หนทางสายกลาง

หนทางสายกลาง

“ความสุข” เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน เพราะถ้ากายและใจของเราไม่มีความสุขแล้ว จะประกอบภารกิจการงานอันใด ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะแสวงหาความสุขที่แท้จริงให้แก่ตนเอง

ร่างกายที่เราต้องใช้ทุกวัน เพื่อการประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือ การครองเรือนก็ตาม มีความจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาด ไม่ให้ร่างกายสกปรก จึงจะเป็นสุขและทำหน้าที่ได้เป็นปกติ จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการชำระล้างให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ได้ด้วยการเจริญภาวนา จึงจะเป็นสุขและสามารถคิดอ่านทำการงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัทรู้จักชำระใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ด้วยการเจริญภาวนา ทำใจหยุดนิ่งในหนทางสายกลางที่อยู่ในกลางกาย ทรงสั่งสอนให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนใจว่า  ใจที่ผ่องใสย่อมนำมาซึ่งความสุข เป็นทางมาแห่งมหากุศล เป็นเครื่องนำพาสัตว์โลกทั้งหลายไปสู่สุคติภูมิ และนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดคือมรรคผลนิพพานได้

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะหนทางแห่งความบริสุทธิ์ไว้ว่า
“มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา
จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย
สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ.

หนทางสายกลาง พระตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เกิดธรรมจักขุ เกิดญาณเครื่องรู้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม และเพื่อพระนิพพาน”

หนทางในโลกนี้มีมากมาย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ แต่หนทางที่จะหลุดพ้นจากโลก  หลุดพ้นจากภพ หลุดพ้นจากวัฏสงสาร มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น เรียกว่า หนทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกนี้ ที่ช่วยชี้แนะหนทางหลุดพ้น จากวงจรแห่งวัฏสงสารโดยสิ้นเชิง เพื่อให้บรรลุถึงบรมสุขอันเป็นอมตะนิรันดร์กาล

มัชฌิมาปฏิปทา หรือหนทางสายกลางนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ธรรมจักรหรือจักรแห่งธรรม คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำผู้มีบุญในสมัยนั้น เนื่องจากว่าชีวิตของมนุษย์ทุกๆ คนที่เกิดมาต่างมีความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และมีความปรารถนาที่จะแสวงหาหนทางพ้นทุกข์

ในสมัยก่อนที่พระพุทธองค์จะมาตรัสรู้ ได้มีวิธีแสวงหาความพ้นทุกข์ โดยเข้าใจว่าจะทำให้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะอยู่ ๒ วิธี คือ ๑.อัตตกิลมถานุโยค พวกที่ปฏิบัติตึงเกินไป ๒.กามสุขัลลิกานุโยค พวกนี้ก็หย่อนเกินไป พวกที่ตึงเกินไปก็มีความเห็นว่าต้องทรมานตัว ทรมานกายเพื่อให้ผู้มีอำนาจสูงสุด ซึ่งสมมติเรียกว่าพระผู้เป็นเจ้า เห็นใจ สงสาร จะได้ช่วยให้พ้นทุกข์ จึงทรมานตัวเองให้ได้รับความลำบาก ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ อีกประเภทหนึ่งคือปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส คิดว่าจะพ้นทุกข์ได้จะต้องแสวงหาความสนุกเพลิดเพลินในทางโลก มนุษย์ในยุคนั้นมีความเชื่อกันอย่างนี้

จนกระทั่งพระพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติเกิดขึ้นในโลก ท่านได้ทรงทดลองพิสูจน์ทั้ง ๒ วิธีการ แล้วทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางบรรลุผล ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าองค์ไหนที่จะช่วยดลบันดาลให้พ้นทุกข์ได้เลย หรือการสนุกสนานเพลิดเพลินในทางโลก มันก็แค่กลบทุกข์เท่านั้นเอง เพียงแค่กลบทุกข์ไม่ใช่แก้ทุกข์ หลังจากเลิกสนุกแล้วก็กลับมาทุกข์เช่นเดิม เพราะฉะนั้นก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ในที่สุดทรงพบหนทางสายกลางเป็นทางดำเนินของจิต เข้าไปสู่ความหลุดพ้นภายใน โดยตั้งต้น ณ กลางกายของมนุษย์

หนทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น คือ จกฺขุกรณี  ธรรมจักษุจะเกิด ญาณกรณี ญาณเป็นเครื่องรู้ก็จะเกิด อุปสมาย จะเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลาย อภิญฺญาย เป็นไปเพื่อให้ได้อภิญญา คือความรู้ยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่าความรู้ทั้งหลายในโลก เช่น มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้วาระจิต มีอิทธิฤทธิ์แสดงฤทธิ์ได้ ทำอาสวะให้สิ้นได้ สมฺโพธาย รู้พร้อมหมดทุกอย่าง รู้ได้รอบตัว นิพฺพานาย เพื่อพระนิพพาน นี่หนทางสายกลางของท่าน ถ้าปฏิบัติแล้วจะได้อย่างนี้

การที่จะทำให้ได้ จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย นั้น จะต้องประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ คือมีความเห็นถูก คิดถูก พูดถูก ทำถูก อาชีพชอบ เพียรชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบก่อน เบื้องต้นต้องมีความเห็นถูก แต่ความเห็นถูกที่สำคัญที่สุดคือเห็นว่าพระนิพพานมีจริงๆ เป็นบรมสุขที่จะดับทุกข์ได้จริง พ้นทุกข์ได้จริง และมีผู้ปฏิบัติตามเห็นได้จริง ความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้อง เป็นความคิดที่แตกต่างจากชาวโลก คิดออกจากกาม คิดออกจากความพยาบาท คิดออกจากความเบียดเบียน ซึ่งความคิดเหล่านี้มีอยู่เป็นประจำของชาวโลก

ถ้าจะเดินเส้นทางสายกลางต้องคิดให้เหนือโลก ทวนกระแสของชาวโลก คิดตรงข้ามเลย โดยหากชาวโลกตรึกเรื่องกามเราก็คิดออกจากกาม เขาตรึกเรื่องพยาบาทเราก็คิดออกจากความพยาบาท เขาตรึกเรื่องการเบียดเบียนกันเราก็คิดออกจากการเบียดเบียน เมื่อมีความคิดอย่างนี้มากขึ้นๆ จะส่งผลให้กาย วาจา ใจบริสุทธิ์ สิ่งใดที่จะทำให้กายไม่บริสุทธิ์ วาจาไม่บริสุทธิ์ ใจไม่บริสุทธิ์ให้เว้นหมดเลย แล้วมีสติให้ใจของเราอยู่ในกลางกาย ทำความเพียรระวังบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น  ให้เกิดแต่สิ่งที่ดีๆ แล้วก็หมั่นทำให้เจริญขึ้น ในที่สุดสัมมาสมาธิก็จะเกิด คือใจหยุดทีเดียว

ถ้าบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ได้ ไม่ช้าสัมมาสมาธิก็เกิดขึ้นอยู่ภายใน หยุดนิ่งถูกส่วนเข้าก็เป็นดวงใส ใสสว่างเกิดขึ้นที่กลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เกิดขึ้นในกลางหยุด กลางนิ่ง ที่กลางกาย แล้วก็หยุดอย่างนี้เรื่อยไปเลย หยุดไปตามลำดับ พอถูกส่วนเข้าจะเห็นดวงธรรมผุดซ้อนกัน เกิดขึ้นอยู่ภายใน ซ้อนกันเป็นชั้นๆๆ เข้าไป จนกระทั่งครบ ๖ ดวง ในกลางดวงธรรมดวงที่ ๖ จะพบกายภายในเรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด

กายมนุษย์ละเอียด หน้าตาเหมือนกับตัวของเราเลย ท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายเหมือนท่านชาย นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน กายที่เรานอนหลับแล้วฝันไปก็กายนี้แหละ ออกไปทำหน้าที่ฝัน แล้วก็กลับมารายงานกายมนุษย์ เมื่อหยุดอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะพบดวงธรรมซ้อนๆ กันอยู่ภายใน ละเอียดลงไปเรื่อยๆ สุกใสสว่างเข้าไปเรื่อยๆ พอสุดดวงที่ ๖ ก็เข้าถึงกายทิพย์ ซึ่งเป็นกายของสุคติภูมิ เป็นกายที่สวยงาม มีเครื่องประดับประดาสวยงามมาก เมื่อเราละโลกไปแล้ว ถ้าสั่งสมกุศลธรรม กายทิพย์นี้จะนำไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นกายของชาวสวรรค์ เมื่อหยุดต่อไปอีกในกลางนั้น ถูกส่วนเข้าจะพบดวงธรรมภายในซ้อนๆ กันอยู่เข้าไปเรื่อย ในที่สุดจะเข้าถึงกายรูปพรหมในกลางดวงที่ ๖

กายรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้น คล้ายๆ กายทิพย์ แต่ว่าสวยกว่า ประณีตกว่า ละเอียดกว่า ในกลางกายรูปพรหม ก็มีดวงธรรมต่างๆ ซ้อนกันอยู่ พอสุดดวงที่ ๖ ก็เข้าถึงกายอรูปพรหม ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กายรูปพรหม แต่ว่าสวยงามกว่า ละเอียดกว่าซ้อนอยู่ภายใน ในกลางกายอรูปพรหมก็มีดวงธรรมต่างๆ ซ้อนอยู่ พอสุดดวงที่ ๖ ก็เข้าถึงกายธรรม กายธรรมนี่แหละเป็นกายที่สำคัญ มีลักษณะสวยงามมาก คล้ายๆ กับพระพุทธรูป แต่ว่าสวยงามกว่าพระพุทธรูปที่มนุษย์ปั้น เนื่องจากมีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ

กายธรรมนี่แหละที่มีจักขุเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ล้วนเกิดขึ้นอยู่ในกายนี้ ความรู้ยิ่งในทางพุทธศาสนาก็จะเกิดขึ้น ความรู้พร้อม รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล รู้ได้รอบตัว ก็จะเกิดขึ้น และเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเดินทางสายกลางตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว จะพบอย่างนี้ จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในชีวิตของเราและสรรพสัตว์ ตลอดถึงสรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้นกายธรรมนี่จึงเป็นกายที่สำคัญที่สุด ถ้าปฏิบัติทางสายกลาง ต้องได้อย่างนี้

ก่อนที่เราจะรู้จักหนทางสายกลาง ขอให้เราทำความรู้จักกับฐานที่ตั้งถาวรของใจเสียก่อน ฐานที่ตั้งถาวรของใจนั้นเราเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ฐานที่ ๗ นี้อยู่ที่ไหน สมมติว่าเราขึงเส้นด้าย ๒ เส้น เส้นหนึ่งจากสะดือทะลุไปข้างหลัง อีกเส้นหนึ่งจากข้างขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ คือเอานิ้วชี้และนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน ทาบตรงจุดนี้ จุดนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางกาย เป็นหนทางสายกลาง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จเข้าสู่พระนิพพานนั่นเอง เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา

ให้ประคับประคองใจของเรา นำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตรงฐานที่ ๗ นี้ โดยกำหนดบริกรรมนิมิต เป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้ใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต นึกอย่างเบาๆ สบายๆ ตรึกให้ต่อเนื่องกันไป พร้อมกับนึกถึงบริกรรมภาวนาในใจโดยให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ ไม่ช้าใจจะหยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน คำภาวนา สัมมาอะระหัง จะเลือนหายจากใจ เหลือแต่ดวงใสอย่างเดียว เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับความรู้ตัวภายใน ใจจะหยุดอยู่ที่ดวงใส เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ให้ตรึกถึงดวงใสอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ประคองไปเรื่อยๆ  พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปฐมมรรค แล้วจะพบกายในกายไปตามลำดับ นี่ต้องทำกันอย่างนี้ ถ้าได้ดวงใสอย่างนี้แล้ว คือพบหนทางสายกลางแล้ว นี่ก็จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเราได้พบหนทางที่ถูกต้องแล้ว ไม่ช้าเราจะไปสู่อายตนนิพพานได้

ให้ประคับประคองใจของเราให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายให้ได้ตลอดเวลา หมั่นฝึกฝนทำใจหยุดนิ่งทุกวันจนเป็นนิสัย จนกระทั่งใจของเราคุ้นเคยกับความสงบ เข้าถึงความสุขอันละเอียดอ่อน เมื่อนั้นใจของเราจะสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส มีพลัง ใจจะมีประสิทธิภาพ สามารถเผชิญกับอารมณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่มากระทบได้อย่างมีสติ สงบ เยือกเย็น เป็นสุขอยู่ภายใน และจะมีอานิสงส์ต่อเนื่อง ให้ใจของเราหยุดนิ่ง เข้าถึงพระรัตนตรัยได้อย่างง่ายๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติ ที่เงินทองก็หาซื้อไม่ได้ จะได้มาด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น คือการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความสุขความสำเร็จ และเป็นแหล่งแห่งความสมปรารถนาของเราทุกคน

* มก. เล่ม ๖ หน้า ๔๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17894
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระรัตนตรัย

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

2 thoughts on “หนทางสายกลาง”

  1. น้อมกราบสาธุ สาธุ สาธุครับ
    🏵️🌼💐🌺🌸💮🌸💐🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *