มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – เคารพกันตามลำดับ

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – เคารพกันตามลำดับ

การปฏิบัติธรรมโดยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นกรณียกิจที่สำคัญของมนุษย์ทุกๆ คน เพราะเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง และยังเป็นเหตุที่จะทำให้ใจหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ทั้งหลาย ซึ่งจุดประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เพื่อแสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของ พญามารที่บังคับ และครอบงำจิตใจของสรรพสัตว์ไม่ให้หลุดพ้น ให้ยึดให้ติดในคน สัตว์ สิ่งของ วนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์แห่งสังสารวัฏที่ยาวไกล อันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดไม่ได้ ฉะนั้น กรณียกิจสำคัญของตัวเราที่ได้เกิดมาแล้ว คือ การฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่งเพื่อไปสู่นิพพาน

มีวาระพระบาลีในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ความว่า

บุคคลกระทำความเคารพผู้ที่ควรเคารพ สักการะผู้ที่ควรสักการะ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้น ที่ยึดถือไว้บริบูรณ์อย่างนี้ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากมาเกิดเป็นมนุษย์ในประเทศใด ก็จะเป็นผู้มีตระกูลสูง

การแสดงความเคารพ คือ มีความตระหนักในคุณธรรมความดีของคนอื่น และนอบน้อมด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น หลีกทางให้ ลุกขึ้นยืนต้อนรับ ให้ที่นั่ง ประณมมือเวลาพูดคุยด้วย กราบไหว้ หรือขออนุญาตทำกิจต่างๆ เป็นต้น หากสังคมใดมีความเคารพต่อกัน ความสมัครสมานสามัคคีย่อมเกิดขึ้น สังคมนั้นก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

ความเคารพควรเริ่มฝึกตั้งแต่ในครอบครัว คือ ลูกๆ เคารพพ่อแม่ด้วยการเชื่อฟัง พูดจามีสัมมาคารวะ ไปลามาไหว้ และให้คุณธรรมนี้แผ่ขยายออกไปถึงโรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชนจนถึงระดับประเทศ เคารพในกฎหมายบ้านเมือง ไม่ล่วงละเมิดในกฎระเบียบข้อบังคับ ต่อไปบ้านเมืองก็จะร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่ น่าอาศัย

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของผู้มีความเคารพว่า บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เมื่อละโลกไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ถ้าไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิด ณ ที่แห่งใด ย่อมเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลสูง

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำพร่ำสอน ให้ความสำคัญในเรื่องความเคารพมาก ภิกษุสงฆ์ที่บวชเข้ามาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สืบอายุพระพุทธศาสนากระทั่งทุกวันนี้ เพราะท่านอาศัยความเคารพกันตามอาวุโส ใครบวชก่อนก็ได้ชื่อว่ารัตตัญญู รู้ราตรีนาน หมู่สงฆ์จึงเป็นหมู่ที่งดงาม น่าเลื่อมใส เพราะอาศัยมหากรุณา และพระปัญญาอันเฉียบแหลมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงวางไว้เป็นเนติแบบแผน ที่ดีงาม

มีเรื่องเล่าว่า *ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองเวสาลี และกำลังเสด็จจาริกมาทางพระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์รีบเดินไปให้ถึงที่พักก่อนภิกษุสงฆ์ เพื่อจะจองที่พักให้กับอุปัชฌาย์อาจารย์ และพวกตนเอง เป็นเหตุให้พระสารีบุตรซึ่งไปถึงภายหลัง ไม่มีที่พักผ่อน ซึ่งอัธยาศัยของพระอรหันต์นั้น ท่านไม่ได้น้อยอกน้อยใจ ไม่ได้ถือตัวว่าตนเองเป็นถึงอัครสาวกเบื้องขวา ต้องได้เสนาสนะ ที่ดีกวาผู้อื่น เมื่อที่พักถูกจับจองจนหมด ท่านจึงหลีกไปนั่งพักที่โคนไม้แห่งหนึ่ง

รุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้น ทรงเห็นพระเถระนั่งอยู่ใต้โคนไม้ตามลำพัง จึงตรัสถามว่า ดูก่อนสารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่โคนไม้นี้ พระสารีบุตรจึงกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์ รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เป็นการด่วน ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ได้ข่าวว่า ภิกษุอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์รีบไปก่อนภิกษุสงฆ์ แล้วจองวิหาร กันที่นอนไว้ จัดเฉพาะเสนาสนะ ที่ดีๆ สำหรับอุปัชฌาย์อาจารย์ของพวกตน แต่ไม่ได้จัดไว้เพื่อพระสารีบุตรหรือ

ครั้นพวกภิกษุกราบทูลว่าเป็นความจริง พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆะบุรุษเหล่านั้น จึงรีบไปก่อนเหล่าภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เหตุใดจึงประพฤติเช่นนั้นเล่า การกระทำของโมฆะบุรุษเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เป็นไปเพื่อคลายความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเช่นไร ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามเช่นนั้น ภิกษุบางพวกกราบทูล ว่าพระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใด บวชจากตระกูลกษัตริย์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ภิกษุบางพวก กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดบวชจากตระกูลพราหมณ์ ภิกษุนั้นควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ บางพวกกราบทูลว่า ภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลคฤหบดี ควรได้วัตถุอันเลิศก่อน บางรูปเสนอว่า ภิกษุผู้ทรงจำพระสูตรไว้ได้ขึ้นใจ ควรได้วัตถุอันเลิศก่อน ต่างรูปต่างเสนอความเห็นว่า รูปใดควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุผู้ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นพระธรรมกถึก ผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนกระทั่งถึงพระอรหันต์ว่าผู้ใดควรได้วัตถุอันเลิศก่อน

พระพุทธองค์สดับคำตอบของภิกษุทั้งหลายจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่แถบป่าหิมพานต์ มีสัตว์ ๓ สหาย คือ นกกระทา ลิง และช้าง อาศัยต้นไทรใหญ่นั้นอยู่ สัตว์ทั้งสามชนิดนั้นมิได้เคารพยำเกรงกัน อยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ บางครั้งลิงไปเขย่ารังมดแดงใส่หัวช้าง ช้างโมโห ก็ใช้งวงเขย่าต้นไม้ ลิงจึงนอนไม่เป็นสุข ฝ่ายนกกระทาก็ถ่ายรดใส่หัวช้างบ้าง ลิงก็มักจะไปคุ้ยเขี่ยรังนกให้กระจัดกระจาย ทำให้ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ไม่เป็นสุข

ต่อมา สัตว์ทั้งสามได้ปรึกษากันว่า เพื่อนเอ๋ย พวกเราอยู่ที่นี่ไม่มีความสุขเลย เพราะมัวแต่แกล้งกันไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่มีความเคารพยำเกรงต่อกัน ทำอย่างไรหนอ จึงจะรู้ได้แน่ว่า พวกเราทั้งสามนี้ ผู้ใดเกิดก่อน จะได้ให้ความเคารพกันตามลำดับ และตั้งอยู่ในโอวาทของผู้ที่เกิดก่อนด้วย ช้างเสนอขึ้นมาว่า สหาย ฉันเกิดมาตั้งแต่ต้นไทรนี้ยังเล็กๆ อยู่เลย เพราะเมื่อฉันยังเล็ก ฉันยืนคร่อมต้นไทรต้นนี้ไว้ในระหว่างขา ยอดไทรก็ระท้องฉัน ฉันยังจำเรื่องเก่าได้ดี เพราะฉะนั้น ฉันจึงเป็นผู้มี อายุมากกว่าใครๆ

ฝ่ายลิงรีบแย้งว่า เจ้าช้างเพื่อนยาก สมัยที่ฉันยังเล็ก เมื่อฉันนั่งบนพื้นดิน ก็เคี้ยวกินยอดไทรนี้ได้ แสดงว่าฉันเกิดก่อน นกกระทาก็บอกเพื่อนๆ ว่า สหายทั้งหลาย ในสถานที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ ฉันกินผลจากต้นไทรใหญ่นั้น แล้วได้ถ่ายมูลไว้ ณ ที่ตรงนี้ ต้นไทรต้นนี้เกิดจากต้นไทรใหญ่นั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงเป็นพี่ใหญ่

เมื่อไล่ลำดับกันเช่นนี้ ลิงกับช้างจึงสัญญากับนกกระทาว่า เมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าโดยกำเนิด พวกเราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่าน และจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน เมื่อสัตว์ทั้งสาม มีความเคารพยำเกรงต่อกัน มีความประพฤติกลมเกลียวต่อกัน ตั้งแต่นั้นมาต่างก็อยู่กันอย่างมีความสุข นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีล ๕ และตนเองก็ประพฤติสมาทานศีล ๕ เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ครั้นพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องราวของสัตว์ทั้งสามเป็นตัวอย่างสอนใจแล้ว ก็ตรัสสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ยังมีความเคารพยำเกรงต่อกัน มีความประพฤติกลมเกลียวต่อกัน การที่พวกเธอเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วนี้ ให้มีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ นั่นเป็นความงามในธรรมวินัย โดยแท้ ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม อาสนะที่เลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ ตามลำดับผู้ที่มีพรรษากาลมากกว่า

ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุสงฆ์ต่างประพฤติสามีจิกรรม ใครบวชก่อนก็ได้รับการให้เกียรติจากผู้ที่บวชในภายหลัง เพราะไม่ว่าใครจะออกบวชจากตระกูลไหน มีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใด ต่างละทิ้งสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ให้เคารพกันตามภันเตอาวุโส ผู้บวชก่อน ท่านเรียกว่า ภันเต บวชทีหลังก็เรียกว่าอาวุโส ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมข้อวัตรปฏิบัติสืบต่อๆ กันมาตราบกระทั่งทุกวันนี้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเคารพมาก ตระหนักในความดีของผู้อื่น จะเป็นที่มาแห่งปัญญาด้วย เพราะนิสัยที่คอยจับผิดคนอื่นจะค่อยๆ หายไป จะมองหาแต่คุณธรรมความดีของผู้อื่น จะมองข้ามสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่น เหลือไว้แต่สิ่งที่ดีติดตัว ทำให้ตัวเราเป็นแหล่งศูนย์รวมของความดี เหมือนทะเลเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนหมั่นฝึกตนให้เป็นผู้มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนให้มากๆ จะได้เป็นต้นบุญ และต้นแบบที่ดีงามสำหรับชาวโลก และคุณธรรมนี้จะได้ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

*มก. เรื่องความเคารพ เล่ม ๙ หน้า ๑๓๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3442
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *