มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – เจดีย์แห่งพระธรรม

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ – เจดีย์แห่งพระธรรม

เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อแสวงหาสิ่งที่ทำให้ใจเราบริสุทธิ์ จนกระทั่งพบกายที่มั่นคงที่สุด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีความสุขอย่างแท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพบว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด มีอยู่ในตัวของเราทุกคน เป็นธรรมที่สงบ ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง มีคุณมาก ยากที่เราจะนึกคิดหรือคาดคะเนได้ เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติให้เข้าถึง ซึ่งเราจะต้องปรับใจที่หยาบให้ละเอียด ลุ่มลึกไปตามลำดับด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งใจของเราเข้าไปถึงแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา รู้เห็นธรรมได้อย่างถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ว่า

ทิฏฺเว ธมฺเม ปาสํโส โย พุทฺเธสุ สคารโว
กายสฺส เภทา สปฺปญฺโ สคฺคํ โส อุปปชฺชติ

ผู้ใดมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน เขาเป็นผู้มีปัญญา เมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในเบื้องสูงหมายเอาพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ที่มีอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก เป็นสรณะอันเกษม ที่เป็นแหล่งกำเนิดของความสุข ความบันเทิงใจ เมื่อเราเข้าถึงพระรัตนตรัย ใจเราจะไม่นึกถึง ไม่ติด ไม่ผูกพันกับเรื่องอื่นเลย ในใจมีแต่พระรัตนตรัยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยจริง ถ้าทำได้อย่างนี้ ความทุกข์ทั้งหลายก็จะ ดับไป ความสุขจะพรั่งพรูขึ้นมาแทนที่ กระแสของความสุขที่ท่วมท้นออกมาจากภายใน จะแผ่ขยายออกไปภายนอก ปรับปรุง บรรยากาศ และกระแสใจของคนที่อยู่รอบข้างให้ชุ่มเย็นขึ้น ในที่สุดทุกคนจะหันมาสนใจการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่อยู่ในตัวของทุกๆ คน

*ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในตำบลเมทฬุปะ แคว้นสักกะ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นโกศล ซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง ๓ โยชน์ (ประมาณ ๔๘ กิโลเมตร) ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

เมื่อเสด็จไปถึงบริเวณวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าไปเพียงลำพังจนถึงที่ประทับของพระบรมศาสดา ทรงซบพระเศียรลงแทบเบื้องพระยุคลบาท พลางนวดพระบาทของพระบรมศาสดาด้วยความเคารพเลื่อมใส พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า มหาบพิตร พระองค์เป็นถึงกษัตริย์ แว่นแคว้นที่ปกครองก็ใหญ่โตมโหฬาร เหตุใดถึงได้มาเคารพนอบน้อมตถาคตถึงปานนี้ พระราชาได้ทูลตอบถึงสาเหตุแห่งความเคารพ เลื่อมใสว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ พระธรรมของพระองค์ก็ตรัสไว้อย่างดีแล้ว ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว พระสงฆ์สาวกของพระองค์ก็ประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ข้าพระองค์เคยเห็นนักบวชบางพวก ที่บำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นเวลาหลายสิบปี แต่มาภายหลังก็กลับเปลี่ยนใจ ลาสิกขาออกมาครองเรือน บริโภคกามคุณก็มี แต่พระสงฆ์สาวกของพระองค์ได้แต่ชวนกัน ให้กำลังใจกันในการประพฤติพรหมจรรย์ในบวรพระพุทธศาสนา ตามพระธรรมวินัยอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต

นอกจากนี้ บรรดามนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย แม้จะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย จนถึงพ่อกับลูก พี่กับน้อง ก็ยังทะเลาะวิวาท แก่งแย่งชิงดีกัน เบียดเบียนให้เกิดทุกข์ร้อนซึ่งกันและกัน แต่ภิกษุทั้งหลายกลับสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มองดูเพื่อนสหธรรมิกด้วยความเมตตา ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นหมู่คณะใดพร้อมเพรียงกันเช่นนี้มาก่อนเลย

อีกประการหนึ่ง ข้าพระองค์ได้สังเกตเห็นพระภิกษุสงฆ์ ท่านมีความสุขในเพศสมณะ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรืออยู่ในอิริยาบถใด ก็มีความสดชื่นแจ่มใส ศีลาจารวัตรก็งดงาม ผิวพรรณวรรณะก็อิ่มเอิบผ่องใส ทำให้เชื่อมั่นว่าพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ต้องเข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงธรรมะอันบริสุทธิ์ และวิเศษสุดที่มีอยู่ภายในอย่างแน่นอน

แม้ข้าพระองค์จะเป็นถึงกษัตริย์ มีอำนาจที่จะสั่งลงโทษใครๆ ด้วยการโบยตี จำคุก หรือแม้กระทั่งประหารชีวิตใครๆ ได้ก็ตาม แต่เมื่อข้าพระองค์นั่งตัดสินคดีความบนบัลลังก์ กำลังพูดซักถามโจทก์ หรือจำเลยอยู่ ก็ยังมีคนอื่นพูดแทรก ถึงแม้ข้าพระองค์จะห้ามปราม หรือขู่ลงโทษ ทำทัณฑ์บนขนาดไหนก็ตาม ก็ยังไม่อาจห้ามพวกเขาโต้เถียงกันได้ แต่ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม พุทธบริษัทกลับพากันจรดใจนิ่งฟังอย่างตั้งใจ ไม่มีเสียงกระแอม ไอ หรือจามเลย ข้าพระองค์จึงรู้ว่าพุทธบริษัท ๔ นี้ ได้รับการฝึกสอนจากพระพุทธองค์มาดีแล้วโดยธรรม โดยที่ไม่ต้องมีการลงโทษ จองจำหรือโบยตีใดๆ เลย

นอกจากนี้ ข้าพระองค์ได้พบเห็นคนหลายจำพวก พากันตั้งตัวเป็นศาสดา มีแง่คิดมุมมองต่างๆ กัน และโต้วาทีเอาชนะคนอื่นด้วยถ้อยคำสำนวน แต่เมื่อพวกเขามาเข้าเฝ้า ทูลถามปัญหากับพระองค์ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการความรู้ ความเข้าใจอะไร เพียงแค่อยากจะมีชื่อเสียงว่าโต้วาทีชนะพระองค์ได้เท่านั้น พระองค์ก็ไม่เคยถือสาหาความเลยแม้สักนิดเดียว กลับทรงแสดงธรรมให้ฟังอย่างละเอียดลออ จนทำให้พวกเขาเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง อาจหาญร่าเริงในธรรม และมากราบทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุกันอย่างมากมาย

ในพระราชวังของข้าพระองค์ มีช่างไม้รับราชการอยู่ ๒ คน ชื่อ อิสิทันตะ และปุราณะ ซึ่งข้าพระองค์ชุบเลี้ยงไว้ ได้ให้ทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ เงินเดือน ทั้งให้เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนยานพาหนะ แต่ว่าพวกเขาก็ไม่เคยแสดงความเคารพนอบน้อมต่อข้าพระองค์ เหมือนที่แสดงความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย เมื่อเขารู้ว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ในทิศใด ก็จะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น แม้จะเป็นการหันเท้าชี้มาทางข้าพระองค์ก็ตาม แม้ข้าพระองค์จะรู้สึกน้อยอกน้อยใจในพวกเขาบ้าง แต่ก็คิดได้ว่า เขาเป็นอุบาสกได้รู้เห็นธรรมะภายใน เป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย ย่อมจะมีความเคารพเลื่อมใสมั่นคง ในพระรัตนตรัยเป็นธรรมดา

ข้าพระองค์ได้สังเกตมาอย่างนี้ เป็นเวลานานนับสิบปี จนเห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า พระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงพสกนิกรของข้าพระองค์ จากผู้ไม่มีความรู้ ให้เป็นผู้รู้แจ้ง จากผู้ไม่มีระเบียบวินัยกลายเป็นคนมีระเบียบวินัย จากคนเกะกะเกเรไม่มีศีลมีธรรม กลับกลายเป็นคนดี เป็นนักปราชญ์บัณฑิต ข้าพระองค์จึงบังเกิดความอัศจรรย์ใจ และเคารพนอบน้อมยิ่งนักในพระองค์ บัดนี้ข้าพระองค์มีกิจธุระมาก จะขอทูลลาไปก่อน

หลังจากที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับแล้ว พระบรมศาสดาจึงทรงประชุมพระภิกษุทั้งหมดที่พักอาศัยในพระวิหาร ทรงเล่าเรื่องที่พระราชาตรัสไว้พลางย้ำว่า ให้พระภิกษุทรงจำคำพูดนี้ และบอกต่อๆ กันไป เพราะคำพูดเช่นนี้เป็นประดุจธรรมเจดีย์ เป็นวาจาที่แสดงถึงความเคารพในธรรมด้วยเหตุและผล ด้วยความนอบน้อม ไม่มีความโอ้อวดหรือยกตนข่มท่าน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความสงบสำรวมของพุทธบริษัท ๔ สืบไป

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มีความเคารพในธรรม จะก่อให้เกิดความสงบสุข ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกคนจะมีจิตใจผ่องใส มีความสงบสำรวม น่าเลื่อมใส ทำให้ชาวโลกทั้งหลายต้องมองดูด้วยความอัศจรรย์ใจ และพลอยเลื่อมใสในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยที่แท้จริงนั้น ก่อนอื่นต้องรู้ว่าพระรัตนตรัยอยู่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร

พระรัตนตรัยสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะเข้าถึงได้เมื่อทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ถ้านำใจไปจดจ่ออยู่กับท่าน ติดแน่นอยู่ที่ตรงนั้น จึงจะเรียกได้ว่า มีความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระรัตนตรัย เพราะใจของเราได้มาหยุดถูกส่วน ในตำแหน่งที่บังเกิดขึ้นของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

เพราะฉะนั้น ให้นำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอ ให้มีศรัทธาแน่วแน่เป็นอจลศรัทธา ใจติดแน่นอยู่กับพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ไปติดเรื่องอะไรเลย เราจะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง เข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงพระธรรมกาย กันทุกๆ คน

*มก. ธรรมเจติยสูตร เล่ม ๒๑ หน้า ๑๙๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3441
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *