จงฉลาดในการใช้ทรัพย์ (พระบรมศาสดาให้โอวาทอนาถบิณฑิกเศรษฐีเรืองการใช้ทรัพย์)

จงฉลาดในการใช้ทรัพย์ (พระบรมศาสดาให้โอวาทอนาถบิณฑิกเศรษฐีเรืองการใช้ทรัพย์ฆ)

เวลาในโลกมนุษย์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อผ่านไปก็ไม่ผ่านไปเปล่า ยังได้นำความแก่ชรา ความเสื่อมของสังขารมาให้ สำหรับชีวิตของนักสร้างบารมีนั้น ต้องไม่ปล่อยให้สังขารเสื่อมไปเปล่า แต่ต้องสร้างบุญไปพร้อมๆ กับเวลาที่ล่วงเลยไป ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นบุญบารมีก็ยิ่งต้องเพิ่มพูนขึ้นด้วย การใช้ชีวิตให้ผ่านไปด้วยการสร้างบุญเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เกิดมาอย่างมีคุณค่า ได้ใช้ชีวิตคุ้มค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา

มีวาระแห่งสุภาษิตใน สัปปุริสสูตร ความว่า

“สัตบุรุษผู้ครอบครองทรัพย์ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เทวดาย่อมรักษาเขาผู้อันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีล และความประพฤติ เกียรติย่อมไม่ละผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครจะสามารถติเตียนผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล มีวาจาสัจ มีหิริในใจ เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุท แม้เทวดาก็ชื่นชม แม้พรหมก็สรรเสริญ”

สัตบุรุษทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ที่มีดวงปัญญาแจ่มใส สามารถแยกแยะได้อย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์มาก สิ่งใดเป็นประโยชน์น้อย หรือสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ จะรู้แจ้งทั้งในโลกนี้และหนทางที่จะไปสู่ปรโลก ผู้เป็นสัตบุรุษ แม้เมื่อมีทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว ก็จะมองทรัพย์เหล่านั้นเป็นเพียงแค่อุปกรณ์ที่จะสนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และเป็นสิ่งที่ไว้ใช้สร้างบารมีทำประโยชน์ใหญ่ให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ บัณฑิตนักปราชญ์เมื่อมีทรัพย์จึงไม่หวงแหนหรือตระหนี่แม้แต่น้อย

พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ เพราะทุกภพทุกชาติที่เกิดมานั้น ท่านไม่เคยมีความตระหนี่เกิดขึ้นในใจแม้แต่น้อย มีแต่ให้กับให้ ตัวท่านนั้นมุ่งพระโพธิญาณอย่างเดียว ใช้ทรัพย์เป็นเครื่องมือในการสร้างบารมีเท่านั้น ในความคิดของนักสร้างบารมี ทรัพย์ที่มีอยู่ก็เพื่อสร้างบารมีเพียงอย่างเดียว พวกเรามักได้เห็นตัวอย่างของนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน ทุกๆ ครั้งที่เหล่านักสร้างบารมีเหล่านั้นบริจาคทรัพย์ มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ท่านจะสละทรัพย์เพื่อเป็นประโยชน์ใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทานแก่ชนทั้งหลาย หรือทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างมหาวิหารเชตวัน อันเป็นอารามสำหรับเผยแผ่ธรรมะในยุคนั้น ทรัพย์ที่เกิดขึ้นสำหรับสัตบุรุษ จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนเป็นอันมาก

ต่างจากเหล่าอสัตบุรุษ คนเหล่านี้จะใช้ทรัพย์ไม่เป็น เป็นผู้ที่ใช้ทรัพย์เพื่อความเดือดเนื้อร้อนใจสำหรับคนหมู่มาก ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หลักในการใช้ทรัพย์ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นพุทธดำรัสที่มีประโยชน์กับพระพุทธศาสนามาก

* สมัยพุทธกาล ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาถึงที่ประทับ เมื่อท่านเศรษฐีนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านรู้ไหมว่า การที่จะถือเอาประโยชน์อย่างแท้จริงจากทรัพย์ที่มีอยู่นั้นควรทำอย่างไร”

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่อาจทราบได้ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ด้วยเถิด เพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องพระเจ้าข้า” พระดำรัสของพระศาสดาต่อไปนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นแนวทางที่จะทำให้พระสาวกใช้จ่ายทรัพย์เป็น ใช้จ่ายอย่างถูกวิธี ไม่สุรุ่ยสุร่ายเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนคฤหบดี ประโยชน์ที่เราจะถือเอาได้จากโภคทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่นั้น มีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน บุคคลใดทำได้ทั้ง ๕ ประการนี้ เท่ากับว่าได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์ทีเดียว” แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า

“ประโยชน์ ๕ ประการที่ตถาคตกล่าวถึงนั้น คือพระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความยากลำบาก สะสมมาด้วยกำลังเรี่ยวแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมใช้ทรัพย์เหล่านั้นเลี้ยงตนเองให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำสำราญ เลี้ยงบุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนรับใช้ให้เป็นสุข นี้เป็นประโยชน์ที่จะถือเอาจากโภคทรัพย์ข้อที่ ๑

ดูก่อนคฤหบดี นอกจากจะเลี้ยงตนเองและบุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนรับใช้ให้เป็นสุขแล้ว พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ทั้งหลายที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก สะสมมาด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ แสวงหามาได้โดยชอบธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากโภคทรัพย์ข้อที่ ๒

ดูก่อนคฤหบดี อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ นอกจากจะถือเอาประโยชน์จากทรัพย์ คือใช้จ่ายทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ทั้งสองประการแล้ว ย่อมใช้ทรัพย์ที่ตนเองหามาได้โดยชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ข้อที่ ๓

อีกประการหนึ่ง เมื่อทำทั้งสามข้อนั้นแล้ว ย่อมถือเอาประโยชน์จากทรัพย์ด้วยการทำพลีกรรม ๕ ประการ ได้แก่ ญาติพลีคือบำรุงญาติ อติถิพลีคือต้อนรับแขก ปุพเพเปตพลีคือทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับ ราชพลีคือบริจาคทรัพย์เพื่อส่วนรวม และเทวตาพลีคือทำบุญอุทิศให้เทวดา นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากทรัพย์ข้อที่ ๔

ดูก่อนคฤหบดี เมื่ออริยสาวกทำสิ่งทั้ง ๔ อย่างแล้ว ประการที่สำคัญที่สุด คือ อริยสาวกย่อมใช้จ่ายทรัพย์ของตนเพื่อบำเพ็ญทักษิณาทานเกื้อกูลในหนทางสวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ มุ่งที่จะดับทุกข์ให้หมดสิ้นไป นี้เป็นข้อที่ ๕ บุคคลใดใช้จ่ายทรัพย์บำเพ็ญประโยชน์ทั้ง ๕ ประการนี้สมบูรณ์ ย่อมไม่เดือดร้อนทั้งในภพนี้และภพหน้า เพราะตนเองได้ถือเอาประโยชน์จากทรัพย์อย่างแท้จริง” ท่านเศรษฐีได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนี้ รู้สึกปีติเบิกบานในการกระทำของตนเองยิ่งนัก เพราะท่านบำเพ็ญได้อย่างสมบูรณ์ทุกข้อ

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าพระบรมศาสดาของเรานั้น ได้ตรัสแนวทางในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่มีอยู่อย่างชัดเจน ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ทั้งประโยชน์ในภพนี้และประโยชน์ในภพหน้า ขอให้พวกเราใช้ทรัพย์ให้เป็น ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่าตกอยู่ในความประมาท หากปรารถนาจะสร้างหนสู่ทางสวรรค์และนิพพานแล้ว จงอย่าตระหนี่ เพราะการบำเพ็ญบุญนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเรา ตลอดจนมวลมนุษยชาติด้วย

* มก. เล่ม ๓๖ หน้า ๙๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16797
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *