ระแวงภัยที่ควรระแวง (รุกขเทวดาโพธิสัตว์ระแวงภัยที่ควรระแวง ระวังภัยที่ยังมาไม่ถึง)

ระแวงภัยที่ควรระแวง (รุกขเทวดาโพธิสัตว์ระแวงภัยที่ควรระแวง ระวังภัยที่ยังมาไม่ถึง)

หากบุคคลใดไม่รู้ว่า เกิดมาเพื่ออะไร หรือเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และจะเข้าถึงเป้าหมายนั้นด้วยวิธีการใด บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้ประมาทในชีวิต หากเราปรารถนาที่จะดำรงตนอยู่อย่างปลอดภัยจากภัยทั้งหลายในสังสารวัฏ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการสั่งสมบุญบารมี และยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา และทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่านให้ได้ เพื่อจะได้นำความรู้ที่เกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัย ไปขจัดกิเลสอาสวะที่เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น อยู่ในใจให้หมดสิ้นไป นี้คือหัวใจของการดำรงชีวิตอยู่ เป็นวัตถุประสงค์ของการเกิดมา หากทำได้เช่นนี้ เกิดมาในภพชาตินี้ ชีวิตก็คุ้มค่า สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งกันทุกคน

มีวาระพระบาลีใน โกฏสิมพลิชาดก ความว่า

“สงฺเกยฺยานิ สงฺกิตพฺพานิ รกฺเขยฺยานาคตํ ภยํ
อนาคตภยา ธีโร อุโภ โลเก อเวกฺขติ

ธีรชนควรระแวงภัยที่ควรระแวง ควรระวังภัยที่ยังมาไม่ถึง ธีรชนย่อมพิจารณาเห็นโลกทั้งสอง ควรระวังภัยในอนาคต”

บัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน แม้จะเกิดเป็นปุถุชนคนธรรมดา ท่านก็ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ด้วยท่านมองเห็นโลกไปตามความเป็นจริง อีกทั้งเป็นผู้เห็นภัยในเรื่องที่ควรระแวดระวัง แม้บางทีดูเหมือนจะเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นคนวิตกจริต คนละประเด็นกัน คนที่วิตกจริตคือคนที่กังวลไปสารพัดเรื่อง โดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้ถ่องแท้ก่อน แตกต่างกับคนที่มีความคิด และใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ ดังเช่นเหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

* ในสมัยพุทธกาล มีกุลบุตรจำนวนหนึ่ง เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว มองเห็นภัยในสังสารวัฏว่าเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยทุกข์นานัปการ จึงปรารถนาที่จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ได้พร้อมใจกันออกบวชเป็นพระภิกษุถึง ๕๐๐ รูป ซึ่งในสมัยก่อนนั้นภิกษุสามเณรที่ตั้งใจออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน หนทางแห่งการหลุดพ้นนั้น จะพากันออกบวชกันเป็นทีมใหญ่ทีเดียว เพราะการทำงานเป็นทีมสำคัญมาก จะเป็นพลังหมู่ที่ทำให้เกิดพลังแห่งการเห็นแจ้งรู้แจ้ง และนำความสุขความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นได้

หลังจากที่กุลบุตรเหล่านั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ทูลถามวิธีการปฏิบัติธรรม และรับโอวาทจากพระบรมศาสดา ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำการปฏิบัติ และให้ทุกๆ รูปตั้งใจบำเพ็ญเพียรกันอย่างเต็มที่ ครั้นได้รับโอวาทเป็นกำลังใจแล้ว พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้พากันไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ โกฏิสัณฐารกะ ซึ่งเป็นโรงธรรมที่บำเพ็ญเพียรขนาดใหญ่ นั่งธรรมะรวมกันได้ถึง ๕๐๐ รูป จึงเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรมาก

เมื่อภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติธรรมกันไปได้ระยะหนึ่ง ต่างยังทำใจให้หยุดนิ่งไม่ได้เพราะถูกกามวิตกครอบงำ พระบรมศาสดาทรงรู้ด้วยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ และปรารถนาให้ภิกษุเหล่านั้นข้ามพ้นอุปสรรคคือกามวิตก จึงดำริว่า สาวกของเรากำลังเผชิญกับอุปสรรคที่คอยขัดขวางหนทางมรรคผลนิพพาน เราควรตักเตือนพวกเธอให้ได้สติ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ขึ้นที่ภายในโกฏิสัณฐารกะ และตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า สิ่งที่ควรระแวง เธอทั้งหลายก็ควรระแวง เธอต้องรู้เท่าทันกิเลสที่บังเกิดขึ้น อย่ามัวปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอาสวะทั้งหลาย เพราะเมื่อกิเลสทั้งหลายเกิดขึ้น และเจริญมากขึ้นแล้ว มีแต่จะทำลายเธอฝ่ายเดียว เหมือนต้นไทรที่เกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายต้นไม้ทั้งหลาย ควรที่เธอจะเห็นภัยภายในที่ก่อกำเนิดขึ้น เหมือนเทวดาแต่ปางก่อนที่เป็นบัณฑิต มองเห็นภัยในเรื่องเล็กน้อยอย่างน่าอัศจรรย์” เมื่อภิกษุสงฆ์ฟังพุทธดำรัสแล้ว ยังไม่เข้าใจแจ่มชัด จึงพากันทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องราวของบัณฑิตในกาลก่อนนั้น พวกข้าพระองค์ไม่อาจรู้ได้ ขอพระองค์โปรดเล่าเรื่องราวนั้นให้พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระบรมศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จอุบัติเป็นรุกขเทวดาโกฏิสิมพลี ซึ่งเป็นต้นไม้อันเป็นถิ่นที่อยู่ของพญาครุฑ เรามักคุ้นกับคำว่า วิมานฉิมพลี วิมานหมายถึง บ้านหรือที่อยู่อาศัย รุกขเทวดาพระโพธิสัตว์ ได้อาศัยอยู่ที่ต้นโกฏิสิมพลีโดยมีวิมานซ้อนอยู่ที่ต้นไม้นั้น

วันหนึ่ง พญาครุฑได้เนรมิตกายให้ใหญ่ และยาวประมาณ ๑๕๐ โยชน์ ใช้ลมปีกกระพือแหวกน้ำทะเลออกเป็นสองส่วน แล้วเฉี่ยวเอานาคราชตัวหนึ่งที่มีร่างยาวประมาณพันวา โดยจับที่หาง แล้วให้ห้อยหัวลง เพื่อขยอกอาหารออกทางปากให้หมดตัวเพื่อนาคจะได้ตัวเบาขึ้น วิธีการจับนาคนี้ ครุฑจะจับที่หางนาคเช่นอย่างนี้ทุกครั้ง และวิธีที่นาคจะหนีรอดจากการจับก็คือ ถ้านาคตนไหนรู้ว่ากำลังถูกพญาครุฑตามจับ จะรีบกลืนก้อนหินหนักๆ ไว้ในท้อง เพื่อพญาครุฑจะได้ยกไม่ขึ้น นี่เป็นวิธีที่จะช่วยตนเองให้พ้นภัย แต่หากนาคตนนั้นกลืนก้อนหินไม่ทัน ก็จะถูกพญาครุฑเฉี่ยวไป ครั้นจับนาคได้แล้ว ครุฑก็มุ่งหน้ากลับถิ่นที่อยู่ของตนด้วยกำลังอันมหาศาล

ครั้งนั้น นาคที่ถูกพญาครุฑจับได้คิดว่า เราจะต้องสลัดให้หลุดจากการจับให้ได้ จึงรอโอกาส จนกระทั่งครุฑบินผ่านต้นนิโครธต้นใหญ่ต้นหนึ่ง นาคจึงใช้ขนดสอดพันเข้ากันต้นไม้ใหญ่ทันที แต่ด้วยความเร็วแรงของการบิน วิธีการนั้นไม่อาจหยุดพญาครุฑไว้ได้ ต้นนิโครธถอนขึ้นเพราะความเร็วในการบินของพญาครุฑ พญานาคก็ไม่ยอมปล่อยต้นไม้ใหญ่ พญาครุฑจึงนำทั้งนาคทั้งต้นไม้ไปถึงที่อยู่ของตน จากนั้นก็ฉีกท้องของพญานาค กินมันข้น แล้วทิ้งซากลงทะเลไป

ขณะเมื่อพญาครุฑกำลังกินพญานาคอยู่นั้น มีนกตัวหนึ่งมาเกาะที่ต้นนิโครธ และหลังจากพญาครุฑทิ้งต้นนิโครธไปแล้ว มันก็บินมาเกาะระหว่างกิ่งของต้นโกฏิสิมพลี รุกขเทวดาเห็นนกน้อยนั้นก็สะดุ้งกลัวจนตัวสั่นด้วยคิดว่า ต่อไปนกตัวนี้จะอุจจาระรดลำต้นเรา จากนั้นพุ่มไทรหรือพุ่มไม้ป่าจะขึ้นท่วมวิมานเรา เห็นทีวิมานของเราจะพินาศเพราะเหตุนี้เป็นแน่ รุกขเทวดาตัวสั่นสะท้าน พลอยทำให้ต้นโกฏิสิมพลีสั่นจนถึงโคนไปด้วย

พญาครุฑเห็นรุกขเทวดาสั่นสะท้านเช่นนั้น จึงถามว่า “ท่านรุกขเทวา แม้เราจะนำนาคตัวขนาดใหญ่ รวมทั้งน้ำหนักตัวของเราเอง ก็ไม่เห็นแสดงอาการสั่นสะท้านแต่อย่างใดเลย แต่เมื่อท่านมองเห็นนกตัวเล็กๆ เท่านั้น ทำไมจึงแสดงอาการสั่นสะท้านเช่นนั้นเล่า” รุกขเทวดาโพธิสัตว์ตอบว่า “ท่านพญาครุฑ ตัวท่านมีเนื้อเป็นภักษา แต่สกุณาตัวน้อยนี้มีผลไม้เป็นอาหาร หากนกน้อยนี้จิกกินลูกไทร ลูกมะเดื่อ ลูกนิโครธ แล้วมาถ่ายรดต้นไม้วิมานของเรา เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวที่นกมาถ่ายรดไว้ย่อมเจริญเติบโตขึ้นและปกคลุมวิมานของเรา เรามองเห็นภัยอย่างนี้ จึงสั่นสะท้าน ท่านพญาครุฑ ไม่ใช่เพราะเรากลัวเจ้านกตัวน้อยนั้นแต่อย่างใด”

พญาครุฑได้ฟังถ้อยคำอันน่าอัศจรรย์ใจ ในความเป็นผู้ที่มองเห็นภัยที่ยังมาไม่ถึงเช่นนี้ รู้สึกปีติในถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวยกย่องพระโพธิสัตว์ว่า “ธีรชนผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ย่อมระแวงภัยที่ควรระแวง ระวังภัยที่ยังมาไม่ถึง ย่อมสามารถมองเห็นภัยในโลกทั้งสอง คือโลกนี้ และโลกหน้าได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง” พญาครุฑรีบไล่นกน้อยตัวนั้นให้หนีไป ด้วยปรารถนาจะให้รุกขเทวดาโพธิสัตว์สบายใจ

พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรุปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ก็ควรที่จะระแวงสิ่งที่ควรระแวง ระวังสิ่งที่ควรระวัง ป้องกันสิ่งที่ควรป้องกัน อย่ามองข้ามในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และปล่อยผ่านไปอย่างเฉยเมย ให้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญให้ดี ให้สุขุมรอบคอบในทุกเรื่อง” ครั้นจบพระธรรมเทศนา ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ดำรงอยู่ในอรหัตผล จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า “พญาครุฑในครั้งนั้นคือพระสารีบุตร ส่วนรุกขเทวดาผู้ระวังในสิ่งที่ควรระวังก็คือ เราตถาคตนั่นเอง”

เราจะเห็นว่า พระบรมศาสดาทรงเป็นผู้มีพระปัญญาอันบริสุทธิ์ ไม่มองข้ามภัยแม้เพียงเล็กน้อย ยิ่งถ้าเป็นอาสวกิเลสที่ขัดขวางต่อการบรรลุธรรม ยิ่งเป็นสิ่งที่ทรงตระหนัก และระมัดระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งยังทรงตักเตือนพระสาวกให้รู้จัก ชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้มาก นับเป็นบุญลาภอันประเสริฐของพวกเรา ที่ได้มารู้จักพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ขอให้ทุกท่านสำรวมระวัง ระแวงสิ่งที่ควรระแวง ระวังสิ่งที่ควรระวัง โดยเฉพาะอาสวกิเลสทั้งหลายจงอย่าได้ดูเบาทีเดียว ให้มีสติ และรู้เท่าทันกิเลส ให้พวกเราทุกคนดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง แล้วก้าวตามรอยบาทพระศาสดากันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๓๙๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16675
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *