ธรรมกายคือหลักของชีวิต

ธรรมกายคือหลักของชีวิต

     ธรรมกายเป็นหลักของชีวิต เป็นเป้าหมายหลักของมวลมนุษยชาติ ที่เราต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วนนี้ ก็เพื่อต้องการแสวงหาสิ่งที่ให้ความสุขแก่เราอย่างแท้จริง เมื่อยังไม่พบธรรมกาย ทำให้ไปติดในความสุขที่เป็นโลกธรรม ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบใจ ซึ่งความสุขต่างๆ เหล่านั้นล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีแล้วไม่ช้าก็พลันสลายไป ไม่ทำให้เราอิ่มใจ ยังรู้สึกว่าชีวิตนี้ยังพร่องอยู่ แต่เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้วเป็นสุขยิ่งกว่านั้นหลายล้านเท่า เพราะความสุขที่สมบูรณ์รวมประชุมอยู่ในกลางธรรมกายทั้งหมด

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ    ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
 อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข         เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

     เมื่อใดบัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด”

     การพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่บ่อยๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ใช่ทำเฉพาะเวลาที่เรามานั่งปฏิบัติธรรม แม้ว่าเราเลิกนั่งปฏิบัติธรรมแล้ว จะยืน จะเดิน จะนอน หรือจะทำภารกิจอะไรก็ตาม จะต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ ถ้าเราไม่พิจารณาบ่อยๆ มันจะลืม พอลืมก็หลงเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อลืมคำสอนของพระบรมศาสดาเสียแล้ว ใจก็ไปหมกมุ่นพัวพันกับสิ่งไร้สาระ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราห่างจากความหมดจดบริสุทธิ์ ห่างจากธรรมกายออกไป ยิ่งห่างธรรมกายอันเป็นต้นแหล่งกำเนิดของความสุขอันเป็นอมตะ ความทุกข์จะยิ่งทับถมเข้ามาสู่กายและใจเรา

     อย่างในเวลานี้ก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ท่านกล่าวว่า สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา คือสังขารร่างกายของเราเป็นทุกข์ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็กๆ เจริญเติบโตด้วยอาหารของมารดา ที่หล่อเลี้ยงเรื่อยมาตามลำดับ ชีวิตมีความอึดอัดคับแคบเช่นไร ก็เหมือนเราเข้าไปอยู่ในห้องแคบๆ มืดๆ  ที่มีคนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้

     ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จนกระทั่งเราเคลื่อนย้ายมาสู่โลกนี้ ลืมตาดูโลกเจริญเติบโตเรื่อยมา เข้าสู่ความเสื่อมสลายไปตามลำดับ ไม่มีคงที่เลย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ทารกจนกระทั่งเป็นเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชรา และในที่สุดก็เคลื่อนย้ายไปสู่เชิงตะกอน ร่างกายของคนอื่นเป็นอย่างไร สังขารร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน

     เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นในร่างกายก้อนนี้ ว่ามันเป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ท่านจึงสอนให้ปล่อยวางต่อไปว่า สพฺเพ สงฺขารา อนตฺตา ร่างกายนี้ดูเผินๆ คล้ายกับเป็นของๆ เรา แต่ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราที่แท้จริง เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งในที่สุดก็ต้องไปสู่จุดสลายเพราะว่าไม่คงที่ ฉะนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างนี้จึงเป็นที่พึ่งที่ระลึกไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดได้ สิ่งนั้นจะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และให้ความสุขกับเราตลอดกาล คือ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พิสูจน์แล้ว จึงพบว่าธรรมกายนั่นแหละ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของเรา จะเข้าถึงได้ต้องอาศัยตัวของเรานี้ฝึกฝนปฏิบัติ พึ่งตัวของเราเองให้ได้ ไม่ใช่ไปสวดอ้อนวอนเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย หรือไปอ้อนวอนจุดธูปบูชาตามจอมปลวก เจ้าทรง ผีสิง ผู้วิเศษเหล่านั้น ว่าจะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง อย่างนั้นเข้าถึงไม่ได้ จะต้องอาศัยตัวของเราประพฤติปฏิบัติ แล้วจะเข้าถึงสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา ที่ให้ความสุขแก่เราอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งได้ธรรมกายชัดใสสว่างบริสุทธิ์เท่าไร ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้น

     แล้วในกลางธรรมกายนั้น มีธรรมกายละเอียดซ้อนกันเข้าไปอีก ยิ่งเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดเท่าไร ความสุขก็ทับทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีที่พักที่พึ่งพิง ที่หยุดนิ่ง หยุดอยู่ในกลางตัว แล้วความทุกข์อื่นก็ไม่เข้ามาแทรก ความเครียด ความเบื่อ กลุ้ม ซึม เซ็ง ความวิตกกังวลวุ่นวายอะไรต่างๆ ก็จะหมดไป เพราะว่าเรานำใจมาหยุดในกลางธรรมกายได้เสียแล้ว ธรรมกายจึงเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขที่แท้จริง เข้าถึงแล้วมีความสุข ถ้าใครอยากจะทราบว่าเขามีความสุขอย่างไร ก็ลองเลียบเคียงถามผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย เขาจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า เป็นสุขจริงๆ สุขที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้เมื่อเข้าถึงธรรมกาย  

     ธรรมกาย คือกายตรัสรู้ธรรมของพวกเราทุกๆ คน ลักษณะคล้ายๆ กับพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว ใสยิ่งกว่าเพชร ใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติ สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ อยู่ในกลางตัวของเรา ถ้าต้องการสุขยิ่งกว่านี้ ต้องการให้เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ยิ่งกว่านี้ ต้องเข้ากลางธรรมกายต่อไปอีก เอาธรรมกายพิจารณาอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในกายมนุษย์เรื่อยไปตามลำดับ ธรรมกายที่พิจารณา คือมองด้วยตาธรรมกาย เห็นได้ด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย ความรู้ก็เกิดขึ้นด้วยญาณของธรรมกาย รู้ชัดไปตามความเป็นจริงทั้งหมด

     เห็นอย่างนี้แหละที่ท่านเรียกว่า “วิปัสสนา” วิ แปลว่าวิเศษ แปลว่าแจ้ง แปลว่าต่าง ปัสสนา แปลว่าการเห็น การเห็นที่วิเศษ ที่แจ่มแจ้งแตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ ด้วยตาของกายทิพย์ ด้วยตาของกายพรหม ด้วยตาของกายอรูปพรหม เห็นวิเศษอย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา ที่ว่า “ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ” คือเห็นแจ้งด้วยปัญญาบริสุทธิ์ ด้วยญาณของธรรมกาย เห็นอย่างนี้จึงจะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกายของเรา

     เพราะฉะนั้น วิปัสสนาเริ่มต้นที่ธรรมกาย ไม่ใช่เอากายมนุษย์มาพิจารณา เพราะกายมนุษย์ความเห็นยังแคบ เมื่อความเห็นแคบก็ไม่วิเศษ ไม่แจ้ง ไม่ต่าง ต้องเห็นด้วยธรรมจักขุ เห็นได้ด้วยธรรมกาย และมีญาณหยั่งรู้ด้วยธรรมกาย เห็นว่าอะไรไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เห็นไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น และก็ยอมรับ ที่ยอมรับก็เพราะว่ามีเครื่องเปรียบเทียบระหว่างกายต่างๆ กับธรรมกาย วิเศษสู้ธรรมกายไม่ได้เลย

     ความเห็นวิเศษอย่างนี้ มีเฉพาะธรรมกายเท่านั้น เมื่อเห็นแล้วก็จะละวางจากกายมนุษย์ กายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซึ่งยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อปลดปล่อยวางแล้วก็ยึดอยู่ในธรรมกายนั้นไม่ไปไหนเลย ใจจะติดอยู่ในกลางธรรมกาย เป็นสุขทั้งวันทั้งคืน นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข จะทำอะไรก็เป็นสุขทั้งนั้น เป็นสุขอยู่ในกลางกายธรรม เพราะธรรมกายเป็นต้นแหล่งของความสุขทั้งปวง ยิ่งชัด ยิ่งใส ยิ่งสว่างเท่าไรก็ยิ่งสุขเท่านั้น สุขอยู่ในกลางธรรมกายไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงกายธรรมอรหัต ได้เสวยเอกันตบรมสุข สุขอย่างยิ่งไม่มีทุกข์เจือปนเลย

     พระบรมศาสดาทรงจึงสอนให้พิจารณาปล่อยวางสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารทั้งหมด ก็เพื่อให้มายึดเอาธรรมกายนี่แหละเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ใครเข้าถึงธรรมกายจึงจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิต เพราะว่าได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ชีวิตดำเนินมาสู่จุดที่มีความสุขที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้น ให้หมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ ส่วนท่านที่ปฏิบัติมานานยังเข้าไม่ถึงก็อย่าได้ท้อแท้ใจ ขอให้เพียรพยายามหมั่นหยุดนิ่งเรื่อยไป คนที่สว่างในวันนี้เพราะเขาเองก็เคยมืดมาก่อนแล้ว วันนี้ยังเข้าไม่ถึง สักวันหนึ่งเราจะต้องสมปรารถนา ขอให้ปลื้มปีติใจเถอะว่าเราปฏิบัติมาถูกทางแล้ว เหลือแต่ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งต่อไปอีก ทำให้ต่อเนื่องเป็นประจำสม่ำเสมอ สักวันหนึ่งเราจะสมปรารถนา เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๙๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/18272
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *