มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล – บุญต้อนรับผู้ทำความดี

มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล – บุญต้อนรับผู้ทำความดี

ชีวิตของคนเรานี้ ท่านเปรียบเสมือนการเดินทางไกล ในการเดินทางนั้น เราจำเป็นต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ดำรงอยู่ได้ การเดินทางจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า หรือแม้กระทั่งไปสู่อายตนนิพพานก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีบุญเป็นเสบียงติดตัว

บุญ คือ สิ่งที่ชำระใจเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ และเป็นเครื่องดึงดูดความสุขความเจริญทั้งหลาย บุญที่เราได้เคยประกอบเหตุไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญทาน การรักษาศีล หรือการเจริญภาวนาซึ่งบุญจะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

ผู้ที่ได้ทำบุญไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นผู้บันเทิงอยู่ในโลกนี้ แม้ละโลกไปแล้ว ก็ไปบันเทิงต่อในโลกหน้า เขาย่อมเป็น ผู้บันเทิงในโลกทั้งสอง เพราะเห็นความหมดจดแห่งการกระทำของตน

ปกติของผู้ที่ตั้งใจทำความดี ทำแต่บุญกุศลอยู่เป็นนิตย์ ย่อมจะมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส เพราะบุญจะช่วยกลั่นใจของเขาให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ จะมีความบันเทิงใจว่า เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ด้วยการสร้างความดี

ผู้ที่สั่งสมบุญไว้มาก ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา แม้แต่ชาวสวรรค์ก็อยากเข้ามาเป็นสหายด้วย เขาจะคอยอนุโมทนา เมื่อผู้นั้นได้ทำความดี และจะรอคอยการกลับมาสู่วิมานของผู้มีบุญนั้น เหมือนกำลังรอคอยหมู่ญาติอันเป็นที่รักที่จากกันไปนานแสนนาน ให้กลับมาสู่เรือนของตน

เมื่อถึงเวลาสุดท้ายของชีวิต ภาพแห่งการทำความดีทั้งหมดที่ผ่านมา จะปรากฏขึ้นในใจ ฉายภาพให้เห็น เหมือนการกรอวีดิโอกลับ เห็นแล้วก็จะบันเทิงใจยิ่งขึ้น เพราะได้เห็นแต่ภาพที่ดี ภาพแห่งการสร้างบารมีผุดเกิดขึ้นมา และมั่นใจว่า เมื่อละโลกไปแล้ว ก็จะไปสู่สุคติภพ ไปเสวยทิพยสมบัติในโลกสวรรค์ ไปเป็นสหายแห่งเทวดา

พอละอัตภาพของมนุษย์ ก็จะได้ร่างกายใหม่อันเป็นทิพย์ ซึ่งดีกว่าประณีตกว่ามนุษย์หลายเท่า ไปเป็นเทพบุตรเทพธิดา เป็นแล้วก็จะตรวจดูว่า ทิพยสมบัติอันประณีตสวยงามขนาดนี้ เราได้มาอย่างไร เมื่อเห็นอดีตชาติที่ผ่านมาในสมัยเป็นมนุษย์ว่า เราได้สั่งสมบุญไว้อย่างดีแล้ว ได้สร้างบารมีอย่างเต็มกำลัง ก็จะเกิดความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ ที่ได้ละจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ เหมือนละจากภาชนะดินแล้วไปเสวยภาชนะทองคำฉะนั้น

*ธัมมิกอุบาสกเป็นชาวเมืองสาวัตถี ผู้มีศีลมีธรรมอันงดงาม และเป็นผู้ยินดีในการฟังธรรม ภรรยาของเขา และบุตร ๗ คน ธิดาอีก ๗ คน ก็เป็นผู้ยินดีในธรรมเช่นเดียวกัน ต่อมา เมื่อใกล้จะละโลก นอนอยู่บนเตียงคนไข้ เขารู้สึกอยากฟังธรรมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นิมนต์พระมาแสดงธรรมที่บ้าน เมื่อพระมาแล้ว ก็นั่งบนอาสนะล้อมรอบเตียงของเขา เขาเห็นพระก็ดีใจ แล้วบอกว่า กระผมเป็นคนทุพพลภาพ อาจจะไม่ได้เห็นพระคุณเจ้าอีกแล้ว ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้โปรดสาธยายพระสูตร บทใด บทหนึ่งให้กระผมฟังด้วยเถิด พระท่านก็ถามว่า อุบาสก อยากฟังพระสูตรบทไหนล่ะ เขากราบเรียนว่า อยากฟังบทสติปัฏฐานสูตร

พระก็เริ่มสวดสาธยายเรื่องสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แล้วก็ชี้บอกหนทางสายกลาง อันเป็นทางสายเอก ซึ่งเรียกว่า เอกายนมรรค เป็นเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ไปสู่พระนิพพาน

ในขณะที่พระท่านกำลังสวดสาธยายอยู่นั้น ได้มีชาวสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ประดับเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ พร้อมด้วยราชรถมารออยู่ เทวดาที่ยืนอยู่ตรงราชรถของชาวสวรรค์แต่ละชั้น ต่างก็เชื้อเชิญธัมมิกอุบาสกให้ไปเป็นสหายของตน โดยบอกว่า ข้าพเจ้าจะนำท่านไปยังเทวโลกชั้นของข้าพเจ้า ท่านจงละภาชนะดิน แล้วถือเอาภาชนะทองคำเถิด มาอยู่ร่วมกับข้าพเจ้าที่สวรรค์ชั้นนี้เถิด ชาวสวรรค์ทุกชั้นเลย ต่างก็เชื้อเชิญเขาให้เป็นสหายในชั้นของตน คนมีบุญมากก็อย่างนี้แหละ แม้แต่เทวดายังอยากจะเป็นสหายด้วย เขาอยากอยู่ร่วมกับผู้มีบุญ เพราะอยู่ด้วยแล้ว มีความสุข

ฝ่ายอุบาสกซึ่งเป็นผู้เคารพในธรรม เมื่อกำลังฟังธรรมอยู่ ก็ไม่อยากให้การฟังธรรมหยุดชะงักไป จึงได้กล่าวกับเทวดาทั้งหลายว่า ขอท่านจงรอก่อนๆ พระภิกษุซึ่งกำลังสวดสาธยายธรรมอยู่ เข้าใจว่าอุบาสกให้หยุด จึงได้หยุดสวดและปรึกษากันว่า คงไม่เป็นโอกาสเหมาะในการสาธยายธรรมเสียแล้ว ดังนั้นลุกจากอาสนะแล้วเดินทางกลับวัด ฝ่ายบุตรและธิดา ของเขานึกว่าพ่อห้ามพระสวดมนต์ก็รู้สึกเสียใจว่า เมื่อก่อนพ่อของเราเป็นผู้ไม่อิ่มในธรรม แต่ขณะนี้ถูกทุกขเวทนาครอบงำ จนกระทั่งเพ้อห้ามพระสวดมนต์ แล้วต่างก็ร้องไห้เสียใจ

พอเวลาผ่านไปสักครู่หนึ่ง อุบาสกก็ถามลูกๆ ว่า พระคุณเจ้าไปไหนหมดแล้ว

ลูกก็บอกว่า ก็พ่อนิมนต์พระมาแล้วก็ห้ามพระสวดมนต์เสียเอง พระท่านจึงกลับวัดหมดแล้ว

ธัมมิกอุบาสกบอกว่า พ่อไม่ได้พูดกับพระ แต่พ่อพูดกับเทวดา เขาเอาราชรถมาเชิญให้พ่อกลับวิมาน พ่อจึงบอกให้เขารอก่อน พ่อจะฟังธรรม

บุตรก็ถามว่า ราชรถที่ไหนล่ะพ่อ พวกผมไม่เห็นเลย

พ่อจึงบอกว่า งั้นลูกจงเอาดอกไม้มาร้อยเป็นพวงมาลัย แล้วถามลูกต่อว่า ลูกคิดว่าสวรรค์ชั้นไหนน่ารื่นรมย์ล่ะ ลูกๆ ก็บอกว่า ชั้นดุสิตซิพ่อ เพราะเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ และผู้มีบุญมีบารมีทั้งหลาย

ธัมมิกอุบาสกจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงอธิษฐานจิตไปที่เทวดาชั้นดุสิต แล้วโยนพวงมาลัยขึ้นไปบนอากาศ

ลูกๆ ได้โยนพวงมาลัยขึ้นไป พวงมาลัยก็ไปคล้องกับแอกของราชรถชั้นดุสิต พวกลูกๆ มองไม่เห็นราชรถ เห็นแต่พวงมาลัยลอยอยู่ในอากาศ มีแต่ธัมมิกอุบาสกเห็นคนเดียวจึงบอกว่า ลูกเห็นพวงดอกไม้ที่ลอยอยู่นั่นไหม ลูกก็บอกว่า เห็นแต่พวงดอกไม้ ไม่เห็นรถ

ฝ่ายพ่อจึงกล่าวว่า ตอนนี้พวงดอกไม้นั้น ได้ห้อยอยู่ที่ราชรถซึ่งมาจากชั้นดุสิตแล้ว พ่อกำลังจะไปอยู่ภพดุสิต พวกเจ้าอย่าได้วิตกไปเลย ถ้าพวกเจ้ามีความปรารถนาจะไปอยู่ร่วมกับพ่อ ก็จงหมั่นทำบุญให้มากๆ อย่างที่พ่อได้ทำไว้แล้วเถิด

ธัมมิกอุบาสกกล่าวเสร็จแล้วก็ได้ทำกาละ คือ ถึงแก่กรรมลงในเวลานั้น ละจากอัตภาพมนุษย์ไปเป็นเทพบุตร มีกายทิพย์ที่สวยงาม สว่างไสวนั่งอยู่บนราชรถซึ่งมาจากชั้นดุสิต เหล่าเทวดาทั้งหลายก็นำเขาไปสู่วิมาน เป็นวิมานแก้ว มีความ อลังการสวยงามมากเต็มไปด้วยบริวาร เหล่าบริวารที่แวดล้อมเทพบุตรธัมมิกะ ต่างก็ปลื้มปีติดีใจ ที่นายของตนกลับมาสู่วิมานอย่างผู้มีชัยชนะ เต็มเปี่ยมด้วยบุญบารมี ต่างก็อนุโมทนาบุญกับท่านธัมมิกอุบาสก ที่ได้ทำบุญไว้ดีแล้ว

ชาวสวรรค์ทั้งหลาย เขาจะรอคอยการกลับมาของผู้มีบุญ เหมือนกำลังรอคอยหมู่ญาติอันเป็นที่รัก ที่จากไปนานแสนนาน ให้กลับมาสู่วิมานของตน

เพราะฉะนั้น บุญจึงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เป็นเครื่องชำระใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย การสั่งสมบุญที่เต็มเปี่ยมดีแล้ว จะทำให้เรามีความสุขไปทุกภพทุกชาติ จะสมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ แม้กระทั่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องอาศัยบุญที่เราได้สั่งสมไว้ดีแล้วเช่นกัน

บุญจะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งบุญกุศล เป็นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้จึงเป็นจุดที่สำคัญ ที่เราควรจะเอาใจมาหยุดนิ่งตรงนี้ให้ดี หยุดกันให้ถูกส่วน การจะฝึกใจให้หยุดนิ่งนั้น เราต้องฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝึกวางใจของเราเบาๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฝึกให้ใจเราคุ้นอยู่กับศูนย์กลางกายในทุกๆ อิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน หลับตา ลืมตา ใหม่ๆ อาจจะยังไม่คุ้น เผลอสติไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร รู้ตัวเมื่อไรก็จรดใจลงไปที่ศูนย์กลางกาย ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ถูกส่วนเมื่อไร เราจะได้เห็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ท่านได้บรรลุแล้วในกาลก่อน ดังนั้นขอให้เราประคองใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายกันให้ดี

*มก. ธัมมิกอุบาสกผู้ยินดีในธรรม เล่ม ๔๐ หน้า ๑๗๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3954
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *