ความหวังที่ควรตั้งใจ (พระราชาตั้งความหวังไว้ที่บุตรฤาษีชื่ออาสังกา ละทิ้งจตุรงคเสนา ยอมทนลำบากในป่า ถึง ๓ ปีเต็ม)

ความหวังที่ควรตั้งใจ (พระราชาตั้งความหวังไว้ที่บุตรฤาษีชื่ออาสังกา ละทิ้งจตุรงคเสนา ยอมทนลำบากในป่า ถึง ๓ ปีเต็ม)

การสร้างบารมีเป็นภารกิจหลักของมนุษย์ทุกชีวิต ที่สำคัญยิ่งกว่าภารกิจทั้งปวง ถือเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เรามีชีวิตอยู่ไม่เกินร้อยปีก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย การเดินทางไปสู่ปรโลก โดยปราศจากบุญบารมีเป็นสมบัติละเอียดติดตัวไปนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งนัก เพราะบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ในปรโลก เหตุนี้ ผู้รู้บัณฑิตทั้งหลาย จึงหนักแน่นมั่นคงในการสั่งสมบุญบารมี โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเหล่านั้นมักจะเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่จะละกายหยาบอันเป็นที่อาศัยชั่วคราว เพื่อเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เหมือนทำลายภาชนะดิน เพื่อถือเอาภาชนะทองคำฉะนั้น ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ ชีวิตจะได้ปลอดภัย ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

มีวาระแห่งถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตใน อาสังกชาดก ความว่า

“เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดาวัน พันปีจึงออกผลผลหนึ่ง เมื่อมีผลระยะไกลถึงเพียงนั้น เหล่าทวยเทพก็พากันไปเยือนมันบ่อยๆ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทรงจำนงหวังไว้เถิด ความหวังที่มีผลเป็นเหตุให้เกิดสุข”

การมีชีวิตอยู่อย่างผู้มีความหวังนั้น ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำการงานต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จด้วยดี ความหวังทั้งปวงนั้น เราควรตั้งไว้เป็นเป้าหมายในใจ โดยเฉพาะความหวังอันสูงสุดที่มนุษย์ทุกๆ คน ควรตั้งเอาไว้ในใจ คือต้องหมั่นสั่งสมบุญบารมีทุกรูปแบบ โดยไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น และตั้งใจมั่นว่า จะทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ยิ่งกว่านั้นความหวังที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ยังเป็นความหวังที่เหนือโลก เป็นความหวังที่มนุษย์ และเทวดาสรรเสริญ ส่วนความหวังอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่ใช่ความหวังที่มีความบริสุทธิ์เป็นผล ยิ่งถ้าเป็นความหวังที่มีกามเป็นเหตุด้วยแล้ว ยิ่งจะนำแต่ความทุกข์มาสู่ตนเท่านั้น

* ดังเช่นในอดีต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องความหวังอันนำความทุกข์มาให้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ครั้งนั้นพระองค์ประทับอยู่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่งที่อยากสึก เพราะถูกภรรยาเก่าหลอกลวง พระบรมศาสดาทรงเรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วตรัสถามว่า “เธอจะสึกจริงหรือภิกษุ อะไรที่ทำให้เธออยากสละเพศอันประเสริฐที่เหมาะสมในการแสวงหาความหลุดพ้นนี้ แล้วกลับไปใช้ชีวิตที่แสนจะคับแคบนั้น”

ภิกษุรูปนั้นทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ถูกภรรยาเก่าอ้อนวอน แรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ช่วงหลังนี้รู้สึกหวั่นไหวพระเจ้าข้า” พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ทำความลำบากใจให้เธอไม่เฉพาะแต่ภพชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนก็ทำความลำบากให้เธอมาแล้ว ตัวเธอเองอาศัยหญิงนี้ ตั้งความหวังไว้ผิด ละทิ้งจตุรงคเสนา เสวยทุกข์หนักอยู่ในป่าหิมพานต์นานถึง ๓ ปีทีเดียว” จากนั้นพระพุทธองค์ตรัสเรื่องราวในอดีตว่า

ในภพชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ มีชื่อว่า กาสิกะ เมื่อเติบใหญ่ท่านได้รับการศึกษาที่เมืองตักสิลา หลังจากจบการศึกษาแล้ว กลับมีความคิดที่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป คือปรารถนาจะแสวงหาความสงบให้กับชีวิต จึงออกบวชเป็นฤๅษีอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญธรรมปฏิบัติอยู่ในป่าจนกระทั่งบรรลุอภิญญาสมาบัติ วันหนึ่ง มีเทพผู้มีบุญจุติลงมาจากภพดาวดึงส์ เกิดเป็นเด็กหญิงที่ดอกบัวใกล้อาศรมของพระดาบส เมื่อดอกบัวดอกอื่นร่วงโรย ดอกบัวดอกนั้นก็ยังคงมีกลีบที่สดใสอยู่ตลอดเวลา

เมื่อพระดาบสโพธิสัตว์ลงมาสรงน้ำที่สระแห่งนั้น เห็นดอกบัวนั้นก็เกิดความแปลกใจ จึงเข้าไปดู ได้พบทารกหญิงที่มีหน้าตา และผิวพรรณสวยงามมาก เกิดความรักราวกับทารกนั้นเป็นบุตรในอุทร จึงนำไปเลี้ยงไว้ที่อาศรม จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๑๖ ปี เด็กหญิงได้เติบใหญ่ มีผิวพรรณวรรณะ รูปร่าง หน้าตาสวยงามมาก พระดาบสตั้งชื่อให้นางว่า อาสังกา แปลว่าสงสัย เพราะท่านสงสัยว่าในดอกบัวนั้นมีอะไร จึงตั้งชื่อเช่นนั้น

วันหนึ่ง ท้าวสักกะลงมาจากภพดาวดึงส์ เพื่อมาอุปัฏฐากพระบรมโพธิสัตว์ ได้ทอดพระเนตรเห็นกุมาริกา จึงถามว่า “กุมารีนี้ ควรจะได้อะไรครับ” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “นางเป็นสาวแล้ว ควรจะมีที่พักอันมิดชิด นางควรมีปราสาทแก้วผลึก พร้อมที่หลับที่นอนอันเป็นทิพย์” ท้าวสักกะจึงเนรมิตตามที่พระดาบสต้องการ กุมารีได้อุปัฏฐากพระดาบสผู้บิดาบนปราสาทแก้วผลึกนั้นเอง เมื่อนางต้องการลงจากปราสาทมาที่พื้นดิน ปราสาทจะลอยขึ้นไปบนเวหา ครั้นนางประสงค์จะขึ้น ปราสาทก็จะโน้มลงมา เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว

วันหนึ่ง มีพรานป่าท่องเที่ยวไปในป่าหิมพานต์ พบนางกุมารี จึงถามพระดาบสว่า “เด็กสาวผู้นั้นเป็นใคร” เมื่อรู้ว่าเป็นธิดาของพระดาบส พรานป่ารีบนำเรื่องราวทั้งหมดไปกราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้พบธิดาของพระดาบสในป่าหิมพานต์ มีรูปร่างหน้าตาสวยงามมาก”

พระราชาสดับดังนั้น ทรงสนพระทัย จึงให้พรานป่านำทางไปทันที พระราชาพร้อมด้วยเหล่าจตุรงคเสนาตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พักของพระดาบส จากนั้นพระองค์ได้เข้าไปกราบพระดาบส พลางขอว่า “ข้าแต่พระดาบส ธรรมดาหญิงทั้งหลายเป็นมลทินของพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าขอธิดาของท่านเถิด เพื่อนำไปยังเมืองของข้าพเจ้าและจะเลี้ยงดูอย่างดี” พระโพธิสัตว์ทูลว่า “หากบพิตรรู้ชื่อของนาง ก็เชิญรับนางไปได้เลย” พระราชาตรัสถามว่า “หากพระคุณเจ้าบอก โยมก็คงรู้” แต่พระดาบสตอบว่า “อาตมาภาพไม่บอกหรอก ขอให้ท่านตอบด้วยปัญญาของตนเองเถิด”

พระราชาพยายามขบคิดกับหมู่อำมาตย์ คิดค้นชื่อของนางต่างๆ นานา แต่ตอบไม่ถูกสักข้อ พระราชาทำเช่นนี้ จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๑ ปีเต็ม เหล่าจตุรงคเสนา และตัวของพระองค์เอง ต่างพากันได้รับความลำบากมาก สัตว์ร้ายที่อยู่อาศัยในป่านั้น ตะครุบทั้งช้างม้า และมนุษย์ไปกิน จนกระทั่งร่อยหรอลงตามลำดับ อันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานก็มี

เมื่อคนตายมากขึ้น พระราชาเริ่มได้คิดว่า ไม่รู้จะทนลำบากเพราะผู้หญิงคนนี้ทำไม ทรงเตรียมตัวเดินทางกลับ นางกุมารีปรารถนาจะไปกับพระราชาจึงรีบเปิดหน้าต่างปราสาทปรากฏตัวให้เห็น พลางทูลพระราชาว่า “มหาบพิตร เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีอยู่บนดาวดึงส์ น้ำทิพย์ที่เกิดจากผลของมัน เทวดาดื่มครั้งเดียวเท่านั้นเมาอยู่ถึง ๔ เดือนเต็ม พันปีจึงจะออกผลสักครั้ง เทพบุตรทั้งหลายก็ยังไม่ท้อ มีความหวังตั้งตารอคอย ท่านรอแค่เพียงปีเดียวเท่านั้นท้อแล้วหรือ”

พอพระราชาได้ฟังดังนั้น ทั้งได้เห็นรูปร่างหน้าตาของนาง ก็เกิดใจอ่อน ยอมทนลำบากต่อไปอีก แม้จะต้องทุกข์ทรมานก็ยังทนอยู่เช่นนั้นเพราะกามบีบคั้น ตั้งชื่อแล้วก็ไปบอกพระดาบส พระดาบสก็ตอบว่าไม่ถูกต้อง ทำเช่นนี้ จนเวลาผ่านไปอีก ๑ ปี ก็ไม่สามารถพานางออกจากป่าไปได้

พระราชาได้รับความลำบากเจียนตาย ทรงตั้งพระทัยเดินทางกลับแน่นอน นางกุมารีก็ออกมาปรากฏให้เห็นอีก และพูดกับพระราชาเช่นเดิม พระราชาก็ใจอ่อน ยอมอยู่ป่าต่อไป คิดค้นชื่อของนางจนเวลาผ่านไปอีก ๑ ปี พระราชาทนลำบากเช่นนี้นานถึง ๓ ปีเต็ม สูญเสียทั้งเวลา และไพร่พลมากมายที่ตามเสด็จ พระองค์จึงตั้งใจมั่นว่า อย่างไรก็ตามเราต้องกลับแน่นอน เมื่อนางมาปรากฏให้เห็นจึงทรงตรัสว่า “ท่านให้แต่คำหวานเรา ไม่เห็นเกิดประโยชน์อันใดเลย ตอนนี้กำลังพลเราก็ร่อยหรอ เราสงสัยว่าแม้แต่ตัวเราเองก็คงเอาชีวิตไม่รอด เราจะกลับแน่นอน”

เมื่อพระราชาตรัสเช่นนี้ นางจึงกล่าวว่า “มหาบพิตร ชื่อของดิฉัน อยู่ในคำพูดของพระองค์นั่นแหละ” พระราชารีบไปหาพระดาบสพลางตอบว่า ชื่อของนาง คืออาสังกา พระดาบสจึงอนุญาตว่า “เมื่อท่านรู้ชื่อธิดาเรา ก็สามารถนำนางไปได้” พระราชารีบเข้าไปหานางกุมารี และตรัสว่า “พระดาบสบิดา อนุญาตให้พี่นำเจ้าออกจากป่าหิมพานต์แล้ว” ก่อนที่จะจากไป นางกุมาริกาได้ไปกราบลาบิดาผู้เป็นพระดาบส และได้ออกจากป่าหิมพานต์พร้อมกับพระราชา

ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมานั้น พระราชาต้องพบกับความยากลำบาก และความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เพียงเพราะความใจอ่อน และยอมแพ้ต่อกามกิเลสนั่นเอง ครั้นออกจากป่าแล้วก็กลับไปอยู่เมืองพาราณสี พระดาบสไม่เสื่อมจากฌาน ละโลกแล้วก็ได้ไปเกิดบนพรหมโลก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย้ำว่า “นางกุมารีนั้นได้เกิดเป็นภรรยาเก่าของเธอ ตัวเธอเป็นพระราชาที่ได้รับความลำบากเพราะนาง ส่วนพระดาบสก็คือเรานั่นเอง” หลังจบพระธรรมเทศนา ภิกษุรูปนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคล ทำให้มีจิตหนักแน่น ไม่หวั่นไหวอีกต่อไป

ความหวังเป็นสิ่งที่ดี แต่ความหวังของพระราชาในครั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นักสร้างบารมีพึงหวัง เพราะเป็นความหวังที่เจือด้วยความไม่บริสุทธิ์ ความหวังอย่างนักสร้างบารมีที่อยากให้คนทั้งโลกเข้าถึงพระธรรมกาย อีกทั้งตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย นี้เป็นความหวังที่บริสุทธิ์ หากตั้งความหวังเช่นนี้แล้ว ไม่ควรท้อถอยเป็นอันขาด ต้องทำให้สำเร็จ ชีวิตของเราจึงจะสมหวังแน่นอน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๕๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16588
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *