มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๒ ( ไขปริศนา )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๒ ( ไขปริศนา )

        เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต แสวงหาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย นับเป็นการแสวงหาของจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถมีสุขได้ด้วยตัวเอง และเป็นตัวตนที่แท้จริง พระ-รัตนตรัยหรือพระธรรมกาย คือ แก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเรา ทุกๆ คนมีสิทธิ์เข้าถึงได้ หากฝึกใจให้หยุดนิ่ง ถ้าใจหยุดได้เมื่อไร ก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา เข้าถึงแล้วชีวิตเราจะสมบูรณ์ มีความสุขและความ
มั่นคงปลอดภัยมากขึ้น
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสารชาดกว่า
    “อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติ        มนฺตีสุ อกุตูหลํ
      ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ     อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ
      เมื่อสงครามเกิดขึ้น ย่อมต้องการคนกล้าหาญ  เมื่อเกิดมงคลตื่นข่าว ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อมีข้าวและน้ำบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก  เมื่อข้อความลึกซึ้งเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิต ”

        เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำศึกสงครามนั้น ย่อมมีการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อหรือแม้กระทั่งชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการทำสงคราม ต้องอาศัยนักรบที่มีความกล้าหาญ ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อให้ได้ชัยชนะมา โดยทั่วไปเมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาที่ลึกซึ้งเกิดขึ้น จะอาศัยคนธรรมดาทั่วไปมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหานั้นไม่ได้ ต้องอาศัยนักปราชญ์บัณฑิตมาแก้ปมปัญหาเหล่านั้น  เพราะฉะนั้น บ้านเมืองไหนมีนักปราชญ์บัณฑิตมาก บ้านเมืองนั้นก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เราอาจสังเกตได้ว่า แต่ละประเทศมีการรณรงค์ ทุ่มเทงบประมาณมากมาย เพื่อให้พลเมืองมีการศึกษาสูงๆ จะได้นำวิชาความรู้มาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

        สำหรับเรื่องของมโหสถบัณฑิตในครั้งนี้ เป็นตอนที่ต้องอาศัยปัญญาญาณที่ลึกซึ้ง เนื่องจากมีปัญหาที่พระราชาตรัสถามไว้ ซึ่งกว่าจะตอบได้ต้องพิจารณากันนานหลายวัน

        *เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรไปทางช่องพระแกล ทรงเห็นแพะและสุนัขตัวหนึ่งมีความสนิทสนมเป็นมิตรกัน จึงได้กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพระทัย 
        เมื่อบัณฑิตทั้งหลายมาเข้าเฝ้าพร้อมหน้ากันแล้ว จึงตรัสถามเป็นปริศนาธรรมว่า ” สัตว์เหล่าใดเป็นเพื่อนกันในโลกนี้ แม้ไปด้วยกันเพียง ๗ ก้าว ไม่เคยมีในกาลก่อน สัตว์ทั้งสองเหล่านั้นเป็นศัตรูกัน บัดนี้มาเป็นเพื่อนสนิทรักใคร่กัน เป็นเพราะเหตุใด ” ทรงกำชับว่า ” ถ้าหลังอาหารเช้าวันนี้ ท่าน    ทั้งหลายไม่สามารถแก้ปัญหาของเราได้ เราจักขับพวกท่านออกจากแว่นแคว้นของเรา ”

        แม้อาจารย์เสนกะจะนั่งอยู่ด้านหน้าใกล้พระที่นั่งที่สุด ฟังแล้วก็ขบปัญหาไม่ออก ได้เหลียวมองดูมโหสถว่า จะแสดงอาการอย่างไร  ครั้นสังเกตเห็นกิริยาของมโหสถก็รู้ว่ามโหสถยังขบคิดปัญหานี้ไม่ออก ฝ่ายมโหสถรู้ว่าอาจารย์เสนกะยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้เช่นกัน เพราะปัญหานี้ต้องอาศัยเวลา ครั้นอาจารย์เสนกะเห็นไม่เข้าท่า จึงชิงไหวชิงพริบกราบทูลขึ้นก่อนว่า  ” ข้าแต่พระจอมพสกนิกร ในสมาคมที่อึกทึก ข้าพระองค์ทั้งหลาย มีใจฟุ้งซ่าน จิตไม่แน่วแน่ ไม่สามารถจะพยากรณ์ปัญหานั้นได้ ต้องมีจิตมีอารมณ์เดียว อยู่ในที่หลีกเร้นตามลำพัง จึงจะนั่งคิดนั่งพิจารณาปริศนาธรรมทั้งหลายได้ พระเจ้าข้า ”

        เมื่อพระราชาทรงเห็นว่า แม้มโหสถเองก็ตอบไม่ได้    จึงทรงอนุญาตเลื่อนการตอบปัญหาออกไป เหล่าบัณฑิตทั้งหลาย ได้ทูลลาไปที่พำนักของตน ส่วนมโหสถบัณฑิตเมื่อออกจากท้องพระโรงแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้าพระราชเทวีอุทุมพรมเหสีของพระราชา เพราะคิดว่า พระราชาไม่น่าจะทรงคิดปัญหานี้เองได้ พระองค์คงจะทอดพระเนตรเห็นอะไรสักอย่างเป็นแน่ จึงทูลถามพระนางว่า  ” ข้าแต่พระเทวีเจ้า วันนี้หรือวานนี้พระราชาทรงประทับอยู่ที่ใดนานเป็นพิเศษ ”

        พระนางอุทุมพรตรัสตอบว่า  ” เมื่อวานนี้พระราชาได้เสด็จเดินไปเดินมาในปราสาท และได้ทอดพระเนตรที่ช่องพระแกลเป็นเวลานาน ”

        มโหสถคิดว่า พระราชาจะต้องทอดพระเนตรเห็นอะไรสักอย่างเป็นแน่ จึงเดินออกไปสำรวจบริเวณนั้น ก็พบแพะและสุนัขที่มีความสนิทสนมต่อกันเป็นพิเศษ มโหสถยืนพิจารณาสัตว์ทั้งสองอยู่ครู่หนึ่ง ก็เข้าใจแจ่มแจ้งตั้งแต่ต้นจนจบถึงปัญหาของพระราชา และจับเค้าความเป็นมาของแพะ และสุนัขได้อีกด้วย

        ความเป็นมาของสัตว์ทั้งสองมีอยู่ว่า วันหนึ่งแพะตัวนั้นได้แอบเข้าไปกินหญ้าในโรงช้าง ทำให้ถูกตีจนหลังแอ่นได้รับความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จึงหลบหนีไปนอนใกล้พระราชคฤหาสน์ วันเดียวกันนั้นเอง สุนัขซึ่งปกติทุกวันมันจะกินเฉพาะกระดูกที่ห้องเครื่องหลวงจนอ้วนพี แต่วันนั้นทนกลิ่นปลา และเนื้อไม่ไหว จึงได้แอบเข้าไปกินเนื้อเหล่านั้น จนพ่อครัวมาพบเข้า ก็ถูกไล่ตีด้วยท่อนไม้ จึงหลบหนีเข้าไปซ่อนในที่แห่งเดียวกันกับแพะตัวนั้น

        เมื่อทั้งสองมาเจอกัน ต่างปรับทุกข์กัน ในที่สุดเจ้าแพะออกอุบายว่า  ” ท่านเป็นสัตว์ไม่กินหญ้าจึงไม่เป็นที่สงสัยของควาญช้าง ฉะนั้น ท่านต้องเข้าไปในโรงช้าง ฉวยโอกาสคาบหญ้ามาให้ฉันเถิด ส่วนตัวฉันเองเป็นสัตว์ไม่กินเนื้อ จึงไม่เป็นที่สงสัยของพ่อครัว เพราะฉะนั้น ฉันจะเข้าไปในโรงครัวนำเนื้อมาให้ท่าน ” เมื่อสัตว์ทั้งสองตกลงพร้อมใจสามัคคีเช่นนี้ ต่างดำเนินการตามแผน ทำให้พวกมันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

        ฝ่ายบัณฑิตอีกสามท่านกลับไปบ้านก็ยังขบคิดปัญหาไม่ออก จึงชวนกันมาหาอาจารย์เสนกะ แม้อาจารย์เสนกะก็คิด  ไม่ออกเช่นกัน จึงชวนกันไปหามโหสถเผื่อว่ามโหสถจะมีทางออกบ้าง ทั้งสี่ท่านมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง มโหสถบัณฑิตได้แจ้งข่าวดี ว่า ได้ขบคิดปัญหาออกแล้ว ด้วยความเมตตาที่มีต่อท่านทั้งสี่     ไม่ปรารถนาเห็นเพื่อนร่วมงานต้องถูกขับออกจากแว่นแคว้น จึงให้บัณฑิตทั้งสี่เรียนคาถาคนละหนึ่งคาถา

        วันรุ่งขึ้น เมื่อพระราชาตรัสถามถึงคำตอบ เสนกบัณฑิต ก็กราบทูลเป็นคาถาที่ได้จดจำมาจากมโหสถว่า  ” เนื้อแพะเป็นที่โปรดปรานของมวลอำมาตย์ และพระราชโอรสทั้งหลาย     ชนเหล่านั้นไม่บริโภคเนื้อสุนัข แต่น่าประหลาดเหลือเกินที่แพะกับสุนัขมีมิตรธรรมที่ดีต่อกัน ”

        เมื่อกล่าวจบ ตนเองก็รู้สึกสับสนในคาถานั้น เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง มีเพียงพระเจ้าวิเทหราช และมโหสถเท่านั้นที่แจ่มแจ้งในข้อความนั้น พระราชาจึงปลาบปลื้มพระทัยว่า สมเป็นบัณฑิตจริงๆ จากนั้นได้ตรัสถามท่านปุกกุสะเป็นคนต่อไป

        ทั้งปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ต่างกราบทูลเป็นคาถาที่จดจำมา ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับที่เสนกบัณฑิตกล่าว  พระราชาได้สดับแล้วทรงชื่นชมโสมนัส ฝ่ายมโหสถทูลตอบเป็นคนสุดท้ายว่า  ” ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม ยกเว้นข้าพระองค์เสียแล้ว คนอื่นใครจะรู้ถึงปัญหานี้ ”

        จากนั้นก็ได้กราบทูลว่า  ” แพะมี ๔ เท้า มี ๘ กีบ มีกายไม่ปรากฏ สุนัขนำหญ้ามาให้แพะกิน ส่วนแพะคาบเนื้อมาให้สุนัข พระองค์ผู้สมมติเทพผู้ประเสริฐประทับอยู่บนปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็น การนำอาหารมาแลกกัน และได้ทอดพระเนตรเห็นมิตรธรรมของสัตว์ทั้งสอง พระเจ้าข้า ”
        จากนั้นได้กราบทูลในรายละเอียดทั้งหมด  พระราชาได้สดับคำเฉลยของบัณฑิตทั้งห้า ก็ทรงปีติโสมนัสมาก ที่ทุกคนสามารถแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งของพระองค์ได้ จึงทรงมอบรถเทียมม้าอัสดรแก่บัณฑิตทั้งห้าท่าน

        เราจะเห็นว่า เมื่อมีปัญหาลึกซึ้งเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิตเช่นนี้แหละ บัณฑิตเป็นผู้ยังโลกนี้ให้สว่าง ช่วยขจัดความมืดมิด คือ ความไม่รู้จริงให้หมดสิ้นไป ให้พวกเราทุกคนหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ให้เป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา หมั่นเป็นคนช่างสังเกต หมั่นเข้าไปสอบถามผู้รู้ ต่อไปเราจะกลายเป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ทั้งหลาย ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรู้ทั้งหลายประมวลรวมอยู่ในศูนย์กลางกาย ดังนั้น เราจะต้องหยุดใจเพื่อเข้าไปหาแหล่งแห่งความรู้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้กันทุกคน

*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๖๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/538
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *