ที่พึ่งที่แท้จริง

ที่พึ่งที่แท้จริง

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๓ สิ่งนี้เท่านั้น เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเราทั้งหลาย ในยามที่มีทุกข์ก็สามารถพึ่งท่านได้ จักช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ได้ เมื่อมีสุขแล้ว ถ้าระลึกถึงรัตนะทั้งสามนี้ ก็เพิ่มเติมความสุขได้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นแหล่งรวมแห่งความสุข ความเบิกบานใจ ซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน หากทุกคนในโลกเข้าถึงสรณะอันสูงสุดนี้ได้เมื่อใด ความทุกข์ทั้งหลายจะดับไปเมื่อนั้น จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เป็นบรมสุขคือสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เนื่องจากชีวิตของเราทุกคนที่เกิดมา ล้วนเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ใจของเราปลอดโปร่ง ว่างเปล่าจากเครื่องกังวล ด้วยการแนะนำไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ทรงสอนว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ และก็ไม่ใช่ของเรา เพราะว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วใจจะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ พอคลายแล้วจะได้อะไร เมื่อคลายแล้วมันก็หลุด เมื่อหลุดพ้น จิตก็บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์จิตก็หยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งทีเดียว หยุดนิ่งกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมในปริมณฑลของใจ

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา คงที่ เป็นอมตะ การที่เข้าไปถึงทั้งสามสิ่งนี้ ท่านให้เข้าไปด้วยทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัว ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่ง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน จะเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกายที่เป็นสรณะ ท่านเรียกว่าธรรมกาย คือกายนั้นเป็นธรรมล้วนๆ มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่มีสิ่งที่เป็นมลทินเจือเลย เหมือนทองคำที่บริสุทธิ์

กายที่เป็นสรณะนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปให้ถึงท่านให้ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “แล่นไป” แล่นไปสู่สรณะทั้งสาม ก็คือ “ไตรสรณคมน์” ไตรแปลว่าสาม  สรณะคือที่พึ่ง ไตรสรณคมน์ ที่พึ่งสามอย่าง “คมนะ” แปลว่า แล่นเข้าไป คือเคลื่อนเข้าไป แล่นไปหาที่พึ่งทั้งสามที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา มีอยู่ในตัวของเรา เป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นเกาะ เป็นที่พึ่งที่แท้จริง

พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ใน อัตตทีปสูตร ว่า
“อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา

จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่”

บุคคลทั้งหลาย ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็ปรารถนาที่พึ่ง ต้องการที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพาอาศัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างคนก็ต่างแสวงหา เสาะหาว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของตนได้ ดั่งคนในสมัยโบราณ เมื่อยังไม่ทราบว่าอะไรคือที่พึ่งที่แท้จริง ก็เข้าไปยึดถือเอาต้นไม้บ้าง ภูเขาบ้าง โดยคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตนได้ แต่สุดท้ายพบว่า สิ่งเหล่านี้ ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกที่จะสามารถคุ้มครองตนเองให้พ้นภัยได้

แม้ในสมัยปัจจุบัน ขณะที่บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงสูง สภาพเศรษฐกิจเป็นเหมือนภาพลวงตา ส่งผลกระทบให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย และดูเหมือนคนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในสภาวะที่สับสนมีความไม่แน่นอนในชีวิต ผู้คนทั้งหลายจึงต่างเสาะแสวงหาที่พึ่งให้กับตนเอง ไปพบอะไรก็พึ่งไปหมด ที่ไหนเขาว่ามีอะไรดีก็ตามเขาไป เพราะฉะนั้น มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยย่อมปรารถนาที่พึ่งกันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าที่พึ่งที่แท้จริงนั้นคืออะไร

* ครั้งหนึ่งในคราวที่พระบรมศาสดาเสด็จไปโปรดพวกราชกุมาร ที่กำลังเล่นซ่อนหากันอยู่ในป่าไร่ฝ้าย ราชกุมารทุกพระองค์ต่างก็มีมเหสีด้วยกันทั้งสิ้น แต่ราชกุมารอีกพระองค์หนึ่งมีมเหสีกำมะลอ คือไปจ้างหญิงงามประจำเมืองมาเป็นมเหสี ครั้นไปถึงป่าไร่ฝ้ายก็เล่นซ่อนหาปิดตากันสนุกสนาน และได้ถอดเครื่องประดับฝากให้มเหสีถือไว้ทุกๆ องค์ถ้วนหน้า มเหสีกำมะลอพอเห็นของมีค่าเช่นนั้น จึงคิดว่า ถ้าเราเอาเครื่องประดับเหล่านี้ไป จะสามารถเลี้ยงตัวได้ชาติหนึ่งทีเดียว เราจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนในการแสวงหาทรัพย์อีก

เมื่อนางคิดเช่นนั้นก็หาอุบายที่จะขโมยเอาเครื่องประดับนั้นและหลบหนีไป หลังจากที่ราชกุมารทั้งหลายทรงเล่นซ่อนหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว กลับมาขอห่อเครื่องประดับที่มเหสีของแต่ละองค์เก็บไว้ให้ ฝ่ายมเหสีกำมะลอของราชกุมารนั้น หายตัวไปแล้ว จึงช่วยกันค้นหา แต่หาเท่าไรก็ไม่พบ จนในที่สุดมาพบกับพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ใต้โคนไม้ จึงได้ทูลถาม พระองค์ว่า “ท่านผู้เจริญเห็นหญิงถือห่อผ้าเดินผ่านมาทางนี้ไหม” พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า “ท่านจะหาหญิงคนนั้น หรือจะหาตนเองดี” ราชกุมารเป็นคนมีปัญญาจึงทูลรับว่า “หาตนเองดีกว่า พระเจ้าข้า” ถ้าจะหาตนเองก็นั่งลงซิ เราจะบอกให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสถึงคำว่า “ตัว” หรือ“ตน” ว่า “พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่”

คำว่า “ตน” นั้น หมายถึงอะไร หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญท่านได้ค้นพบว่า กายมนุษย์นี่ก็เรียกว่าตน กายมนุษย์ละเอียดก็เรียกว่าตน กายทิพย์ก็เรียกว่าตน กายทิพย์ละเอียดก็เรียกว่าตน กายรูปพรหมก็เรียกว่าตน กายรูปพรหมละเอียดก็เรียกว่าตน กายอรูปพรหมก็เรียกว่าตน กายอรูปพรหมละเอียดก็เรียกว่าตน ทั้งแปดกายนี้ เป็นตนที่อยู่ในภพ ซึ่งตนที่อยู่ในภพนี้เป็นตนโดยสมมติ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ส่วนตนที่อยู่นอกภพออกไปยังมีอีก กายธรรมโคตรภูก็เป็นตน กายธรรมโคตรภูละเอียดก็เป็นตน กายธรรมพระโสดาก็เป็นตน กายธรรมพระโสดาละเอียดก็เป็นตน กายธรรมพระสกทาคาก็เป็นตน กายธรรมพระสกทาคาละเอียดก็เป็นตน กายธรรมพระอนาคามีก็เป็นตน กายธรรมพระอนาคามีละเอียดก็เป็นตน กายธรรมพระอรหัตก็เป็นตน กายธรรมพระอรหัตละเอียดก็เป็นตน ทั้งสิบกายนี้เป็นตนโดยวิมุตติ ไม่ใช่ตนโดยสมมติ เป็นตนที่หลุดพ้นออกไปจากภพแล้ว ตนนี้แหละเป็นเกาะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา

หากเราลองนึกถึงคนที่แล่นเรือไปกลางมหาสมุทร แล้วเผอิญเรือเกิดล่ม ทุกคนต่างก็ลอยคออยู่ อะไรลอยผ่านมาก็ต้องคว้าไว้หมด เพราะปรารถนาจะมีที่ยึดที่เกาะ ยิ่งถ้าหากว่ายน้ำไป จนกระทั่งพบเกาะกลางมหาสมุทรเข้า ก็ยิ่งชื่นอกชื่นใจ รีบขึ้นไปบนเกาะนั้นโดยเร็วทีเดียว เพราะได้เกาะ ได้ที่อาศัยแล้ว มิฉะนั้นจะต้องว่ายน้ำเหน็ดเหนื่อยอยู่ในมหาสมุทรจนแทบขาดใจ แต่ถ้าขึ้นเกาะได้แล้วก็หายเหนื่อย เกาะนั้นแหละเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นพึ่งไม่ได้เลย เราทั้งหลายก็อาศัย “ตน” ที่กล่าวมาแล้วนี่แหละเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่

คำที่เรียกว่า “ธรรม” คืออะไร อยู่ที่ตรงไหน ธรรมก็มีไว้สำหรับให้ตนนั้นเป็นที่อยู่ ถ้าหากไม่มีธรรมเลย ตนก็เป็นอยู่ไม่ได้ ทั้งกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และกายธรรมพระอรหัต มีธรรมให้กายตั้งอยู่ ถ้าไม่มีธรรม ทุกกายก็ดับหมด

คำว่า “ธรรม” นี้อยู่ที่ไหนหรือ ก็อยู่ในกลางกายมนุษย์ของเรานี่เอง ตั้งอยู่ในระดับเหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน เมื่อใจหยุดนิ่งตรงนี้ จะถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กลม ใส บริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงนี้เรียกว่า “ธรรม” ถ้าธรรมดวงนี้ดับ กายมนุษย์ก็ดับไป ถ้าธรรมดวงนี้บริสุทธิ์ ผ่องใส กายมนุษย์ก็รุ่งโรจน์โชตนาการ ถ้าธรรมดวงนี้ซูบซีดเศร้าหมอง กายมนุษย์ก็เศร้าหมองไม่ผ่องใสไปด้วย ดวงธรรมนั้นเอง เป็นชีวิตของมนุษย์ทีเดียว

กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ก็มีดวงธรรมใสบริสุทธิ์อยู่กลางกายแบบเดียวกัน กายธรรมทุกๆ กาย ก็มีดวงธรรมใสบริสุทธิ์แบบเดียวกัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักของกายธรรม  ธรรมกายหน้าตักเท่าใด ธรรมดวงนั้นก็วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้เท่านั้น

ดวงธรรมของกายธรรมทั้งหมด เรียกว่า “ธรรม” นี้เป็นธรรมนอกภพออกไป ไม่ใช่ในภพ จึงได้ขยายส่วนออกไปเช่นนั้น ดวงธรรมนอกภพมีขนาดใหญ่โต เป็นดวงใสบริสุทธิ์ ใสเกินใส ธรรมนี้แหละเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง ถ้าไม่ได้ดวงธรรมนี้ กายอื่นๆ ก็ไม่มีที่อาศัย กายมนุษย์ก็ไม่มี ดังนั้นดวงธรรมที่มีความละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นแหละ เป็นทั้งเกาะเป็นทั้งที่พึ่ง พึ่งกันไปตามลำดับ มีกายกับธรรมสองอย่างนี้เท่านั้นที่เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่

ที่พึ่งที่ระลึกซึ่งเปรียบเสมือนเกาะนั้น อยู่ในกลางตัวเรานี่เอง เข้าถึงได้ด้วยวิธีการหยุดนิ่ง เว้นจากหยุดจากนิ่งแล้วเข้าถึงไม่ได้ คือ แล่นเข้าไปถึงรัตนะทั้งสามไม่ได้ มีวิธีขับเคลื่อนเข้าไป แล่นเข้าไปด้วยวิธีหยุดอย่างเดียว ทำใจให้หยุด หยุดอยู่ในกลางกาย พอถูกส่วนเท่านั้นถึงจะแล่นไปได้ ถ้าไม่หยุดจะแล่นไปไม่ได้ พอใจเราหยุดนิ่ง ก็แล่นออกจากกายหยาบ เมื่อเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จะมีความรู้สึกว่าเราหลุดจากกายหยาบ มีความรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน ไร้ตัวตน เหมือนออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้าง เราจะรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา จนกระทั่งเข้าถึงดวงธรรมภายในได้ในที่สุด

เมื่อหยุดเข้าไปเรื่อยๆ จะแล่นต่อเข้าไปอีก เข้าถึง ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เป็นชั้นๆ เข้าไป ถอดออกเป็นชั้นๆ แล่นต่อไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีหยุดอย่างเดียวเท่านั้น เป็นวิธีเดียวด้วยเส้นทางสายกลาง  เส้นทางเดียวที่เรียกว่า “เอกายนมรรค” หนทางเดียว วิธีเดียว

เข้าสู่เส้นทางที่มีหนึ่งเดียว เป็นเส้นทางสายกลางของพระอริยเจ้า เป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่บังคับบัญชาเราอยู่ ด้วยการให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง

เพราะฉะนั้น อย่าได้นำภารกิจประจำวันเพื่อมาเป็นข้ออ้าง เป็นข้อแม้ และเงื่อนไข ที่จะทำให้เราเกียจคร้านหรือทอดธุระในการปฏิบัติธรรม ให้หันมาหมั่นฝึกทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เฉย สบายๆ ที่กลางกาย ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน ควบคู่กับภารกิจประจำวันที่เรากระทำอยู่ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ วันนี้จะเป็นวันที่แตกต่างจากทุกๆ วันที่ผ่านมาทีเดียว จะเป็นวันที่มีความหมายสำหรับชีวิตของเรา  เพราะเป็นวันที่ใจเราตั้งมั่นเพื่อจะให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นความนึกคิดที่ประเสริฐที่สุด  ถูกต้องร่องรอยตามคำสอนของพระสัมมาสัมพทธเจ้า ดังนั้น ควรหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ตลอดเวลา กันทุกๆ ท่าน

* มก. เล่ม ๖ หน้า ๘๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17905
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

1 thought on “ที่พึ่งที่แท้จริง”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *