อาจิณณกรรม (พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแห่งเกาะลังกาถวายทานยามยากแด่พระเถระ)

อาจิณณกรรม (พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแห่งเกาะลังกาถวายทานยามยากแด่พระเถระ)

ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ เป็นชีวิตที่เสี่ยงต่อภัยร้ายที่คอยคุกคามเราอยู่ตลอดเวลา หากผู้ใดรู้จักใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าด้วยการสร้างบุญบารมีทุกรูปแบบ ก็จะมีบุญเป็นกำไรชีวิต เพราะบุญเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าอัญมณีใดๆในโลก บุญใสๆ เท่านั้นที่ติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายของทุกๆคน จะคอยส่งผลดีงามให้กับชีวิตของเรา และกีดกันขัดขวางบาปศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้ห่างากตัวเรา ยิ่งเรามีความบริสุทธิ์มาก บุญก็ยิ่งจะส่งผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อุปสรรคต่างๆ ก็จะมลายหายสูญ เพราะฉะนั้นทุกท่านต้องหมั่นรักษาใจให้ผ่องใสอยู่ในกลางกายให้ได้ตลอดเวลา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย มหาวรรค ว่า

“ผลานมิว ปกฺกานํ ปาโต ปตนโต ภยํ
เอวํ ชาตาน มจฺจานํ นิจฺจํ มรณโต ภยํ

ภัยของสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว ย่อมมีเพราะต้องตายแน่นอน เหมือนภัยของผลไม้สุก ย่อมมีเพราะต้องหล่นในยามเช้าฉะนั้น”

การเกิดมาเป็นมนุษย์ เราทุกคนคงจะพอมองเห็นภัยในปัจจุบันนี้ ที่เกิดมาจากบาปอกุศลที่เราทำลงไป แล้วไม่สามารถจะหลีกหนีพ้นผลของกรรมนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นกิเลส อาสวกิเลสบังคับให้เราสร้างกรรม แล้วผลของกรรมคือวิบากที่เราจะต้องได้รับ หากเป็นกรรมดีก็มีวิบากที่ดี หากเป็นกรรมชั่วก็มีวิบากที่ไม่ดี ที่ผ่านมาเราคงพอจะเข้าใจถึงการให้ผลตามลำดับของกรรมในสังสารวัฏ ตั้งแต่ครุกรรมหรือกรรมหนักที่ให้ผลเป็นอันดับแรก รองลงมาก็เป็นอาสันนกรรม คือกรรมที่ทำในเวลาที่ใกล้จะตาย แต่ยังมีกรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่คอยให้ผลเป็นลำดับถัดมารองจากกรรมทั้งสอง หากว่าเราไม่ได้ทำ ครุกรรม และ อาสันนกรรม แล้ว จะมีกรรมชนิดนี้คอยให้ผล และเป็นกรรมที่มีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากทีเดียว กรรมอย่างที่ ๓ นี้เรียกว่า อาจิณณกรรม บางครั้งจะเรียกว่าพหุลกรรม คือกรรมที่ทำสั่งสมไว้บ่อยๆเป็นนิตย์

* กรรมใดที่บุคคลสั่งสมไว้ คือกระทำไว้บ่อยๆ กรรมนั้นชื่อว่า อาจิณณกรรม อุปมาเหมือนหยาดน้ำทีละหยดที่ค่อยๆตกลงในภาชนะ ย่อมจะเติมภาชนะให้เต็มได้สักวันหนึ่ง อาจิณณกรรมก็เช่นกัน หากสั่งสมเป็นประจำสม่ำเสมอจะฝังรากลึกจนเป็นอุปนิสัย เป็นความเคยชิน และติดแน่นอยู่ตรงกลางกายนั่นแหละ อาจิณณกรรมแบ่งเป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ กระทำอกุศลทั้งทางกาย วาจา ใจ พอกพูนแต่สิ่งที่ไม่ดีไว้ในขันธสันดานจนกลายเป็นอุปนิสัย วันไหนถ้าไม่ได้ทำอกุศลแล้วรู้สึกมันหงุดหงิดหัวใจ มองอะไรขวางหูขวางตาไปหมด อย่างนี้เรียกว่า เป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศล

ส่วนผู้ใดที่มีใจใสบริสุทธิ์เป็นปกติ ทำความดีทั้งกาย วาจา ใจ ตักบาตรให้ทานทุกวันไม่เคยขาด รักษาศีลบริสุทธิ์ทุกวัน เจริญภาวนาสม่ำเสมอ กรรมดีนี้จะพอกพูนอยู่ในใจของเรา เป็นดวงบุญติดแน่นอยู่ในศูนย์กลางกาย และก่อให้เกิดอุปนิสัยที่ดีเป็นบุคลิกประจำตัว อย่างนี้เรียกว่า อาจิณณกรรมฝ่ายกุศล แม้การทำบุญในแต่ละครั้งก็มีปีติ หลังจากทำแล้วหวนระลึกถึงในภายหลัง ความปีติยังซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน เมื่อทำบ่อยๆก็ทำให้คุ้นเคยกับความดี มีปีติทุกครั้งที่ทำ อย่างนี้ได้ชื่อว่าอาจิณณกรรมเช่นกัน กุศลและอกุศลจะต่อสู้กันตลอดเวลา ใครมีกำลังมากกว่ากันก็จะให้ผลก่อน เหมือนนักมวยปล้ำสองคนต่อสู้กันบนเวที คนใดมีกำลังมากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ การให้ผลของอาจิณณกรรมทั้งสองฝ่ายก็เช่นกัน ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่าก็จะย่ำยีอีกฝ่ายหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่า แล้วฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าก็ให้ผลเกิดเป็นวิบากทันที

เหมือนเรื่องเล่าที่เคยเกิดขึ้นกับ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ผู้ครองราชย์อยู่ที่เกาะลังกา พระองค์ต้องทำสงครามเพื่อปราบปรามพวกทมิฬ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้รับความพ่ายแพ้ เหล่าจตุรงคเสนาและทหารหาญล้มตายเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงเห็นเหตุการณ์คับขันเช่นนั้น จึงเสด็จขึ้นประทับหลังม้าตัวหนึ่งเสด็จหนีไปพร้อมกับพระพี่เลี้ยงคนสนิทชื่อว่า ติสสอำมาตย์ จนมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งจึงทรงลงพักเหนื่อย เนื่องจากพระวรกายได้รับความบอบช้ำและทรงหิวกระหายเป็นอย่างมาก จึงตรัสถามอำมาตย์ว่าจะทำอย่างไรดี ติสสอำมาตย์เป็นคนรอบคอบจึงทูลตอบว่า “ก่อนจะหนีข้าศึกมาข้าพระองค์ได้นำอาหารใส่ขันทองคำแล้วห่อผ้าไว้ พอที่จะบรรเทาความหิวไปได้” แล้วอำมาตย์ก็แก้ห่อผ้าสาฎกนั้นออก นำเอาอาหารมาถวายพระราชาของตนเพื่อให้พระองค์เสวย

แต่พระราชาทรงเป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย จึงตรัสให้แบ่งโภชนาหารออกเป็น ๓ ส่วน ทำให้ติสสอำมาตย์เกิดความแปลกใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจทูลถามขึ้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ บัดนี้เรามีกันอยู่เพียง ๒ คน เหตุใดพระองค์จึงให้แบ่งอาหารออกเป็น ๓ ส่วน” พระราชาเป็นผู้ให้ทานไม่เคยขาด จึงตรัสตอบว่า “ท่านรู้ไม่ใช่หรือว่า หากเราไม่ได้ถวายอาหารกับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ย่อมจะไม่บริโภคอะไรเลย เราต้องให้ทานก่อนแล้วจึงบริโภคทีหลัง”

อำมาตย์จึงเอ่ยขึ้นว่า “ในป่าอย่างนี้ เราจะหาพระคุณเจ้าได้ที่ไหนกัน” แล้วก็แบ่งอาหารที่มีอยู่นิดหน่อยนั้นออกเป็น ๓ ส่วน ตามพระราชประสงค์ของพระราชา พระราชาก็ตรัสอีกว่า “เมื่อท่านแบ่งเสร็จแล้ว จงอาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าให้เราด้วย” เมื่อตรัสจบก็ทรงหลับพระเนตร มหาอำมาตย์ไม่รู้จะทำอย่างไรดีก็เลยต้องทำตาม จึงเดินเที่ยวตะโกนนิมนต์พระกลางป่าลึก แต่ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะมีพระผ่านทางมาทางนี้

พระโพธิยมาลกติสสมหาเถระ ผู้ทรงคุณวิเศษในบวรพระพุทธศาสนาได้สดับเสียงนั้นด้วยทิพพโสต จึงตรวจดูด้วยญาณแห่งพระอรหันต์ ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงดำริในใจว่าจะไปโปรดพระราชา เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างยิ่ง เมื่อดำริเช่นนี้ จึงเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยฤทธิ์ของพระอรหันต์ มาปรากฏกายต่อพระพักตร์ของพระราชาผู้มีพระหทัยเปี่ยมล้นด้วยความเลื่อมใส เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นพระผู้เป็นเนื้อนาบุญมาปรากฏต่อหน้าเช่นนั้น มหาปีติแผ่ซ่านไปไม่รู้จบ พระองค์ทรงน้อมพระวรกายที่แสนจะอ่อนล้านมัสการพระเถระว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าจงฉันภัตตาหารที่โยมตั้งใจถวายในยามยากนี้ให้หมดด้วยเถิด อย่าเป็นห่วงโยมเลย เพราะโยมนี้ดีใจหนักหนาที่ได้ถวายภัตตาหารมื้อนี้แด่พระเถระ”

มหาอำมาตย์คู่พระทัยเห็นพระราชาตัดใจถวายทานหมดทั้ง ๒ ส่วน ก็เกิดความปีติขึ้นมาเช่นกัน จึงตัดใจถวายส่วนของตนให้กับพระเถระ พระเถระรับบิณฑบาตแล้วกล่าวอนุโมทนากับพระราชาและมหาอำมาตย์ แล้วก็เหาะกลับไปยังมหาวิหาร เมื่อไปถึงก็จัดแจงแบ่งภัตตาหารถวายแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เป็นสังฆทาน เพื่อให้เกิดอานิสงส์ใหญ่แก่พระราชาและมหาอำมาตย์

เมื่อคล้อยหลังพระเถระไป ความหิวที่ถูกปีติท่วมทับไว้ก็แสดงอาการ พระราชาจึงดำริในใจว่า จะทำอย่างไรดีถึงจะได้อาหารมาบรรเทาความหิว พระเถระอยู่ในวิหารทราบความคิดของพระราชา จึงเอาอาหารที่เหลือจากพระภิกษุสงฆ์ใส่บาตรจนเต็ม แล้วอธิษฐานจิตโยนบาตรขึ้นไปบนอากาศ บาตรได้ลอยไปตกลงในพระหัตถ์ของพระราชา ทั้งพระราชาและมหาอำมาตย์บังเกิดมหาปีติอย่างยิ่ง เมื่อเสวยอาหารนั้นจนหมดแล้ว อยากจะตอบแทนพระเถระ จึงนำเอาผ้าสาฎกเนื้อดีใส่ลงไปในบาตร แล้วอธิษฐานจิตของให้บาตรนี้ลอยกลับไปหาพระเถระผู้เป็นเจ้าของบาตร ทรงโยนบาตรขึ้นไปบนอากาศ บาตรนั้นลอยกลับไปหาพระเถระดังเดิม

ต่อมา ภาพแห่งการทำความดีครั้งนั้น ทำให้พระองค์มีความเชื่อมั่นในอานุภาพของบุญเพิ่มมากขึ้น ทรงรักการสร้างบารมียิ่งกว่าเดิม หลังจากรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นแล้ว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงสร้างวัดวาอารามมากมาย ทั้งพระเจดีย์และมหาวิหาร แต่ความประทับใจในการทำความดีในวันนั้นไม่มีวันเลือนหายไปจากใจของพระองค์เลย ภาพตอนที่พระองค์ถวายทานยามยากแด่พระเถระ สิ่งนี้ได้สลักแน่นติดตาตรึงใจอยู่ในความรู้สึกภายใน จนกระทั่งพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยชราตามธรรมดาของสังขาร แม้บรรทมอยู่บนเตียงคนป่วยแต่กลับเป็นคนป่วยที่ดูสดชื่นผ่องใส

ในขณะที่มรณภัยมาเยือน อาจิณณกรรมฝ่ายกุศลก็ดลบันดาลให้พระองค์นึกถึงแต่ความดีที่ทำผ่านมา และดำริอยากจะไปบูชาพระเจดีย์ที่ทรงสร้างไว้ บุญกุศลก็ท่วมท้นขึ้นมาในใจ ตอนใกล้สวรรคต เทวดาหกชั้นฟ้าได้มาทูลเชิญอาราธนาพระองค์ให้ไปอยู่ด้วย พระราชาจึงน้อมนำใจไปอุบัติยังดุสิตสวรรค์ทันที ด้วยหมายใจว่าดุสิตสวรรค์ประเสริฐกว่าทุกชั้นฟ้า เพราะเป็นที่ประทับของพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลจึงส่งผลให้พระองค์มีพระทัยผ่องใส ไปอุบัติในดุสิตสวรรค์

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า อาจิณณกรรมที่เราทำอย่างสม่ำเสมอจะมีผลต่อการเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติทีเดียว สิ่งที่เราทำไว้จนเป็นความคุ้นเคย เป็นความเคยชิน จะมาปรากฏเป็นกรรมารมณ์ก่อนที่เราจะละสังขารร่างกายนี้ไป เมื่อใจคุ้นกับสิ่งใด สิ่งนั้นจะเข้ามามีบทบาทกับรอยต่อของชีวิตก่อนที่เราจะหลับตาลาโลกนี้ ดังนั้นทุกท่านอย่าดูเบา ให้หมั่นสั่งสมอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลไว้ให้ดี ทั้งทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และสร้างบุญบารมีทุกอย่างให้เต็มที่ โดยไม่มีข้อแม้ข้ออ้างเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น เมื่อทำได้อย่างนี้ หลวงพ่อรับประกันว่า เราจะต้องจากไปอย่างผู้มีชัยชนะ จะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปอย่างแน่นอน

* มก. เล่ม ๓๔ หน้า ๑๒๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15133
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *