นิยามหรือผังของสรรพสิ่ง (กรรมนิยาม พีชนิยาม อุตุนิยาม จิตนิยาม ธรรมนิยาม)

นิยามหรือผังของสรรพสิ่ง (กรรมนิยาม พีชนิยาม อุตุนิยาม จิตนิยาม ธรรมนิยาม)

สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ตัวของเรา บุคคลอื่น หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างอยู่บนพื้นฐานของความจริงทั้งสิ้น คือ มีความไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกวินาที และสูญสลายในที่สุด

เพราะฉะนั้น เราควรแสวงหาสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน นำความสุขและความบริสุทธิ์มาให้ ด้วยการปฏิบัติธรรมในหนทางสายกลาง ซึ่งเป็นเอกายนมรรค ทางเอกสายเดียวที่มุ่งตรงต่อพระนิพพาน

มีวาระพระบาลีที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ใน อุปปาทสูตร ความว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ว่าพระตถาคตทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุคือสิ่งที่ทรงตนเองอยู่ได้เอง ความตั้งอยู่โดยธรรมดา ความแน่นอนโดยธรรมดาอันนั้น ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้ว จึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

นิยาม แปลว่า การกำหนดหรือแบบที่แน่นอนลงตัว ทำนองเดียวกับ คำว่า ผังสำเร็จ เป็นแผนผัง หรือแบบแผนแน่นอนตายตัวว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นหรือเป็นไปตามนั้น ความจริงแล้วเราทุกคนมีผังสำเร็จติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่กำหนดให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือจะต้องมีหน้าที่ที่แตกต่างกันเช่นนั้นเช่นนี้ เป็นต้น เราคงจะเคยสงสัยว่า ทำไมต้นไม้จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบแล้ว และเรียกสิ่งนั้นว่า ยีน เป็นตัวกำหนดให้ทุกสรรพสิ่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แตกต่างกันออกไป

ในทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงค้นพบ และนำมาแสดงตั้งแต่สองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว และเรียกสิ่งนั้นว่านิยาม ซึ่งเป็นผังหรือแบบของสรรพสิ่ง วิทยาศาสตร์ยังค้นพบไม่ได้ทั้งหมด ไม่ละเอียดเหมือนพระพุทธศาสนา เพราะทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งนิยามความแน่นอน ซึ่งเป็นแผนผังนั้นมีอยู่ด้วยกันถึง ๕ ประการ คือ ๑.กรรมนิยาม ความแน่นอนของกรรม ๒.อุตุนิยาม ความแน่นอนของฤดูกาล ๓.พีชนิยาม ความแน่นอนของพืช ๔.จิตนิยาม ความแน่นอนของจิต และประการที่ ๕.ธรรมนิยาม ความแน่นอนของธรรม

การให้ผลแห่งกุศลที่น่าปรารถนา และการให้ผลแห่งอกุศลที่ไม่น่าปรารถนา นี้ชื่อกรรมนิยาม แผนผังของกรรม คือ เราทุกคนนั้นมีกรรมเป็นตัวกำหนดให้เป็นผังสำเร็จ ถ้าทำดีผังที่ดีก็จะส่งผลให้เราได้ดี ถ้าทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีก็ตามส่งผลให้เราเช่นกัน เรื่องผังหรือกฎของกรรมนั้นมีจริง ดังตัวอย่างเรื่องต่อไปนี้

* หญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามี คิดจะผูกคอตาย จึงสอดคอเข้าไปในบ่วงเชือก เพื่อนบ้านเห็นนางกำลังผูกคออยู่ จึงคิดจะตัดเชือกช่วยเหลือ รีบวิ่งเข้าไปปลอบนางว่า เธออย่าทำเช่นนั้นเลย แต่ทันใดนั้นเชือกก็กลายเป็นอสรพิษรัดคอนาง เพื่อนบ้านที่คิดจะช่วยเห็นเช่นนั้น ก็เกิดความกลัวรีบวิ่งหนีไป ไม่ทันได้ช่วย นางจึงถูกเชือกรัดคอตาย เพราะเป็นกรรมของนางที่ทำเช่นนี้มาหลายชาติแล้ว แม้มีผู้เห็นอยากจะช่วยเหลือ แต่ต้องมีอันให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ กรรมนิยามเป็นเรื่องว่าด้วยอำนาจแห่งวิบาก เป็นเรื่องที่เราจะประมาทไม่ได้ว่า กรรมที่เราทำแล้วนั้นจะไม่ส่งผลต่อเรา เพราะกรรมที่เราทำไว้ต้องส่งผลอย่างแน่นอน จะขอนำเรื่องมาเล่าเป็นตัวอย่าง ๒-๓ เรื่อง เพื่อจะได้ไม่ประมาท หลงไปทำกรรมที่ไม่ดี

** เรื่องแรก ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา บ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ประตูเมืองสาวัตถีถูกไฟไหม้ ทันใดนั้นกระจุกหญ้าที่เป็นเสวียน ซึ่งกำลังถูกไฟไหม้อยู่ ได้ลอยขึ้นจากบ้านหลังนั้น ขึ้นไปสวมคอกาตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังบินผ่านมาพอดี กาก็ร้องอย่างทุกข์ทรมาน แล้วตกลงมาตาย

เรื่องที่สอง มีเรือลำหนึ่งแล่นไปในมหาสมุทร เมื่อไปถึงกลางมหาสมุทรกลับหยุดแล่นโดยไม่มีสาเหตุ คนบนเรือจึงแจกสลากหาคนกาลกิณี สลากนั้นได้ไปอยู่ในมือของหญิงผู้เป็นภรรยาของกัปตันเรือถึง ๓ ครั้ง คนทั้งหมดจึงพากันพูดว่า “ขอพวกเราอย่าต้องตายกันหมดเพราะหญิงคนเดียว พวกเราควรจับเธอโยนลงไปในทะเลเถิด ทั้งที่กัปตันเรือรักภรรยาของตนมาก แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ได้แต่พูดว่า “เราไม่อาจเห็นภรรยาลอยคอทรมานอยู่ในน้ำได้ ขอให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกติดคอของนางแล้วโยนลงไปเถิด หลังจาก โยนนางลงไปในทะเลแล้ว เรือก็แล่นต่อไปได้ตามปกติ

เรื่องที่สามภิกษุกลุ่มหนึ่งติดอยู่ในถ้ำ เพราะมีก้อนหินใหญ่จากยอดเขากลิ้งลงมาปิดปากถํ้าไว้ แม้พระภิกษุที่อยู่ด้านนอก จะระดมชาวบ้านมาช่วยกันงัดฉุดดึงเอาหินออกอย่างไร ก้อนหินนั้นก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน จนหมดเรี่ยวแรงไปตามๆ กัน แต่ครั้นถึงวันที่เจ็ด ก้อนหินใหญ่นั้นก็กลับกลิ้งออกไปได้เอง

ภิกษุที่ได้เห็นเหตุการณ์ ได้พากันกราบทูลถามเรื่องทั้ง ๓ นี้ กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในพระเชตวัน พระศาสดาตรัสว่า นั่นมิใช่เพราะผู้อื่นกระทำ แต่เป็นกรรมที่เขาได้ทำไว้เองในอดีต เมื่อจะทรงนำเรื่องในอดีตมาแสดง จึงตรัสว่า กาตัวนั้นเคยเกิดเป็นมนุษย์ ตอนนั้นเขาไม่สามารถฝึกโคดื้อตัวหนึ่งได้ จึงทำฟ่อนฟางเป็นวง แล้วสวมคอโค จากนั้นก็จุดไฟ โคถึงแก่ความตายอย่างอนาถ บัดนี้ กรรมนั้นมิได้ละทิ้งกาตัวนั้น แม้จะบินอยู่ในอากาศ ไฟก็ยังลอยขึ้นไปลุกไหม้ได้

ส่วนเรื่องที่สอง หญิงนั้นก็เคยเกิดเป็นหญิงในชาติก่อน ไม่ว่านางจะไปไหนจะมีสุนัขตัวหนึ่งคอยวิ่งติดตาม แม้ห้ามมันวิ่งตาม มันก็ไม่ยอมไปไหน ทำให้เพื่อนๆ หัวเราะเยาะเย้ยนางเป็นประจำว่า นางเป็นพรานสุนัข วันหนึ่งนางตัดสินใจเอาหม้อใส่ทรายผูกคอสุนัขแล้วเหวี่ยงลงไปในน้ำ กรรมนั้นจึงไม่ปล่อย ทำให้นางต้องจมลงในมหาสมุทร เช่นเดียวกับที่นางทำไว้กับสุนัขตัวนั้น

แม้เรื่องที่สาม ภิกษุเหล่านั้นก็เช่นกัน เคยเกิดเป็นเด็กเลี้ยงโค วันหนึ่งพวกเขาพบเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในรู ก็หวังจะจับ เมื่อจับไม่ได้ก็หักกิ่งไม้คนละกำมือมาปิดรู เพื่อหวังจะมาจับในวันรุ่งขึ้น แต่ลืมถึง ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๗ พวกเด็กกลับมาที่เดิมก็จำได้ จึงช่วยกันเอากิ่งไม้ออก เห็นเหี้ยตัวสั่นผอมเหลือแต่กระดูกเดินออกมา จึงสงสารมันพากันพร้อมใจปล่อยมันไป ด้วยกรรมนั้น เหล่าภิกษุจึงถูกขังอยู่ในถํ้าถึง ๗ วัน นี่เป็นตัวอย่างของกรรมนิยาม

สำหรับการที่ต้นไม้ผลิดอกออกผล และมีใบอ่อนพร้อมๆ กันในแต่ละฤดูกาล หรือแม้จะเป็นดอกบัวบานแย้มในยามเช้า กลางคืนหุบ เช่นนี้เป็นต้น นับว่าเป็นอุตุนิยาม คือ เป็นแผนผังของฤดูกาล

การออกผลหรือการมีรสชาติของพืชพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีที่มีผล ก็เพราะเป็นผลมาจากเมล็ด หรืออ้อยมีรสหวานย่อมเป็นผลมาจากน้ำหวาน สะเดามีรสขมย่อมเป็นผลมาจากพืชขม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น หรือดอกทานตะวันจะบ่ายหน้าไปทางพระอาทิตย์ หรือเถาวัลย์เลื้อยไปตามลำต้นของต้นไม้ เช่นนี้เป็นต้น เรียกว่า พีชนิยาม คือ เป็นความแน่นอนของพืชพันธุ์นั่นเอง

จิตนิยาม เป็นเรื่องความแน่นอนของดวงจิต ถ้าจิตเราผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ เราก็จะมีความสุขและความสำเร็จในชีวิต แม้ละโลกไปแล้ว ย่อมมีสุคติภูมิเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใสก็ต้องมีทุคติเป็นที่ไป

ประการสุดท้ายธรรมนิยาม ยกตัวอย่างเช่น ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ หรือออกจากครรภ์ของพระมารดา หรือตรัสรู้อภิสัมมาสัมโพธิญาณ หรือทรงประกาศพระธรรมจักร ทรงปลงอายุสังขาร หรือทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน หมื่นจักรวาลก็จะหวั่นไหว เช่นนี้ชื่อว่า ธรรมนิยาม ดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการปฏิสนธิในพระครรภ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ทรงมีสติเมื่ออยู่ในครรภ์ของพระมารดา”

จะเห็นได้ว่า นิยามความแน่นอนหรือแผนผังของชีวิตนั้น มีอิทธิพลต่อการกำหนดเรื่องราวเหตุการณ์ของทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะกรรมนิยาม หรือผังของกรรม ซึ่งมีผลต่อชีวิตของเรามาก ดังนั้น ให้เราทำแต่กรรมดี สร้างแต่ผังที่ดีดีไว้ ชีวิตของเราจะได้เจริญรุ่งเรือง อีกทั้งผังนี้จะเป็นผังสำเร็จติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ให้เราดำเนินชีวิตอยู่บนหนทางที่ถูกต้องดีงามตลอดไป และจะนำเราไปสู่ความหลุดพ้น พ้นจากผังแห่งความทุกข์ทรมาน ที่ทำให้เรามาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เราจะได้รื้อผังที่ไม่ดีออกไปให้หมดสิ้น แล้วสร้างผังที่ดีดี ด้วยการทำความดี มีใจมุ่งตรงต่อพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขกันทุกคน

* มก. เล่ม ๑๓ หน้า ๑๐๐
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๕๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15128
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *