คิดผิดคิดใหม่ได้ (๔) (พระกุมารกัสสปเถระคลี่คลายปัญหาพระเจ้าปายาสิ ๔)

คิดผิดคิดใหม่ได้ (๔) (พระกุมารกัสสปเถระคลี่คลายปัญหาพระเจ้าปายาสิ ๔)

การใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์นี้ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก หากผู้ใดฉลาดในการใช้ชีวิต และไม่ประมาทในการทำความดี หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำทุกๆ วัน ไม่ให้ขาดแม้แต่วันเดียว การดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ ถือว่าได้กำไรชีวิตจริงๆ คำว่า กำไร หมายถึง การลงทุนนั้นไม่มีการขาดทุน มีแต่ได้กับได้ การทำความดีก็เหมือนกัน เราจะได้บุญเป็นกำไรของชีวิต บุญนั้นเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล เป็นประดุจแก้วสารพัดนึก ควรที่เราจะต้องรีบตักตวง ถ้าเกิดมาแล้วไม่ได้สั่งสมบารมี ชีวิตนี้ก็ยังบกพร่องอยู่ เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ เกิดมาเสียโอกาสสร้างความดี ดังนั้น เมื่อมีโอกาสดีแล้ว ควรต้องทำให้เต็มที่ให้คุ้มค่ากันทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า

” นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง ”

มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดนั้น เป็นภัยร้ายแรงในสังสารวัฏ ถ้าไม่ยอมสละ ละทิ้งออกไปจากใจ ย่อมจะเกิดโทษมากมาย ยิ่งถ้าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว เท่ากับเป็นตอ ใน วัฏฏะ ชีวิตจะไม่มีวันเจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นไปหาผู้รู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เราจึงจะสามารถเข้าใจ และสละทิฏฐิอันไม่ถูกต้องนั้นได้

ดังเช่นพระเจ้าปายาสิที่ได้ยอดกัลยาณมิตรคือพระกุมารกัสสปเถระ ซึ่งใช้วาทะและเหตุผลตอบปัญหาของพระราชาได้ทุกข้อ เพื่อให้พระองค์ยอมสละทิฏฐิความเห็นผิด และดำรงอยู่ในสัมมาทิฏฐิ แต่เนื่องจากมานะของกษัตริย์ คิดว่าตนมีบริวารมากมาย หากจะประกาศว่าความเห็นของตนผิดก็กลัวจะเสียหน้า จึงยังไม่ยอมบอกให้ใครรู้

* พระเถระตระหนักดีว่า พระเจ้าปายาสิเริ่มเกิดความศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่กล้าพูดออกมา จึงเอ่ยทักขึ้นว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ความเห็นของพระองค์นั้นเป็นอันตรายต่อพระองค์ เป็นสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ และเป็นไปเพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน ขอพระองค์ทรงสละความเห็นผิดนั้นเถิด” แม้พระเจ้าปายาสิจะยอมรับพระเถระอยู่ในใจ แต่ทรงสารภาพว่า “ชาวเมืองต่างรู้ว่า โยมมีความเชื่อเช่นนี้ ถ้าโยมประกาศว่าตนเองมีความเชื่อผิด จะให้โยมเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ขอพระคุณเจ้าเห็นใจโยมด้วยเถิด”

เราจะเห็นว่า ภูเขาที่ว่าใหญ่ ยังสามารถทลายให้ราบเรียบเป็นหน้ากลองได้ แต่ทิฐิมานะที่อยู่ในใจนั้น มันเหนียวแน่นมั่นคง ทำลายได้ยากจริงๆ พระเถระจึงยกอุปมาขึ้นมาเล่าถวายว่า “มหาบพิตร มีบุรุษอยู่คนหนึ่ง เลี้ยงสุกรอยู่ที่บ้าน วันหนึ่งเขาได้ออกเดินทางไปหมู่บ้านของเพื่อน เห็นอุจจาระแห้งจำนวนมากในหมู่บ้านนั้น บุรุษคนนั้นคิดว่า อุจจาระของมนุษย์เป็นอาหารชั้นดีของสุกร เขาจึงขนอุจจาระเหล่านี้ไปให้สุกร โดยเอาผ้าปู แล้วโกยคูถแห้งเหล่านั้นใส่บนผ้า จากนั้นได้ผูกเป็นห่อทูนไว้บนศีรษะ แล้วเดินทางกลับบ้าน

ในระหว่างทางเกิดฝนตกหนัก เมื่อก้อนอุจจาระถูกนํ้าฝนก็แปรสภาพเป็นของเหลว ไหลลงมาตามร่างกาย ทำให้เนื้อตัวสกปรกเปรอะเปื้อน เหม็นหึ่งไปทั้งตัว แต่เขาก็ยังคงเดินต่อไป ไม่ยอมทิ้งอุจจาระที่ทูนอยู่บนศีรษะ พวกชาวบ้านเห็นเข้า ต่างคุยกันว่า เจ้าหนุ่มคนนี้สงสัยจะเป็นบ้าไปแล้ว จึงเอาอุจจาระทูนศีรษะอยู่เช่นนั้น เด็กหนุ่มคนนั้นแทนที่จะได้คิด กลับตวาดชาวบ้านว่า พวกท่านต่างหากที่เป็นบ้า ไร้สติปัญญา อุจจาระพวกนี้เป็นอาหารชั้นดีของสุกรเรา พูดจบก็ทูนห่ออุจจาระนั้นเดินต่อไป จนกระทั่งมาถึงบ้าน อุจจาระที่ทูนศีรษะมานั้น ได้ถูกฝนละลายไปหมด ไม่เหลือแม้แต่น้อย ชายผู้โง่เขลานั้นได้แต่ถอนใจ เสียใจที่ต้องเสียเวลาแบกมาตั้งไกล ตัวก็เน่าเหม็น เนื้อตัวก็เปรอะเปื้อน แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”

ทันทีที่พระเถระเล่าจบก็วกมาหาพระราชาว่า “พระองค์ก็เช่นกัน ยังยึดทิฏฐิที่ผิดๆ ไว้ ขอพระองค์จงละมิจฉาทิฏฐินั้นเสียเถิด” แม้พระเจ้าปายาสิจะรู้ว่าตนมีความเห็นผิด พระองค์ก็ยังไม่ยอมสละความเห็นผิดนั้น นี่แหละที่โบราณว่า ทิฏฐิพระ มานะกษัตริย์ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก แต่ใจคนไม่ใช่ไม้ ฉะนั้นไม่ว่าอ่อนไม่ว่าแก่ ดัดได้ทั้งนั้น ถ้าเอาธรรมะเข้าชโลมใจแล้ว ดัดได้ทั้งนั้นแหละ ครั้นพระเถระเห็นพระเจ้าปายาสิ ยังทรงลังเลพระทัยอยู่ จึงเทศนาโปรดต่อไปอีกว่า “มหาบพิตร อาตมามีเรื่องจะเล่าถวาย

* มีชายหนุ่ม ๒ คนเป็นเพื่อนกัน ตกลงกันว่า จะไปท่องเที่ยวต่างเมืองเพื่อแสวงหาโชค เขาทั้งสองพากันออกเดินทางจากบ้านจนไปถึงตำบลหนึ่ง ได้เห็นเปลือกป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย สหายคนหนึ่งจึงพูดชักชวนขึ้นว่า เพื่อนรัก เราช่วยกันถือเปลือกป่านดีๆ นี้คนละมัดเถิด จากนั้นทั้งสองจัดแจงมัดเปลือกป่านไปคนละมัด แล้วเดินทางต่อไป จนกระทั่งไปเห็นด้ายป่านที่ชาวบ้านทิ้งไว้เป็นจำนวนมากในระหว่างทางนั้น

เพื่อนคนเดิมพูดขึ้นว่า เพื่อนรัก ด้ายป่านเขาทิ้งไว้เยอะ เราจะเอาเปลือกป่านไปทำไม ทิ้งของเดิมซึ่งมีค่าน้อยกว่า แล้วช่วยกันขนด้ายป่านไปดีกว่า เพื่อนที่มาด้วยกันกลับไม่คิดเช่นนั้น บอกว่า เราอุตส่าห์แบกมาตั้งไกลแล้ว อีกทั้งมัดไว้อย่างดิบดี เราไม่เอาด้ายป่านหรอก เราเอาเปลือกป่านอันเดิมนี่แหละ พูดแล้วก็ไม่สนใจ ก้มหน้าก้มตาเดินแบกเปลือกป่านต่อไป แม้เพื่อนจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่ฟัง

ทั้งสองเดินไปจนกระทั่งถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง เห็นผ้าป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย เพื่อนคนเดิมก็บอกว่า เราทิ้งสิ่งที่แบกมาเถอะ แล้วขนผ้าป่านไปดีกว่า แต่เพื่อนอีกคนก็ยังยืนยันที่จะแบกเปลือกป่านต่อไป เขาจึงขนผ้าป่านมัดใหญ่ไป จากนั้นพากันเดินทางไปยังตำบลต่างๆ ประสบโชคลาภเห็นสิ่งที่มีค่าเกินควรเกินคาดขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เปลือกไม้โขมะ ด้ายเปลือกไม้โขมะ ผ้าเปลือกไม้โขมะ ลูกฝ้าย ด้ายฝ้าย ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก สำริด เงิน และท้ายที่สุดได้ไปพบทองคำมากมาย สหายคนนั้นจึงบอกเพื่อนรักว่า นี่เพื่อน ทองคำมีค่ามากมาย ราคาก็สูง เราเจอสิ่งที่มีค่ามหาศาลแล้ว อย่าช้าเลย ช่วยกันขนทองคำเหล่านี้กลับบ้านเราดีกว่า

สหายผู้นั้นกลับยืนยันที่จะแบกมัดเปลือกป่านเช่นเดิม เขามองดูทองคำและกล่าวถ้อยคำเดิมว่า เราอุตส่าห์แบกมัดเปลือกป่านมาตั้งไกลแล้ว จะทิ้งก็เสียดาย เราไม่เอาทองคำหรอก เราจะเอาเปลือกป่านอันเดิมนี้แหละ ชายหนุ่มจึงนึกว่า เพื่อนเราคงเสียสติไปแล้ว แม้จะชี้แจงด้วยเหตุผลต่างๆ เพื่อให้เขาทิ้งมัดเปลือกป่าน แล้วนำทองคำกลับบ้าน เขาก็ยืนยันไม่ยอมทิ้งด้วยเหตุผลเดิมนั่นเอง

ครั้นกลับมาถึงบ้าน ชายหนุ่มที่ขนทองคำกลับ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากญาติพี่น้อง ทำให้เขามีความสุขสบายไปตลอดชาติ ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่ง สู้อุตส่าห์แบกเปลือกป่านมาตั้งไกลแสนไกล เมื่อถึงบ้าน กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้ใด แถมยังถูกด่าอีกด้วย การที่มหาบพิตรยึดถือทิฏฐิดั้งเดิมของพระองค์ที่ว่าโลกหน้าไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี ก็เปรียบเหมือนบุรุษโง่เขลาที่แบกเปลือกป่านนั่นแหละ ขอมหาบพิตรละมิจฉาทิฏฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฏฐิเช่นนี้ อย่าได้เกิดมีแก่มหาบพิตรเลย”

พระเจ้าปายาสิทรงได้สติ จึงยอมจำนนต่อเหตุผลของพระเถระ และตรัสว่า “พระคุณเจ้าแสดงธรรมได้ไพเราะแจ่มแจ้งยิ่งนัก ต่อจากนี้ไป โยมขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอให้พระคุณเจ้าจำโยมว่า เป็นอุบาสกจนตลอดชีวิต” ตั้งแต่บัดนั้นมา พระองค์ทรงสละทิฏฐิความเห็นผิด แล้วตั้งใจทำบุญทำทาน ประพฤติธรรมจนตลอดชีวิต อีกทั้งชักชวนชาวเมืองให้อยู่ในศีลในธรรมด้วย เมื่อละโลกแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เราจะเห็นว่า ความเห็นผิดเป็นภัยอันใหญ่หลวง เป็นเหตุให้ต้องไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หากแก้ไขได้ กลับตัวกลับใจใหม่ ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี ปรับความเห็นให้ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ คนเราเมื่อรู้ตัวว่าผิดพลาด หลงผิด แล้วรีบกลับตัว ประพฤติปฏิบัติตนใหม่ ชีวิตก็จะก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง ยิ่งหากได้กัลยาณมิตร ชีวิตย่อมจะปลอดภัยและประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรผู้นำบุญ ชักชวนชาวโลกให้มาเดินในเส้นทางแห่งความดี เส้นทางแห่งบุญกุศล เพราะยังมีชาวโลกอีกมากมาย ที่รอคอยแสงสว่างจากเรา ขอให้ไปทำหน้าที่ผู้ให้แสงสว่างแก่โลกกันต่อไป

* มก. เล่ม ๑๔ หน้า ๓๙๑
* มก. เล่ม ๑๔ หน้า ๓๙ ๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15224
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *