วิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี (๕)

วิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี (๕)

บุคคลอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้กินข้าวและดื่มนํ้าแล้ว ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม

มนุษย์ที่เกิดมา ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อมาสร้างบารมี มาปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน และมุ่งไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต คืออายตนนิพพาน แต่เนื่องจากภพชาติที่ขวางกั้น ซึ่งเปรียบเสมือนเมฆหมอกของชีวิตมาบดบังไว้ และถูกอวิชชาห่อหุ้ม ทำให้ไม่รู้ว่าเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายชีวิต และจะไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นได้ด้วยวิธีการใด จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้รู้มาคอยชี้ทางสว่าง และเป็นกัลยาณมิตรให้ ชีวิตจึงจะดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา การทำสมาธิภาวนาและฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำนี้ จะทำให้ใจของเราผ่องใสเสมอ เป้าหมายชีวิตของเราจะชัดเจนขึ้น มีกำลังใจที่จะก้าวต่อไป กระทั่งถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต

มีธรรมภาษิตที่เรียกว่า สาธุนรธรรม กล่าวไว้ว่า
” ยสฺเสกรตฺติมฺปิ  ฆเร  วเสยฺย
ยตฺถนฺนปานํ  ปุริโส  ลเภถ
น  ตสฺส  ปาปํ  มนสาปิ  จินฺตเย
อลฺลญฺจ ปาณึ ทหเต มิตฺตทุพฺโภ ฯ
ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย      นิสีเทยฺย สเยยฺย วา
น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย      มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก
บุคคลอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้กินข้าวและดื่มนํ้าแล้ว ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ”

นี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมภาษิต สาธุนรธรรมที่หลวงพ่อจะเล่าในครั้งนี้ เป็นสารธรรมตอนหนึ่งที่ปุโรหิตโพธิสัตว์กล่าวไว้ ซึ่งพวกเราติดตามกันมาหลายตอนแล้ว สาธุนรธรรม หมายถึง ธรรมะที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นคนดีที่โลกต้องการ ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักสาธุนรธรรม จะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เรามารับฟังเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในตอนที่ว่าด้วยสาธุนรธรรมกันต่อ

* หลังจากเมื่อท่านปุโรหิตกล่าวราชวสดีธรรมให้คนในบ้าน และข้าทาสบริวารครบกำหนดวันแล้ว จึงพร้อมด้วยหมู่ญาติไปทูลพระราชา จากนั้นสั่งสอนพระสนมกำนัลในตลอดจนราชบริษัท และชาวเมืองทั้งสิ้น แล้วก็ออกเดินทางทันที ปุณณกยักษ์ขึ้นนั่งบนหลังม้า สั่งให้พระโพธิสัตว์จับหางม้ามโนมัยให้แน่น เพราะม้าสินธพตัวนี้วิ่งเร็วดุจสายลม พระโพธิสัตว์อธิษฐานจิตไม่ให้ผ้าสาฎกหลุดออกจากกาย พลางใช้มือทั้งสองจับหางม้าไว้แน่น เอาเท้าทั้งสองเกี่ยวขาม้าไว้ให้แน่น เมื่อทุกอย่างพร้อม ม้ามโนมัยก็พาท่านเหาะไปทันที

เมื่อพาพระโพธิสัตว์ออกจากเมืองแล้ว ปุณณกยักษ์ทุบพระโพธิสัตว์ที่ต้นไม้และภูเขา แต่ด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์ ทั้งต้นไม้และภูเขา ต่างแหวกออกเป็นช่องหลีกห่างจากตัวของท่านข้างละศอก ปุณณกยักษ์เห็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน แทนที่จะอัศจรรย์ใจหรือเลื่อมใส กลับโกรธยิ่งขึ้น ฟาดพระโพธิสัตว์ใส่ต้นไม้อีก ๓ ครั้ง ต้นไม้ก็ออกห่างตัวท่านอีก เมื่อไม่สำเร็จ จึงควบม้าวิ่งไปท่ามกลางสายลมอย่างรวดเร็ว ครั้นหันหลังกลับมาดู เห็นพระโพธิสัตว์มีใบหน้าผ่องใสเป็นปกติเหมือนเดิม ก็ควบม้าวิ่งฝ่าลมเวรัมภะ ที่มีเสียงดั่งสายฟ้าฟาดเป็นแสนครั้ง ลมเวรัมภะก็แหวกเป็นช่องให้พระโพธิสัตว์ผ่านไป โดยไม่ได้รับอันตรายแม้แต่น้อย

เมื่อชาวเมืองรู้ว่า ปุณณกยักษ์ปลอมตัวเป็นมาณพเพื่อมาจับพระโพธิสัตว์ไปฆ่า เกิดความโกลาหลกันทั้งเมือง ชาวเมืองพากันมาชุมนุมที่พระลานหลวง เรียกร้องให้พระราชาไปนำตัวพระโพธิสัตว์กลับคืนมาภายใน ๗ วัน ถ้าท่านวิธุรบัณฑิตยังไม่กลับมา พวกเขาจะก่อกองไฟแล้วพากันเข้าไปสู่กองไฟ พระราชาปลอบชาวเมืองว่า “ท่านมหาปุโรหิตเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม ต้องสามารถรอดพ้นจากเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้ได้อย่างสบาย ท่านทั้งหลายอย่าวิตกไปเลย ท่านปุโรหิตจะต้องกลับมาหาพวกเราภายใน ๗ วันแน่นอน” ชาวเมืองฟังเช่นนั้น รู้สึกสบายใจ และมั่นใจว่า พระโพธิสัตว์จะต้องกลับมาโดยสวัสดิภาพแน่นอน จึงพากันตั้งหน้าตั้งตา รอคอยการกลับมาของพระโพธิสัตว์อย่างใจจดใจจ่อ

เมื่อปุณณกยักษ์เห็นว่า พระโพธิสัตว์ยังไม่ตาย ก็ควบม้าไปที่กาฬาคิรีบรรพต คิดหาทางฆ่าท่านจนเหนื่อยใจ เพราะทำอย่างไรก็ไม่ตาย จึงแปลงเป็นยักษ์ที่น่าสะพรึงกลัว จับเท้าทั้งสองของพระโพธิสัตว์ใส่เข้าระหว่างช่องฟัน ทำท่าเหมือนจะเคี้ยวกิน พระโพธิสัตว์ก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวแม้เพียงน้อยนิด ปุณณกยักษ์แปลงเป็นพญาไกรสรราชสีห์บ้าง เป็นช้างตกมันตัวใหญ่บ้าง วิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วทำท่าจะทิ่มแทงฆ่าให้ตาย ท่านก็ไม่หวั่นไหว แม้จะแปลงเป็นงูใหญ่กระหวัดรัดรอบแผ่พังพานบนศีรษะ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ตกใจแต่อย่างใด และไม่ว่าจะทำร้ายด้วยวิธีการใดๆ  ปุณณกยักษ์ก็ไม่สามารถทำให้พระโพธิสัตว์ตายได้

พระโพธิสัตว์รู้ว่า ยักษ์เกิดท้อแท้ใจแล้ว จึงเอ่ยถามขึ้นว่า “ทำไมท่านถึงหมายมั่นจะเอาชีวิตของเรา ช่วยบอกเหตุผลหน่อยเถิด” ยักษ์ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง พระโพธิสัตว์รู้ด้วยปัญญาว่า พระชายาของพญานาคไม่ได้ต้องการดวงหทัยของตน แต่พระนางอยากจะฟังธรรมต่างหาก จึงกล่าวว่า  “ดูก่อนมาณพ เรารู้จักสาธุนรธรรม ในขณะที่เรายังไม่ตาย ท่านจงฟังสาธุนรธรรมจากเราก่อน แล้วฆ่าเราทีหลังก็ได้”

ปุณณกยักษ์ดีใจมากที่จะได้ฟังธรรมะบทนี้ ซึ่งเป็นบทธรรมที่หาฟังได้ยากในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น จึงนำน้ำมาให้พระโพธิสัตว์อาบ มอบผ้าทิพย์ให้สวมใส่ ให้ประดับของหอมและดอกไม้ทุกอย่าง ให้บริโภคโภชนาหารแล้ว จัดอาสนะให้พระโพธิสัตว์นั่งสูงกว่า จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้แสดงสาธุนรธรรมว่า “ดูก่อนมาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว ๑ จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม ๑ อย่าประทุษร้ายหมู่มิตรในกาลไหนๆ ๑ อย่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงอสติ ๑” ปุณณกยักษ์ฟังสาธุนรธรรมทั้ง ๔ ข้อ ที่แสดงโดยย่อแล้ว ยังไม่เข้าใจ จึงขอร้องให้พระโพธิสัตว์อธิบายขยายความธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้น ให้ฟังอีกครั้ง

พระโพธิสัตว์อธิบายว่า “ผู้ใดเชื้อเชิญคนที่ไม่คุ้นเคยกัน ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ อีกทั้งยังทำประโยชน์ให้แก่บุคคลนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุรุษนั้นว่า เป็นผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว สำหรับบุคคลผู้อยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้กินข้าว ดื่มนํ้าแล้ว ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ส่วนหญิงอสติ คือหญิงที่สามียกย่องและให้ทรัพย์ ให้ที่อยู่บริบูรณ์ แต่เมื่อได้โอกาสกลับดูหมิ่นสามี ผู้มีปัญญาไม่ควรตกไปในอำนาจของหญิงเช่นนั้น ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จงละอธรรมเสีย”

ปุณณกยักษ์ฟังสาธุนรธรรมจบแล้ว เกิดความซาบซึ้งในธรรม และยังสามารถนำธรรมะมาสอนตัวเอง ยักษ์ได้สติสำนึกถึงความผิดของตนว่า “บัณฑิตนี้ ทำสักการะแก่เรา ทั้งที่ไม่คุ้นเคยกับเรามาก่อน เราได้เสวยยศใหญ่อยู่ในเรือนของบัณฑิตนี้ตลอด ๓ วัน แต่เรากลับทำร้ายท่านเพราะอาศัยมาตุคาม หากเราประทุษร้ายบัณฑิตผู้นี้ ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร จัดว่าไม่ประพฤติตามสาธุนรธรรม เราไม่ต้องการธิดานาคกัญญาอีกแล้ว เราจะเช็ดหน้าที่เต็มด้วยนํ้าตาของชนชาวอินทปัตตนครให้เบิกบาน ด้วยการรีบนำท่านบัณฑิตไปส่งที่โรงธรรมสภาให้เร็วที่สุด

เมื่อคิดสอนตัวเองดังนี้แล้ว ก็สนทนากับพระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพว่า “ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าได้รับการบำรุงจากท่านเป็นอย่างดี แต่กลับประพฤติผิดต่อท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะมาตุคามเป็นเหตุ ขอเชิญท่านกลับไปยังบ้านของท่านตามปรารถนาเถิด แม้ตระกูลนาคจะเสื่อมไปก็ช่างเถิด วันนี้ข้าพเจ้าได้ฟังสาธุนรธรรมแล้ว จะขอประพฤติตามธรรมนั้น”

พระโพธิสัตว์กลับขอให้ปุณณกยักษ์พาไปพบพญาวรุณนาคราชผู้เป็นอธิบดีของนาค และเยี่ยมชมวิมานในนาคพิภพ ปุณณกยักษ์เกรงพระโพธิสัตว์จะถูกฆ่า และถูกควักเอาเนื้อหัวใจดังที่ตนเข้าใจจึงห้ามปราม ส่วนว่าพญานาควรุณเมื่อพบกับพระโพธิสัตว์แล้วจะเป็นอย่างไร ให้ทุกท่านติดตามกันในตอนต่อไป

* มก. วิธุรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๔๓๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/6833
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับศาสดาเอกของโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *