มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – ชีวิตใหม่ในเพศสมณะ

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – ชีวิตใหม่ในเพศสมณะ

จุดมุ่งหมายในการสร้างบารมีของพวกเรา ก็คือการทำกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ จะบริสุทธิ์ได้ต้องเอาใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนกระทั่งเข้าถึงแสงสว่างภายใน ถึงดวงธรรม ถึงกายภายในไปตามลำดับ และเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย แต่กว่าเราจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติที่ถูกวิธีและความเพียรอันกลั่นกล้า ไม่ท้อแท้ใจ ในการที่จะหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้ทุกวันโดยไม่ขาดเลย ฉะนั้นเพื่อความสมปรารถนาในชีวิต และเพื่อเป็นการเพิ่มเติมบุญบารมีของเราให้เต็มเปี่ยม ก็ให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันให้ดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสาโรปมสูตร ความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิ เป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์เป็นแก่นสาร เป็นที่สุด

พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนา คือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร ไม่ว่าจะเกิดเป็นชนชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นล่าง ต่างก็มีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงสละเพศฆราวาส ออกบวชเป็นบรรพชิต ปลงผมและหนวด ละทิ้งเครื่องนุ่งห่มที่มีราคาของคฤหัสถ์ ละทิ้งความสนุกสนานเพลิดเพลินในทางโลก หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบสมณะ มีเพียงแค่อัฐบริขารในการดำรงชีพ เลี้ยงสังขารอยู่ด้วยอาหารบิณฑบาตของสาธุชน ดำเนินตามวิถีชีวิตของนักบวชที่มุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง ในสมัยพุทธกาล ผู้มีบุญหลายท่าน ที่มาบวชก็ประสบความสำเร็จในชีวิตสมณะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คือได้บรรลุวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ จรณะ ๑๕ มีตาทิพย์ หูทิพย์ รู้วาระจิต มีฤทธิ์ทางใจ แสดงอิทธิวิธีได้ และก็ทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้

นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการออกบวชเป็นบรรพชิต ส่วนกิจวัตรหรือกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การศึกษาพระปริยัติธรรม การอบรมเทศน์สอนญาติโยม การทำงานสงเคราะห์โลก การสร้างศาสนสถานสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญและศาสนถาวรวัตถุต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องรองลงมา แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะโลกกับธรรมต้องเกื้อกูลกัน เป็นการพัฒนาสาธุชนควบคู่กันไปด้วย

แม้ว่าชีวิตของนักบวช จะเป็นชีวิตที่ปลอดจากเครื่องกังวลทั้งหลายคือไม่ต้องทำมาหากินแบบชาวโลก มีเวลาในการแสวงหาหนทางพระนิพพานอย่างเต็มที่ แต่กรณียกิจของนักบวชก็คือ ศึกษาในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และก็ลงมือปฏิบัติให้เป็นพระแท้ เป็นพระที่สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน และเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือโดยย่อ ก็คือ การฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างแท้จริง ถ้าทำได้อย่างนี้จึงจะถูกต้องตามพุทธประสงค์

*เหมือนในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่มหาวิหารเชตวัน ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น ได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพุทธอาสน์ในบรรณศาลา ขณะนั้นพระมหาเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ก็ได้ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปยังบรรณศาลาเช่นกัน ท่านได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ตกกลางคืน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมให้ภิกษุสงฆ์ฟังจบแล้ว ก็ประทับนั่งนิ่งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็เสด็จไปยังที่พำนัก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปได้ไม่นาน พระมหาเถระทั้งหลาย ต่างก็พากันลุกจากอาสนะไปยังที่พักของตน เหลือแต่พวกภิกษุบวชใหม่ ที่เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน ยังไม่มีที่พักเป็นส่วนตัว ต่างก็พากันนอนหลับโดยขาดสติ กัดฟันเสียงดังอยู่บนบรรณศาลา จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูด้วยพุทธจักษุ ก็เห็นภิกษุเหล่านั้น ซึ่งกำลังนอนหลับใหลกันอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น ก็ไม่มีองค์ไหนลุกขึ้นมาปรารภความเพียรในยามเช้าตรู่ เพราะเห็นแก่การหลับนอน เมื่อทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังบรรณศาลา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ภิกษุที่บวชใหม่ครั้นรู้สึกตัว ก็รีบลุกลี้ลุกลน ปลุกกันให้ตื่นขึ้น เพื่อนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย พระบรมศาสดาตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นภิกษุบวชใหม่ นอนหลับกัดฟันอยู่จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น เธอเคยได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า กษัตริย์เมื่อได้รับการมูรธาภิเษกแล้ว ทรงมัวแต่บรรทมหลับอยู่อย่างสบาย ไม่ใส่พระทัยในราชกรณียกิจ เสวยราชสมบัติ ตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็นที่รักที่พอใจของมหาชนเธอเคยได้ยินบ้างไหม

พระนวกะก็กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ไม่เคยได้ยินจากที่ไหนเลย พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เราตถาคตก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเคยได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังมาบ้างไหมว่า ท่านผู้ครองนคร ท่านผู้เป็นทายาทแห่งตระกูล ท่านผู้เป็นเสนาบดี ท่านผู้ปกครองบ้านเมือง ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอนอย่างสบายตามความประสงค์ของตน ปกครองหมู่คณะอยู่จนตลอดชีวิต แล้วเขาจะเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะหรือ หามิได้ พระเจ้าข้า

ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนั้นเราก็ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเคยได้เห็น หรือเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบ การนอนอย่างสบายตามประสงค์ของตน ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ตลอดทั้งวันและคืนอยู่ แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน หามิได้ พระเจ้าข้า

จากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสรุปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนั้นเราเองก็ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมา เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้ประกอบความเพียร จักเป็นผู้เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย จักประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุบวชใหม่ทั้งหลาย จึงปรับปรุงตัวเองใหม่ แล้วเริ่มบำเพ็ญสมณธรรมกันเต็มที่

จากพุทธวจนะนี้เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตของภิกษุเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ต้องเป็นผู้สงบสำรวมไม่เห็นแก่การนอน จะง่วงหงาว หาวนอนเพียงใด เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรม ก็ต้องลุกขึ้นมาทำความเพียร จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม และต้องคอยระวังคุ้มครองอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง คือ รู้ประมาณในการบริโภคโภชนะ หมั่นปรารภความเพียรด้วยการเจริญสมาธิภาวนา เจริญโพธิปักขิยธรรมคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าสรุปโดยย่อก็คือ ให้หมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว จะได้กำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป พระนิพพานก็จะได้แจ่มแจ้งขึ้นมานั่นเอง

นี่ก็เป็นเป้าหมายของการบวชที่แท้จริง แต่สิ่งนี้ก็มิได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว การทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น เป็นเป้าหมายของทุกชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ดังนั้น ก็ให้ทุกๆ คนหมั่นทำความเพียร ต้องให้ความสำคัญกับการเจริญสมาธิภาวนากันให้มากๆ การทำมาหากิน เราก็ทำกันไป แต่งานทางใจก็ต้องไม่ทิ้ง ต้องฝึกใจหยุดใจนิ่งให้ได้ทุกวัน ถ้าทำได้อย่างนี้ สักวันหนึ่งเราจะสมปรารถนา และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัวกันทุกๆ คน

*มก. กุสลสูตร เล่ม ๓๖ หน้า ๕๖๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3440
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *