อัธยาศัยของมนุษย์ ๒ (ลักษณะคนมีโทสจริต)

อัธยาศัยของมนุษย์ ๒ (ลักษณะคนมีโทสจริต)

การสร้างบารมี เป็นสิ่งที่นักสร้างบารมีทั้งหลายจะต้องบำเพ็ญกันทุกๆ วัน โดยไม่มีวันว่างเว้นเลย ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมีเรื่อยไป จนกระทั่งถึงอุเบกขาบารมี เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสดีที่สุดในการสร้างบารมี อีกทั้งเรายังเป็นสัมมาทิฏฐิ เข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ จึงได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง สร้างความดีอย่างไม่หยุดยั้ง การเกิดมาอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเกิดมาอย่างมีคุณค่า ได้สร้างบารมีซึ่งเป็นงานแท้จริง สิ่งที่เราควรจะทำควบคู่กันไปกับภารกิจประจำวันคือ หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งไปพร้อมๆ กัน อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว เพื่อเข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง คือ พระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขในธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า

“บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคืองฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียดกระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ แต่เขาเป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณพราหมณ์ และไม่เป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าบุคคลนั้น จุติจากอัตภาพนั้นไปสู่สัมปรายภพ แล้วกลับมาเกิดอีก ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปไม่งาม แต่จะเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความขุ่นมัว ขัดเคืองใจ เมื่อถูกว่านิดหน่อยก็โกรธเคือง ผูกพยาบาท แสดงความโกรธฉุนเฉียว ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เหมือนแผลเก่าที่ถูกไม้ตำ ย่อมทำให้บาดเจ็บและเกิดเป็นแผลใหญ่ได้โดยง่าย คนที่มีอุปนิสัยโทสจริตนั้นก็มักจะเป็นอย่างนี้ จะมีความขัดเคืองใจอยู่เสมอๆ แม้เวลาทำบุญก็มีโทสะ ถึงทรัพย์สมบัติจะเกิดขึ้นมากมาย แต่ตัวเองกลับเป็นคนที่อาภัพรูปสมบัติ”

เมื่อครั้งที่แล้ว ได้นำเรื่องอุปนิสัยของคนมาเล่าให้ได้เรียนรู้กัน เพื่อจะได้ดูคนเป็น บริหารคนให้เหมาะสมกับงาน และเพื่อเป็นการประดับสติปัญญา ขณะเราไปทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ชี้แนะให้เขาเห็นคุณค่าของการสร้างบารมี เราจะได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่อง ได้เล่าไปแล้ว ๒ หัวข้อ คือ ราคจริตและศรัทธาจริต ครั้งนี้จะนำข้อที่เหลือมาเล่าให้ได้ศึกษากันต่อไป เมื่อเข้าใจแล้วจะได้รู้จักแยกแยะคนออก และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

จริตที่ ๓ คือ โทสจริต คนจริตนี้มีข้อสังเกตที่ง่ายมาก หากเราสังเกตทางอิริยาบถ คนโทสจริตจะเป็นคนที่มีอิริยาบถฉับไวไม่นุ่มนวล เวลาเดินก็ลงส้นหนักๆ วางเท้ายกเท้าเร็ว มีอาการที่รีบร้อนเหมือนจะรีบไป การจัดข้าวของก็จะจัดแบบลวกๆ ไม่ประณีต ไม่คำนึงถึงความสวยงาม เอาแค่พอใช้ได้ เวลานอนก็ล้มตัวลงนอนอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกปลุกให้ลุกก็จะผลุนผลันรีบลุกขึ้น มีอาการเหมือนคนสะดุ้งตกใจ ถ้าไม่พอใจก็จะแสดงอาการเคร่งเครียด หน้าตาไม่รับแขก ใครมาซักถามอะไรในตอนนี้ต้องระวังให้ดี เพราะจะได้รับคำตอบด้วยน้ำเสียงที่ไม่รื่นหู เหมือนเอาก้านบัวหลวงแยงเข้าไปในหู หากสังเกตการกระทำ ก็จะพบว่า เวลาทำอะไรจะทำด้วยความรีบร้อน แต่รวดเร็วทันใจ จะทำอะไรท่าทางขึงขังเอาจริงเอาจัง แต่บางครั้งก็สะเพร่า ไม่ค่อยละเอียดลออเท่าที่ควร

หากเราสังเกตการบริโภคขบฉัน คนที่มีโทสจริตมักจะชอบอาหารที่มีรสจัด เวลาบริโภคก็มักจะทำคำข้าวโตๆ รีบร้อนในการรับประทาน หากสังเกตทางทัศนะ เวลาพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็จะแสดงอาการขัดเคืองหงุดหงิดรำคาญ ถ้าหากไม่พอใจก็จะแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของคนโทสจริต คือ จะมีสภาวะอารมณ์ของจิตที่ประกอบไปด้วยโทสะค่อนข้างมาก มักจะโกรธง่ายและชอบผูกโกรธ บางครั้งถ้าควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็จะเกิดการกระทบกระทั่งคนอื่นอย่างรุนแรง หรือกระทบกระเทียบเปรียบเปรยผู้อื่นให้เจ็บใจ บางทีก็ดื้อจนขาดเหตุผล ไม่ค่อยจะยอมใคร ถ้าจะมอบหมายงานให้คนประเภทนี้ หากงานไหนเป็นงานใหญ่ที่ต้องใจเย็นๆ ต้องคิดให้รอบคอบก่อนมอบหมายงาน เพราะจะทำให้งานใหญ่เสียได้

คนที่มีอุปนิสัยโทสจริตนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่องานใหญ่แล้ว สิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงคือ ตัวเราเอง ผู้มีโทสจริต หากพลั้งเผลอไปก่อบาปอกุศลต่อผู้ที่มีคุณธรรมมากกว่าเราแล้ว ก็จะเป็นผลร้ายต่อตัวเราเอง

* เหมือน นางปัญจปาปา ผู้มีบาป ๕ ประการ เป็นหญิงขี้เหร่ มีอวัยวะทั้ง ๕ ประการ คือ มือ เท้า ปาก ตา และจมูกบิดเบี้ยวน่าเกลียด ที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีตชาติ พลาดพลั้งไปทำกิริยาที่ไม่สุภาพต่อผู้ทรงศีล เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตดินเหนียว เพื่อจะใช้ฉาบทากุฏิเสนาสนะ บิณฑบาตผ่านมาหลายแห่งก็ยังไม่พบดินเหนียว จนกระทั่งผ่านบ้านหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งกำลังรวบรวมดินเหนียว เพื่อจะเอาไปใช้งานที่เรือนของตน อยู่พอดี

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นดังนั้น ท่านก็เดินเข้าไปหาพร้อมแสดงกิริยาขอบิณฑบาตดินเหนียว เนื่องจากอุปนิสัยดั้งเดิมของหญิงสาวคนนี้ เป็นคนอารมณ์ร้อนมีโทสะมาก เมื่อเห็นพระเดินมา ก็รู้สึกไม่พอใจ แต่เมื่อถูกขอก็ขัดไม่ได้ จึงถวายท่านไป แต่เวลาถวายแทนที่จะถวายให้ดี กลับเอาก้อนดินเหนียวทุ่มใส่ลงในบาตรของท่าน พร้อมแสดงกิริยาอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ทำตาค้อนท่าน ลมหายใจก็ฟืดฟาด แถมยังกระทืบเท้าต่อหน้าท่านด้วย

ด้วยกรรมที่ทำเช่นนี้ ทำให้นางเกิดเป็นหญิงผู้มีอาการอัปลักษณ์ ๕ ประการ ทั้งมือ เท้า ตา จมูก ปากบิดเบี้ยวหมด พวกหมู่ญาติจึงตั้งชื่อว่า ปัญจปาปา แต่ถึงกระนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายดินเหนียว ทำให้นางเป็นผู้ที่มีผิวพรรณงาม มีสัมผัสที่พิเศษกว่าคนอื่น ใครก็ตามที่ได้จับต้องร่างกายของนางแล้ว จะหลงรักและติดอกติดใจในสัมผัสนั้น ท้ายที่สุดด้วยความเป็นผู้มีผิวที่นุ่มนวล จึงได้เป็นมเหสีของพระราชาถึง ๒ เมืองด้วยกัน หากในวันนั้นนางได้ถวายดินเหนียวด้วยความเคารพ ผลบุญจะทำให้นางสมบูรณ์ด้วยความงาม ๕ อย่าง แทนบาป ๕ อย่าง นี่ก็เป็นเพราะผลของความเป็นผู้มีโทสจริตนั่นเอง

ส่วนจริตที่ ๔ คือ พุทธิจริต คนที่มีจริตนี้มักจะชอบแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ชอบในเรื่องเหตุและผล จะมีอุปนิสัยคล้ายๆ กับคนที่มีโทสจริต แต่ที่ไม่เหมือนกัน คือ ผู้มีพุทธิจริตจะมีธรรมะอันดีงามอยู่ในใจมากมายหลายประการ เช่น โสวจัสสตา คือ ความเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย รับฟังความคิดเห็น และคำแนะนำสั่งสอนที่มีประโยชน์ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ที่อ่อนกว่า หรือไม่ใช่มารดาบิดาก็ตาม หากคำตักเตือนแนะนำนั้น ประกอบด้วยเหตุผลและมีประโยชน์ ทั้งเป็นสิ่งดีงาม ก็จะน้อมรับฟังด้วยความเคารพ และยังมีกัลยาณมิตตตา คือ ความเป็นคนมีปัญญาฉลาด เลือกคบแต่คนดี คบกับนักปราชญ์บัณฑิต ไม่ปรารถนาจะคบกับคนพาล และยังมีโภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการรับและการบริโภค ไม่มีความประมาทในธรรม สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นคนไม่เกียจคร้าน หมั่นประกอบความเพียร รักในการประพฤติปฏิบัติธรรม และเป็นผู้ใคร่ในการฟังธรรม

จริตที่ ๕ คือ โมหจริต คนมีโมหจริตจะเป็นคนที่มีความโลเล ขาดความมั่นใจในตัวเอง เวลาเดินก็มักจะเดินไปด้วยอาการที่เปะปะ คล้ายคนไม่มีจุดหมาย ลักษณะอาการก็เหมือนคนที่เดินขย่มตัว มักชอบเหม่อลอย ยามนอนก็ไม่น่าดู วางไม้วางมือไม่เรียบร้อย เมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้นก็จะอืดอาดชักช้า หากจะสังเกตโดยการกระทำแล้ว เวลาจะทำอะไรก็ไม่เรียบร้อย เหมือนไม่เต็มใจทำ ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง ชอบเออออตามคนอื่น ใครว่าดีก็ว่าดีตามเขาไป ใครว่าไม่ดีก็ว่าไม่ดีตามเขาไป ในใจก็ค่อนข้างสับสน ขี้ระแวงสงสัย ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้

จริตข้อสุดท้าย จริตที่ ๖ คือ วิตกจริต มีลักษณะเหมือนกับพวกโมหจริต จะแตกต่างกันก็คือ คนที่มีวิตกจริต จะกังวลไปทุกเรื่อง ชอบคิดเล็กคิดน้อยไม่รู้จบ คิดมากจนกระทั่งเบียดเบียนตัวเองให้เป็นทุกข์ ใครเป็นอย่างนี้ ให้รีบแก้ไขเสีย

โดยทั่วๆ ไปแล้วจริตของคนเรา มักจะมีหลายๆ อย่างรวมกันในคนๆ เดียว แต่จะมีลักษณะที่เด่นชัดออกมาพอให้เราสังเกตได้ เรื่องนี้ไม่เกินวิสัยที่เราจะทำความเข้าใจได้ แต่หลักใหญ่ที่สำคัญจริงๆ คือ เราต้องรู้จักจริตอัธยาศัยของตัวเองให้ดี ถ้าเราไม่ฉลาดรอบรู้ในเรื่องจิตใจของผู้อื่น อย่างน้อยก็ควรฉลาดในเรื่องจิตใจของตนเอง เราจะได้รู้ทันกิเลส จะได้สำรวมระวัง แก้ไขตัวเองได้ทัน เพื่อให้ใจห่างจากบาปอกุศล แต่เราจะรู้จักตัวเองได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งพบกับตัวตนที่แท้จริงของเรา คือ พระธรรมกายในตัว เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าศึกษาที่สุดก็มีอยู่ในตัวของเราแล้ว ถ้าเรารู้ใจตัวเองได้ก็จะรู้ใจคนอื่นได้ ดังนั้น ให้หมั่นทำใจให้หยุดนิ่ง ให้พบกับธรรมกายซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราให้ได้

* มก. เล่ม ๖๒ หน้า ๕๘๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14571
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *