คนเช่นอสูร คนเช่นเทวดา (ทีมในอุดมคติของหลวงพ่อ คือบุคคลเช่นกับเทวดา และมีคนเช่นกับเทวดาเป็นพวกพ้องบริวาร)

คนเช่นอสูร คนเช่นเทวดา (ทีมในอุดมคติของหลวงพ่อ คือบุคคลเช่นกับเทวดา และมีคนเช่นกับเทวดาเป็นพวกพ้องบริวาร)

การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าสังคม พบปะผู้คน มีการปฏิสันถาร การทำงานร่วมกัน ฉะนั้น การทำงาน การอยู่ร่วมกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจกัน ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจกัน ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว จิตใจก็จะหวั่นไหวเอียงเอน ชีวิตย่อมไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกัน และการที่จะมีความเข้าใจตรงกันได้นั้น ต้องออกมาจากแหล่งเดียว คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อออกมาจากที่ตรงนี้ จะทำให้ความรู้ความเห็นเท่าเทียมทันกัน ชีวิตของการอยู่ร่วมกัน จึงจะเป็นชีวิตที่มีความสุข บริสุทธิ์บริบูรณ์จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อสุรสูตร จตุกกนิบาต ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลก มี ๔ จำพวก คือบุคคลเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับเทวดา มีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร และบุคคลเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของพวกเรา ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้จักจำแนกแยกแยะถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เข้ามามีส่วนในชีวิตของเรา เพราะหากผู้นำหรือผู้เป็นหัวหน้าเป็นคนดีจริง มีศีลธรรม ไว้วางใจได้ แต่บริวารรอบข้างกลับไม่เหมือนหัวหน้า เป็นคนทุศีล มีแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้ ซึ่งการดูคนให้ออกนั้นไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่าย เพราะจิตของมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง ต้องอาศัยประสบการณ์ และปัญญาบริสุทธิ์ที่สั่งสมอบรมมาดีแล้ว พิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน จึงจะตัดสินเรื่องบุคคลได้อย่างถูกต้อง ถ้าเราฉลาดในเรื่องบุคคล การอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะก็จะอยู่กันอย่างผาสุก

* ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลเป็นเช่นอสูร และมีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร ในความหมายนี้ หมายถึงตัวเราไม่ค่อยจะดี และมีพวกพ้องบริวารที่ไม่มีคุณธรรม เป็นคนทุศีล ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ใช้ชีวิตสะเปะสะปะเหมือนสวะลอยน้ำ มีความรู้สึกนึกคิดเพียงแค่ดำรงชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่ได้ทำความดีใดๆ ไม่รู้ว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตเช่นนี้ เป็นชีวิตเช่นเดียวกับอสูร คือ มีความสะดุ้ง หวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์ เพราะไม่ได้ทำความดีใดๆ ประกอบมิจฉาชีพ ลักเล็กขโมยน้อย มีบริวารลูกน้องเป็นขโมยด้วย

กลุ่มคนประเภทนี้ อยู่ที่ไหนย่อมทำความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นที่นั่น ถ้าเป็นผู้บริหารบ้านเมืองก็เป็นพวกคอรัปชั่นกันเป็นทีม ใช้อำนาจในทางที่ผิด เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ได้สนใจที่จะบริหารบ้านเมืองอย่างดี ดังนั้น เราต้องรู้จักเลือกคนดี สนับสนุนคนดี เพื่อเป็นศรีแก่ประเทศชาติ บ้านเมืองของเราจะได้เจริญรุ่งเรือง

อีกประเภทหนึ่งคือ บุคคลเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นเทวดาเป็นบริวารพวกพ้อง นั่นหมายถึงว่า โดยส่วนตัวเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่ดี จึงไม่องอาจกล้าหาญ มีความระแวงอยู่เป็นนิตย์ ขาดความไว้ใจคนรอบข้าง ไม่เห็นคุณค่าของศีลธรรม แต่ในทางตรงกันข้าม พวกพ้องบริวารกลับมองเห็นคุณค่าของการทำความดี เป็นผู้ประพฤติธรรม มีจิตใจที่ผ่องใส สามารถแยกแยะออกว่า สิ่งใดเป็นกุศลควรทำ สิ่งใดเป็นอกุศลธรรมก็เลิกละไป มี เทวธรรม คือ ธรรมะประจำใจของเทวดา ได้แก่ มีหิริความละอายต่อบาปอกุศลทุกชนิด แม้ความคิดที่ไม่ดี ก็ไม่กล้าคิด มีปกติรักคุณงามความดียิ่งกว่าชีวิต และมีโอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาปอกุศล ไม่กล้าที่จะทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย คุณธรรม ๒ ประการนี้เรียกว่า เทวธรรม

มนุษย์ประเภทนี้พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า บุคคลเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร ใครที่ได้ผู้นำเช่นนี้ก็ต้องอดทนกันไป เพราะทำความดีแล้ว แต่ผู้ใหญ่ไม่เห็นความดี บางครั้งอาจถูกกลั่นแกล้ง ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ชักชวนหัวหน้าดำรงชีวิตให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากตัวเราก่อน ทำตัวของเราให้มีธรรมะเป็นอาภรณ์ เหมือนทะเลเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย กัลยาณมิตรต้องเป็นที่รวมของคุณธรรมทั้งหลาย เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวโลก เมื่อเขาเห็นจะได้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติตามเรา การทำเช่นนี้นับว่าเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุด

ส่วนประเภทที่ ๓ คือ บุคคลเช่นกับเทวดา แต่มีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร หมายถึง โดยส่วนตัวของผู้นำเป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ ใครเห็นต่างเกิดความรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เป็นหลักของสังคมประเทศชาติได้ ทุกที่ล้วนต้องการบุคคลเช่นนี้ แต่เนื่องจากพวกพ้องบริวารเป็นเช่นอสูร ไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ไม่มีศีลธรรม สามารถทำความชั่วได้ทุกๆ อย่าง ใครที่ได้พวกพ้องบริวารเช่นนี้ แทนที่จะมีความสุข กลับต้องพบกับปัญหาความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่เสมอ

หากลูกหลวงพ่อเป็นผู้นำ แล้วต้องพบเจอบริวารแบบนี้ ขอให้ใช้ความดีที่มีอยู่หรืออำนาจของผู้นำให้เกิดประโยชน์ ให้เขาได้สร้างความดี ปลูกฝังศีลธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมนุ่มนวล บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เพราะจริตของคนมีหลายประเภท จะฝึกคนต้องให้ถูกกับจริตอัธยาศัย จึงจะเกิดผลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ผู้ที่มีโทสจริต เราต้องใช้เมตตาเข้าหา ใช้คำพูดที่ไพเราะนุ่มนวล ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เป็นไปอย่างละมุนละม่อม ประกอบด้วยเมตตา ถ้าเป็นพุทธิจริต หมายถึง ผู้ที่ชอบแสวงหาความรู้ ก็ต้องชี้แจงด้วยเหตุผลเพื่อให้เขาเห็นความสำคัญในการทำความดี พร้อมกับตอบข้อซักถาม แก้ข้อสงสัยในใจเขาให้ได้

กลุ่มคนประเภทที่ ๔ คือ กลุ่มคนที่หลวงพ่อปรารถนาอย่างมาก เป็นทีมในอุดมคติของหลวงพ่อ คือ บุคคลเช่นกับเทวดา และมีคนเช่นกับเทวดาเป็นพวกพ้องบริวาร หมายความว่า ทั้งตนเองและบริวารล้วนมีคุณธรรม บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ประพฤติธรรมเป็นปกติ เป็นเทวดาเดินดินหรือที่เรียกว่า มนุสสเทโว ถ้าได้คนแบบนี้ โลกจะมีแต่คนดีที่สามารถบันดาลความสุขสงบให้เกิดขึ้นแก่โลกได้อย่างแท้จริง เพราะผู้มีศีลธรรมจะเหยียบย่างไปที่ใด ย่อมนำความเจริญ สิ่งที่ดีงาม และความสุขสงบไปสู่ที่นั้น เหมือนฝนนำความชุ่มชื่นมาสู่ปฐพี เหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างให้แก่โลก

ตลอดชีวิตของหลวงพ่อ สร้างคนให้เป็นคนดีมาโดยตลอด ปรารถนาจะสร้างคนดีที่โลกต้องการให้เกิดขึ้นมากๆ มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้มนุษยชาติเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริง ดังนั้น กลุ่มบุคคลเช่นกับเทวดา และมีบริวารเช่นกับเทวดากลุ่มนี้ หลวงพ่ออยากให้ช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้นมามากๆ เราจะมาเริ่มต้นสร้างคนดี ให้เป็นมนุสสเทโวกันที่มหาธรรมกายเจดีย์ ที่พวกเราช่วยกันสร้างมาด้วยกัน ให้ไปชักชวนกันมาประพฤติธรรม มาเป็นคนดีที่โลกต้องการ รู้จักเส้นทางแห่งความดี เส้นทางสายกลางที่ทำให้บรรลุสันติสุขภายใน คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เพื่อชี้ชวนให้ชาวโลกมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ อายตนนิพพาน

นี่คือความใฝ่ฝันของหลวงพ่อ ที่จะสร้างโลกแก้วให้บังเกิดขึ้น สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้ หากพวกเราทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร แนะนำให้เขามาสร้างบารมี ชาวโลกจะได้รู้วิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าพวกเราทุกคนสมปรารถนาได้เข้าถึงพระธรรมกาย โลกก็สมปรารถนาเช่นกัน เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้ แล้วชักชวนคนทั้งโลกให้เข้าถึงสันติสุขภายในตามเราไปด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระพุทธองค์ทรงแบ่งกลุ่มสังคมมนุษย์ พร้อมทั้งแจกแจงความแตกต่างของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน การจะนำพาสังคมหรือกลุ่มคนที่แตกต่างกันนี้ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อให้ก้าวไปถึงจุดที่เหมือนกันได้ เราต้องช่วยกันนำศีลธรรมกลับคืนมาสู่โลก โดยเริ่มต้นจากแหล่งเดียวกัน คือ ให้ใจของเราทุกๆ คนมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่ตรงนี้จะทำให้ทุกๆ คนเปลี่ยนจากความต่างมาเป็นความเหมือนกัน แม้ภายนอกจะแตกต่างกัน แต่ภายในจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเราหยุดใจจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ความแตกต่างหลากหลายจะหมดไป ชาวโลกจะเป็นหนึ่งเดียวกัน มีหัวใจเป็นดวงเดียวกัน ที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลก ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงสันติสุขภายใน คือ เข้าถึงพระธรรมกาย ขอให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งกันทุกคน

* มก. เล่ม ๓๕ หน้า ๒๖๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14591
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *