สู้จนกว่าจะชนะ (ม้าสินธพอาชาไนยชื่อว่า โภชาชานียะ)

สู้จนกว่าจะชนะ (ม้าสินธพอาชาไนยชื่อว่า โภชาชานียะ)

     สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ตาม ตัวของเรา คนอื่น สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดี ต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา ตึกรามบ้านช่อง ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หรือที่ห่างไกลออกไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที ไปสู่ความเสื่อม แล้วก็สูญสลายในที่สุด ไม่มีอะไรที่มั่นคง ล้วนเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเราควรมาแสวงหาของจริงกันดีกว่า ของจริง คือธรรมกายที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นตัวตนที่แท้จริงที่เราสามารถเข้าถึงได้

มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน โภชาชานียชาดก ว่า
     “บัณฑิตในกาลก่อน แม้ถือกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ได้กระทำความเพียรจนได้รับบาดเจ็บเห็นปานนี้ แต่ก็ไม่ละความเพียร ส่วนเธอออกบวชในศาสนานี้ ที่จะนำออกจากทุกข์ได้ เพราะเหตุไรเล่า จึงละความเพียรเสีย”

     มนุษย์ในโลกมีความเพียรพยายาม ที่จะทำงานตามปณิธานที่ตัวเองได้ตั้งเอาไว้ให้สำเร็จลุล่วง ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทุ่มเทสติปัญญา บางท่านถึงกับเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพื่อขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากใจ ซึ่งเป็นงานสำคัญที่ต้องทำด้วยตัวเอง จะทำแทนกันไม่ได้ อีกทั้งต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ จะทำๆ หยุดๆ หรือทำเฉพาะช่วงที่มีเวลาและอารมณ์ก็ไม่ได้ จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถบรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต คือการได้เข้าถึงที่พึ่งภายใน คือพระรัตนตรัย

     * ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีความตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมาตลอด แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า ก็ยังไม่เห็นผลของการปฏิบัติ จึงเกิดความท้อแท้คลายความเพียร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้กระทำความเพียร แม้ถือกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็ยังไม่ละความเพียรเลย” แล้วพระองค์ทรงระลึกชาติหนหลัง นำอดีตชาติในครั้งที่พระองค์ได้บังเกิดเป็นม้าอาชาไนย มาตรัสเล่าให้ภิกษุรูปนั้นฟังว่า

     สมัยนั้น เราถึงความประเสริฐกว่าม้าทั้งหลาย ได้ชื่อว่า โภชาชานียะ มีลักษณะองอาจสง่างาม สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง มีฝีเท้าเร็วประหนึ่งสายฟ้า เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี ได้เป็นม้ามงคลคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชาทรงตั้งเราให้อยู่ในฐานะสหายของพระองค์ ในครั้งนั้นพระราชาได้ให้ข้าวสาลีที่เก็บไว้อย่างดีถึง ๓ ปี มีกลิ่นหอมและมีรสเป็นเลิศ ในภาชนะทองคำมีราคาถึงหนึ่งแสน ที่อยู่ของเรานั้นปูลาดด้วยผ้าอ่อนนุ่ม บนพื้นโปรยด้วยดอกไม้หอม มีม่านผ้ากัมพลแดงที่พระราชาทรงใช้เป็นฉากกั้น บนเพดานมีผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองระยิบระยับ ห้อยพวงดอกไม้หอมนานาชนิด

     กรุงพาราณสีนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงทำให้เป็นที่ปรารถนาของเจ้าเมืองอื่น เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงชราภาพ เจ้าเมืองจากที่ต่างๆ ถึง ๗ พระนครได้ร่วมมือกันบุกเข้าล้อมกรุงพาราณสีเพื่อต้องการจะยึดเมือง แล้วส่งทูตมาเจรจา ให้พระเจ้าพรหมทัตยอมศิโรราบ ไม่เช่นนั้นก็จะยกทัพเข้าตีเมือง

     พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงเรียกเหล่าอำมาตย์มาประชุมกัน เพื่อปรึกษาหารือในการศึกครั้งนี้ อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ให้ส่งแม่ทัพม้าที่มีความสามารถออกไปทำการรบ พระราชาจึงทรงสั่งให้เรียกแม่ทัพม้าเข้ามา ตรัสถามว่า “เธอสามารถรบกับเจ้าเมือง ๗ เมืองได้หรือไม่” แม่ทัพม้ากราบทูลว่า “ถ้าข้าพระองค์ออกทำการรบร่วมกับม้าสินธพอาชาไนย ชื่อโภชาชานียะแล้วล่ะก็ อย่าว่าแต่พระราชา ๗ พระองค์เลย แม้พระราชาทั้งชมพูทวีป ข้าพระองค์ก็จักสามารถรบชนะพระเจ้าข้า” พระเจ้าพรหมทัตทรงวางพระทัย และได้มีพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านแม่ทัพกราบทูล

     เราทะยานออกจากเมืองไปประดุจสายฟ้าแลบ แค่ม้าของข้าศึกเห็นเราก็เกรงกลัวกันแล้ว อีกทั้งความสามารถของแม่ทัพม้าก็เป็นเยี่ยม ทำให้สามารถทำลายกองทัพของเจ้าเมืององค์ที่ ๑ จับเจ้าเมืองเป็นเชลยได้ แล้วพามามอบให้พระราชา และกลับเข้าสู่สนามรบอีก จับเจ้าเมืององค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ ได้เรื่อยไป จนกระทั่งสามารถปราบข้าศึกได้ถึง ๖ เมือง แต่ในขณะที่จับเจ้าเมืององค์ที่ ๖ เราได้รับบาดเจ็บเพราะถูกลูกศรของข้าศึก

     เมื่อแม่ทัพม้ารู้ว่าเราได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงให้นอนอยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง ปลดเกราะเราออกเพื่อจะผูกเกราะให้กับม้าตัวอื่นทำการรบแทน แต่เรารู้ว่าไม่มีม้าตัวใด หรือแม้ม้าทั้งชมพูทวีป ก็ไม่สามารถจะทำลายกองทัพที่ ๗ ซึ่งเป็นทัพที่แข็งแกร่งได้ นั่นหมายถึงว่า ความเพียรที่เราได้กระทำไว้ทั้งหมดก็จะสูญเปล่า และแม่ทัพม้าก็จักต้องตายในสนามรบ พระเจ้าพรหมทัตจะตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู ราชวงศ์ก็จะถึงกาลอวสาน ฉะนั้น ทั้งๆ ที่ยังนอนบาดเจ็บอยู่นั้น เราได้กล่าวกับแม่ทัพว่า

     “ดูก่อนท่านแม่ทัพ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก นอกจากเราแล้ว ม้าตัวอื่นที่จะสามารถรบชนะนั้นย่อมไม่มี เราจะไม่ทำสิ่งที่เราได้เพียรพยายามทำไปแล้วให้เสียหาย ท่านจงพยุงเราลุกขึ้น ผูกเกราะให้เราเถิด” แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า “ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทงแล้ว แม้นอนตะแคงอยู่ข้างเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าม้าทั้งหลาย ดูก่อนแม่ทัพ ท่านจงสวมเกราะให้เราออกรบเถิด”

     แม่ทัพม้าได้ร้องไห้ด้วยความสงสารเรา พยุงเราให้ลุกขึ้น เอาผ้าพันแผลอย่างเรียบร้อย แล้วก็ออกรบอีกครั้ง แม้เราจะได้รับความเจ็บปวดเพราะพิษร้ายของลูกศร แต่เราก็อดทน บุกทะลวงกองทัพหลวงของพระราชาองค์ที่ ๗ จนได้รับชัยชนะ แล้วจับพระราชามาเป็นเชลย เมื่อบรรลุราชกิจก็กลับเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตด้วยความเหนื่อยอ่อน นอนลงที่หน้าพระลานหลวง

     พระราชารีบเสด็จออกมาดูอาการของเรา ทรงมิอาจที่จะกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ เฝ้าแต่โทมนัสคร่ำครวญ เรารู้ว่าพระราชาทรงพิโรธพระราชาทั้ง ๗ จึงทูลว่า“ข้าแต่มหาราชผู้เจริญ พระองค์อย่าได้ฆ่าพระราชาทั้ง ๗ เลย ทรงให้ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วปล่อยไปเถิด อิสริยยศที่จะพึงประทานแก่ข้าพระบาท ขอทรงมอบให้ท่านแม่ทัพเถิด และอย่าได้ลงโทษท่านแม่ทัพ เพราะเหตุที่ข้าพระบาทต้องได้รับบาดเจ็บเลย ขอพระองค์จงตั้งใจบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา และครองราชสมบัติโดยธรรมเถิด” เมื่อกล่าวจบม้าโภชาชานียะก็สิ้นใจ

     พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตในกาลก่อน แม้ถือกำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ได้กระทำความเพียรจนได้รับบาดเจ็บเห็นปานนี้ แต่ก็ไม่ละความเพียร ส่วนเธอออกบวชในศาสนานี้ ที่จะนำออกจากทุกข์ได้  เพราะเหตุไรเล่า จึงละความเพียรเสีย” แล้วทรงแสดงพระอริยสัจ ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้คลายความเพียรรูปนั้น ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในที่นั้นเอง

     พวกเราซึ่งเป็นนักสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ต้องเข้มแข็งในการสร้างบารมีต่อไป สู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ มุ่งไปให้ถึงเส้นชัยของชีวิต คือที่สุดแห่งธรรม ม้าสินธพอาชาไนยแม้เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ยังเป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ในสงคราม เราเป็นมนุษย์ ไฉนจะยอมพ่ายแพ้ในสงครามแห่งชีวิต ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ในเมื่อเราปรารถนาจะให้โลกเข้าถึงสันติสุข และให้มวลมนุษยชาติได้เข้าถึงธรรมกาย แล้วเราจะยอมให้กิเลสอาสวะทั้งหลายมามีอิทธิพลเหนือจิตใจเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้น อย่าได้ท้อถอย อย่าได้หวั่นไหวในการสร้างบารมีกัน

* มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๒๘๗
 

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13887
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *