ไม่มีใครติเตียน (พระราชาประกาศคุณดาบสโพธิ์สัตว์ที่เคยช่วยเหลือชีวิต)

ไม่มีใครติเตียน (พระราชาประกาศคุณพระโพธิ์สัตว์ดาบสที่เคยช่วยเหลือชีวิต)

     การปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดคือการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ รัตนะทั้งสามนี้เป็นสรณะที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงรัตนะทั้งสามนี้ ถ้าเข้าถึงเมื่อไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ที่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ พระรัตนตรัยมีอยู่หลายระดับซ้อนกันเป็นชั้นๆ เข้าไปภายใน ถ้าเราทำใจให้หยุดได้ก็เข้าถึงได้ แต่ถ้าหยุดไม่ได้ก็เข้าไม่ถึง เพราะ “หยุด เป็นตัวสำเร็จ”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ทัฬหธัมมชาดก ว่า
                         “โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ    กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ
                     อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ   เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
     ผู้ใด เมื่อผู้อื่นทำความดีต่อตน ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แล้วรู้คุณของเขา ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ”

     คนที่รู้จักอุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม เช่น ได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ได้ที่พัก ได้อาหาร หรือได้รับความช่วยเหลือเมื่อเกิดความทุกข์ร้อนใจแล้วรู้อุปการคุณ แสดงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีสติปัญญาสามารถมองออกถึงคุณธรรมของผู้อื่น รู้ว่าใครเป็นผู้มีบุญคุณ แล้วพยายามหาทางตอบแทน นั่นแสดงว่าบุคคลผู้นี้สามารถแยกแยะความดี และความชั่วได้อย่างถูกต้องชัดเจน มีความคิด คำพูด และการกระทำที่มีเจตนาบริสุทธิ์  ดังนั้นจึงแสดงออกมาในทางที่ดีและสร้างสรรค์

     ยิ่งถ้าเราหมั่นระลึกถึงความดีของผู้มีพระคุณบ่อยๆ ด้วยความซาบซึ้ง และคอยหาโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณอยู่เสมอ มีความเคารพในการน้อมรับโอวาทของผู้มีคุณธรรม ความดีต่างๆ จะถูกถ่ายทอดเข้ามาสู่ตัวเรา จิตใจของเราจะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความดี การดำเนินชีวิตของเราก็จะพบกับความสุขความเจริญรุ่งเรือง ปรารถนาสิ่งใดย่อมสำเร็จได้โดยง่าย

     * เหมือนดังเรื่องในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มีชื่อว่า ติรีติวัจฉกุมาร เมื่อเติบโตขึ้น ท่านเล่าเรียนศิลปศาสตร์ทุกอย่างในเมืองตักสิลา เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต ท่านเกิดความสลดสังเวชใจ จึงออกบวชเป็นดาบส อาศัยอยู่ในป่าใกล้ชายแดนกรุงพาราณสี มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหาร

     ต่อมาเกิดกบฏขึ้นที่ชายแดน พระเจ้าพาราณสีทรงยกทัพไปปราบ แต่ทรงพ่ายแพ้ในการรบ จึงเสด็จทรงช้างหนีเข้าไปในป่า รอนแรมอยู่ในป่าจนถึงเช้า พบอาศรมของดาบสโพธิสัตว์ จึงเข้าไปขอความช่วยเหลือ ขณะนั้นท่านดาบสไม่อยู่ ได้ออกไปหาอาหาร พระราชาจึงเข้าไปในอาศรมเพื่อหาน้ำดื่มด้วยความกระหายอย่างยิ่ง เพราะทรงเหน็ดเหนื่อยจากการหลบหนีข้าศึกมา

     พระราชาทรงพยายามหาน้ำดื่ม แต่ไม่พบน้ำในอาศรม จึงทรงตรวจดูรอบๆ อาศรม ได้พบบ่อน้ำซึ่งลึกมาก ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ที่จะตักน้ำขึ้นมาได้  แต่ด้วยความกระหายน้ำอย่างยิ่ง จนไม่สามารถที่จะอดทนต่อไปได้ พระองค์จึงไปเอาเชือกที่รัดท้องช้างมา ให้ช้างยืนอยู่ใกล้ปากบ่อน้ำ เอาเชือกผูกที่เท้าช้างแล้วไต่ลงไปในบ่อ ปรากฏว่าเชือกยังยาวไม่พอ ต้องกลับขึ้นมาใหม่ แล้วเอาผ้าสาฎกสำหรับห่ม ต่อเข้ากับปลายเชือกแล้วลงไปอีก เชือกก็ยังยาวไม่พอ ได้เพียงแค่เอาปลายพระบาททั้งสองแตะน้ำเท่านั้น ทรงดำริว่า เราตายอยู่ในบ่อ ยังดีกว่าทนทรมานหิวกระหายอยู่อย่างนี้ จึงตัดสินพระทัยปล่อยพระองค์ให้ตกลงไปในบ่อน้ำ แล้วทรงดื่มน้ำจนพอพระทัย เมื่อไม่สามารถขึ้นจากบ่อน้ำ จึงได้แต่ประทับยืนอยู่ในบ่อน้ำนั้นจนถึงเวลาเย็น

     เมื่อพระโพธิสัตว์กลับจากการหาผลาผล เห็นช้างพระที่นั่ง ก็รู้ทันทีว่าพระราชาเสด็จมา จึงเดินตรงไปที่ปากบ่อ พบพระราชาอยู่ในบ่อน้ำนั้น ท่านรีบพาดบันไดลงไปเพื่อให้พระราชาเสด็จขึ้นมา จากนั้นได้ช่วยนวดพระวรกายของพระองค์ให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก แล้วทาด้วยน้ำมัน บำรุงเลี้ยงด้วยการถวายผลไม้ต่างๆ พระราชาทรงพักอยู่ ๒-๓ วัน ก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทรงเชิญพระโพธิสัตว์ให้มาพำนักในพระราชวัง แต่พระโพธิสัตว์ทูลว่าถ้ามีโอกาสเมื่อใดก็จะไปเข้าเฝ้า จากนั้นพระราชาได้ลากลับพระราชวังในกรุงพาราณสี

     ครึ่งเดือนต่อมา พระโพธิสัตว์ได้เข้าไปในกรุงพาราณสี พักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นก็ออกบิณฑบาตไปถึงประตูวัง พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทางช่องพระแกล จึงเสด็จลงมาจากปราสาท แล้วพาพระดาบสเข้าไปในพระราชวัง ให้นั่งบนราชบัลลังก์ ทรงถวายภัตตาหารรสเลิศแด่พระโพธิสัตว์ แล้วรับสั่งให้สร้างอาศรมในพระราชอุทยานหลวง ทรงถวายเครื่องอัฐบริขารทุกอย่างสำหรับบรรพชิต และจัดให้นายอุทยานเป็นเวรยามคอยดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี

     ตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็พำนักอยู่ในพระราชนิเวศน์ ได้รับความเคารพบูชาและยกย่องสรรเสริญจากพระราชาและคนในพระราชวัง จนมหาอำมาตย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา ต่างพากันไปฟ้องอุปราชว่า พระฤๅษีไม่เห็นมีคุณความดีอะไร แต่ทำไมพระราชากลับให้ความเคารพนับถือยังกับเทพเจ้า อุปราชและพวกอำมาตย์จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้วกล่าวว่า “ดาบสนี้มิได้สำเร็จวิชชาอะไรเลย ทั้งยังไม่ใช่พระสหายของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใดดาบสผู้นี้จึงบริโภคภัตตาหารรสเลิศเช่นเดียวกับพระองค์ และพระองค์ก็ยังทรงให้ความเคารพบูชาดั่งเทวดา”

     พระราชาสดับดังนั้น จึงมีพระประสงค์จะประกาศคุณของพระดาบส ได้ตรัสเรียกพระโอรสมา แล้วถามว่า “เจ้ายังจำได้ไหม ถึงคราวที่พ่อไปปราบกบฏที่ชายแดนแล้วหายไป ๒-๓ วัน”  พระโอรสทูลรับรองว่าทรงจำได้  พระราชาจึงตรัสต่อว่า “ในครั้งนั้นพ่อรอดชีวิตมาได้ก็เพราะอาศัยพระดาบสนี้ เมื่อพระดาบสเป็นผู้ให้ชีวิตพ่อได้กลับมาถึงพระราชวังโดยปลอดภัย แม้พ่อจะให้ราชสมบัติทั้งหมดแก่พระดาบส ก็ไม่อาจตอบแทนพระคุณของพระดาบสได้หมด ลูกจงอุปถัมภ์พระดาบสเช่นเดียวกับที่พ่อทำเถิด พระดาบสเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน ท่านทั้งหลายจงถวายของควรบริโภค และปัจจัยไทยธรรมบูชาแด่พระดาบสเถิด”

     พระราชาทรงประกาศคุณของพระโพธิสัตว์ ประดุจทำพระจันทร์ให้ลอยเด่นบนท้องนภาที่ปราศจากเมฆหมอก คุณของพระดาบสได้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ลาภสักการะมากมายก็เกิดขึ้นแก่พระดาบส แต่ท่านเป็นผู้ไม่ติดในลาภสักการะ คงเป็นผู้มักน้อยสันโดษอย่างยิ่ง ตั้งแต่นั้นมา อุปราชและพวกอำมาตย์รวมทั้งผู้ที่มีความสงสัยเคลือบแคลง ต่างไม่อาจที่จะติเตียนพระดาบสและพระราชาได้ พระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระดาบส ตั้งใจรักษาศีล บำเพ็ญมหาทานบารมี และทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์โดยธรรม ทำให้เกิดสันติสุขอันไพบูลย์

     เราจะเห็นว่า ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที รู้จักบุญคุณของผู้อื่น และหาโอกาสตอบแทน ย่อมได้รับความสุขความเจริญ ผู้อื่นก็ไม่สามารถจะติเตียนได้ คุณธรรมของผู้นั้นจะสูงขึ้น จะมีกำลังใจเข้มแข็ง จิตใจจะเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีต่อทุกๆ คน เพราะมองเห็นคุณความดีของผู้อื่น คุณธรรมทั้งหลายก็จะถ่ายทอดมาสู่ตนเอง ทำให้สามารถรองรับความดีทั้งหมด เหมือนท้องทะเลมหาสมุทรเป็นที่รวมลงของแม่น้ำทุกสาย ดังนั้นให้รักษาคุณธรรมของเราเอาไว้ และหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งทุกๆ วัน เพราะใจหยุดเป็นที่สุดของความดี ให้ขยันปฏิบัติธรรมกันทุกๆ คน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14077
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *