มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล – สละชีวิตเพื่อฟังธรรม

มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล – สละชีวิตเพื่อฟังธรรม

สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เหมือนดอกไม้ แต่เดิมเราเคยเห็นมันเป็นต้นเล็กๆ ไม่นานก็เจริญเติบโตขึ้น แตกใบ แผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต แต่ไม่นานดอกไม้ที่ดูสวยงามนั้น ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามกาลเวลา สังขารร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ได้คืบคลานเข้ามาหาเราทุกขณะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกอนุวินาที โดยที่ตัวเราเองก็สังเกตไม่ออก เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๖๐ ปี จึงรู้ว่าเราแก่ลงทุกทีๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องกันไปสู่ความเสื่อมสลาย ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ควรใช้วันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ เราก็จะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้

สุขา สทฺธมฺมเทสนา การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุนำสุขมาให้

พวกเราทั้งหลายที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา มาอยู่ในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ซึ่งสอนให้เราละชั่ว ทำแต่ความดี และก็ทำใจให้ผ่องใส บ้านเมืองของเราจึงเกิดความสงบสุขร่มเย็นด้วยกระแสแห่งพระธรรม ในบางครั้งเราก็ไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นผู้โชคดีของเราว่า ที่เราได้รับความสุขกายสบายใจ ไม่มีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา เป็นเพราะเราได้รับการปลูกฝังศีลธรรมอันดีงามมา ตั้งแต่เล็กจนโต เราจึงมีความรักความเมตตาต่อกันมากกว่าที่จะทำลายล้างกัน บ้านเมืองจึงสงบสุข ดังนั้นสังคมจะสงบสุขได้ ก็ต้องอาศัยธรรมนี่แหละ เพราะธรรมค้ำจุนโลก ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง

พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ มีอานุภาพที่ไม่มีประมาณ เมื่อพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์บังเกิดขึ้น จึงเปรียบเหมือนรุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลกได้บังเกิดขึ้นจะยังใจของมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้อิ่มเอิบเบิกบานมีความสุขกับรสแห่งธรรม แม้พระพุทธองค์จะทรงพระชนมชีพอยู่ หรือว่าดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม หากว่าได้มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธองค์เพียงไม่กี่บท แล้วพิจารณาตรองตามด้วยปัญญา จากนั้นก็นำมาปฏิบัติให้ถูกวิธี เราก็จะได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่ทำให้ปิดประตูอบายภูมิได้ และก็ยกใจขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพานได้

ในยามที่โลกไร้ซึ่งอมตธรรมของพระพุทธศาสนานั้น แม้เพียงปรารถนา จะฟังธรรมสักข้อหนึ่งก็ยากแสนยาก บางทีถึงกับต้องเดิมพันกันด้วยชีวิต *มีเรื่องเล่าว่าในอดีตกาล เมื่อครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อันตรธานไปไม่นาน พระเจ้าโสณฑกราช ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม บำเพ็ญกุศลเป็นประจำสม่ำเสมอ ทรงบำบัดทุกข์บำรงสุขให้กับพสกนิกร ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเรื่อยมา

คืนวันหนึ่ง พระองค์ดำริว่า เราได้ทำบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน การรักษาศีล ก็ทำอย่างดีการงานราชกิจทั้งปวงก็ไม่มีบกพร่อง แต่ไม่เคยได้มีโอกาสฟังธรรมจากนักปราชญ์บัณฑิตเลย เราควรหาโอกาสฟังธรรมของผู้รู้บ้าง เพราะธรรมะเป็นที่พึ่งที่ประเสริฐที่สุด การอยู่ครองราชสมบัติโดยปราศจากธรรมะเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ธรรมดาท้องฟ้าที่ปราศจากดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีรุ่งโรจน์ ย่อมไม่งามฉันใด การครองราชสมบัติโดยปราศจากธรรมะก็ย่อมไม่งามฉันนั้น ยามราตรีที่ปราศจากดวงจันทร์แจ่มกระจ่างย่อมไม่งามฉันใด การอยู่ครองราชสมบัติโดยปราศจากธรรมะย่อมไม่งามฉันนั้น

เมื่อดำริเช่นนี้แล้ว รุ่งขึ้นพระองค์ก็ตรัสถามเหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพารว่า มีใครรู้หรือทรงจำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บ้าง ทรงถามทุกๆ คนทั้งใน และนอกพระราชวัง ก็ไม่มีใครที่สามารถทรงจำพุทธพจน์ได้เลย

พระราชาจึงประกาศ ว่า ถ้าใครสามารถแสดงธรรมให้พระองค์ฟังแม้เพียงบทเดียวได้ ก็จะประทานทรัพย์สินเงินทองมากมายเป็นเครื่องตอบแทน ถึงขนาดว่าจะยอมให้ครองราชสมบัติแทนพระองค์ แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถจะทำได้

ในที่สุดพระองค์จึงตัดสินพระทัย ที่จะแสวงหาโมกขธรรม ด้วยพระองค์เอง จึงสละราชสมบัติ แล้วออกผนวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าตามลำพัง ด้วยอำนาจความตั้งใจจริงที่จะแสวงหาธรรมถึงกับยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งราชสมบัติ หรือกระทั่งชีวิต จึงบันดาลให้ทิพยอาสน์ของท้าวสักกเทวราชเกิดอาการร้อนขึ้นมาทันที

ท้าวสักกะจึงได้แปลงกายเป็นยักษ์ มาปรากฏกายอยู่ต่อหน้าพระฤๅษี เพื่อจะให้ท่านตกใจ พระฤๅษีเห็นยักษ์มายืนขวางอยู่ข้างหน้า ก็มิได้รู้สึกกลัวหรือครั่นคร้าม เพราะท่านเอง ก็เคยเป็นพระราชามีฤทธิ์มีเดชมากมาก่อน ไม่มีใครที่จะสามารถทำร้ายท่านได้ ทรงคิดไปว่า ยักษ์ตนนี้มีอายุยืนนาน คงพอจะรู้จักธรรมะบ้าง จึงถามว่า ท่านเคยได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้ามาบ้างไหม ยักษ์ตอบว่า เราเคยได้ยินมาบ้างเหมือนกันว่ารสแห่งธรรมเลิศกว่ารสทั้งปวง ถ้าท่านอยากฟังแล้วละก็ ต้องมีสิ่งตอบแทน

พระฤๅษีจึงตอบว่า ถ้าเรายังดำรงอยู่ในราชสมบัติ เราจะบูชาธรรมท่านด้วยทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทองเป็นอันมาก และจะยกราชสมบัติทั้งหมดพร้อมด้วยเศวตฉัตรให้ท่าน แต่บัดนี้เราเป็นนักบวชเหลือแต่เพียงร่างกาย และผ้าคลุมกายนี้เท่านั้น เรามีชีวิตเลือดเนื้อเป็นสมบัติ ถ้าหากท่านปรารถนา เราจะบูชาธรรมด้วยชีวิตนี้แหละ ขอท่านจงแสดงธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เราเถิด

เมื่อยักษ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็กล่าวว่า ข้าพเจ้ากำลังหิว เมื่อได้กินเนื้อ และเลือดอิ่มหนำแล้ว จึงจะสามารถแสดงธรรมให้ท่านฟังได้

ฝ่ายพระฤๅษีก็แย้งขึ้นว่า เมื่อท่านกินเราเสียแล้ว เราจะฟังธรรมจากท่านได้อย่างไร ยักษ์ใคร่ครวญอยู่ครู่หนึ่งแล้วบอกว่า ดีแล้ววิธีที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือท่านจงขึ้นไปบนยอดเขาที่มีหน้าผาสูงชัน แล้วเราจะยืนอยู่ข้างล่าง ขณะที่ท่านกำลังสละชีวิตกระโดดลงมานั้น เราก็จะกล่าวธรรมให้ท่านฟัง ท่านจะได้ฟังธรรมสมปรารถนา และเราก็จะได้กินท่านเป็นอาหารด้วย

พระโพธิสัตว์ดำริว่า ชีวิตที่เกิดมานี้ไม่เร็วหรือช้า สักวันหนึ่งก็ต้องตาย หากเราได้สละชีวิต เพื่อแลกกับธรรมะ การสละชีวิตของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใคร่ครวญเช่นนี้แล้ว ก็บังเกิดความปีติโสมนัสขึ้นมาในใจว่า เรากำลังจะได้ฟังธรรมที่หาได้ยากยิ่งแล้ว จึงตะโกนบอกยักษ์ไปว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านมีคุณแก่เรามาก จงยืนรอรับร่างกายของเราอยู่ข้างล่างเถิด

จากนั้น พระองค์ทรงให้สัญญาณแก่ยักษ์ แล้วกระโดดลงมาจากยอดภูเขา พร้อมกับหลับตาตั้งใจฟังธรรมกลางอากาศ ฝ่ายยักษ์เห็นความตั้งใจเด็ดเดี่ยวของพระฤๅษี ชนิดที่ไม่เคยเห็นใครทำอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ก็พลันบังเกิดความปลื้มปีติในการบูชาธรรม ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของท่าน จึงกลับร่างเป็นท้าวสักกะ แล้วเหาะขึ้นไปรับท่านไว้ อัญเชิญพระองค์ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ให้บริโภคอาหารอันเป็นทิพย์ แล้วจึงแสดงธรรมเกี่ยวกับความไม่เที่ยงให้ฟังว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

ซึ่งแปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นได้ ย่อมเป็นสุข

พระฤๅษีได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ก็เกิดความปีติโสมนัสขนลุกชูชัน เปรียบเสมือนบุคคลที่เดินทางไกลในทะเลทราย หิวกระหายน้ำมานาน แล้วมาพบแหล่งน้ำกลางทะเลทราย ได้ดื่มน้ำเย็นชุ่มฉ่ำทั้งกาย และใจ ทำให้มีเรี่ยวแรงในการเดินทางไกลต่อไป ท่านนึกปีติภาคภูมิใจในตนเองว่า สมแล้วที่อุตส่าห์สละราชสมบัติ และแม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้ได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระธรรมนี้จะช่วยดับทุกข์ได้แท้จริง ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม และเป็นประทีปส่องทางชีวิตในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ให้ไปถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย

คำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้านี้ แม้ประกอบด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่บท แต่ก็เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก เพราะโลกในบางยุคบางสมัยที่เรียกว่าสุญกัป จะหาผู้มีภูมิรู้ภูมิธรรมทรงจำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แม้เพียงบทเดียวก็ไม่มี ซึ่งแตกต่างกับโลกยุคปัจจุบันของเรามาก พวกเราทั้งหลายเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา เราได้ยินได้ฟังธรรมกันเป็นปกติ บ้านเมืองเราก็พรั่งพร้อมไปด้วยพระภิกษุผู้แสดงธรรม เพียงแค่ปรารถนาจะฟังธรรม ก็หาฟังได้ไม่ยาก แม้ปรารถนาจะตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย เราก็สามารถทำได้ เพราะทางที่จะให้เข้าถึงพระธรรมกายก็มีอยู่ ผู้ชี้บอกหนทางก็มีพร้อม เหลือแต่เพียง เราลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงๆ จังๆ เท่านั้น ก็จะเข้าถึงพระธรรมกายกันได้

เพราะฉะนั้น เมื่อโอกาสอันดีนี้เป็นของเราแล้ว เรามีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผู้แสดงธรรมก็ควรหาโอกาสฟังธรรม และปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ทุกๆ คน จะได้มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ดังนั้นก็ให้ตั้งใจฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง หยุดในหยุดให้ได้ทุกวัน จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน

*คัมภีร์โบราณ

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3957
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *