มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – ขาดความเคารพ พบความพินาศ

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – ขาดความเคารพ พบความพินาศ

บุญ เป็นเครื่องสนับสนุนในการเดินทางไกลข้ามสังสารวัฏ ไปสู่จุดหมายปลายทางคือ อมตมหานิพพาน บุญเท่านั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เราได้สร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย บุญกุศลเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะต้องสั่งสมไว้ เพราะบุญเป็นเพื่อนแท้ ในการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสในการสร้างบุญสร้างบารมี จงอย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเรา ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า บุญจะสนับสนุนให้เราได้บรรลุจุดหมายปลายทาง ไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้ ดังนั้น ให้รีบขวนขวายในบุญกุศลกันทุกคน

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ว่า

สตฺถุครุ ธมฺมครุ สงฺเฆ จ ติพฺพคารโว
สมาธิครุ อาตาปี สิกฺขาย ติพฺพคารโว
หิริโอตปฺปสมฺปนฺโน สปฺปติสฺโส สคารโว
อภพฺโพ ปริหานาย นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก

ภิกษุผู้มีความเคารพในพระศาสดา มีความเคารพในธรรม มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ มีความเคารพ ยำเกรง เป็นผู้ไม่ควร เพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว

ความเคารพ คือ การตระหนักในคุณงามความดีของผู้ควรเคารพ และก็หาโอกาสแสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่เราเคารพนั้นด้วยความจริงใจ และด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธาจริงๆ ทั้งทางกาย วาจา ใจ ทำจนเป็นปกติทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทำจนคุ้นเคยชินเป็นปกติ ความเคารพเป็นทางมาแห่งปัญญา เป็นบุญกุศลที่จะส่งผลให้ได้เกิดในตระกูลสูง และได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วพลัน

ทางมาแห่งปัญญา ภาษาพระท่านใช้คำว่า สัปปุริสูปสังเสนะ คือต้องคบหาสัตบุรุษ ซึ่งหมายเอาครูบาอาจารย์ของเรานั่นเอง สัทธัมมัสสวนะ คือ ตั้งใจฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ โยนิโสมนสิการ เมื่อฟังแล้วก็นำไปพิจารณาไตร่ตรอง และสุดท้าย คือ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทำตามที่ท่านชี้แนะ เช่นนี้แล้วชีวิตของเราก็จะไม่ผิดพลาด มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป สรุปง่ายๆ คือต้องเข้าหาครู ฟังคำครู ตรองคำครู และทำตามครู

มีตัวอย่างเรื่องที่ลูกศิษย์ไม่เชื่อฟัง และไม่ปฏิบัติตาม คำสอนของครู จึงทำให้เสื่อมจากฤทธิ์ เรื่องมีอยู่ว่า

*พระอรหันต์รูปหนึ่ง มีความประสงค์จะไปไหว้พระมหาเจดีย์ และต้นมหาโพธิ์ จึงชวนสามเณรไปด้วย แต่สามเณรกราบเรียนว่าจะตามไปทีหลัง พระมหาเถระได้ไปยืนนมัสการมหาเจดีย์ ด้วยความเคารพยิ่งในพระรัตนตรัย เจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ฝ่ายสามเณรเหาะมาทางอากาศ เห็นพระเถระกำลังไหว้พระเจดีย์ ด้วยมือเปล่า จึงเหาะไปที่ป่าหิมพานต์ เพื่อเลือกเก็บดอกไม้ ที่สมบูรณ์ด้วยสี และกลิ่นมาถวายพระเถระ

พระเถระบอกว่า ดอกไม้ที่สามเณรนำมามีน้อยเกินไป สามเณรจึงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ว่าพระเถระจะนำดอกไม้แม้เพียงกำมือเดียวไปบูชาตรงไหน ดอกไม้ก็ไม่เคยพร่องเลย ทำให้ทั่วลานพระเจดีย์เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิด มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วสารทิศ พระเถระเห็นว่า แม้สามเณรรูปนี้จะมีฤทธานุภาพมาก แต่เป็นฤทธิ์ของปุถุชน หากแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ พร่ำเพรื่อ ไม่รู้จักกาลเทศะ ต่อไปในอนาคตจะไม่สามารถรักษาฤทธิ์เหล่านี้ไว้ได้ ท่านจึงแนะนำว่า สามเณร บัดนี้เธอมีฤทธิ์มาก แต่ต่อไปในอนาคต เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เธอจักเสื่อมจากฤทธิ์ และต้องดื่มน้ำซาวข้าวจากมือของหญิงทอหูกตาบอดข้างเดียว ขอให้เธออย่าได้ประมาท ให้สำรวมอินทรีย์ไว้ให้ดี

สามเณรได้ฟังเช่นนั้นรู้สึกหวั่นไหวในถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์ แต่ความทระนงในฤทธิ์เดชของตน จึงไม่ได้ขอร้องให้ท่านช่วยสอนกัมมัฏฐานให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้แต่ทำเป็นไม่ได้ยินเรื่องที่พระอาจารย์พูด

หลังจากพระเถระไหว้มหาเจดีย์แล้ว ท่านให้สามเณรถือบาตร และจีวรตามไปเพื่อจะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน สามเณรรับบาตรของพระอาจารย์มา แต่ไม่ได้เดินตาม ต่อเมื่อพระเถระเดินไปถึงประตูบ้านของญาติโยม สามเณรก็เหาะเอาบาตรมาถวายได้ทันเวลา

แม้พระเถระจะเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา บรรลุวิชชา ๘ มีฤทธานุภาพมากกว่าสามเณร แต่ท่านไม่เคยแสดงฤทธิ์ให้ใครๆ ชื่นชม เพราะท่านสงบสำรวม ท่านได้ชี้ขุมทรัพย์สั่งสอน สามเณรบ่อยๆ ว่า สามเณร เธออย่าได้ทำอย่างนั้นเลย ฤทธิ์ของปุถุชนไม่แน่นอน ครั้นได้อารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ฤทธิ์นั้นก็สามารถเสื่อมไปได้ เมื่อเสื่อมจากสมาบัติ ก็ไม่อยากอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์อีกต่อไป สามเณรได้ฟังแล้ว แทนที่จะปฏิบัติตาม กลับทำเป็นหูทวนลม ยังคงหลงในฤทธิ์เพียงเล็กน้อยของตน

วันหนึ่ง ลูกสาวของช่างทอหูกออกจากบ้านไปเก็บดอกบัวที่สระน้ำ เก็บดอกบัวไปพลาง ร้องเพลงไปพลาง สามเณรเหาะไปใกล้บริเวณสระบัวแห่งนั้น เกิดติดใจเสียงขับร้องของนาง เนื่องจากไม่สำรวมอินทรีย์ส่งใจไปในหญิงสาว ทำให้เกิดความกำหนัดยินดี กามราคะที่ข่มไว้ด้วยอำนาจฌานสมาบัติก็ฟูขึ้นท่วมทับจิตใจ ทันใดนั้นเอง ฤทธิ์ของสามเณรก็เสื่อม ไม่อาจเหาะได้ ดุจกาปีกหัก ค่อยๆ ร่วงลงเหมือนปุยนุ่นหล่นลงสู่พื้นดิน

สามเณรรีบนำบาตรไปมอบให้พระอาจารย์ และกลับมาที่เดิม ยืนอยู่บริเวณขอบสระบัว มองดูหญิงสาวด้วยความสิเนหา พระมหาเถระเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับสามเณรหนุ่มผู้อยู่ในวัยคะนอง และได้เตือนหลายครั้งแล้ว แต่สามเณรก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ท่านจึงไม่ได้พูดอะไรอีก ฝ่ายหญิงสาวรู้ว่าสามเณรมีใจต่อนาง แต่เนื่องจากเป็นหญิงที่มีหิริโอตตัปปะ จึงบอกโทษของการอยู่ครองเรือน แต่สามเณรก็ไม่เชื่อฟัง ปรารถนาจะลาสิกขาและขอแต่งงานกับนาง

หญิงสาวได้นำเรื่องราวทั้งหมดไปบอกบิดามารดา ฝ่ายบิดามารดาก็ห้ามปรามสามเณรว่า อย่าสึกออกมาเลย เพราะฆราวาสมีกิจมาก แต่สามเณรก็ไม่ยอมเชื่อ ปรารถนาจะแต่งงานกับลูกสาวช่างทอหูกอย่างเดียว ช่างทอหูกเห็นว่า ห้ามไม่ได้แล้ว จึงบอกให้สามเณรกลับไปลาสิกขาที่วัด และให้พา พ่อแม่มาสู่ขอลูกสาวตามประเพณี สามเณรก็ทำตามทุกอย่าง

เมื่ออยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาไม่นาน จากที่เคยรักกันมาก ก็เริ่มเห็นข้อบกพร่องของกันและกัน ทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน ต่างคนต่างก็ไม่ยอมกัน วันหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายสามีกำลังทอหูกด้วยความเหน็ดเหนื่อยอยู่นั้น ภรรยาได้พูดขัดใจขึ้นมา สามีจึงขว้างกระสวยใส่ภรรยาด้วยความโมโห บังเอิญภรรยาหลบไม่ทัน ปลายไม้กระสวยจึงกระทบตาของนาง ทำให้ตาบอดไปข้างหนึ่ง

สามีหนุ่มเห็นภรรยาตาบอดเช่นนั้น ก็รู้สึกสงสารนางขึ้นมาอย่างจับใจ พลางระลึกถึงถ้อยคำของพระอาจารย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า ในอนาคต เธอจักต้องดื่มน้ำข้าวที่ขยำด้วยมือของหญิงทอหูกตาบอดข้างเดียว พระอาจารย์ของเราคงเห็นเหตุนี้มาก่อนเป็นแน่ แต่เพราะความไม่เคารพในครูบาอาจารย์ ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทำให้ชีวิตต้องมาลำบากลำเค็ญอย่างนี้ เมื่อคิดได้แล้ว ก็ยิ่งเสียใจเป็นทับทวีคูณที่ตนต้องเสื่อมจากฤทธิ์ เสื่อมจากพรหมจรรย์ แม้สึกออกมาแต่งงานก็พบกับความยากลำบาก มีภรรยาตาบอดที่ต้องทนเลี้ยงดูกันไปชั่วชีวิต

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ไม่เชื่อฟังคำครู ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์ ก็ต้องประสบกับความเสื่อมเช่นนี้ แต่หากบุคคลใดทำตามคำแนะนำของครู ไม่ดูเบา ไม่มองข้าม พิจารณาเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย ที่ท่านได้ชี้ขุมทรัพย์ให้ และรีบนำไปแก้ไขปรับปรุงด้วยความเคารพ บุคคลนั้นย่อมพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

สิ่งที่ควรเคารพในโลกนี้มีมากมาย แต่ย่นย่อมีอยู่ ๗ ประการ ตั้งแต่เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในการทำสมาธิ ในไตรสิกขา ในความไม่ประมาท และในการปฏิสันถาร

ดังนั้น ทุกคนควรฝึกฝนตนเอง ให้เป็นผู้มีความเคารพอยู่ในหัวใจ ชีวิตเราจะได้ไม่มีวันเสื่อมจากคุณธรรมความดี มีแต่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปทั้งทางโลก และทางธรรม

*มก. อรรถกถามหาสกุลุทายิสูตร เล่ม ๒๐ หน้า ๕๘๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3576
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *