วิสาขามหาอุบาสิกา (อดีตชาติของวิสาขา)

วิสาขามหาอุบาสิกา (อดีตชาติของวิสาขา)

ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เป็นที่ประชุมรวมลงแห่งธรรมทั้งหลาย ดุจรอยเท้าของสรรพสัตว์ทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป ย่อมประชุมรวมลงในรอยเท้าช้าง ฉะนั้น บุคคลใดที่ไม่ประมาท ความคิด คำพูด และการกระทำของบุคคลนั้น ย่อมถูกต้องร่องรอยในธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย หากเรามีความไม่ประมาทฝังลึกอยู่ในใจแล้ว เราจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีชีวิตที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ซึ่งความไม่ประมาทที่แท้จริงนั้นคือ การมีสติอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา ใจหยุดนิ่งอยู่กลางธรรมะ กลางพระรัตนตรัย หากทำได้อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท เป็นชีวิตที่ปลอดภัย และมีชัยชนะแท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัมมาทิฏฐิสูตร ว่า
“สมฺมามนํ ปณิธาย         สมฺมาวาจํ อภาสิย
สมฺมากมฺมานิ กตฺวาน       กาเยน อิธ ปุคฺคโล
พหุสฺสุโต ปุญฺญกโร         อปฺปสฺมึ อิธ ชีวิเต
กายสฺส เภทา สปฺปญฺโญ    สคฺคํ โส อุปปชฺชติ

บุคคลในโลกนี้ ตั้งใจไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ งานชอบด้วยกาย ผู้มีการสดับมาก ทำบุญไว้มาก ในชีวิตอันมีประมาณน้อย ในมนุษยโลกนี้ บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสวรรค์”

หนทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ต้องเริ่มต้นที่ความคิด คำพูด และการกระทำที่ถูกต้องดีงามคือ มีสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐานก่อน กาย วาจา ใจต้องสะอาดบริสุทธิ์ เพราะสวรรค์เป็นดินแดนอันเป็นทิพย์ มีความละเอียด และประณีต ใจของบุคคลผู้ปรารถนาสวรรค์ ต้องละเอียดประณีตตามไปด้วย อีกทั้งต้องสั่งสมบุญไว้มากๆ บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขความสำเร็จในชีวิต และจะส่งผลให้เราได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์โดยไม่ยาก แม้จะสั่งสมบุญเพียงช่วงสั้นๆ ในโลกมนุษย์ แต่การเสวยผลบุญในสวรรค์ มีความยาวนานกว่าในโลกมนุษย์ยิ่งนัก

ครั้งนี้เรายังคงมาติดตามเรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติของมหาอุบาสิกาวิสาขากันต่อ ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ขณะนี้มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ไปบังเกิดเป็นเทพนารีในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี เป็นอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช ด้วยความที่ได้สั่งสมบุญมาอย่างดี ท่านจึงเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะได้เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นนักสร้างบารมีที่ไม่หวาดหวั่นในสังสารวัฏ และในแต่ละภพชาติที่ผ่านมา ท่านไม่เคยประสบความยากลำบากหรือตกต่ำในชีวิตเลย เนื่องจากได้ดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้องดีงามมาโดยตลอด

ตามปกติของบุคคลทั่วไปที่ได้บรรลุอริยธรมเบื้องต้นแล้ว จะต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์อีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แต่มหาอุบาสิกาวิสาขาจะไม่ลงมาเกิดในโลกมนุษย์อีก เพราะบุญในตัวของท่านมีมาก จะเสวยทิพยสมบัติอันยาวนานในเทวโลกชั้นต่างๆ อย่างเดียว ซึ่งผู้มีบุญเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่ทำได้อย่างนี้ จากนั้นท่านจะทำฌานให้เกิดขึ้น จนได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีบุคคล แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก ท่านจะไปทำพระนิพพานให้แจ้งในชั้นพรหมโลกนั่นเอง

ภพชาติในอดีตของท่าน คือ * ครั้งหนึ่ง ท่านบังเกิดเป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงพาราณสี เป็นผู้มีรูปโฉมงดงามกว่าใครในชมพูทวีป อีกทั้งเป็นผู้มีปัญญาฉลาดหลักแหลมมาก พระประยูรญาติจึงขนานพระนามว่า สุเมธา หมายถึงผู้มีปัญญาดี ทางด้านพระเจ้าสุรุจิ ทรงมีพระโอรสนามว่า สุรุจิกุมาร เมื่อทั้งสองพระองค์เจริญวัยขึ้น พระราชบิดาของทั้งสองฝ่าย ต่างมีพระประสงค์จะให้อภิเษกสมรสกัน

พระเจ้าสุรุจิทรงส่งอำมาตย์พร้อมบรรณาการมากมายไปกรุงพาราณสีเพื่อสู่ขอพระนางสุเมธามาอภิเษกเป็นอัครมเหสีของพระโอรส ขณะที่พวกอำมาตย์ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางนั้น พระเจ้าพาราณสีตรัสถามพระเทวีว่า “นางผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นทุกข์อย่างยิ่งของมาตุคาม” พระเทวีกราบทูลว่า “ข้าแต่ทูลกระหม่อม ความหึงหญิงที่ร่วมสามี เป็นความทุกข์ของมาตุคาม เจ้าข้า” ด้วยความรักในพระธิดา พระราชบิดาจึงตั้งพระทัยที่จะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของพระธิดาสุเมธา โดยทรงประสงค์จะให้พระธิดาเป็นมเหสีเพียงคนเดียวของพระเจ้าสุรุจิ

เมื่อพวกอำมาตย์เดินทางมาถึง พระเจ้าพาราณสีทรงต่อรองว่า หากสุรุจิราชกุมารปรารถนาพระธิดาสุเมธาก็ต้องอภิเษกกับนางเพียงผู้เดียว ฝ่ายอำมาตย์ได้ส่งข่าวกลับไปยังพระเจ้าสุรุจิ พระราชาตรัสว่าราชสมบัติของเราใหญ่หลวง มิถิลานครมีอาณาเขตถึง ๗ โยชน์ กำหนดแห่งชัยชนะที่พระองค์ได้รับก็กว้างขวางถึง ๓๐๐ โยชน์ อย่างต่ำสุดควรจะได้สตรี ๑๖,๐๐๐ นาง พระองค์จึงไม่ยอมรับคำต่อรองของพระเจ้าพาราณสี

ฝ่ายพระกุมารสุรุจิเพียงได้ยินกิตติศัพท์รูปสมบัติของพระนางสุเมธา ก็ปรารถนานางมาเป็นคู่ครองเพียงคนเดียว จึงบอกพระราชบิดามารดาว่าจะอภิเษกกับนางเพียงผู้เดียวเท่านั้น โปรดเชิญนางมาเถิด พระราชบิดาไม่ประสงค์จะขัดพระทัยพระกุมาร ทรงส่งทูตไปอัญเชิญพระนางมาพร้อมด้วยบริวารขบวนใหญ่ แล้วทรงอภิเษกพระนางให้เป็นมเหสีของพระกุมาร ทรงแต่งตั้งพระกุมารให้เป็นพระราชา พระนางสุเมธาทรงครองรักกับสุรุจิราชกุมารมาตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี พระนางก็ยังไม่ทรงให้กำเนิดพระโอรสหรือพระธิดาแม้แต่องค์เดียว

ต่อมาชาวเมืองประชุมกันในท้องพระลานหลวง เพื่อทูลอ้อนวอนให้พระราชาทรงหารัชทายาทองค์ต่อไปว่า “การที่พระองค์ทรงมีพระเทวีพระนางเดียว เป็นการยากที่จะให้กำเนิดรัชทายาท ธรรมดาราชสกุลต้องมีหญิงอย่างน้อย ๑๖,๐๐๐ นาง พระองค์โปรดรับสตรีเหล่าอื่นเถิด พระเจ้าข้า” พระราชาก็ยังคงยืนยันไม่ปรารถนาจะครองหญิงอื่น เพราะไม่ต้องการตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้กับพระนางสุเมธา

พระนางสุเมธาทรงสดับพระดำรัสนั้น ก็ดำริว่า พระราชามิทรงนำสตรีอื่นๆ มาเลย เพราะพระองค์ทรงเป็นคนจริง แต่เรานี่แหละจะหามาถวายพระองค์เอง พระนางรับสั่งให้อำมาตย์นำสตรีแรกรุ่นจากเชื้อพระวงศ์ ๑,๐๐๐ จากเชื้อขุนนาง ๑,๐๐๐ จากเชื้อเศรษฐี ๑,๐๐๐ จากนางระบำผู้ชำนาญในการฟ้อนรำทุกอย่าง ๑,๐๐๐ รวมเป็น ๔,๐๐๐ นาง ซึ่งล้วนแต่เป็นที่เห็นชอบของพระนางทั้งสิ้น เมื่อหญิงเหล่านั้นอยู่ในราชสกุล ๑๐,๐๐๐ ปี ก็ยังไม่สามารถให้กำเนิดพระโอรสหรือพระธิดา พระนางจึงคัดหญิงชุดใหม่เข้าไปถวายอีกถึง ๓ ชุด ชุดละ ๔,๐๐๐ นาง แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถให้กำเนิดพระโอรสพระธิดาได้ จนล่วงไปอีก ๔๐,๐๐๐ ปี รวมกับเวลาที่พระเจ้าสุรุจิทรงอยู่กับพระนางสุเมธาก่อนนี้ ๑๐,๐๐๐ ปี เป็น ๕๐,๐๐๐ ปี

ครั้นเวลาผ่านไป ๕๐,๐๐๐ ปี พระราชาจึงตรัสบอกพระเทวีทั้ง ๑๖,๐๐๐ นางว่า “พวกเธอจงบวงสรวงหรือทำพลีกรรมเพื่อขอบุตรเถิด” เมื่อพระเทวีทั้งหมดต่างปรารถนาพระโอรส จึงพากันนอบน้อมเทวดาบำเพ็ญวัตรต่างๆ ตามที่ตนนับถือ แต่ก็ยังไม่มีใครให้กำเนิดพระโอรสพระธิดาอยู่นั่นเอง

พระนางสุเมธาอัครมเหสีเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ตนเองจะต้องบวงสรวงเทวดาเพื่อขอบุตร  ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ คํ่า พระนางทรงตั้งพระทัยสมาทานอุโบสถศีล ประทับนั่งเหนือพระแท่นอันมีสิริ ทรงตรึกระลึกถึงศีลอันบริสุทธิ์ของพระนางทีละข้อๆ ด้วยความปลื้มปีติ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ปรารถนาให้ได้เทพบุตรผู้มีบุญจุติลงมาเกิดเป็นโอรสของพระนาง และด้วยเดชแห่งศีลของพระนางสุเมธา พิภพของท้าวสักกะเกิดอาการสั่นสะเทือน ท้าวสักกะทรงตรวจดูด้วยทิพยจักขุ ก็รู้ว่าพระนางสุเมธาผู้มีบุญญาธิการปรารถนาพระโอรส จำเราจะต้องหาโอรสผู้มีบุญมามอบเป็นบรรณาการแก่พระนาง

เมื่อทรงเลือกเฟ้นหาว่าที่พระโอรสผู้มีบุญเสมอกับพระนางสุเมธา พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นนฬการเทพบุตรผู้ได้สั่งสมบุญไว้อย่างดีแล้ว จึงเสด็จเข้าไปเชื้อเชิญนฬการเทพบุตรให้จุติไปเกิดเป็นพระโอรสของพระนางสุเมธา ส่วนเทพบุตรจะรับคำเชื้อเชิญหรือไม่ และเทพบุตรท่านนี้มีประวัติการสร้างบุญอย่างไรบ้าง เราจะได้ศึกษากันในครั้งต่อไป

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๔๒๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17783
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *