ได้โปรดอภัยเถิด (พระเจ้าเอกราชทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชาผู้ประทุษร้าย)

ได้โปรดอภัยเถิด (พระเจ้าเอกราชทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชาผู้ประทุษร้าย)

     สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข มนุษยชาติต่างปรารถนาให้โลกมีสันติสุข มีการเรียกร้องหาสันติภาพกันทั่วโลก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าสันติภาพภายนอกต้องเริ่มมาจากสันติสุขภายใน แล้วทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงสันติสุขภายในได้ เว้นจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นเลยที่จะทำให้เราได้เข้าถึง และสัมผัสกับสันติสุขที่แท้จริง เมื่อเราปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้ เมื่อนั้นเราจะเข้าถึงแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เมตตาสูตร ความว่า
                         “โย จ เมตฺตํ ภาวยติ      อปฺปมาณํ ปฏิสฺสโต
                     ตนู สํโยชนา โหนฺติ     ปสฺสโต อุปธิกฺขยํ
                     โย น หนติ น ฆาเตติ    น ชินาติ น ชาปเย
                     เมตฺตโส สพฺพภูตานํ     เวรนฺตสฺส น เกนจิ
     ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง ผู้ใดมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์เอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใคร”

     การเจริญเมตตาเป็นประจำ จะทำให้เราได้รับความสุข มีความเย็นกายเย็นใจ อันตรายใดๆ จะไม่มากล้ำกราย การเจริญเมตตามีอานิสงส์มาก ผู้ที่ไม่เคยแผ่เมตตา ก็จะไม่รู้ถึงความอิ่มเอิบเบิกบานใจ ความสุขใจในการแผ่เมตตานั้น เป็นความสุขที่ไร้ขอบเขต จะเกิดกระแสแห่งความบริสุทธิ์ที่มีอานุภาพ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบริสุทธิ์ขึ้น เราจะมีความรัก ความเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณ ผู้ให้ความรักย่อมได้รับความรักตอบ จะทำให้เราเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย

     ท่านผู้รู้จึงกล่าวว่า การเจริญเมตตาประเสริฐกว่าการบูชายัญ การให้ชีวิตให้ความสุขแก่ผู้อื่น ดีกว่าการฆ่าและการเบียดเบียนกัน แม้จะบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์จำนวนมากมาย สิ้นทรัพย์ไปอย่างมหาศาล การบูชายัญทั้งหมดนั้น ก็ยังไม่เทียบเท่าส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่บุคคลเจริญดีแล้ว เปรียบเสมือนหมู่ดวงดาวหมดทั้งท้องฟ้า ก็ไม่อาจเทียบเท่าแสงแห่งจันทร์เพ็ญได้ ดังเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ขณะที่ยังทรงสร้างบารมีอยู่ เรื่องมีอยู่ว่า

     * สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพระราชาในเมืองพาราณสี มีพระนามว่า พระเจ้าเอกราช ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีความห่วงใยต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ได้บริจาคทานในที่ ๖ แห่ง คือ ที่สี่มุมเมือง ในกลางใจเมืองและในพระราชนิเวศน์ทุกวัน ทรงสงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ มีทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยความกรุณา แลดูมหาชนทั้งหลาย ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ประดุจดังบุตรน้อย ผู้เป็นที่รักของพระองค์

     ต่อมาได้มีอำมาตย์ชั่วคนหนึ่ง มีจิตคิดคดก่อกบฏขึ้น พระราชาทรงสอบสวน เมื่อทราบความจริงแล้ว จึงเนรเทศออกจากพระนคร เพราะเกรงว่าคนดีๆ ในบ้านเมืองจะได้รับความเดือดร้อน

     อำมาตย์นั้นได้ออกจากกรุงพาราณสีไปขออาศัยอยู่กับพระเจ้าทัพพเสนะที่แคว้นโกศล ด้วยความที่เป็นคนพาลและมีความแค้นในพระเจ้าเอกราช จึงได้ยุยงพระเจ้าทัพพเสนะว่า “กรุงพาราณสีเป็นเมืองที่มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่พระเจ้าเอกราชเป็นคนอ่อนแอ ควรที่พระองค์จะไปยึดเอาไว้เป็นเมืองขึ้น”

     ครั้งแรกพระเจ้าทัพพเสนะไม่ทรงเชื่อ เพราะเคยทราบว่า พระเจ้าเอกราชมีสติปัญญาเฉียบแหลม มีกองทัพที่แข็งแกร่งและเกรียงไกร จึงลองส่งทหาร โดยให้ปลอมเป็นโจรไปปล้นสดมภ์ชาวเมือง ราชบุรุษของพระเจ้าเอกราชจับโจรได้ แทนที่พระเจ้าเอกราชจะลงโทษ กลับปล่อยตัวไป และยังมอบทรัพย์ให้อีกเพื่อจะได้นำไปทำมาหากิน ตั้งหลักตั้งฐานและกลับตัวกลับใจเป็นคนดีต่อไป

     พระเจ้าทัพพเสนะทรงทราบก็ประหลาดใจ ที่พระเจ้าเอกราชทรงมีจิตใจดีงามเช่นนี้ จึงไม่ปรารถนาจะทำศึกด้วย แต่เพราะได้รับคำยุยงจากอำมาตย์ชั่วบ่อยๆ ก็โอนเอนตาม เนื่องจากจิตมนุษย์โลเลง่าย เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบอน ในที่สุด เมื่อถูกปลุกปั่นหนักเข้า จึงทำตามคำของอำมาตย์ ได้ยกทัพไปหมายจะยึดเอาเมืองพาราณสี

     เมื่อยกทัพมาถึงชายแดน ทหารฝีมือชั้นเยี่ยมของพระเจ้าเอกราชกราบทูลว่า “ขณะนี้มีข้าศึกที่ชายแดน ข้าพระองค์ทั้งหลายจะขออาสาไปจับพระราชาข้าศึกมาลงโทษต่อหน้าพระองค์ พระเจ้าข้า” พระเจ้าเอกราชกำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ จึงทรงคัดค้านว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลาย อย่าให้ชนเหล่านั้นลำบากเพราะเราเลย ใครต้องการจะได้เมืองนี้ ก็จงเข้ามาเอาเถิด เราไม่ปรารถนาจะรบกับใคร” เมื่อกองทัพของศัตรูได้ยกเข้ามาประชิดเมือง เหล่าทหารเอกนั้นพากันกราบทูลเพื่อขอออกรบป้องกันเมืองอีก พระองค์ก็ตรัสห้ามเช่นเดิม ใช่ว่าพระองค์จะกลัวข้าศึก หรือไม่มีฝีมือในการรบ แต่เป็นเพราะพระองค์ไม่ปรารถนาจะทำร้ายผู้ใด ทรงมีจิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาอย่างสุดประมาณ

     ต่อมาเมื่อข้าศึกยกทัพเข้ามาถึงในเมือง พระราชาก็มิได้ต่อต้านแต่อย่างใด จนกระทั่งข้าศึกยกทัพเข้ามายึดพระนคร แล้วจับพระราชาพร้อมกับเหล่าทหารเอกทั้งหลายคุมขังเอาไว้ จากนั้นได้นำไปฝังไว้ในหลุม โดยให้เหลือแต่พระเศียรเท่านั้นที่โผล่จากดิน แต่ไม่ว่าจะได้รับความลำบากเพียงใด พระโพธิสัตว์ก็ยังมีใจเป็นปกติ ไม่มีจิตคิดโกรธเคืองแม้แต่น้อย ทรงมองดูการกระทำของข้าศึก ด้วยดวงตาที่เปี่ยมด้วยความกรุณา ประดุจมารดาดูบุตรน้อยอันเป็นที่รักของตน โดยปราศจากความคิดประทุษร้ายใดๆ ทั้งสิ้น

     เมื่อฝังเสร็จแล้ว พระราชาผู้เป็นศัตรูก็เสด็จกลับไป ส่วนพระเจ้าเอกราชทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชานั้น แล้วเจริญสมาธิ ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาและอำนาจฌานสมาบัติของพระองค์ ดินที่ถมพระองค์อยู่ ก็แหวกออกเป็นช่อง แล้วร่างของพระองค์ก็ลอยขึ้นจากหลุม ประทับนั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์อยู่ในอากาศ

     ทันใดนั้นพระเจ้าทัพพเสนะบังเกิดความเร่าร้อนในพระวรกาย ได้รับทุกขเวทนา จึงส่งเสียงโอดครวญด้วยความทุรนทุรายเหมือนถูกไฟคลอก ไม่สามารถที่จะทรงกายไว้ได้ ได้แต่นอนเกลือกกลิ้งไปมา

     ฝ่ายโหราจารย์ได้ตรวจดูแล้วทูลว่า “เป็นเพราะพระองค์ได้ประทุษร้ายพระราชาผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิดอะไร พระองค์จึงได้มีพระอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า” พระราชาสดับดังนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ปล่อยพระโพธิสัตว์และบริวารทันที เมื่อพวกราชบุรุษไปถึงยังหลุมที่ฝังบุคคลเหล่านั้น ได้เห็นพระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์อยู่กลางอากาศ ต่างตกใจกลัว รีบไปกราบทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงทราบ

     พระเจ้าทัพพเสนะรีบเสด็จไปดูเหตุการณ์นั้นด้วยพระทัยที่สั่นระทึก เมื่อเห็นเหตุการณ์อัศจรรย์เช่นนั้น ก็นึกเลื่อมใส จึงทูลถามไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ถูกโยนไปในหลุมอันขรุขระนี้ พระองค์มิได้แสดงอาการโกรธเคืองแต่อย่างใด ยังคงมีพระฉวีวรรณผ่องใส ทรงมีพระพักตร์ยิ้มแย้มเบิกบาน แต่หม่อมฉันผู้เห็นผิด คิดยึดครองราชสมบัติของพระองค์สิ ถึงจะได้ครอบครองแผ่นดินทั้งสองแว่นแคว้น แต่ทำไมกลับมีแต่ความเร่าร้อนทุรนทุรายใจเป็นยิ่งนัก”

     พระเจ้าเอกราชตรัสว่า “เราไม่มีใจขัดเคืองในท่าน ขันติเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง เราปรารถนาขันติธรรม บัดนี้เราได้ขันติบารมีแล้ว พละกำลังของเราก็กลับมาเหมือนเดิม กิจที่จะพึงทำ เราก็ได้ทำแล้ว คือทั้งการทำทาน รักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนา เราจึงไม่ละฉวีวรรณและกำลังกาย แม้เราจะถูกโยนลงไปในหลุมอันขรุขระ มากไปด้วยทุกข์ แต่เราก็บรรเทาความทุกข์ในหลุมนั้นได้ ด้วยการเจริญเมตตา มีความสุขอยู่ด้วยฌานสมาบัติที่บังเกิดขึ้น เราจึงไม่เป็นผู้เร่าร้อนเช่นท่าน”

     พระเจ้าทัพพเสนะได้ฟังดังนั้น จึงอ้อนวอนขึ้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้โปรดอดโทษให้หม่อมฉันผู้โง่เขลาเถิด ขอพระองค์ทรงครองราชสมบัติดังเดิม หม่อมฉันจะเป็นผู้คอยปกป้องผองภัยให้พระองค์เอง” ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อได้ฌานสมาบัติแล้ว ทรงคลายความยึดมั่นถือมั่นในราชสมบัติ มีปัญญาเห็นว่าการครองราชสมบัติเป็นทางมาแห่งทุกข์ มิใช่หนทางเพื่อความพ้นทุกข์ จึงมอบสมบัติทั้งหลายแก่เหล่ามหาอำมาตย์ แล้วทรงออกผนวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญภาวนาไปจนตลอดชีวิต ละโลกไปแล้วก็ได้เข้าสู่พรหมโลก

     จะเห็นได้ว่า ความเต็มเปี่ยมของชีวิตมิได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง แม้บัณฑิตในกาลก่อนก็ได้สละสิ่งเหล่านี้มาแล้ว ได้สละความสุขอันเล็กน้อย แล้วมุ่งเข้าหาความสุขอันยิ่งใหญ่ นั่นคือสุขอันเกิดจากสมาธิ เป็นความสุขที่คู่กับความบริสุทธิ์ ไม่เจือด้วยกิเลสอันใด เมื่อเราเข้าถึงความสุขอย่างนี้ ก็จะเกิดเมตตาธรรมขึ้นในจิตใจ จนอยากจะแบ่งปันความสุขให้กับคนทั้งโลก มหากรุณาอันยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้นดังเช่นในเรื่องนี้ เมตตาธรรมของพระโพธิสัตว์ ถือเป็นปรมัตถบารมี เพราะเป็นการเจริญเมตตาที่ยอมสละแม้กระทั่งชีวิต ซึ่งยากที่จะหาใครมาเสมอเหมือนพระองค์ได้

     เพราะฉะนั้น เวลาเราถูกประทุษร้ายหรือถูกเบียดเบียน อย่าลืมแผ่เมตตา หัดเป็นผู้ให้อภัยต่อผู้อื่น ให้มีความปรารถนาดีต่อทั้งผู้ที่หวังดี และไม่หวังดีกับเรา แม้ใครจะเข้าใจเราไม่ถูกต้องก็ตาม ใครจะวิพากษ์วิจารณ์เราให้บิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างไรก็ตาม จงอย่าได้ใส่ใจกับถ้อยคำเหล่านั้น ขอให้เรามีจิตใจที่ดีงามหนักแน่น มั่นคงในการทำความดี ไม่หวั่นไหว เหมือนแผ่นดินไม่ยินดียินร้ายต่อของหอมและของเหม็นที่เทลงไปฉันนั้น

* มก. เล่ม ๗๔ หน้า ๕๓๕
 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13932
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *