เราชนะแล้ว (พราหมณ์สองสามีภรรยามีผ้าห่มคลุมกายผืนเดียวผลัดกันไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า)

เราชนะแล้ว (พราหมณ์สองสามีภรรยามีผ้าห่มคลุมกายผืนเดียวผลัดกันไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า)

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบของบุคคลที่สมบูรณ์แล้ว ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตแล้ว ทรงชี้ให้เห็นว่า จุดหมายปลายทางของทุกชีวิต คือการไปสู่อายตนนิพพาน ในระหว่างที่พระพุทธองค์ทรงสร้างบารมี ต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏยาวนาน ทรงเห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ ดังนั้นในภพชาติสุดท้าย ท่านจึงทรงสละราชสมบัติ อันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย มุ่งแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ สู่พระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน พิลารโกสิยชาดก ขุททกนิกาย ว่า
“มจฺเฉรา จ ปมาทา จ    เอวํ ทานํ น ทิยฺยติ
               ปุญฺญํ อากงฺขมาเนน    เทยฺยํ โหติ วิชานตา
     เพราะความตระหนี่และความประมาท คนเราจึงให้ทานไม่ได้ ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานเถิด”

     ความตระหนี่และความประมาท เป็นเหตุทำให้คนเราไม่ยอมให้ทาน เมื่อไม่ให้ก็ไม่ได้บุญ เพราะบุญเกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บุญนั่นเองเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ชีวิตของปุถุชน จนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยเจ้า บุญจะบันดาลให้เราพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม คือเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีโภคทรัพย์สมบัติไว้ใช้สร้างบารมี หล่อเลี้ยงสังขารของตนเองและผู้อื่นอย่างสะดวกสบาย เมื่อเป็นชาวสวรรค์ก็จะมีทิพยสมบัติอันประณีต เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมก็จะได้บรรลุนิพพานสมบัติ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ท่านได้พิจารณาด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมว่า ทานบารมีเป็นบันไดก้าวแรกของการสร้างบารมีทั้งหมด จึงได้เริ่มต้นสร้างมหาทานบารมีก่อน เพราะถ้าหากทานบารมีเต็มเปี่ยม จะทำให้การสร้างบารมีอย่างอื่นทำได้ง่ายสะดวกสบายขึ้น

     ยามใดที่เราพรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ มีศรัทธา พบเนื้อนาบุญ ยามนั้นเราสามารถสร้างบารมีได้สะดวกสบาย แต่ยามใดที่เราไม่มีไทยธรรม หรือโภคทรัพย์สมบัติ แม้จะมีศรัทธา มีเนื้อนาบุญ เราก็ไม่สามารถจะให้ทานได้ กว่าจะสร้างบารมีอื่นๆ ได้แต่ละอย่าง ก็แสนจะลำบาก เพราะฉะนั้นทานบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของนักสร้างบารมี

     * เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มีพราหมณ์สองสามีภรรยาอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี เป็นคนยากไร้ มีสมบัติติดตัวเพียงแค่ผ้านุ่งคนละผืน และผ้าห่มที่ใช้สำหรับคลุมกายเพียงผืนเดียว เวลาจะออกไปนอกบ้านก็ต้องผลัดกันไป

     วันหนึ่งได้มีการประกาศไปทั่วเมืองว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพราหมณ์และพราหมณีได้ยินดังนั้น เกิดจิตยินดีปรารถนาที่จะไปฟังธรรม แต่เนื่องจากทั้งสองมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว ไม่อาจที่จะไปฟังธรรมพร้อมกันได้

     พราหมณ์จึงบอกนางพราหมณีว่า “เธอจงไปฟังพระธรรมในตอนกลางวันเถิด ส่วนเราจะไปฟังธรรมในตอนกลางคืน” ตกกลางคืน พราหมณ์ได้ไปยังสำนักของพระบรมศาสดา เพื่อสดับพระธรรมเทศนา เขาเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีปีติแผ่ซ่านไปทั่วกาย จึงมีความคิดว่า จะถวายผ้าห่มผืนนี้แด่พระบรมศาสดา เพื่อบูชาธรรมพระองค์ แต่ด้วยความกังวลใจว่า ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้แล้ว นางพราหมณีก็จะไม่มีผ้าห่มสำหรับคลุมกายเลย

     ในขณะที่พราหมณ์กำลังคิดว่า จะถวายดีหรือไม่ถวายดีนั้น มัจเฉรจิต คือ ความตระหนี่ได้เกิดขึ้น และครอบงำกุศลจิตของเขาจนหมดสิ้น พราหมณ์จึงไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ที่เกิดขึ้นในใจได้ จนเวลาล่วงปฐมยาม คือผ่านยามต้นไปแล้ว

     ครั้นมัชฌิมยาม พราหมณ์ก็ยังไม่สามารถตัดใจถวายได้ จนล่วงมาถึงปัจฉิมยาม บุญเก่าได้กระตุ้นเตือนให้เขาคิดว่า “ถ้าหากเราไม่สามารถกำจัดความตระหนี่ออกจากใจได้ เราจะพ้นจากความทุกข์อันแสนสาหัสนี้ได้อย่างไร” เมื่อคิดได้ดังนี้จึงตัดใจทันที เขาเข้าไปถวายผ้าแด่พระบรมศาสดา เมื่อคิดจะให้ กระแสบุญก็เกิดขึ้นแล้วในกลางกาย เมื่อตัดใจให้ได้ บุญก็กำจัดความตระหนี่ให้หลุดร่อนออกไป ใจของพราหมณ์ได้ขยายกว้างออกไปอย่างไม่มีประมาณ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความเบิกบาน ไม่อาจจะเก็บความปีตินี้เอาไว้ในใจเพียงคนเดียว จึงได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคล ดังก้องไปทั่วธรรมสภาว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม” แปลว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว

     พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังธรรมอยู่ในที่นั้นด้วย ได้สดับเสียงพราหมณ์ จึงตรัสถามราชบุรุษว่า “ท่านจงถามพราหมณ์ผู้นั้นดูว่า เขาชนะอะไร” เมื่อราชบุรุษไปถาม ก็ได้รับคำตอบว่า “เราชนะใจตนเองแล้ว เพราะได้พยายามตัดใจถวายทานถึง ๓ ครั้ง และในครั้งสุดท้ายนี้เราสามารถเอาชนะความตระหนี่ได้” เมื่อพระราชาทราบความเช่นนั้นแล้วทรงดำริว่า “พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่บุคคลทั้งหลายทำได้โดยยาก” จึงเกิดความเลื่อมใส กระแสบุญจากใจของพราหมณ์แผ่ขยายไปสู่ใจของพระราชา ทำให้พระองค์เกิดความเมตตากรุณา และรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาดกเนื้อดีแก่พราหมณ์ ๑ คู่

     พราหมณ์รับแล้วก็ไม่เก็บไว้เอง ได้น้อมถวายผ้าคู่นั้นแด่พระบรมศาสดาอีก พระราชาทอดพระเนตรเห็น เกิดความปีติ จึงเอาผ้ามาให้พราหมณ์อีก จาก ๒ คู่ เป็น ๔ คู่ ๘ คู่ และ ๑๖ คู่ พราหมณ์ก็ได้นำผ้าเหล่านั้น น้อมถวายเพื่อบูชาธรรมแด่พระพุทธองค์ทั้งหมด

     พระราชาคิดว่า พราหมณ์นี้มีใจใหญ่ได้ถวายทานจนหมด จึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำผ้ากัมพลชั้นเยี่ยม ๒ ผืน มาบูชาธรรมแก่พราหมณ์ ปกติผ้ากัมพลนี้มีแต่พระราชาเท่านั้นที่ทรงใช้ สามัญชนไม่คู่ควรที่จะใช้ แต่พราหมณ์เป็นผู้มีบุญ ได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญอันเลิศ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบัติอันเลิศจึงบังเกิดขึ้น

     พราหมณ์คิดว่า ผ้ากัมพล ๒ ผืนนี้เป็นของสูง คนเช่นเรามิบังอาจที่จะนำมาใช้ จึงได้นำผ้ากัมพลผืนหนึ่งไปขึงเป็นเพดาน ณ ที่บรรทมในพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดา ส่วนอีกผืนหนึ่งได้นำไปขึงเป็นเพดานในที่ฉันของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลก็จำได้ จึงตรัสถามพระบรมศาสดาถึงที่มาของผ้าผืนนี้ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า “พราหมณ์เป็นผู้ถวาย”

     พระราชาทรงนึกชื่นชมพราหมณ์ ที่มีจิตเลื่อมใสในพระบรมศาสดา เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงเลื่อมใส จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์สมบัติแก่พราหมณ์ อย่างละ ๔ คือ ช้าง ๔ เชือก ม้า ๔ ตัว กหาปณะ ๔ พัน บุรุษ ๔ สตรี ๔ ทาสี ๔ และบ้านส่วยอีก ๔ ตำบล

     มหาชนที่อยู่ในธรรมสภา ได้กล่าวขานเรื่องของพราหมณ์ว่า “ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ ในเวลาแค่คืนเดียว พราหมณ์ผู้นี้ได้เปลี่ยนจากคนยากจนเข็ญใจ กลายมาเป็นมหาเศรษฐี ที่มีทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ”  พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสตอบข้อสงสัยของมหาชนว่า เหตุที่พราหมณ์ได้สมบัติถึงเพียงนี้ ก็เพราะว่าเขาได้ทำกรรมอันดีแล้วในเนื้อนาบุญอันเลิศ

     พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าพราหมณ์ตัดใจถวายผ้าผืนนั้นในปฐมยาม เขาจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างละ ๑๖  ถ้าถวายในมัชฌิมยาม เขาจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างละ ๘ แต่เพราะว่าพราหมณ์นั้นเอาชนะความตระหนี่ได้ในปัจฉิมยามใกล้ฟ้าสาง เขาถวายทานช้าไป จึงได้ทรัพย์สมบัติแค่เพียงอย่างละ ๔ ”

     ดังนั้น บุคคลพึงรีบขวนขวายในการทำความดี พึงห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้า อกุศลจะเข้าครอบงำเหมือนอย่างพราหมณ์ อยากจะถวายผ้าแต่ตัดสินใจช้า ความตระหนี่จึงเข้ามาแทรก ทำให้ถวายไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เมื่อจิตเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ทานในที่นั้น ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีล มีผลมาก แต่ทานที่ให้ในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่”

     การชนะใจตนเอง ถือว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจยิ่งกว่าพระราชารบชนะศึกในแว่นแคว้น ถ้าหากเราชนะความตระหนี่ในใจได้ ไม่หวงแหน รู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน ชีวิตเราก็จะมีความสุขในฐานะผู้ให้ โลกก็จะพบกับสันติสุขอันไพบูลย์ เพราะมนุษย์ทุกคนจะมองกันเหมือนญาติ จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่กัน ให้ความรักและความปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง

* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๔
  

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13924
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *