บุคคลผู้ทรงธรรม (ผู้ใดเรียนคาถาแม้บทเดียว แล้วแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม)

บุคคลผู้ทรงธรรม (ผู้ใดเรียนคาถาแม้บทเดียว แล้วแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม)

     ธรรมกาย คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ผู้เข้าถึงพระธรรมกายคือผู้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงเข้าถึงความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า เพราะได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์จึงเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ กลั่นออกมาจากใจที่หยุดอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาพระสัทธรรมอันประเสริฐ ต้องมีจิตใจที่หยุดนิ่ง เข้าถึงความบริสุทธิ์ภายในเช่นเดียวกัน

     หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลิกทรมานพระวรกาย ที่เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยคแล้ว ทรงหันมาปฏิบัติตามหนทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” จนได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงเปล่งอุทานว่า
“ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ”
     “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ชัดธรรมพร้อมทั้งเหตุ”

     พระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของจริง คนจริงเท่านั้นจึงจะคู่ควรกับของจริง หากตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง มีความเพียรไม่ลดละ ปฏิบัติตามพุทธวิธีที่ทรงแนะนำไว้ ย่อมจะรู้แจ้งเห็นจริง หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย จะเข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิต เพราะธรรมะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ลำพังอาศัยการนึกคิดตรึกตรองด้วยปัญญาของปุถุชน ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง

     ดังนั้น ความสงสัย หรือความเคลือบแคลงในธรรมทั้งหลาย จะหมดไปได้ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การมานั่งถกเถียงกัน หรือโต้แย้งในสมมติฐาน วิจารณ์ความคิดเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสรุปด้นเดาเองว่าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการเสียเวลาเปล่า บัณฑิตควรจะพิสูจน์ โดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ให้รู้แจ้งเห็นจริงไปตามความเป็นจริง

     โดยเฉพาะเรื่องธรรมกายนี้เป็นของจริงที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา และมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกๆ คน ควรที่เราจะพิสูจน์ให้เข้าถึง ผู้ที่ไม่รู้จักธรรมกายนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ คือไม่ได้ศึกษา และลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบว่าธรรมกายนั้นมีอยู่จริง อีกพวกหนึ่งเคยศึกษาเล่าเรียนมา แต่ไม่ให้โอกาสตนเองในการลงมือปฏิบัติ จึงไม่รู้จักธรรมกาย เมื่อไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น จึงกล่าวแบบผู้ไม่รู้ไม่เห็นกันไปต่างๆ นานา

     อีกประเภทหนึ่ง คือผู้ที่ลงมือปฏิบัติแล้ว แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ธรรมกายนั้นอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร เมื่อปฏิบัติไม่ถูกวิธีก็เข้าไม่ถึง หรือบางพวกรู้วิธีการหมดแล้ว แต่ขาดความเพียร ไม่ทำให้ต่อเนื่อง จึงไม่รู้จัก และไม่เข้าใจเรื่องธรรมกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต  ธรรมกายนี้เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องรู้ให้ได้ ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้แล้วไม่ปลอดภัย เพราะนี่คือหลักของชีวิตอย่างแท้จริง

     * ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอรหันตเถระองค์หนึ่ง ชื่อพระเอกุทานเถระ ว่าเป็นผู้ทรงธรรมที่แท้จริง เนื่องจากได้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี ทำให้ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หมดความสงสัยในธรรมกาย

     เรื่องมีอยู่ว่า พระเอกุทานเถระ หลังจากศึกษาด้านพระปริยัติแล้ว ท่านได้ปลีกวิเวกเพื่อมุ่งเข้าสู่การปฏิบัติ ท่านสอนตนเองว่า พระธรรมของพระบรมศาสดาจะรู้แจ้งได้ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นได้ด้วยการท่องจำพุทธพจน์แต่อย่างใด

     ท่านจึงไม่ประมาท ทำความเพียรอย่างจริงจัง เมื่อว่างเว้นจากภารกิจของการคณะสงฆ์ จะเข้าไปอาศัยอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งเพียงลำพัง ปกติท่านจะระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์อยู่บทหนึ่ง แล้วท่านมักจะกล่าวสาธยายหัวข้อธรรมบทนี้ เพื่อเตือนสติตนเองเสมอๆ ว่า

     “ความโศกทั้งหลายย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นผู้รู้ ผู้ศึกษาในทางแห่งการปฏิบัติ เพื่อความเป็นผู้รู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น สงบระงับแล้ว มีสติในทุกเมื่อ”

     โดยเฉพาะในวันอุโบสถ พระเอกุทานเถระจะกล่าวหัวข้อธรรมบทนี้เป็นประจำ เหตุอัศจรรย์ก็จะบังเกิดขึ้นทุกครั้ง คือเมื่อพระเถระกล่าวธรรมบทนี้จบลง จะได้ยินเสียงสาธุการของเทวดาที่สิงสถิตอยู่บริเวณนั้น เสียงสาธุการดังกังวานไปทั่วบริเวณ และดังลั่นประหนึ่งว่าแผ่นดินจะทรุดฉะนั้น

     วันหนึ่งในวันอุโบสถ มีพระเถระ ๒ รูปเป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก แตกฉานและเชี่ยวชาญในหัวข้อธรรมต่างๆ ได้พาลูกศิษย์ของท่านจำนวน ๑,๐๐๐ รูป เดินทางมาขอพักอยู่ในราวป่าแห่งนั้นด้วย พระเอกุทานเถระเห็นคณะพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มาถึง ก็ออกมาต้อนรับด้วยความดีใจ และกล่าวว่า “ในวันนี้นับว่าเป็นบุญลาภของกระผม ที่ท่านทั้งหลายมาพำนักในที่นี้ กระผมได้ยินกิตติศัพท์อันดีงามของท่าน ว่าเป็นผู้ชำนาญในพระไตรปิฎก แสดงธรรมได้ลึกซึ้ง วันนี้กระผมใคร่จะขอฟังธรรมของท่านทั้งสอง ขอกราบอาราธนาแสดงธรรม เพื่อเป็นมงคลแก่กระผมด้วยเถิด”

     พระเถระจึงถามพระเอกุทานว่า “แล้วปกติในที่นี้ มีใครมาฟังธรรมกันบ้างล่ะ เพราะสถานที่แห่งนี้อยู่ในป่า ห่างไกลจากบ้านเรือนผู้คน” พระเอกุทานตอบว่า “ปกติธรรมดา ในวันอุโบสถ กระผมมักจะกล่าวธรรมอยู่เพียงบทเดียวตามลำพัง เมื่อกล่าวจบ ก็จะมีเสียงเทวดาทั้งหลายในบริเวณนี้ให้สาธุการ กระผมจึงเข้าใจว่า มีเทวดามาฟังธรรมทุกวันอุโบสถ แต่กระผมเป็นผู้ศึกษาพุทธพจน์มาน้อย จึงกล่าวธรรมที่คล่องปากขึ้นใจได้เพียงบทเดียว” แล้วพระเถระทั้ง ๒ รูป ซึ่งเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกก็ได้แสดงธรรม แต่มิได้ยินเสียงสาธุการของเหล่าเทวาเลย แม้เทวดาตนเดียวก็ไม่ได้ให้สาธุการ
     เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเถระทั้ง ๒ จึงถามพระเอกุทานว่า “เราทั้ง ๒ รูป ได้แสดงธรรมพร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะเป็นเอนกปริยาย แต่ไม่มีเสียงสาธุการของเหล่าเทวดาทั้งหลายในราวป่านี้เลย นี่เป็นเพราะเหตุใดกัน”

     พระเอกุทานตอบว่า “ในวันที่กระผมกล่าวธรรม จะมีเสียงสาธุการของเหล่าเทวดาทุกครั้งไป แต่ในวันนี้มิทราบว่าเป็นด้วยเหตุอันใด” พระเถระทั้ง ๒ รูป จึงได้กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ผู้อาวุโสจงแสดงธรรมแก่พวกเราดูบ้างเถิด” เมื่อได้รับนิมนต์แล้ว ท่านจึงกล่าวแสดงธรรมบนอาสนะ ด้วยธรรมบทเดิมนั่นเอง

     ทันทีที่กล่าวธรรมจบลง เหล่าเทวดาทั้งหลายก็ได้ให้สาธุการด้วยเสียงดังกึกก้อง ประหนึ่งว่าแผ่นดินจะทรุด พระเถระทั้ง ๒ รูป ได้ยินเสียงเทวดาเปล่งสาธุการเช่นนั้น จึงคิดว่า เรานี้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มหาชนทั้งหลายยกย่อง ว่าเป็นผู้แตกฉานและเชี่ยวชาญในพระธรรมอย่างยิ่ง แต่ทำไมเหล่าเทวดาจึงไม่ให้สาธุการแก่พวกเราเลย เป็นเพราะเทวดาลำเอียงใช่หรือไม่หนอ

     พวกสานุศิษย์ของพระเถระทั้งสอง จึงได้กล่าวติเตียนเทวดาทั้งหลายว่า พวกเทวดาให้สาธุการแก่พระเอกุทานเพราะว่าเห็นแก่หน้า ครั้นพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดกลับไปถึงวัดพระเชตวันแล้ว ต่างพากันกราบทูลความนั้นแด่พระบรมศาสดา ทว่ากลับได้รับการตักเตือนจากพระพุทธองค์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมามากหรือพูดมาก ว่าเป็นผู้ทรงธรรม ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้บทเดียว แล้วแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม”

     จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสยกย่องพระเอกุทานว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ทรงธรรมที่แท้จริง เพราะท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสแล้ว ได้ตรัสย้ำอีกว่า “บุคคลไม่ชื่อว่าทรงธรรมเพราะเหตุที่พูดมาก ส่วนบุคคลใดฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยกาย เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม บุคคลนั้นแล เป็นผู้ทรงธรรม”

     เราจะเห็นว่า ลำพังความรู้ในทางปริยัติเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องนำความรู้เหล่านั้นมาปฏิบัติให้ได้ด้วย เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ ถ้าเราเข้าถึงธรรมกายได้เมื่อไร ความสงสัยทั้งปวงก็จะสิ้นไป จากผู้ไม่รู้ ก็จะกลายเป็นผู้รู้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สามารถรู้แจ้งได้ ถ้าทุกคนลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่มีข้อแม้ข้ออ้าง หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะเข้าถึงธรรมกายได้อย่างแน่นอน

     ทุกท่านเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่เกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักวิธีการที่จะทำให้เข้าถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ มุ่งแสวงหาความเป็นผู้รู้แจ้งในธรรมทั้งหลาย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรมอย่างแท้จริง

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๗๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13953
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *