มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – สิ่งที่พึงพิจารณาบ่อยๆ

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – สิ่งที่พึงพิจารณาบ่อยๆ

ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น เพราะพื้นฐานของทุกชีวิตตั้งอยู่บนความทุกข์ ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จรที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา แต่ละคนต่างมีวิธีการบำบัดทุกข์บำรุงสุขที่แตกต่างกันไป แต่ความสุขเหล่านั้น มักจะเป็นความสุขชั่วคราว เช่น สุขที่เกิดจากการดูภาพสวยๆ ฟังเสียงเพราะๆ ดมกลิ่นหอมๆ ลิ้มรสที่อร่อยๆ ความสุขที่อิงด้วยอามิสเหล่านี้ ไม่นานก็จืดจางห่างหาย และแปรเปลี่ยนไป เพราะไม่ใช่สุขที่แท้จริง ตำแหน่งแห่งความสุขที่แท้จริง มีจุดเริ่มต้นและจุดสูงสุดอยู่ที่จุดเดียวกัน คือ ที่ศูนย์กลางกายฐาน ที่ ๗ ณ ที่ตรงนี้เป็นจุดที่ปลอดความคิด แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข และความสำเร็จสมหวัง เพียงเรานำใจมาหยุดนิ่งอย่างเบาสบายให้ต่อเนื่องกันไป ไม่นานเราย่อมจะพบกับความสุข อันเป็นอมตะที่แท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน เตมิยชาดก ว่า

บุคคลเมื่อถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัยจากการหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมมีภัยจากความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น ชนเป็นอันมาก เห็นกันอยู่ในเวลาเช้า บางคนครั้นพอตกเย็นก็ไม่เห็นกันเสียแล้ว ชนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น บางคนครั้นพอรุ่งเช้าก็ไม่เห็นกันอีก

การเจริญมรณานุสติไม่ใช่เรื่องการมองโลกในแง่ร้าย ที่คิดแล้วทำให้จิตใจของเราหดหู่ แต่เป็นการพิจารณาเห็นโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริง เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ความตายเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา เพียงหายใจเข้าแล้ว ไม่หายใจออกก็ตายแล้ว ขณะเรานอนหลับ เราไม่อาจรู้ได้ว่า จะมีโอกาสตื่นมาดูโลกในเช้าวันใหม่หรือไม่ นี่เป็นความจริงที่ต้องพิจารณากันบ่อยๆ เพื่อเราจะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เมื่อไม่ประมาท ชีวิตย่อมปลอดภัย การเดินทางไกลใน สังสารวัฏเพื่อมุ่งไปสู่พระนิพพานก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การเจริญมรณานุสติมีอยู่หลายวิธี พระวิปัสสนาจารย์ในสมัยโบราณได้รวบรวมวิธีการไว้ถึง ๘ อย่างด้วยกัน คือ ท่านให้พิจารณาถึงความตายโดยอาการเหมือนเพชฌฆาตที่เงื้อดาบขึ้น เตรียมฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่ให้ประหาร เพราะความตายมาพร้อมกับการเกิด แล้วคร่าเอาชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายไป เหมือนดอกเห็ดที่ผุดขึ้นมา ย่อมเอาดินติดขึ้นมาด้วย ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา ต่างพกพาเอาความแก่ และความตายมาด้วย ฉันนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว ต่างบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เปรียบดังดวงสุริยาที่ขึ้นแล้ว ย่อมมีเวลาอัสดง ฉะนั้น

ท่านให้พิจารณาถึงความตาย โดยอาการวิบัติแห่งสมบัติ คือ สมบัติทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมอยู่ได้ชั่วขณะที่วิบัติยังไม่ครอบงำ แต่เมื่อวิบัติครอบงำ ย่อมไม่สามารถตั้งอยู่ได้ ขึ้นชื่อว่าสมบัติ ที่จะล่วงพ้นวิบัติไปได้นั้น ย่อมไม่มีเลย ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ไม่ช้าก็เร็วต้องเสื่อมสภาพไปหมด

ให้พึงพิจารณาถึงความตาย โดยเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้มียศใหญ่ มีบุญมาก มีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างต้องจากโลกนี้ไป ไฉนเราจะไม่ตาย ทุกคนต่างต้องตายเหมือนกันหมด

ให้พิจารณาถึงความตาย โดยร่างกายนี้เป็นของสาธารณะแก่สัตว์มากมาย คือ เป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์หลายจำพวก พวกที่อาศัยผิวหนังก็กัดกินผิวหนัง พวกที่อาศัยเนื้อ ก็กัดกินเนื้อ พวกที่อาศัยกระดูกก็กัดกินกระดูก สัตว์ที่อาศัยอยู่เหล่านั้น ต่างเกิด แก่ ตาย ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะอยู่ในกายนี้ ร่างกายนี้เป็นทั้งเรือนคลอด เป็นโรงพยาบาล สุสาน ของหมู่สัตว์เหล่านั้น กายนี้เป็นของสาธารณะแก่สัตว์ต่างๆ อีกหลายชีวิตที่เรามองไม่เห็น และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นปัจจัยแห่งความตาย ทั้งที่เป็นภายใน ได้แก่โรคหลายร้อยหลายพันชนิด ทั้งที่เป็นภายนอก ได้แก่สัตว์มีพิษ ทั้งธาตุพิษและไอพิษ หรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น อุปมาเหมือนลูกศร หอก และก้อนหิน ที่ถูกซัดขว้างมาจากทิศต่างๆ มุ่งเป้ามาที่ตัวเรา ดังนั้น อันตรายแห่งชีวิต ต่างมุ่งมาที่ร่างกายเรานี้ เหมือนถูกกำหนดชะตากรรมไว้แล้ว ด้วยบุญและบาปที่เป็นตัวปรุงแต่ง ตัวเราจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจต้อนรับ ล้วนต้องรับมือกับความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกันทุกคน

พึงพิจารณาถึงความตาย โดยอายุนั้นไม่ยั่งยืน เพราะชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยลมหายใจเข้าออกจึงเป็นอยู่ได้ ถ้าไม่หายใจก็ตาย และผูกพันอยู่กับอิริยาบถ ๔ จึงดำเนินอยู่ได้ อิริยาบถใดเกินประมาณ เช่น ยืนนานเกินไป เดินนานไม่ได้หยุดพัก อายุสังขารย่อมเสื่อมลง และยังผูกพันกับความร้อนความเย็น เย็นเกินไปหรือร้อนเกินไป สังขารอาจวิบัติไป เพราะทนอยู่ไม่ได้ อีกทั้งผูกพันกับมหาภูตทั้งสี่ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หากธาตุอย่างหนึ่งอย่างใดกำเริบเสียสมดุลในร่างกาย ย่อมถึงแก่ชีวิตได้ และผูกพันอยู่กับอาหาร เมื่อไม่ได้อาหาร กายนี้ก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้

พึงพิจารณาถึงความตายโดยไม่มีนิมิตหมาย เพราะไม่มีกำหนดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไร จะตายตอนไหน เพราะบางคน ตายตอนอยู่ในครรภ์ก็มี ตอนเด็กก็มี ตอนหนุ่มสาวก็มี หรือตอนแก่ก็มี จะตายด้วยโรคอะไรก็ไม่รู้ จะป่วยตายหรือประสบอุบัติเหตุตาย จะตายตอนเช้า ตอนกลางวัน หรือตอนเย็นก็ไม่อาจรู้ได้เช่นกัน จะตายที่โรงพยาบาล ในบ้านหรือนอกบ้าน บนบกหรือในน้ำ ก็ไม่มีนิมิตหมายบอกล่วงหน้า และเมื่อตายไปแล้ว จะมีคติอย่างไร จะไปเกิดในภพภูมิไหน ก็มิอาจรู้ได้อีกเช่นกัน เหมือนโคที่เขาเทียมเกวียน แล้วเดินวนไปเวียนมาเช่นนั้น

พึงพิจารณาถึงความตายโดยที่ชีวิตเป็นของน้อย ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีเวลาอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด สั้นจนน่าใจหาย เพราะอายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์ยุคนี้อยู่ในช่วง ๗๕ ปี เมื่อเทียบกับบางยุคที่มนุษย์มีอายุถึง ๑๐,๐๐๐ ปีบ้าง ๘๐,๐๐๐ ปีบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ปีบ้าง นับเป็นช่วงอายุที่แตกต่างกันมาก ปัจจุบันผู้ใด มีอายุขัยเกิน ๑๐๐ ปี ถือว่าอายุยืนมาก แต่จะมีสักกี่คนที่อยู่ถึง ๑๐๐ ปี ดีที่สุด คือ อย่าประมาท ให้เร่งทำความดีเข้าไว้

ประการสุดท้าย พึงพิจารณาถึงความตายที่ว่าโดยปรมัตถ์ คือ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายสั้นนัก ชั่วความเป็นไปแห่งจิตดวงหนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อจิตดวงนี้ดับ สัตว์ย่อมได้ชื่อว่าดับ คือ ตายนั่นเอง เพราะธาตุ ๔ ซึ่งเป็นส่วนของรูป ไม่มีส่วนที่เป็นนาม คือ ใจควบคุมแล้ว เสมือนท่อนไม้ผุพังที่ถูกทิ้งไว้ในป่า มีแต่ต้องเอาไปเผาไฟเท่านั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพุทธประสงค์ให้พุทธบริษัททั้งหลาย หมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เนืองๆ ชนิดทุกลมหายใจ เข้าออก เพราะชีวิตมนุษย์นั้นสั้นยาว เพียงแค่ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกเท่านั้น ไม่ได้ยืนยาวอย่างที่เรานึกคิดกันเอง การพิจารณาถึงความตายนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องพิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาบ่อยๆ ครั้นความตายมาปรากฏต่อหน้าเราจริงๆ จะได้ไม่หวาดกลัวต่อมรณภัย แต่จะรับกับสถานการณ์นั้นได้อย่างสงบ ด้วยใจที่ผ่องใสว่า และจะจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ

ฉะนั้น อย่าลืมหลักวิชชา ถ้าใจหมองไปอบาย ใจใสไปสวรรค์ เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ให้ตั้งใจสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ เพื่อแข่งกับเวลาที่เหลือน้อยลงทุกขณะ และมรณภัยก็กำลังคืบคลานเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้ จะได้เป็นเครื่องยืนยันความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตัวเรา เมื่อเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท และฉลาดในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3405
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *