มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – ประมาทแล้วต้องตั้งต้นใหม่ (๑)

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม – ประมาทแล้วต้องตั้งต้นใหม่ (๑)

พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด และมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกๆ คน เป็นธรรมที่สงบ ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง เราจะนึกคิดหรือคาดคะเนเอาไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง ซึ่งเราจะต้องปรับใจที่หยาบให้ละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปถึงแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา เราก็จะรู้เห็นไปตามความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย วิธีการคือ ต้องทำใจ ให้หยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น หยุดตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ หยุดนิ่งจะทำให้ชีวิตสุขสดใส ได้เข้าถึงที่พึ่งภายใน คือ พระรัตนตรัย

มีวาระพระบาลี ที่ปรากฏอยู่ใน กูฏทันตสูตร ว่า

ดูก่อนพราหมณ์ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้กำลังบูชายัญ และยัญนี้แล ใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่ายัญเหล่าอื่น ในฌานเหล่านี้ ปฐมฌานย่อมให้อายุในพรหมโลก ๑ กัป ทุติยฌาน ๘ กัป ตติยฌาน ๖๔ กัป จตุตถฌาน ๕๐๐ กัป จตุตถฌานที่บุคคลเจริญด้วยอำนาจแห่งสมาบัติมีอากาสานัญจายตนะเป็นต้น ย่อมให้อายุยืนยาวตลอด ๒๐,๐๐๐ กัป ๔๐,๐๐๐ กัป และ ๘๔,๐๐๐ กัป ฌานนั้นพึงรู้ว่า เป็นยัญเพราะสละเสียได้ซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น

การบูชายัญในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้หมายถึงว่า ต้องฆ่าสัตว์มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่เจ้าป่าเจ้าเขา แต่เป็นการสั่งสมบุญโดยวิธีสัมมาปฏิบัติ ที่ไม่ขัดกับหลักเมตตา และดำเนินตามหลักของบุญกิริยาวัตถุในส่วนที่เป็นภาวนานั่นเอง จากเนื้อหาพระบาลีข้างต้นนั้น พระพุทธเจ้าทรงแนะนำพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า การทำทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี ถือว่าเป็นการบูชายัญทั้งหมด แต่สู้การบูชายัญที่เกิดจากการบำเพ็ญภาวนาไม่ได้ เพราะภาวนาเป็นเหตุให้ได้ไปบังเกิดในสุคติ และโลกียฌานก็เป็นเหตุให้ไปเกิดในพรหมโลกซึ่งเป็นที่ปรารถนาของพวกพราหมณ์ ทั้งหลาย และถ้าได้โลกุตรฌานก็ยังเป็นเหตุให้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้อีกด้วย

หลวงพ่อเคยพูดถึงเรื่องพรหมโลกมามากพอสมควร เราได้ทำความรู้จักกับพรหมโลกชั้นต่างๆ พร้อมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของเหล่าพรหม ตลอดถึงปฏิปทาที่จะนำไปสู่พรหมโลก และอายุขัยของพรหมมาเป็นลำดับว่า ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรบ้างถึงจะได้ไปสู่พรหมโลก ดังเช่นพวกเทวดาหรือมนุษย์ ผู้มีศรัทธาแก่กล้า หวังจะได้ไปอุบัติในพรหมโลก จะต้องประกอบ ความเพียรพยายามบำเพ็ญภาวนา จนกระทั่งได้สำเร็จฌานสมาบัติในระดับต่างๆ ครั้นละโลกแล้ว ก็จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นต่างๆ ตามกำลังแห่งฌานที่ตนได้บรรลุ ถ้ากำลังแห่งฌานละเอียดประณีตมาก ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป เหมือนรถที่มีกำลังมาก ก็สามารถนำผู้โดยสารไปส่งได้ไกลและเร็วขึ้นฉะนั้น

*ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสารีบุตรเถระได้พาพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เที่ยวจาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบท และพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่ง ได้มีภิกษุหนุ่มเดินทางมาจากกรุงราชคฤห์ เข้ามานมัสการท่านพระสารีบุตร หลังจากทักทายสนทนาปราศรัยกันแล้ว พระเถระได้ไต่ถามถึงข่าวคราวทางเมืองราชคฤห์ว่า พระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์สบายดีหรือ ภิกษุหนุ่มได้กราบเรียนท่านว่า ทั้งพระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์อยู่สำราญดี

จากนั้นพระเถระได้ถามไถ่ถึงพราหมณ์ที่ท่านคุ้นเคยชื่อธนัญชานี ภิกษุหนุ่มนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงกราบเรียนท่านว่า ธนัญชานี พราหมณ์อยู่สุขสบายดี แต่บัดนี้ไม่เหมือนก่อน จากที่เคยเป็นผู้มีศีลเป็นผู้ประพฤติธรรม ก็กลายมาเป็นคนประมาทในชีวิต อาศัยอำนาจหน้าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ส่วนภรรยาซึ่งเป็นคนดีเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา บัดนี้นางเสียชีวิตแล้ว เขาได้มีภรรยาใหม่ แต่ภรรยาใหม่ของพรามหณ์ เป็นหญิงทุศีล ไม่ประพฤติธรรม

พระสารีบุตรได้ฟังแล้ว พลันเกิดมหากรุณาต่อพราหมณ์ผู้หลงผิด ท่านจึงพาภิกษุสงฆ์ออกจากทักขิณาคิรีชนบท เดินทางมุ่งหน้ามายังนครราชคฤห์ เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นยามรุ่งอรุณ ขณะที่พระสารีบุตร กำลังเดินบิณฑบาตโปรดสัตว์ตามสมณวิสัย ธนัญชานีพราหมณ์เห็นพระเถระกำลังเดินมาแต่ไกล พราหมณ์นี้มีความรักเคารพนับถือพระมหาเถระเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรีบเข้าไปกล่าวทักทายด้วยความยินดีปรีดา เสมือนหนึ่งญาติผู้จากไปไกลกลับมาที่บ้าน พระเถระเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงชักชวนพราหมณ์ให้นั่งพักที่โคนร่มไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง และได้ถามถึงความไม่ประมาทในการประพฤติธรรมของพราหมณ์

พราหมณ์ได้รับคำถามเช่นนั้นก็รู้สึกละอายใจ กราบเรียนพระเถระตามความเป็นจริงว่า ที่ผ่านมาตนมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มุ่งหน้าแต่ในการแสวงหาทรัพย์ จึงทำให้ย่อหย่อนในการประพฤติธรรม ประมาทในการดำเนินชีวิต เพราะการครองเรือนเต็มไปด้วยเครื่องกังวลใจ มีกิจธุระมากมาย ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรภรรยา ต้องเลี้ยงพวกทาสกรรมกร ต้องฝืนใจทำบาปทั้งๆ ที่มีความละอายต่อบาปอย่างยิ่ง

พระเถระมองดูพราหมณ์ด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยเมตตา แต่ก็ต้องการจะเตือนพราหมณ์ให้ได้สติ จะได้กลับตัวกลับใจมาตั้งมั่นในการทำความดีเหมือนเดิม จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า ท่านพราหมณ์ อาตมาเข้าใจความรู้สึกของท่านดี แต่อาตมามีปัญหาอยากจะถามท่าน ให้ท่านช่วยตอบสักหน่อย พราหมณ์ มีบุคคลผู้หนึ่ง ประกอบอกุศลกรรม ประพฤติทุจริตเพียงเพื่อประสงค์จะเลี้ยงดูบิดามารดา เลี้ยงดูบุตรภรรยา ต้องการทำสงเคราะห์ให้แก่ญาติสายโลหิต ต่อมาเมื่อเขาตายแล้ว ถูกนายนิรยบาลฉุดคร่าโยนลงไปยังมหานรกอันน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เขาจึงอ้อนวอนต่อยมบาลว่า

การที่ข้าพเจ้ามีความประมาท ประพฤติอกุศลธรรม ประกอบทุจริตกรรม ก็เพราะข้าพเจ้ามีความต้องการจะได้ทรัพย์มาบำรุงเลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงดูบุตรภรรยา ต้องสงเคราะห์ ให้แก่ญาติสายโลหิต ต้องทำบุญส่งไปให้แก่บุรพเปตชน ต้องบวงสรวงแก่เทวดา ต้องทำกิจให้แก่องค์พระราชาธิบดี ฉะนั้น ขอท่านนายนิรยบาล ได้โปรดเมตตากรุณาต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าได้ฉุดคร่าข้าพเจ้าลงไปในมหานรกเลย หรือบิดามารดาของเขาผู้นั้น เมื่อเห็นว่าบุตรสุดที่รักกำลังจะถูกนำไปไต่สวนในยมโลก และต้องเสวยวิบากกรรมในมหานรก จะพึงเข้าไปอ้อนวอนต่อนายนิรยบาลว่า ขอท่านนายนิรยบาลได้โปรดเมตตาบุตรของข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าได้ฉุดคร่าเขาลงไปในมหานรกเลย

ดูก่อนพราหมณ์ นายนิรยบาลจะเกิดจิตเมตตายินยอมตามคำอ้อนวอนขอร้องนั้นหรือ ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ นายนิรยบาล ยังคงทำตามหน้าที่ของตน ถึงแม้บุคคลทั้งสองฝ่าย จะร้องไห้คร่ำครวญจนน้ำตาไหลเป็นสายเลือด แต่นายนิรยบาลก็ไม่ยินยอม และย่อมฉุดคร่าเขาโยนลงไปในมหานรกตามเดิม เขาย่อมได้เสวยวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานที่ตนได้กระทำไว้สิ้นกาลนาน

พราหมณ์ได้ฟังพระเถระผู้เป็นยอดกัลยาณมิตรแล้ว ก็ได้สติหันมาปฏิญญาตั้งมั่นอยู่ในการทำความดีอีกครั้ง และท่านธนัญชานีพราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลของพราหมณ์ ซึ่งจะมีความเชื่อว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจากพระพรหม เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับการปลูกฝังให้มีความเลื่อมใสในพระพรหม และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลก พระเถระรู้จริตอัธยาศัยของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดี เพราะตัวท่านเองก็เป็นพราหมณ์มาก่อน จึงกล่าวสอนปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงพรหมโลกแก่พราหมณ์

พวกเราทุกคนอย่าได้ประมาทในชีวิต เราจะทำมาหากินอะไรที่เป็นสัมมาอาชีวะก็ทำไปเถอะ แต่ต้องประพฤติธรรมไปด้วย โดยปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ สร้างบารมีของเราไปด้วย ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ต้องเร่งสร้างบารมีกันต่อไป เพราะเวลาในโลกนี้ มีอยู่จำกัด ให้ทุ่มเทกันให้เต็มที่ และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน

*มก. ธนัญชานิสูตร เล่ม ๒๑ หน้า ๓๘๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/3436
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๔

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *