การเจริญมรณานุสติ (ธิดาของนายช่างหูก ตอบคำถามพระบรมศาสดา)

การเจริญมรณานุสติ (ธิดาของนายช่างหูก ตอบคำถามพระบรมศาสดา)

     ชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์ในยามเช้าก็เหือดแห้งหายไปโดยฉับพลัน ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ความเสื่อมสลายคล้ายฟองน้ำ เมื่อเวลาฝนตกหนักมีฝนหนาเม็ด เกิดเป็นฟองน้ำขึ้น แล้วก็แตกสลายไปในชั่วพริบตาเดียว ช่วงเวลาของชีวิตเรานั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียรเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย

มีพระคาถาบทหนึ่งใน ขุททกนิกาย ทสรถชาดก ความว่า
                         “ทหรา จ หิ เย วุฑฺฒา    เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
                     อทฺธา เจว ทลิทฺทา จ    สพฺเพ มจฺจุปรายนา
     ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่และคนฉลาด ทั้งคนจนและคนรวย ล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยูทั้งสิ้น”

     * ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดา ได้เทศนาโปรดชาวเมืองอาฬวี ให้เจริญมรณานุสติว่า “ท่านทั้งหลายจงพิจารณาว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน แต่ความตายเป็นของแน่นอน ตัวเราก็จะต้องตายในที่สุด” ในจำนวนมหาชนที่ฟังธรรมอยู่นั้น มีธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่งได้ตั้งใจปฏิบัติตามพุทธโอวาท ด้วยการเจริญมรณานุสติทุกวัน ไม่ว่านางจะทำภารกิจหรือทำการงานอะไร ก็จะนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ทำอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ปี

     วันหนึ่งพระบรมศาสดา ทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้เห็นกุมาริกานั้นเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่ากุมาริกามีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรม แต่วันนี้นางจะไม่สามารถรอดพ้นจากความตาย เพราะความตายของปุถุชนย่อมมีคติไม่แน่นอน หากนางได้ฟังธรรมในวันนี้ นางจะได้บรรลุธรรม และเมื่อละโลกก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

     ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดนางที่เมืองอาฬวี ฝ่ายกุมาริกา เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จมา ก็เกิดความปีติปราโมทย์ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปฟังธรรม แต่เนื่องจากพ่อของนางได้สั่งให้ทอหูกให้เสร็จเสียก่อน นางจึงต้องรีบทอหูกให้เสร็จตามที่พ่อสั่ง เพื่อจะได้ไปฟังธรรม ชาวเมืองอาฬวีเมื่อถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาแล้ว ต่างยืนรอคอยการอนุโมทนาจากพระองค์ แต่พระองค์กลับประทับนิ่ง ไม่ตรัสอะไรเลย เพราะทรงดำริว่า “เรามาไกลถึง ๓๐ โยชน์เพื่อโปรดกุลธิดาช่างหูก แต่นางยังไม่มา เราจะรอจนกว่านางจะมา”

     ฝ่ายกุมาริกาขณะที่ทอหูกไป ก็นึกถึงแต่พระบรมศาสดา อยากจะฟังธรรมเป็นอย่างยิ่ง หลังจากทอหูกเสร็จแล้ว นางรีบเดินทางมายังที่ฟังธรรม ได้ยืนอยู่ด้านหลังของพุทธบริษัท แลดูพระพุทธองค์ด้วยจิตอันเลื่อมใส นางทราบว่าพระพุทธองค์กำลังรอนางอยู่ จึงรีบเดินเข้าไปในท่ามกลางพุทธบริษัท แล้วก้มลงกราบพระพุทธองค์

     พระองค์ทรงถามกุมาริกาว่า “กุมาริกา เธอมาจากไหน”

     กุมาริกาตอบว่า “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     “เธอจักไป ณ ที่ไหน”  “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     “เธอไม่ทราบหรือ” “ทราบ พระเจ้าข้า”

     “เธอทราบหรือ” “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     เมื่อมหาชนได้ยินธิดาช่างหูกตอบเช่นนี้ ก็นึกว่านางพูดเล่นลิ้นกับพระบรมศาสดา จึงเกิดเสียงฮือฮา วิพากษ์วิจารณ์กัน พระบรมศาสดาทรงรู้ข้อกังขาของมหาชน จึงตรัสถามอีกครั้งว่า “กุมาริกา เมื่อเราถามว่าเธอมาจากไหน ทำไมถึงตอบว่า ไม่ทราบ” กุมาริกาจึงทูลว่า “พระองค์ย่อมทรงทราบว่า หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก แต่ที่พระองค์ตรัสถามนั้น ย่อมประสงค์ว่า ก่อนมาเกิดหม่อมฉันมาจากที่ใด แต่หม่อมฉันไม่ทราบว่าตนเองเกิดมาจากไหน จึงตอบว่าไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     พระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่กุมาริกานั้นว่า “ดีละๆ เธอตอบได้ถูกแล้ว” จากนั้นจึงตรัสถามข้อต่อไป “เมื่อเราถามว่าเธอจะไปไหน ทำไมจึงตอบว่า ไม่ทราบ” “พระองค์ทรงทราบ หม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังเรือนช่างหูก พระองค์ย่อมประสงค์ถามว่า หม่อมฉันจากโลกนี้ไปแล้ว จะเกิดในที่ใด ก็หม่อมฉันไม่ทราบว่า ตายแล้วจะไปเกิดในที่แห่งใด จึงตอบว่าไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     พระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ แล้วตรัสถามต่อไปว่า “ที่เราถามว่าเธอไม่ทราบหรือ เพราะเหตุไรจึงตอบว่า ทราบ” “หม่อมฉันทราบว่าตนเองจะต้องตายแน่นอน ไม่สามารถรอดพ้นความตายไปได้ จึงกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

     แม้ครั้งที่ ๓ พระบรมศาสดาทรงประทานสาธุการแก่นาง แล้วตรัสถามถึงข้อต่อไปว่า “ที่เราถามว่าเธอทราบหรือ ทำไมถึงตอบว่า ไม่ทราบ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันย่อมทราบว่าตนเองต้องตายแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าจะตายในเวลาไหน จึงทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

     แม้ครั้งที่ ๔ พระบรมศาสดาทรงให้สาธุการแก่นางว่า “ตอบได้ถูกต้องแล้ว เธอแก้ปัญหาที่เราถามได้ถูกแล้ว” จากนั้นได้ตรัสเตือนพุทธบริษัท ให้หมั่นเจริญมรณานุสติ นึกถึงความตายเนืองๆ จะได้ไม่ประมาทในวัยและชีวิต แล้วให้เร่งรีบสั่งสมความดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร จึงตรัสเตือนให้หมั่นทำความเพียรว่า “พึงรีบทำความเพียรในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนต่อมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย”

     เมื่อจบพระธรรมเทศนา มหาชนได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นจำนวนมาก ต่างขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ส่วนกุมาริกาได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จากนั้นนางได้ถวายบังคมลาพระบรมศาสดา

     ฝ่ายบิดาของนางกำลังนั่งหลับอยู่ เมื่อนางไปถึงโรงทอผ้าแล้ว ก็ได้น้อมกระเช้าด้ายหลอดส่งให้บิดา กระเช้าด้ายหลอดกระทบที่ฟืม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องทอผ้า ทำให้เกิดเสียงดัง บิดาตกใจ จึงเผลอไปกระตุกฟืมอย่างแรง ปลายฟืมกระแทกหน้าอกของนาง ทำให้นางเสียชีวิตในทันที และได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

     ดังนั้น การเจริญมรณานุสติ หมั่นระลึกนึกถึงความตายบ่อยๆ จึงมีอานิสงส์มาก นึกถึงแล้วเราจะได้ไม่ประมาทในชีวิต จะได้ตั้งใจทำความดีสร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงเวลาจะละโลก เราจะไม่กลัว ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยที่กำลังเกิดขึ้น เหมือนบุคคลเห็นงูพิษขวางอยู่ข้างหน้าในที่ไกล ก็ตั้งสติได้ สามารถหาไม้เขี่ยให้พ้นออกจากทางไปได้

     เมื่อเราเห็นเห็นโทษเห็นภัยในความแก่ ความเจ็บและความตายแล้ว พึงอย่าได้ประมาท ให้เร่งรีบทำความดี หมั่นเจริญสมาธิภาวนาอย่าได้ขาด ตั้งใจมั่นว่าจะต้องเข้าถึงพระธรรมกายให้ได้

* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๒๔๕
 
 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13904
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *