มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน – พระทัพพมัลลบุตร (๖)

มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน – พระทัพพมัลลบุตร (๖)

การเกิดมาของเราในแต่ละชาติ มีวัตถุประสงค์หลัก คือทำพระนิพพานให้แจ้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออย่างน้อยต้อง สร้างบารมีกันให้ได้มากที่สุด สั่งสมความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจให้เต็มที่ สั่งสมไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งความบริสุทธิ์เต็มเปี่ยม เราก็จะหลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของพญามาร มีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เพราะจุดสุดท้ายของทุกๆ ชีวิตในสังสารวัฏ คือการเข้าสู่อายตนนิพพาน ดังนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อเกิดมาในชาตินี้แล้ว จึงไม่มัวหมกมุ่นอยู่กับสิ่งไร้สาระ แต่จะมุ่งแสวงหาพระรัตนตรัยภายในตัว เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่มีอยู่ภายในตัวของพวกเราทุกๆ คน อันเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน

มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏใน สังขิตตสูตร ความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังของพระเสขะ ๕ ประการ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา บรรดากำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ กำลังคือปัญญาเป็นเลิศ สิ่งที่เป็นเลิศ เป็นยอด เป็นที่รวบรวมแห่งเรือนคือยอด ฉันใด บรรดากำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ กำลังคือปัญญา ก็เป็นเลิศ เป็นยอด เป็นที่รวบรวม ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า พวกเราจักประกอบด้วยกำลัง คือศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา อันเป็นกำลังของพระเสขะ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

พระเสขะ คือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาในไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องบำเพ็ญสิกขาทั้งสามให้บริบูรณ์ การจะบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้นั้น เบื้องต้นต้องประกอบด้วยศรัทธา หิริความละอายต่อบาป โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อผลของบาป วิริยะ ความเพียรที่จะตั้งใจละบาปอกุศล อีกทั้งบำเพ็ญกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป และสมบูรณ์ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อกำจัดอาสวกิเลส ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ พระเสขะผู้ประกอบด้วยกำลังทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมจะเข้าถึงพระนิพพานได้อย่างแน่นอน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่วงใยในภิกษุสงฆ์สาวกของพระองค์มาก จึงตรัสสอนเพื่อให้ตระหนักว่า ชีวิตที่จะก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ อย่างน้อย ต้องประกอบด้วยธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ จึงจะมีกำลังมากพอที่จะเอาชนะกิเลสอาสวะภายในได้

*เมื่อตอนที่แล้วกล่าวถึงเรื่องราวการสร้างบารมีของพระทัพพมัลลบุตร ว่าท่านได้บังเกิดในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยท่านพร้อมกับสหธรรมิกอีก ๖ รูป ตั้งใจมั่นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขึ้นสู่ภูเขาเพื่อปฏิบัติธรรม และทำกติกากันว่า หากไม่บรรลุคุณวิเศษ จะไม่ยอมฉันอาหาร เมื่อขึ้นถึงยอดเขาแล้ว ก็ผลักบันไดทิ้ง เพื่อตัดทางสัญจร ใจจะได้ไม่วอกแวก มุ่งทำหยุดในหยุดอย่างเดียว

แต่ละรูปต่างแยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรม เมื่อผ่านไปได้ ๕ วัน พระเถระรูปที่หนึ่งก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เหาะไปบิณฑบาต ที่อุตตรกุรุทวีปด้วยฤทธานุภาพ และนำภัตตาหารมาแบ่งแก่เพื่อนสหธรรมิกที่เหลือ แต่ไม่มีรูปใดยอมฉัน เพราะต้องการจะบรรลุธรรมให้ได้ และไม่ต้องการผิดกติกาที่วางไว้ร่วมกัน ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ พระเถระอีกรูปหนึ่ง ได้สำเร็จพระอนาคามิผล ท่านก็เหาะไปบิณฑบาต นำอาหารมาแบ่งถวายพระเพื่อนที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม แต่เพื่อนๆ ก็ปฏิเสธ และได้มุ่งปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งอย่างไม่ลดละ เพื่อจะทำพระนิพพานให้แจ้ง

ในที่สุด บั้นปลายชีวิตของท่านทั้ง ๗ รูปนี้ พระเถระผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน พระเถระผู้บรรลุพระอนาคามิผล เมื่อมรณภาพแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ฝ่ายพระภิกษุ ๕ รูปที่เหลือ เมื่ออดอาหารอยู่หลายวันก็มรณภาพ และไปบังเกิดในสวรรค์

จนกระทั่งเวลาผ่านไปหนึ่งพุทธันดร หนึ่งในนั้นได้กลับมาเกิดเป็นพระเจ้าปุกกุสาติ อยู่ในเมืองตักสิลา รูปหนึ่งกลับมาเกิดเป็นพระโสภิยเถระ รูปหนึ่งกลับมาเกิดเป็นพระพาหิยะ อีกรูปหนึ่งได้เกิดมาเป็นพระกุมารกัสสปเถระ ส่วนรูปสุดท้ายได้ มาเกิดเป็นพระทัพพมัลลบุตร ผู้เป็นโอรสของมัลลกษัตริย์ใน แคว้นมัลละ แห่งเมืองกุสินารา นี่เป็นเรื่องราวของพระทัพพ มัลลบุตรเถระ ที่ท่านรับภาระหน้าที่ เป็นภัตตุเทศก์มาโดยลำดับ

วันหนึ่ง ท่านได้พิจารณาดูอายุสังขารว่า สมควรจะปรินิพพานแล้ว จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งในขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ เมื่อถวายบังคมแล้ว ก็กราบทูลลาเพื่อนิพพานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลาสมควรต่อการปรินิพพานของข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลลาเข้าสู่พระนิพพาน พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า ดูก่อนทัพพะ เธอจงพิจารณาดูเวลาอันสมควรเถิด เมื่อพระทัพพมัลลบุตรเถระได้รับพุทธานุญาตแล้ว ท่านลุกขึ้นจากอาสนะและถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณรอบพระพุทธองค์ ๓ รอบ แสดงความเคารพเป็นวาระสุดท้าย แล้วเหาะขึ้นไปสู่ท้องฟ้า นั่งขัดสมาธิ เข้านิโรธสมาบัติ มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ครั้นออกจากสมาบัติก็ดับขันธ์นิพพาน

ในขณะที่สรีระของท่านถูกไฟเผาไหม้อยู่นั้น มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ เถ้าและเขม่าไม่ปรากฏให้ใครเห็น เหมือนกับเถ้าของเนยใส หรือน้ำมันหอมที่ถูกไฟเผาไหม้ระเหยไป พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงกับเปล่งพระอุทานขึ้นในขณะนั้นว่า

รูปกายได้สลายแล้ว สัญญาดับแล้ว เวทนาทั้งปวงเป็นธรรมชาติเย็นแล้ว สังขารทั้งหลายสงบแล้ว วิญญาณก็ตั้งอยู่ ไม่ได้ คติของพระขีณาสพ ผู้สิ้นอาสวะ ปราศจากกิเลสที่หมักดอง อยู่ในสันดาน เป็นผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ ข้ามเครื่องผูก คือกาม และโอฆะได้แล้ว ถึงซึ่งความสุขอันหาความหวั่นไหวมิได้ ไม่มีเพื่อจะบัญญัติ เหมือนคติแห่งไฟลุกโพลงอยู่ในภาชนะสำริด

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ยอดนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน กว่าที่ท่านจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ต้องชิงช่วงชีวิตในการสร้างบารมี เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในขณะที่ผู้อื่นประมาทอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่ในขณะที่ผู้อื่นหลับใหล การสร้างบารมีแบบชิงช่วงนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยกำลังใจอันสูงยิ่ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น อุปสรรคต้องพ่ายแพ้แก่ผู้มีความเพียรเสมอ เหมือนความมืดในโลกนี้มีไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมง เมื่อ ถึงชั่วโมงที่ ๑๓ ก็จะสว่างขึ้น เช่นเดียวกับความมืดในชีวิต ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ความมืดนั้นจะอยู่กับเราไม่นาน ในไม่ช้าจะจากเราไป ความสว่างก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถพลิกผันชีวิตให้ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าใครๆ ทั้งหมด สถานการณ์เป็นเพียงเครื่องวัดกำลังใจในการสร้างบารมีของเราเท่านั้นเอง

ดังนั้น เราต้องรีบชิงช่วงเวลาในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะในพรรษาของการพบพระภายใน พระเห็นพระ เณรเห็นพระ และโยมเห็นพระ จะเห็นพระธรรมกายภายในได้ ต้องทำให้ถูกหลักวิชา ทำใจของเราให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาสบาย สม่ำเสมอ ประกอบความเพียรอย่างแกร่งกล้า เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าทำถูกหลักวิชชาได้อย่างนี้ เราจะต้องเข้าถึงพระธรรมกายภายในพรรษาอย่างแน่นอน ผังสำเร็จก็ติดตัวเราไปในภพเบื้องหน้า ตลอดเส้นทางของการสร้างบารมี เราจะพบแต่คำว่าสำเร็จ เป็นผู้มีชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม อย่าลืมเป้าหมายหลักตรงนี้ และให้หมั่นปฏิบัติธรรมทุกๆ วัน ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้กันทุกคน

*มก. บุพจริยาของพระทัพพฯ เล่ม ๗๒ หน้า ๒๕๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3662
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *