ฝึกใจให้หยุดนิ่ง

ฝึกใจให้หยุดนิ่ง

มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข แต่ทว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดกัลยาณมิตรเป็นผู้ชี้บอก ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด เพราะสิ่งนี้ไม่ได้อยู่นอกตัว ไม่ต้องแสวงหาจากที่ไหน แต่อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกของตัวเรานี่เอง วิธีการแสวงหาก็เพียงแต่นึกถึงสิ่งที่ทำให้ใจเราสบาย นึกถึงพระพุทธรูปที่เราเคารพบูชา นึกไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจการงานกิจวัตรประจำวัน หากเราทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน จะเป็นการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้ผ่องใส ไม่ช้าเราจะประสบในสิ่งที่พึงปรารถนา คือได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

“ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา
ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา

ท่านทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องเผากิเลส พระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอก เหล่าชนผู้ดำเนินตามแล้ว มีปกติเพ่งพินิจ ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้”

พระบรมศาสดาของเรา กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ต้องบำเพ็ญบารมียาวนานถึง ๔ อสงไขย แสนมหากัป ทรงมีขันติธรรมเป็นเลิศ มีความเพียรพยายามนำตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ตลอดเวลา และสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งก็คือว่า นอกจากเพียรพยายามเพื่อพระองค์เองแล้ว ยังมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะให้สรรพสัตว์หลุดพ้นตามอีกด้วย จึงทรงสั่งสมบารมีอย่างยิ่งยวด ทรงยอมสละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเป็นทาน เพื่อให้ได้มาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ

พอมาในภพชาตินี้ หลังจากที่พระองค์สลัดตนออกจากกามสุขัลลิกานุโยค ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ ๕ ในพระราชวัง ด้วยการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นแล้ว พระองค์ก็มุ่งมั่นแสวงหาหนทางสายกลางซึ่งเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ยาวนานถึง ๖ ปี กว่าจะได้ตรัสรู้ทรงได้รับความทุกข์ทรมานมาก ซึ่งมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดายากที่จะทนได้ เพราะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือทรมานพระวรกายจนซูบผอม เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกทีเดียว

ในที่สุดพระองค์ก็เปลี่ยนมาปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางภายในอย่างเบาสบาย จนตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นโลกวิทูผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง พระองค์เป็นผู้ฝึกสรรพสัตว์ให้ดำเนินไปสู่ทางพระนิพพานได้เป็นอย่างดี เพราะทรงรู้วาระจิต ทราบถึงอัธยาศัยของเหล่าเวไนยสัตว์ หากบุคคลใดมีความตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองอย่างแท้จริง พระองค์ก็สามารถที่จะแนะนำให้บุคคลนั้น ได้บรรลุธรรมาภิสมัยสมความปรารถนา

* เหมือนอย่างในสมัยพุทธกาล มีหนุ่มรูปงามท่านหนึ่ง เห็นทุกข์เห็นโทษในการเวียนว่ายตายเกิด จึงออกบวชเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร พระเถระคิดว่า คนหนุ่มๆ ส่วนมากมักจะเป็นผู้มีราคะกล้า ชอบยินดีในรูปสวยๆ งามๆ ท่านจึงได้ให้อสุภกัมมัฏฐาน คือให้พิจารณาซากศพในป่าช้าบ้าง เพื่อจะได้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความยึดมั่นถือมั่นในสังขารร่างกาย ใจจะได้น้อมไปในกายที่ละเอียดประณีตซึ่งซ้อนกันอยู่ภายใน

พระหนุ่มรูปนี้ ได้เข้าไปป่าช้า พิจารณาซากศพทุกวันๆ แต่ใจก็ยังไม่หยุดนิ่ง ท่านใช้ความพยายามอยู่นานถึง ๓ เดือน ก็ยังไม่ได้บรรลุกิจในทางพระพุทธศาสนา พระเถระก็ยังคงสอนให้พิจารณาซากอสุภะเหมือนเดิม พระหนุ่มก็เป็นลูกศิษย์ที่ว่าง่าย อุตส่าห์กลับไปป่าช้าพิจารณาซากศพทุกวัน แต่ก็ยังไม่บรรลุธรรม จึงเกิดความท้อแท้ใจว่าตนคงเป็นคนมีบุญน้อย แม้เพียรพยายามเต็มที่แล้วก็ยังไม่เห็นผลอะไร

พระเถระเห็นความตั้งใจดีของลูกศิษย์ มีความเพียรพยายามฝึกหัดขัดเกลาตนเองมาตลอด ไม่ได้มีความเกียจคร้านเลย จึงไม่อยากให้ลูกศิษย์ผิดหวัง ท่านได้พาไปเข้าเฝ้าพระศาสดา พร้อมทั้งทูลขอให้พระองค์ได้ทรงโปรดแนะวิธีที่จะทำให้ลูกศิษย์ได้บรรลุธรรมอันประเสริฐด้วยเถอะ

พระบรมศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้เคยเกิดเป็นช่างทองมาตลอด ๕๐๐ ชาติ ใจจึงติดอยู่กับของสวยๆ งามๆ ไม่ชอบสิ่งที่เป็นปฏิกูล พระองค์จึงทรงเนรมิตดอกปทุมทอง แล้วทรงทำให้เป็นเหมือนหลั่งหยาดน้ำจากใบและก้าน ทรงรับสั่งว่า “เธอจงถือเอาดอกปทุมนี้ ไปวางไว้ที่กองทรายหลังวัด แล้วนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงนั้นแหละ พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า โลหิตกํ โลหิตกํ ซึ่งแปลว่า สีแดง สีแดง”

ภิกษุหนุ่มรับเอาดอกปทุมจากพระหัตถ์ของพระบรมศาสดาด้วยจิตที่เลื่อมใส ท่านเดินไปท้ายวัด พูนทรายขึ้นเป็นกอง แล้วเสียบก้านดอกปทุมที่กองทราย จากนั้นก็นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ตรงนั้น เริ่มบริกรรมนิมิตเป็นดอกปทุมทอง พร้อมกับภาวนาว่า “โลหิตกํ โลหิตกํ” ในใจท่านมีดอกปทุมสวยงามเป็นอารมณ์ ทำให้ใจเริ่มสงบ หยุดนิ่งเป็นเอกัคคตาจิต นิวรณ์ธรรมค่อยๆ หายไป

พระศาสดาทรงทราบว่าภิกษุหนุ่มมีใจหยุดนิ่งดีแล้ว จึงทรงอธิษฐานให้ดอกปทุมเหี่ยวแห้งไป ดอกปทุมก็เหี่ยวแห้งมีสีดำ พอภิกษุหนุ่มลืมตามาดู เห็นดอกปทุมเปลี่ยนไป จึงพิจารณาเห็นว่า “ดอกปทุมนี้แม้เป็นสังขารไม่มีใจครอง มีความสวยสดงดงาม เมื่อถูกความชรามากระทบยังเหี่ยวแห้ง หมดความน่าดูน่าชมได้ถึงเพียงนี้ แสดงว่าสังขารมีใจครองก็ต้องถูกความชราครอบงำได้เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพึงพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง สักวันหนึ่งจะต้องก้าวเข้าสู่ความเสื่อมสลาย

จากนั้น พระบรมศาสดาจึงเปล่งพระรัศมีออกไป ประหนึ่งว่าเสด็จมาประทับยืนอยู่ที่ตรงหน้าของท่าน แล้วตรัสสอนให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสรรพสิ่งในโลกนี้ เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความยึดมั่นถือมั่น ถอนตนเองออกจากหล่มคือกิเลส แล้วยกใจขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า ทรงสอนว่า “เธอจงตัดความเยื่อใยในตนเอง เหมือนการถอนดอกบัวขึ้นจากน้ำ จงเจริญทางที่จะนำสันติสุขมาให้เถิด เพราะพระสุคตได้ชี้ทางพระนิพพานไว้ให้แล้ว”

ภิกษุหนุ่มท่านสามารถปล่อยใจตามกระแสเสียงของพระพุทธองค์ จิตดื่มด่ำในธรรมะอันบริสุทธิ์ หยุดในหยุด เข้ากลางของกลางเรื่อยไป จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมๆ กับที่พระองค์ทรงเทศนาจบลงนั่นเอง

กุศโลบายในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้บรรลุธรรมภายในนั้น มีอยู่มากมายหลายวิธี เป็นพันๆ วิธี ในวิสุทธิมรรคท่านได้รวบรวมเอาไว้ ๔๐ วิธี ทุกวิธีก็เป็นไปเพื่อการบรรลุธรรมกายทั้งสิ้น เราถนัดแบบวิธีไหน ก็ฝึกไปตามนั้น แต่สุดท้าย เมื่อใจมาหยุดนิ่งถูกส่วนที่ศูนย์กลางกาย ไม่ว่าจะปฏิบัติตามแบบกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ หรือพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานอย่างไรก็แล้วแต่ จากเห็นเป็นกลิ่นเหม็นเน่า เราก็จะเห็นเหมือนกันหมด คือจะเห็นเป็นความใส ความสว่างปรากฏเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักตัวเองให้ได้ก่อนว่าชอบวิธีใด แล้วก็ลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เราเองก็เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้ว สักวันหนึ่งก็ต้องเข้าถึงได้เหมือนกัน ตอนนี้เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ ทำให้ได้อย่างต่อเนื่อง

หลวงพ่อปรารถนาให้ทุกๆท่าน ได้ช่วยกันเปิดบ้านกัลยาณมิตร คือบ้านแสงสว่างของโลก เมื่อเปิดบ้านกันแล้วก็ให้ชักชวนทุกคนในครอบครัวมาสวดมนต์ นั่งสมาธิร่วมกัน จะได้ช่วยทำความสว่างไสวให้บังเกิดขึ้นในบ้านของเรา ทำบ้านของเราให้เป็นบ้านแก้วเรือนธรรมให้ได้ จากนั้นก็ช่วยกันแผ่เมตตา ขยายพลังมวลแห่งความสุข ความปรารถนาดีและความบริสุทธิ์ไปสู่เพื่อนร่วมโลก สันติภาพของโลกเริ่มต้นจากบ้านกัลยาณมิตรนี่เอง เพราะฉะนั้น ให้พร้อมใจกันเปิดบ้านกัลยาณมิตร แล้วช่วยกันทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว ด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเย็น สรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย และนั่งธรรมะทุกๆ วัน เพื่อฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๑๒๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย
http://www.dmc.tv/pages//ฝึกใจให้หยุดนิ่ง.html

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *