัสสอนต่อไปว่า…

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตพยายามฆ่าเรา ในชาติก่อนๆ เทวทัตก็หาโอกาสทำร้ายเราเรื่อยมา แต่เทวทัตก็ไม่อาจทำได้ แม้สักว่าความสะดุ้งตกใจให้บังเกิดขึ้นแก่เราเลย ในกาลก่อน ในเวลาที่เราเป็น ธรรมบาลกุมาร เทวทัตทำเราผู้เป็นบุตรของตนเองให้ถึงความสิ้นชีวิต ถึงกระนั้นเราก็ไม่มีความโกรธเคืองในเทวทัตเลย แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ภิกษุสงฆ์ได้รับฟังว่า…

ในอดีตกาล เมื่อ พระเจ้ามหาปตาปะ ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของ พระนางจันทาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ามหาปตาปะ พระประยูรญาติขนานนามพระโพธิสัตว์ว่า ธรรมบาล

ในเวลาที่ธรรมบาลกุมารมีอายุได้ ๗เดือน พระมารดาให้สรงสนานกุมาร โดยใช้น้ำผสมด้วยของหอม ตบแต่งพระกุมารด้วยภูษาอาภรณ์ชั้นเลิศ แล้วให้ประทับนั่งเล่นด้วยความรักและความเอ็นดู เมื่อเห็นพระราชาเสด็จมา พระนางก็มิได้เสด็จลุกขึ้นรับ จึงทำให้พระราชาทรงกริ้วที่พระนางไม่ยอมออกมาต้อนรับเหมือนแต่ก่อน

เมื่อเสด็จกลับไปประทับนั่งบนราชอาสน์ ก็ทรงพิจารณาด้วยความโกรธเคืองว่า ที่มเหสีของเราเป็นเช่นนี้ ก็เพราะทารกนี้เป็นเหตุ จึงทรงรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตที่ใจเหี้ยมโหด เข้ามาในพระราชฐานชั้นใน เมื่อเพชฌฆาตเข้ามาถวายบังคมแล้ว พระเจ้ามหาปตาปะรับสั่งว่า “เจ้าจงรีบไปนำธรรมบาลกุมารมา”

เพชฌฆาตรับบัญชาแล้ว ก็เข้าไปแย่งชิงพระกุมารในห้องของพระเทวี โดยไม่เกรงใจ ได้นำพระกุมารมาวางลงบนแผ่นกระดานที่ได้เตรียมมา ฝ่ายพระนางจันทาเทวีทรงร่ำไห้ วิ่งตามมาข้างหลังเพชฌฆาต

พระราชารับสั่งว่า “เจ้าจงตัดมือทั้งสองของธรรมบาลกุมาร”
พระเทวีทูลอ้อนวอนว่า “ข้าแต่มหาราช บุตรของหม่อมฉันเพิ่งมีอายุได้ ๗เดือน ยังอ่อนอยู่ ไม่รู้เรื่องอะไร บุตรของหม่อมฉันไม่มีความผิด ถึงแม้ความผิดจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ควรจะมีในหม่อมฉันผู้เดียว เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้ตัดมือทั้งสองของหม่อมฉันเถิด”

พระราชาเห็นพระนางแสดงความรักต่อพระกุมารมากถึงเพียงนั้น ก็ยิ่งอิจฉา และโกรธเคืองยิ่งขึ้น จึงตรัสว่า “ท่านอย่าชักช้า จงตัดมือตัดเท้าทั้งสองเสีย” เพชฌฆาตก็สับมือตัดเท้าทั้งสองของพระกุมารด้วยขวานอันคมกริบ ธรรมบาลกุมารแม้จะถูกตัดมือตัดเท้าก็ไม่ร้องไห้ ทรงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา ด้วยขันติธรรมและเมตตาธรรม ส่วนพระนางจันทาเทวีได้รวบรวมเอามือและเท้าที่ขาดใส่ไว้ในพก มีโลหิตไหลอาบพระองค์ ทรงปริเวทนาปริ่มว่าจะขาดใจ

นายเพชฌฆาตทูลถามว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ กระทำตามพระบัญชาแล้ว กิจของข้าพระองค์เสร็จแล้วหรือ”
พระราชาตรัสว่า “ยังไม่เสร็จ เจ้าจงตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเดี๋ยวนี้”
พระนางจันทาเทวีได้กล่าวอ้อนวอนด้วยความรักบุตรว่า “หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ ทำความผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยธรรมบาลกุมารนี้เสีย แล้วให้ตัดศีรษะของหม่อมฉันแทนเถิด”

พระราชาไม่ทรงรับฟังคำทัดทาน คำอ้อนวอนของนาง ได้รับสั่งให้ตัดศีรษะของธรรมบาลกุมาร แล้วให้ทำ อสิมาลกะ คือ การโยนร่างของพระกุมารขึ้นไปในอากาศ แล้วเอาปลายดาบรับร่าง จากนั้นก็ฟันร่างของพระกุมารให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โปรยลงบนท้องพระโรง พระนางจันทาเทวีทรงร้องไห้คร่ำครวญ ด้วยความอาลัยรักในพระกุมาร ทำให้พระหทัยของพระนางแตกสลายไป ได้สิ้นพระชนม์ลง ณ ที่นั้นเอง

ฝ่ายพระราชาเอง ก็ไม่อาจดำรงอยู่บนบัลลังก์ได้ ทรงเกิดความรุ่มร้อนทั่วสรรพางค์กาย กลิ้งตกลงบนท้องพระโรง พื้นที่เรียบสนิทก็แยกออกเป็นสองส่วน แผ่นดินทึบหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ไม่อาจรองรับโทษทัณฑ์ของพระราชาได้ จึงแยกออกเป็นช่อง เปลวไฟจากอเวจีมหานรก ได้หอบเอาพระเจ้ามหาปตาปะ ฉุดลงไปในอเวจีมหานรกทันที ส่วนธรรมบาลกุมารผู้มีขันติธรรม และมีเมตตาธรรมอันเป็นปรมัตถบารมี ละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ขันติและเมตตาธรรม เป็นตบะธรรมชั้นเยี่ยมสำหรับผู้ที่มุ่งฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นยอดของนักสร้างบารมี พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรารู้จักอดทน เวลามีความโกรธเกิดขึ้น เราก็ต้องรู้เท่าทันว่า นี่คือกิเลสโทสะ แล้วรีบหยุดความโกรธ ด้วยการทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ ไม่นานความโกรธนั้นก็จะดับไป ตอนแรกๆ ความโกรธอาจจะพลุ่งพล่านอยู่ในใจ แต่ก็ไม่ถึงกับหลุดออกมาข้างนอกให้คนอื่นได้ยิน พอเราหยุดนิ่งสักพักหนึ่ง ความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจนั้นก็จะจางหายไป

เพราะฉะนั้นอย่าเก็บความโกรธหรือความผูกพยาบาทไว้ เพราะสิ่งนี้จะเผาจิตใจให้ไหม้เกรียม สิ่งที่ควรจะอยู่ในใจของเรา คือ ขันติธรรมและเมตตาธรรม ฉะนั้น ให้หมั่นแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ได้ทุกๆวัน หากทำได้เช่นนี้ จิตใจเราจะสงบเยือกเย็น ใจจะใสละเอียด และจะทำให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้รวดเร็วขึ้น

*มก. จุลลธรรมปาลกุมาร เล่ม ๕๘ หน้า ๗๖๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4147
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *