ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๑) (พรหมทัตกุมารอดีตคนยากถวายขนมกุมมาส)

ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๑) (พรหมทัตกุมารอดีตคนยากถวายขนมกุมมาส)

ความสุขที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมใจ ให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เป็นนิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นสิ่งที่ชาวโลกต่างแสวงหากันมายาวนาน เพราะเป็นความสุขที่เสรี เป็นอิสระในตัวเอง แต่น้อยคนนักที่จะสมปรารถนา เพราะไม่รู้วิธีปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไม่ถูกวิธีก็เข้าไม่ถึง เมื่อเข้าไม่ถึงก็แสวงหาความสุขจากสิ่งอื่นมาทดแทน ที่เรียกว่า สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอิงวัตถุภายนอก คือ เบญจกามคุณ เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ ไม่เป็นอิสระในตัวเอง เป็นความสุขที่คับแคบ มีขอบเขตจำกัด เมื่อแสวงหาสิ่งนี้มาได้แล้ว ก็แสวงหาสิ่งอื่นๆ เรื่อยไปไม่รู้จักพอ ความพอดีและพอใจจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อใจหยุดเท่านั้น ใจหยุดนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จ หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดเป็นทุกสิ่ง ที่เราต้องฝึกฝนทุกวัน เพื่อจะได้เข้าถึงความสุขที่เที่ยงแท้กันทุกคน

มีธรรมภาษิต ที่เทวดากล่าวต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ แม้ว่าของที่ให้จะมีอยู่น้อยก็ตาม ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทานและการรบมีผลเสมอกัน พวกวีรบุรุษแม้มีน้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มีพรรคพวกมากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลของกรรมอยู่ ย่อมให้สิ่งของแม้น้อยได้ เพราะฉะนั้นแล ทายกนั้นย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า”

ทานที่ให้ไว้ดีแล้ว ด้วยจิตที่เลื่อมใสในท่านผู้มีความบริสุทธิ์ มีธรรมกายเป็นทักขิไณยบุคคล ย่อมทำความปรารถนาของบุคคลนั้นให้สำเร็จประโยชน์อย่างเป็นอัศจรรย์ ทานยังมีอานุภาพ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของบุคคลผู้ให้ทาน ให้พลิกผันชีวิตจากมหาทุคตะ คือ บุคคลที่ยากจนที่สุดในโลก กลายมาเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้ จากบุคคลที่อดอยากไม่มีอะไรจะกิน กลายมาเป็นมหาเศรษฐีผู้มีสมบัติเหลือกินเหลือใช้ ได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องก็ได้

การจะวัดว่าบุคคลใดให้มากให้น้อย มีศรัทธามากหรือน้อยกว่ากัน เขาไม่ได้วัดกันเพียงปริมาณของวัตถุที่บริจาค แต่วัดกันตรงที่บุคคลนั้นสามารถขจัดความตระหนี่ออกจากใจได้มากน้อยเพียงใด ทานที่ให้ไปแล้วนั้น เป็นการให้ตามกำลังหรือเต็มกำลัง ความตระหนี่ได้หลุดล่อนออกจากใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าขจัดความตระหนี่ได้มาก กุศลกรรมก็ได้ช่องมาก สามารถดึงดูดสมบัติอัศจรรย์ ทันใช้สร้างบารมีในชาตินี้กันเลยทีเดียว

มีตัวอย่างมากมายที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ถึงผลแห่งการให้ทานว่า สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นอัศจรรย์ ทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยเฉพาะพระบรมโพธิสัตว์ ท่านทรงประพฤติตนบนเส้นทางของการเป็นผู้ให้ ที่เราควรศึกษาและนำมาเป็นต้นแบบ เพราะไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นเศรษฐีหรือเป็นคฤหบดี ท่านก็ให้ทานเสมอมา ท่านถือคติว่า แม่น้ำทุกสายย่อมไม่ดื่มกินน้ำของตัวเอง แต่กลับเป็นประโยชน์ใหญ่ต่อชาวโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้อาบดื่มกิน ให้ความชุ่มฉ่ำแก่พื้นดิน ต้นไม้ที่มีผลดกย่อมไม่กินผลของตนเอง แต่มีไว้เพื่อแจกจ่ายแก่สัตว์ทั้งปวงที่เข้ามาอาศัยร่มเงา ทรัพย์ที่ตัวท่านมีก็เช่นเดียวกัน นอกจากมีไว้ใช้หล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งท่านจะต้องสละออกไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ใหญ่แก่ชาวโลก ด้วยท่านปรารถนาให้โลกนี้เกิดสันติสุขอันไพบูลย์

แม้ในบางชาติ ท่านเกิดเป็นคนขัดสนทรัพย์ แต่ก็ไม่ขัดสนน้ำใจ ยอมอดอาหารมื้อนั้น เพื่อจะได้ให้ทานแก่เนื้อนาบุญที่มายืนอยู่ตรงหน้า ท่านเป็นตัวอย่างนักรบในการรบกับความตระหนี่ได้ดีที่สุด และได้ชัยชนะตลอดมา ท่านได้ย่ำยีความตระหนี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ท่านได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ทานแม้เล็กน้อยที่ท่านได้ถวายด้วยจิตที่เลื่อมใส กลับมีอานุภาพพลิกผันชีวิตจากคนเข็ญใจ ที่มีบ้านพอได้หลับนอน กลายมาเป็นทิพยปราสาท ที่ใหญ่โตมโหฬารในภพชาติต่อไป และผลทานยังเกิดเป็นผังรวยถาวรข้ามชาติ ไม่ต้องเกิดมาเป็นคนยากจนเข็ญใจอีก

* สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภถึงพระนางมัลลิกาเทวี ที่ได้พลิกผันวิถีชีวิตจากลูกสาวชาวบ้านธรรมดา กลายมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะพระนางได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตว่า พระพุทธองค์ก็เคยเกิดเป็นคนยากจนเช่นกัน แต่ได้พลิกผันชีวิตด้วยการทำบุญให้ทานนี่แหละ เรื่องมีอยู่ว่า

ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นคนยากจน เนื่องจากเกิดในชนชั้นล่าง จึงทำให้อดอยากลำบากมากในวัยเด็ก ครั้นเติบใหญ่ได้เข้าไปขอทำงานรับจ้างกับเศรษฐีคนหนึ่ง เพื่อให้ได้อาหารพอประทังชีวิตในแต่ละวัน

วันหนึ่ง มาณพผู้ขัดสนทรัพย์ได้รับเงินค่าจ้าง ก็นำไปซื้อขนมกุมมาสเพื่อเป็นอาหารเช้าของตน ขณะเดินถือขนมมา ท่านเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ พระองค์ กำลังเสด็จบิณฑบาต จึงคิดสอนตัวเองว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศที่เราควรทำบุญกับท่าน เหตุที่เราต้องอดมื้อกินมื้อ อัตคัตขัดสนจนทรัพย์อยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะความตระหนี่ ไม่ยอมให้ทานในปางก่อน อย่ากระนั้นเลย ขณะนี้เนื้อนาบุญมาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ศรัทธาของเราก็มีอยู่ แม้ไทยธรรมคือขนมกุมมาส ๔ ก้อนนี้เล่า ก็มีพร้อมแล้ว เราควรรีบชิงช่วงถวายทานแด่ท่าน ก่อนจะถูกความตระหนี่ช่วงชิงให้พลาดโอกาสบุญไปอีก

เมื่อสอนตัวเองได้เช่นนี้แล้ว แม้จะต้องอดข้าวเช้าไปหนึ่งมื้อ แต่ท่านรู้สึกปีติใจ ที่จะได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเข้าไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ประทับนั่ง พลางกราบเรียนท่านว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีขนมกุมมาสในมือ ๔ ก้อน ข้าพระองค์ขอถวายขนมเหล่านี้แด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย” จากนั้นท่านก็วางขนมกุมมาส ๔ ก้อน ลงในบาตรทั้ง ๔ ใบ หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันภัตตาหารแล้ว ท่านขอพรว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งการถวายขนมกุมมาส ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นลูกคนจน ขอจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย ขอให้การถวายทานครั้งนี้ จงเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณด้วยเถิด”

พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงทำอนุโมทนา อวยพรให้หนุ่มผู้ยากไร้ได้สมปรารถนา จากนั้นทรงเหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะ พระโพธิสัตว์ประคองอัญชลี แล้วยึดเอาปีติที่มีต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ครั้นละโลกไปแล้ว ท่านได้ถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสี พระประยูรญาติได้ถวายพระนามว่า พรหมทัตกุมาร

พระกุมารทรงระลึกชาติได้ เหมือนเห็นเงาหน้าตนเองในกระจกใส พระองค์จึงเป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อเจริญวัยทรงศึกษาศิลปวิทยาทุกอย่าง และได้พระธิดาของพระเจ้าโกศลเป็นอัครมเหสี ครั้นพระบิดาสวรรคต พระกุมารได้เสวยราชสมบัติครองราชย์ทั้งสองเมือง คือ เมืองพาราณสีและเมืองโกศล

ในวันฉัตรมงคล มหาชนต่างพากันตกแต่งบ้านเมืองให้เหมือนเทพนคร เมื่อพระราชาเสด็จตรวจตราดูบ้านเมืองแล้ว ทรงเสด็จขึ้นพระราชบัลลังก์ ได้ทอดพระเนตรพสกนิกรที่พากันยืนเฝ้า ด้านหนึ่งเป็นอำมาตย์ อีกด้านหนึ่งเป็นคฤหบดี มีพราหมณ์คฤหบดีผู้มีสมบัติมากมายคอยห้อมล้อม อีกทั้งที่มือก็ถือเครื่องบรรณาการนานาชนิด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นคณะหญิงฟ้อนรำจำนวน ๑๖,๐๐๐ นาง ปานประหนึ่งเทพอัปสร พระองค์ทรงรู้ซึ้งถึงความมหัศจรรย์แห่งบุญ ที่ตนได้ทำไว้ในชาติที่ผ่านมา

จากเรื่องนี้จะเห็นว่า พระโพธิสัตว์ทรงเป็นตัวอย่าง ในการออกแบบชีวิตของตนเองว่า จะให้ชีวิตในสังสารวัฏดำเนินไปในทิศทางใด อนาคตจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบัน ในเมื่อเราเชื่อว่า ชีวิตหลังความตายไม่ได้สูญ ชาตินี้จึงถือเป็นโอกาสทอง ที่เราจะต้องออกแบบชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่สูงส่งด้วยบุญบารมียิ่งขึ้นไป จะได้ช่วยทั้งตนเองและสรรพสัตว์ ให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยในสังสารวัฏ เช่นเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เรื่องของพระโพธิสัตว์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ครั้งต่อไป เราจะมาติดตามศึกษากันต่อ

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๔๒๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14574
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *