เดินตามทางของบัณฑิต ตอนที่ ( ๒ ) – พระภิกษุผู้รักการให้ทาน

 เดินตามทางของบัณฑิต ตอนที่ ( ๒ )
          
    เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อแสวงหาสิ่งที่ทำให้เราบริสุทธิ์ที่สุด บริสุทธิ์จนกระทั่งพบกับตัวตนที่แท้จริง ที่มั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีความสุขอย่างแท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลายต่างพบว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นธรรมที่สงบ ละเอียด ประณีต ซึ่งไม่อาจจะนึกคิดหรือคาดคะเนได้ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงเอง โดยการปรับใจให้ละเอียด ให้หยุดนิ่งไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน เมื่อนั้นเราจะรู้เห็นทุกสิ่งไปตามความเป็นจริง
มีวาระพระบาลีใน มัจฉรีสูตรว่า
 
มจฺเฉรา จ ปมาทา จ         เอวํ ทานํ น ทียติ
ปุญฺญมา กงฺขมาเนน         เทยฺยํ โหติ วิชานตา
ยสฺเสว ภีโต น ททาติ       ตเทวาททโต ภยํ
ชิฆจฺฉา จ ปิปาสา จ         ยสฺส ภายติ มจฺฉรี
ตเมว พาลํ ผุสติ               อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ
ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ        ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ          ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
 
    บุคคลให้ทานไม่ได้เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ ความ ตระหนี่ และความประมาท บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญพึงให้ทาน คนตระหนี่กลัวความอดอยากยากจน เพราะความกลัวจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่ผู้ไม่ให้ และจะกลับมามีผลต่อคนพาลผู้หลงผิด ฉะนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่แล้วรีบให้ทาน เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

    ความประมาทและความตระหนี่เป็นศัตรูร้ายกาจ ที่ขวางหนทางแห่งการสร้างความดี ตัดบุญบารมีของเรา ทำให้เราเป็นผู้มีบุญน้อย การทำบุญนั้น นอกจากจะต้องทำด้วยตนเอง ยังต้องชักชวนผู้อื่นให้มาทำอีกด้วย หรือเป็นยอดกัลยาณมิตรให้กับตนเองและผู้อื่น ภพชาติต่อไปจะได้เป็นผู้ที่ทั้งรํ่ารวยและมีพวกพ้องบริวารมาก หากเราทำบุญเอง แต่ไม่ได้ชวนคนอื่น จะไปเกิดเป็นผู้ที่รวยทรัพย์แต่ขาดพวกพ้องบริวาร การงานก็จะไม่สะดวก หรือถึงจะมีทรัพย์แต่แวดล‰อมด‰วยบริวารญาติมิตรที่ยากจน คนเหล่านั้นก็อาจนำความไม่สบายใจมาให้เราได้

    หากเราไม่ได้ทำบุญ ได้แต่บอกบุญคนอื่น จะทำให้ไปเกิดเป็นคนยากจนแต่รวยพวกพ้องบริวาร หากตัวเองบุญก็ไม่ได้ทำ แถมยังห้ามผู้อื่นไม่ให้ทานอีก จะไปเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ ญาติพี่น้องพวกพ้องบริวารก็ไม่มี ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ ชีวิตต้องระหกระเหเร่ร่อน มีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากเข็ญยิ่ง

    เพราะเห็นประโยชน์ และโทษของการให้กับการไม่ให้เช่นนี้ บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนจึงยินดีในการให้ทาน สละความตระหนี่ออกจากใจ ถึงจะมีทรัพย์น้อยก็ให้ไปตามที่ตัวเองมี   เมื่อมีมากก็ให้มาก ให้ด้วยความเต็มใจและเต็มกำลัง ไม่ใช่ให้เพราะความจำใจ

    *ตอนที่แล้วพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมหาทานบารมีจนตลอดชีวิต ก่อนละสังขารได้สั่งลูกหลานว่า อย่าได้เลิกในการบริจาคทาน ให้ธำรงรักษาอริยประเพณีอันดีงามนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด เมื่อให้โอวาทแล้ว ท่านก็ละสังขาร ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนลูกของเศรษฐีได้ให้ทานเหมือนบิดา ครั้นแตกกายทำลายขันธ์ได้ไปบังเกิดเป็นจันท- เทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรได้บังเกิดเป็นสุริยเทพบุตร  ส่วนบุตรของสุริยเทพบุตรได้ไปบังเกิดเป็นมาตลีเทพบุตร   บุตรของมาตลีเทพบุตรก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดา ได้บังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร

    ส่วนบุตรคนที่ ๖ ของปัญจสิขเทพบุตรนั้น ได้เป็นเศรษฐีมีนามว่า มัจฉริยโกสิยะ ถึงแม้ท่านจะมีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ แต่ยังมีความตระหนี่ คืนหนึ่งเศรษฐีเกิดอกุศลเข้าสิงจิต คิดด้วยความโลภว่า “พ่อแม่ปู่ย่าของเรา เป็นคนไม่ฉลาดเลย มัวแต่ขนทรัพย์สมบัติที่แสวงหามาด้วยความยากลำบากเอาออกบริจาคให้ทาน ทรัพย์ของใครก็ของมัน ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปแบ่งให้คนอื่นใช้เลย เราจะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทั้งหมดนี้เพียงผู้เดียว จะไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร เราจะรักษาทรัพย์เหล่านี้ไว้จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

    วันรุ่งขึ้นจึงสั่งให้รื้อและเผาโรงทานทั้ง ๖ แห่ง เมื่อมีพวกยาจกมาประชุมอ้อนวอนอยู่หน้าบ้าน เศรษฐีก็ให้คนใช้ขับไล่ไป เมื่อมหาชนได้ยินข่าวการทำลายโรงทานต่างพากันติเตียนเศรษฐีว่า เป็นผู้เกิดมาเพื่อทำลายล้างชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของบรรพบุรุษ แม้เศรษฐีได้ยินมหาชนตำหนิหรือมีผู้มาแนะนำก็ไม่สนใจ ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐีก็รวบรวมทรัพย์ ไม่ยอมใช้ทรัพย์สมบัติให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง แม้แต่ลูกและภรรยาก็ไม่ยอมให้ใช้ ได้แต่บริโภคข้าวหักๆ ป่นๆ มีน้ำผักดองเป็นกับข้าว นุ่งผ้าเนื้อหยาบ กั้นร่มใบตาล ใช้รถเก่าครํ่าคร่าเทียมด้วยโคแก่เป็นยานพาหนะ

    วันหนึ่ง มัจฉริยโกสิยเศรษฐี ได้ไปชวนอนุเศรษฐีพร้อมกับบุตรธิดา ซึ่งกำลังบริโภคข้าวปายาส ที่ปรุงด้วยของที่เจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้งสุกและน้ำตาลกรวด ไปเข้าเฝ้าพระราชา  เมื่ออนุเศรษฐีเห็นมัจฉริยโกสิยเศรษฐี จึงลุกจากอาสนะ พลางกล่าวเชื้อเชิญว่า เชิญท่านมหาเศรษฐีมานั่งบริโภคข้าวปายาสด้วยกันเถอะ

    ครั้นมหาเศรษฐีเห็นข้าวปายาส เกิดน้ำลายไหล อยากจะบริโภคบ้าง แต่คิดว่า “ถ้าเราบริโภค เราจะต้องสักการะตอบแทน ในเวลาที่อนุเศรษฐีไปบ้านของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัพย์ของเราก็จะพินาศ เราไม่บริโภคดีกว่า” แต่เมื่อถูกอนุเศรษฐี กล่าวเชื้อเชิญบ่อยเข้า จึงเสแสร้งออกตัวไปว่า “เราเพิ่งบริโภคมาเมื่อสักครู่นี้เอง เรายังอิ่มอยู่ เชิญท่านรับประทานตามลำพังเถอะ” ตัวเองจึงได้แต่นั่งกลืนน้ำลาย มองดูอนุเศรษฐีบริโภคข้าวปายาสอย่างเอร็ดอร่อย

    หลังจากนั้นพากันไปเข้าเฝ้าพระราชา ซึ่งถือเป็นกรณียกิจ สำคัญของเศรษฐีในสมัยนั้น เศรษฐีก็ยังถูกความอยากในรสข้าวปายาสบีบคั้นอยู่ แต่ไม่กล้าบอกใคร เพราะกลัวคนอื่นในบ้านจะพลอยอยากบริโภคด้วย จะทำให้สิ้นเปลืองสิ่งของมากจึงอดกลั้นไว้ ครั้นนานวันเข้าก็เป็นโรคผอมเหลือง ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังใจแข็งไม่ยอมบอกใคร ได้แต่แอบหลบเข้าไปนอนอยู่ในห้องตามลำพัง

    เมื่อภรรยาเข้าไปพูดเกลี้ยกล่อมเพื่อต้องการรู้สาเหตุของโรค เศรษฐีจึงเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภรรยาจึงปลอบใจว่า”โธ่เอ๋ย ท่านเป็นถึงมหาเศรษฐี มีทรัพย์ตั้ง ๘๐ โกฏิ แค่จะรับประทานข้าวปายาส นับเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ท่านจะหุงเลี้ยงคนทั้งเมืองก็ยังได้” เศรษฐีได้ยินภรรยาพูดเช่นนั้น ก็ตัวสั่นกลัวจะเสียทรัพย์ รีบห้ามปรามภรรยา และกล่าวสัพยอกว่า “ฉันรู้อยู่ว่าเธอมีทรัพย์สมบัติมาก ถ้าทรัพย์สมบัติในตระกูลของเธอเหลือใช้ ก็จงหุงข้าวปายาสแจกชาวเมืองทั้งหมดเถิด”

    เนื่องจากสมบัติในบ้านเป็นของเศรษฐีทั้งหมด ภรรยาจึงไม่อาจทำอะไรได้ตามใจชอบ ได้แต่พูดเอาใจท่านเศรษฐีว่า “ถ้าเช่นนั้นก็จะหุงข้าวปายาสให้ท่านกับชาวบ้านที่อยู่ในถนนเดียวกัน”
เศรษฐีรีบห้ามว่า “ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”
ภรรยาจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจะหุงให้ท่าน และเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปอีก ๗ หลังคาเรือน”
เศรษฐีก็ไม่ยอมอีก “ถ้าอย่างนั้นจะหุงให้เฉพาะเราสองคน”
เศรษฐีรีบบอกว่า “เธอไม่สมควรจะบริโภค”
นางได้แต่ทอดถอนใจในความตระหนี่ของสามี พลางกล่าวว่า “งั้นจะหุงให้ท่านเพียงคนเดียวก็ได้”
เศรษฐีจึงพอใจ และบอกให้เตรียมข้าวของไปหุงกินในป่า ภรรยาก็ตามใจทุกอย่าง

    เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร เราจะได้รู้ในคราวหน้า ขอให้ทุกคนอย่าลืมที่จะขจัดความตระหนี่ออกจากใจทุกๆ วัน ด้วยการให้ทาน ตักบาตรพระทุกเช้า ดำรงตนเป็นผู้ให้เสมอจนเป็นปกติ ให้เป็นมหาทานบารมี ที่จะทำให้เรามีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องไว้ใช้สร้างบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน 

*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๒  

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/197
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “เดินตามทางของบัณฑิต ตอนที่ ( ๒ ) – พระภิกษุผู้รักการให้ทาน”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญสาธุๆ สาธุครับ
    🌼💐🌺 🌸💮🌷💮🌸 🌺💐🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *