ทำความดี คือหน้าที่หลักของมนุษย์ (ข้ออ้างของธนัญชานิพราหมณ์ ทำให้ประมาทในการประพฤติธรรม)

ทำความดี คือหน้าที่หลักของมนุษย์ (ข้ออ้างของธนัญชานิพราหมณ์ ทำให้ประมาทในการประพฤติธรรม)

สรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ต่างตกอยู่ในสภาพนี้ทั้งนั้น คือ มีความไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกอนุวินาที มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศกว่าใครในภพสาม พระพุทธองค์ยังต้องทอดทิ้งพระวรกายไว้ในโลก แล้วดับขันธปรินิพพานไป ดังนั้นเราต้องหมั่นนึกถึงความตายเสมอ จะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และเร่งขวนขวายสร้างความดีในทุกรูปแบบ สิ่งใดที่ไม่เป็นสาระจะได้ปลดปล่อยวาง ให้จิตใจหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในคน สัตว์ สิ่งของที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา คือ พระรัตนตรัยภายในตัวของเรานั่นเอง ให้พิจารณาปล่อยวางอย่างหนึ่ง เพื่อมุ่งเข้าหาอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาระแก่นสารที่แท้จริงของชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อัปปมาทสูตร ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละกายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริต และการเจริญกายสุจริตนั้น จงละวจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริต และการเจริญวจีสุจริตนั้น จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละมโนทุจริต และการเจริญมโนสุจริตนั้น จงละมิจฉาทิฏฐิ จงเจริญสัมมาทิฏฐิ และอย่าประมาทในการละมิจฉาทิฏฐิ และการเจริญสัมมาทิฏฐินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฏฐิ เจริญสัมมาทิฏฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อมไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า”

พระพุทธองค์ทรงสอนพวกเราให้เป็นผู้ไม่ประมาท ในการทำความดีด้วยกาย วาจา และใจ ให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในโลกนี้ทำความดี ทำความบริสุทธิ์กายวาจาใจให้เต็มที่ เพราะวันเวลาที่ผ่านไป เราไม่สามารถจะเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนดังสายน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วไม่อาจหวนกลับมา ชีวิตเราย่างก้าวไปพร้อมกับกาลเวลาที่ล่วงไป บุคคลผู้ไม่ประมาท ผู้เต็มเปี่ยมด้วยความคิด คำพูด และการกระทำที่สุจริต มีชีวิตที่สมบูรณ์ ก้าวไปพร้อมกับการทำความดีควบคู่กันไปด้วย จะเป็นผู้ที่มีชีวิตเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ทั้งทางโลก และทางธรรม เพราะการทำความดีเป็นภารกิจหน้าที่สำคัญที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ส่วนคนที่มักอ้างว่า ต้องทำภารกิจมากมายจนไม่มีเวลาทำความดี แต่กลับใช้เวลาหมดไปกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ มัวเมาใช้อำนาจหน้าที่ ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม ทำให้เสียโอกาสในการสร้างความดี ดังเรื่องของธนัญชานิพราหมณ์

* ในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตร ได้แนะนำสั่งสอนให้ ธนัญชานิพราหมณ์ ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือให้ขวนขวายในการสร้างบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการประกอบสัมมาอาชีวะ ภายหลังพระสารีบุตรรู้ว่า พราหมณ์ได้ละเลยในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมีข้อแม้ข้ออ้างต่างๆ นานา ยิ่งไปกว่านั้นเขายังแสวงหาทรัพย์ ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น คอรัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง เช่น พระเจ้าแผ่นดินให้เก็บภาษีจากราษฎรตามความเหมาะสม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เขากลับเก็บภาษีมากเกินไป โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน

พระสารีบุตรเห็นว่า พราหมณ์กำลังดำเนินชีวิตผิดพลาด ประพฤติทุจริต ท่านจึงรีบเดินทางไปโปรด หลังจากทักทายปราศรัยกันพอสมควรแล้ว พระสารีบุตรปรารถนาจะตักเตือนพราหมณ์ให้กลับมาทำความดี และประกอบอาชีพในหน้าที่ด้วยความสุจริต จึงถามพราหมณ์ว่า “พราหมณ์ ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”

แทนที่พราหมณ์จะสำนึกรู้สึกตัว กลับตอบแก้ตัวไปว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะประพฤติธรรม เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อข้าพเจ้ามีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ดูแลบุตรภรรยา และข้าทาสบริวารมากมาย นอกจากนี้ ยังต้องทำกิจธุระกับมิตรสหาย ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการ อีกทั้งต้องคอยบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและเทวดาทั้งหลาย แม้ร่างกายของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าก็ต้องคอยเอาใจใส่ไม่ให้เจ็บป่วยไข้ แต่ก็ห้ามไม่ได้ บางครั้งข้าพเจ้าต้องได้รับทุกข์อย่างหนัก เมื่อมีภารกิจหนักเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะเอาเวลาที่ไหนมาทำความดี”

พระสารีบุตรได้ฟังข้ออ้างของพราหมณ์ จึงถามว่า “คนที่ทำความชั่ว เมื่อตายไป เขาย่อมถูกยมบาลเอาตัวไปลงโทษในนรก หากเขาจะขอร้องว่า อย่าลงโทษข้าพเจ้าเลย ที่ข้าพเจ้าละทิ้งความดี มากระทำความชั่วนี้ เพราะต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ต้องรับภาระต่างๆ มากมาย เขาจะเอาเหตุผลนี้มาอ้างเพื่อผ่อนผันโทษได้ไหม”

คำถามของพระสารีบุตร ทำให้พราหมณ์ต้องจนใจตอบว่า “ไม่ได้เลยพระคุณเจ้า แม้ผู้นั้นจะคร่ำครวญอ้างเหตุผลอย่างไร ยมบาลจะต้องลงโทษเขาจนได้” พระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ถ้าหากบิดามารดาช่วยขอร้องยมบาลเองว่า อย่าลงโทษลูกชายของข้าพเจ้าเลย ที่ลูกของข้าพเจ้าไม่มีเวลาทำความดี และพลาดไปทำความชั่ว เพราะต้องเลี้ยงดูข้าพเจ้า และต้องรับภาระหน้าที่ต่างๆ มากมาย บิดามารดาของผู้นั้นจะอ้างกับยมบาลเช่นนี้ได้หรือไม่”

พราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้เลยพระคุณเจ้า แม้บิดามารดาของผู้นั้นจะคร่ำครวญอย่างไร ยมบาลก็จะต้องลงโทษเขาตามหน้าที่” จากนั้นท่านก็ถามถึงเหตุในการอ้างเพื่อทำความชั่ว เพราะบุตรภรรยา และพวกพ้องบริวารว่า จะเอามาอ้างกับยมบาลได้ไหม คำถามนั้นทำให้ธนัญชานิพราหมณ์สำนึกได้ว่า การที่ตนยกเหตุผลต่างๆ มาเป็นข้ออ้าง แล้วละทิ้งการทำความดีนั้น เป็นการดำเนินชีวิตที่ผิดทาง ถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง

เมื่อพระสารีบุตรถามต่อไปอีกว่า “พราหมณ์ ระหว่างคนที่ทำความชั่วเพื่อครอบครัว กับคนที่ทำความดีเพื่อครอบครัว ใครจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ก็ตอบว่า “คนที่ทำความดีย่อมดีกว่าแน่นอน” เมื่อเห็นว่าพราหมณ์มีความเข้าใจถูกต้องแล้ว พระเถระจึงสอนว่า “พราหมณ์ ท่านมีหน้าที่การงานที่ดี สามารถเอาหน้าที่นั้นใช้สร้างความดีได้ เช่น สนองคุณประเทศชาติ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับเป็นทางมาแห่งบุญกุศล และยังสามารถเลี้ยงดูบิดามารดา ข้าทาสบริวารได้โดยไม่ต้องทุจริต นอกจากนี้กิจการทั้งหลายที่ทำไป ถ้าหากยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องดีงามแล้ว ย่อมจะได้รับความเจริญรุ่งเรือง และประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

ธนัญชานิพราหมณ์ตรองตามก็เกิดความปีติ มีกำลังใจที่จะประพฤติธรรม สร้างความดีไปพร้อมกับภารกิจหน้าที่ที่ตนต้องทำ ประกอบสัมมาอาชีวะโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ต่อมาพราหมณ์เกิดป่วยหนัก ได้รับทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยไข้ จึงส่งคนไปนิมนต์พระสารีบุตร ให้มาโปรดก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ครั้นพระเถระมาถึงบ้าน และได้ไต่ถามอาการป่วยไข้แล้ว เพื่อที่จะแสดงคตินิมิต และความพอใจของพราหมณ์เกี่ยวกับภพภูมิที่จะไป ท่านได้ถามเปรียบเทียบไล่ลำดับ ตั้งแต่นรกกับกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ไล่เรื่อยไปจนถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ ตลอดจนถึงพรหมโลกว่า อย่างไหนจะดีกว่ากัน พราหมณ์ฟังแล้วก็บอกว่า มีความพอใจในพรหมโลก ท่านจึงแนะนำให้เจริญพรหมวิหารธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งจนเข้าถึงรูปฌานสมาบัติ และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พราหมณ์ก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลกสมความปรารถนา

เราจะเห็นว่า ถึงวันเวลาล่วงมาแล้วสองพันกว่าปี แต่เหตุผลเดิมๆ อย่างที่ธนัญชานิพราหมณ์เคยอ้าง เพื่อเป็นข้อแม้เงื่อนไขในการทำความดี ทำให้ประมาทในการประพฤติธรรม ก็ยังคงพบเห็นในยุคปัจจุบัน ทั้งตัวของเราเองก็อาจเคยเอาเหตุผลเหล่านี้มาเป็นข้ออ้าง ข้อแม้ หรือเงื่อนไข ทำให้เสียโอกาสในการทำความดี ถ้าเราไม่ทำความดี ความชั่วจะเข้ามาแทรก ทำให้เราก่อบาปอกุศล ซึ่งมีวิบากเป็นผลที่ทุกข์ทรมาน ดังนั้น เราต้องไม่ประมาท และรักในการทำความดี สั่งสมบุญบารมีไปพร้อมๆ กับภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพราะการสั่งสมบุญบารมีเท่านั้น ที่จะนำความสุขความสำเร็จ มาสู่ชีวิตของเรา เมื่อมีบุญบารมีมาก บุญย่อมสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตัวเราได้

เราต้องละชั่ว ทำความดี มีความคิด คำพูด และการกระทำที่สุจริต เลือกทำเฉพาะสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล และทำด้วยความไม่ประมาท ดังนั้น นับตั้งแต่นี้ไป ขอให้เราตั้งใจมั่นว่า จะใช้วันเวลาที่ผ่านไปทุกอนุวินาทีอย่างมีคุณค่า แม้ชีวิตของเรายังมากไปด้วยภารกิจหน้าที่การงาน แต่เราก็จะไม่ละทิ้งการทำความดี เพราะการทำความดี คือทั้งหมดของชีวิตที่สมบูรณ์ เป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเรา ให้ขยันปฏิบัติธรรม ทำใจให้ผ่องใส เราเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ให้ทำงานควบคู่กับการทำใจหยุดนิ่งไปด้วย ไม่ว่าเราจะมีภารกิจมากน้อยเพียงไรก็ตาม เราจะไม่เอาภารกิจเหล่านั้นมาเป็นข้อแม้ข้ออ้าง แล้วเลื่อนเวลาของการปฏิบัติธรรมออกไป ทำให้เราเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรม งานทางใจนั้น เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำภารกิจอันใดก็ตาม เราสามารถฝึกใจให้หยุดนิ่งได้ ขอให้ขยันนั่งธรรมะกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๒๑ หน้า ๓๘๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14589
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *