มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ – ความพอดีให้เกิดสุข

มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ – ความพอดีให้เกิดสุข

ภารกิจทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาระที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหาเลี้ยงชีพในแต่ละวัน มวลมนุษย์ทั้งหลายต่างติดข้องกันอยู่อย่างนี้มายาวนาน ทำให้ลืมเลือนภารกิจหลักที่แท้จริงของชีวิต คือการเกิดมาสร้างบารมี ทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้แก่ตนเอง ด้วยการกลั่นจิตกลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ จนกระทั่งเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน ถึงดวงธรรม ถึงกายในกายเรื่อยไป จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัต ทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป นี่คือเป้าหมายในการมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ เกิดมาเพื่อทำอย่างนี้เท่านั้น เช่นนี้แล้ว เราควรตั้งใจทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับตัวของเราด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมกันทุกคน

มีวาระพระบาลีใน วัฏฏกชาดก ความว่า

อปฺปิจฺฉสฺส หิ โปสสฺส อปฺปจินฺติสุขสฺส จ
สุสงฺคหิตปฺปมาณสฺส วุตฺตี สุสมุทานิยา

เพราะว่า คนผู้มักน้อย มีความสุขแบบพระอริยเจ้า ผู้คิดน้อย รู้จักประมาณในอาหารที่รับพอดีแล้ว ย่อมมีพฤติกรรมที่น่าสรรเสริญ

สิ่งที่มวลมนุษย์ทั้งหลายต่างแสวงหา คือ ทำอย่างไรจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถแสวงหาปัจจัยสี่มาเลี้ยงชีพอย่างสะดวกสบาย แม้กระนั้นก็ตาม การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีทรัพย์สมบัติที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของผู้นั้นจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะในโลกปัจจุบันนี้ แม้มีเงินทองมากมายก็มิได้หมายความว่าจะมีความสุขที่แท้จริง หากผู้นั้นไม่รู้จักหนทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใดมีทรัพย์สมบัติพอประมาณ แต่รู้จักใช้ทรัพย์สมบัตินั้นในทางที่ถูกต้อง ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการสร้างบารมี ผู้นั้นก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข

ในทางพระพุทธศาสนา การที่เรารู้จักใช้ทรัพย์ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายนั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญยกย่องอย่างมาก เพราะเป็นการใช้ชีวิตอยู่อย่างบัณฑิตนักปราชญ์ ทั้งหลายในกาลก่อนเรียกว่า เป็นผู้รู้จักประมาณในตนเอง หรือเราใช้คำง่ายๆ ว่า สันโดษรู้จักความพอดี หากเรารู้จักทำตนให้ดำรงอยู่อย่างพอเหมาะพอดี รู้จักประมาณในทุกสิ่ง ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข โปร่งเบาใจ และจะห่างไกลจากความกังวลได้อย่างดีเยี่ยม ชีวิตของผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นชีวิตที่ไม่พร่อง เพราะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง มักน้อยสันโดษ ผู้ที่รู้จักตนเองเช่นนี้ เป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในการใช้ชีวิต จะรู้คุณค่าของลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า

ส่วนผู้ใดเป็นคนที่เหลวไหล การเป็นอยู่ของผู้นั้นว่างเปล่าจากประโยชน์ทั้งในภพนี้ และภพหน้า มีชีวิตอยู่ก็จะเป็นที่ติเตียนของบัณฑิต และนักปราชญ์ทั้งหลาย เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพุทธกาล

*ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน โดยปกติทุกๆวัน หลังจากที่พระภิกษุทั้งหลายบำเพ็ญสมณกิจประจำวันแล้ว ท่านจะพากันมานั่งสนทนาธรรมกันตามวาระ หากช่วงนั้นมีเรื่องราวใดเกิดขึ้นจนเป็นที่เลื่องลือ พระภิกษุทั้งหลายก็จะปรารภเหตุการณ์เหล่านั้น ยกขึ้นเป็นหัวข้อธรรมสนทนากัน

วันหนึ่ง เหล่าภิกษุพากันปรารภถึงพฤติกรรมของภิกษุรูปหนึ่งว่า ภิกษุรูปนั้น เป็นพระที่เหลวไหลจริงๆ บวชเข้ามาในพระศาสนาของพระบรมครูผู้ประเสริฐแล้ว ก็ไม่ได้ตั้งใจทำความเพียรอย่างเต็มที่ กลับทำตัวเหลวไหลไร้สาระไปวันๆ ไม่ได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง หรือทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นกับตนเลย

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง ทรงได้สดับเรื่องนั้น ก็ปรารถนาจะปรารภเหตุนั้นแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสเรียกภิกษุรูปนั้นมาตรัสถามท่ามกลางคณะสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ข่าวว่า เธอเป็นผู้เหลวไหล ทำให้สหธรรมิกพากันติเตียนจริงหรือ ภิกษุรูปนั้นยอมรับต่อหน้าพระพักตร์ว่าจริงพระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะในบัดนี้เท่านั้นที่เธอเป็นผู้เหลวไหล เมื่อก่อนเธอก็เป็นผู้เหลวไหลเหมือนกัน ก็เพราะความทะยานอยากไม่รู้จักพอนั่นแหละ ทำให้เธอแสวงหาอยู่ร่ำไป ไม่ได้รับความสุขที่โปร่งใจเลยสักครั้ง เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้ พระภิกษุทั้งหลายต่างปรารถนาจะรู้เรื่องราวในอดีต พากันทูลอ้อนวอน พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในกรุงพาราณสี บ้านเมืองในยุคนั้นเป็นอีกยุคหนึ่งที่มีแต่ความสุขสงบร่มเย็น พระราชาทรงครองราชย์โดยทศพิธราชธรรม เหล่าทวยราษฎร์ทั้งหลายต่างเคารพรัก และเทิดทูนพระองค์ ในยุคนั้นพระโพธิสัตว์ของเราไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ทรงเกิดเป็นพญานกกระจาบ ที่มีรูปร่างน่าดูน่าชมอย่างยิ่ง

เส้นทางการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูของเราได้นั้น ต้องสร้างบารมีทุกรูปแบบ แต่มีข้อพิเศษอยู่ว่า แม้พระองค์จะเกิดในกำเนิดใดๆ ก็ตาม พระองค์จะยังคงความเป็นนักสร้างบารมี จะเป็นผู้ที่มีความพิเศษกว่าบุคคลอื่นเสมอ

แม้ในพระชาตินี้จะเกิดเป็นนกกระจาบก็ตาม พระองค์ ก็เป็นนกกระจาบที่มีปัญญามาก มีคุณธรรมอย่างหนึ่งคือความมักน้อยสันโดษ รู้จักความพอดี รู้จักประมาณ และเป็นสัตว์ที่สอนตนเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระโพธิสัตว์ได้อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีหญ้า และพืชผักผลไม้เป็นอาหาร

ครั้งนั้น ในเมืองพาราณสีมีกาเหลวไหลตัวหนึ่ง เป็นสัตว์ที่มักมากไม่รู้จักพอ ในใจของกามีแต่ความอยากจะได้อยู่ร่ำไป แม้มีชีวิตอยู่ในเมืองมีโอกาสได้กินเนื้อ ได้กินซากสัตว์อย่างมากมาย แต่ก็เป็นสัตว์ที่ไม่รู้จักพออยู่นั่นเอง ในใจมีแต่ความปรารถนาอยากจะได้ยิ่งๆ ขึ้นไป คิดว่า ตัวเราเองควรที่จะได้อาหารมากกว่านี้อีก จึงบินเข้าไปในป่าใหญ่แห่งนั้น ไปหากินผลไม้ชนิดต่างๆ ทำให้ชีวิตและจิตใจของกาไม่รู้จักความสงบสุขอันเกิดจากความรู้จักพอ วันๆ ได้แต่ขวนขวาย แสวงหาอาหารตลอดเวลา เหมือนกลัวจะอดตาย กลัวว่า จะมีใครมาแย่งอาหารของตนไป

วันหนึ่ง ขณะที่กากำลังบินหาอาหาร สายตาเหลือบไปเห็นนกกระจาบพระโพธิสัตว์กำลังหาอาหารบริเวณเช่นกัน เมื่อสายตาของกานั้นแลเห็นสรีระที่สมบูรณ์แข็งแรงของพระโพธิสัตว์ ก็คิดว่า นกกระจาบตัวนี้ มีรูปร่างที่อ้วนท้วนสมบูรณ์เหลือเกิน สงสัยมันจะได้กินอาหารที่เอร็ดอร่อยกว่าเราเป็นแน่ เราจะถามถึงเหยื่อของนกกระจาบนี้ เผื่อเราจะได้สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนนกตัวนี้บ้าง

ด้วยความที่ไม่รู้จักพอ และไม่รู้สถานะของตนเอง ทำตัวอย่างนี้มายาวนาน อยากได้อยากมีอยากเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา กาจึงบินไปเกาะที่กิ่งไม้พลางเอ่ยถามพระโพธิสัตว์ว่า เจ้านกกระจาบผู้เจริญ เจ้ากินอาหารที่ละเอียดประณีตอย่างไร จึงเป็นผู้ที่มีรูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์อย่างนี้ ได้โปรดบอกเราหน่อยเถิด เราเองก็อยากมีรูปร่างงดงามอย่างเจ้าบ้าง

พระโพธิสัตว์ปรารถนาจะถามที่มาที่ไปก่อน จึงเอ่ยถามว่า ท่านลุงกา ตัวท่านเองก็กินอาหารที่ละเอียดประณีต พร้อมทั้งมีโอกาสได้กินเนยใสเนยข้น และน้ำมัน แต่เหตุไรเล่า ลุงจึงผ่ายผอมเช่นนี้

กาตอบว่า ดูก่อนนกกระจาบ เมื่อกาทั้งหลายอยู่ท่ามกลางศัตรู แสวงหาเหยื่อ มีจิตใจที่หวาดระแวงอยู่เป็นนิตย์ จะมีความอ้วนมาจากที่ไหนกัน โดยธรรมดาแล้ว กาทั้งหลายมีแต่ความหวาดระแวง อาหารที่ได้มาด้วยความโลภ ไม่ทำให้กาทั้งหลายอิ่มได้ สาเหตุนี้แหละที่ทำให้เราผ่ายผอม ดูก่อน นกกระจาบ ตัวเจ้าเองกินแต่หญ้า และพืชผักผลไม้ที่มีรสอร่อยน้อย ทำไม เจ้าจึงอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้

เมื่อนกกระจาบพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ด้วยความที่เป็นสัตว์ผู้มีบุญ และทรงปัญญา ปรารถนาจะให้ข้อคิดกับกา จึงพูดขึ้นว่า ลุงกา ตัวข้าพเจ้าเองยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยอาหารที่หามาได้ รู้จักความพอดี มักน้อยสันโดษ คิดน้อยไม่หวาดระแวงเรื่องที่ไร้สาระ ไปหากินไม่ไกลจึงไม่ลำบาก ผู้รู้เคยกล่าวว่า ผู้ที่มักน้อยสันโดษ รู้จักความพอดี จะมีความสุขแบบพระอริยเจ้า ที่รู้จักประมาณในอาหารที่รับมาอย่างพอเหมาะพอดีแล้ว ย่อมจะเป็นสุขในทุกๆ ถิ่น และการดำเนินชีวิตของเขาก็จะเป็นไปได้อย่างมีความสุข เมื่อพระศาสดาทรงนำอดีต นิทานมาตรัสแล้ว ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้เหลวไหลก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล และเลิกทำตัวเหลวไหล เพราะมีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสารแล้ว

จะเห็นได้ว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณมักน้อยสันโดษ มีความพอดีอยู่ในตัวนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย ห่างไกลจากตัณหา คือความอยากทั้งหลายในโลก ตัณหานี่แหละ ที่ทำให้มวลมนุษย์ต้องดิ้นรนแสวงหากันอยู่ร่ำไป จนกระทั่งลืมเลือนการแสวงหาเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือการแสวงหาหนทางของพระนิพพาน แสวงหาความพอดีที่จะนำใจของเรากลับคืนสู่ฐานที่ตั้งที่แท้จริง คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ความพอดีตรงนี้เท่านั้น ที่จะคืนความบริสุทธิ์ให้กับใจของเราได้ เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราอย่าลืมความพอดีในการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันทุกคน

*มก. วัฏฏกชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๑๙๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3697
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *