เมณฑกเศรษฐี ผู้ใจบุญ (๓)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๓)

เหล็กกล้ากว่าจะเป็นเหล็กกล้าขึ้นมาได้ ต้องทนอยู่ในเตาหลอมที่มีความร้อนสูง และถูกตีกระหนํ่าแล้วกระหนํ่าอีก เพื่อให้ได้รูปทรงที่สมบูรณ์ทนทานเหมาะที่จะเป็นอาวุธคู่มือของขุนศึก คนเราก็เช่นกัน ถ้าต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องไม่กลัวลำบาก และต้องเตรียมใจไว้ให้พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะดีหรือร้าย โดยเมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใด จงทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ และทำให้ดีที่สุด จะได้เป็นผังสำเร็จของชีวิตติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ โดยเฉพาะเมื่อเรามีความตั้งใจ และปรารถนาจะเข้าถึงธรรม ก็ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ รู้จักให้เวลาและโอกาสกับตัวเองในการที่จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้มากๆ

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน โกสิยชาดก ว่า
“ทาน ผู้ให้ให้ได้ยาก เพราะต้องครอบงำความตระหนี่ก่อนแล้วจึงให้ได้ การทำทานนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากโดยแท้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำทานตามที่สัตบุรุษทำแล้ว เพราะเหตุนั้น การไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรก สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์”

การทำทานไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะต้องเริ่มต้นกันที่จิตใจว่าจะกล้าหาญ เพื่อสลัดความตระหนี่ออกจากใจได้หรือไม่ ใจต้องรบชนะความโลภให้ได้เสียก่อน ท่านผู้รู้กล่าวถึงทานกับการรบไว้ว่ามีสภาพเสมอกันคือ นักรบแม้จะมีกำลังพลน้อย หากทุ่มเทชีวิตจิตใจ ใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา ชำนาญในการยุทธ์ ก็สามารถมีชัยต่อข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่าได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้จะน้อย ย่อมชนะหมู่กิเลสมากได้ เพราะวัตถุประสงค์ในการบริจาค เพื่อจะเอาชนะความตระหนี่ในตัวของเขาเอง ไม่ใช่เพื่อเอาชนะคนอื่น

เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับในปรโลก จึงสามารถสละไทยธรรมที่ตนเองมีแม้เพียงเล็กน้อยได้ ส่วนผู้ไม่รู้ทั้งหลาย แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายก่ายกองก็ให้ไม่ได้ เพราะถูกความตระหนี่ครอบงำใจไว้ เป็นผู้มีความโลภอยู่ในขันธสันดาน จึงไม่สามารถให้ทาน ผู้รู้ถึงกับสรรเสริญไว้ว่า ทักษิณาทานที่บุคคลให้จากของเล็กน้อย ก็นับว่าเสมอด้วยการให้จำนวนพัน วัตถุสิ่งของแม้เล็กน้อยที่ตัดขาดออกจากใจ พร้อมกับจิตใจกว้างใหญ่ ย่อมสามารถส่งผลให้ได้สมบัติใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนอย่างเรื่องของท่านเมณฑกเศรษฐีที่หลวงพ่อจะได้นำมากล่าวถึงกันต่อไปนี้

* ความเดิมต่อจากเมื่อครั้งก่อน ท่านเศรษฐีกำลังประสบความหิวอย่างหนัก เพราะฉาตกภัยเกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ภรรยาได้หุงข้าวมื้อสุดท้าย เพื่อยืดชีวิตของคนในครอบครัวออกไป และในขณะที่กำลังจะรับประทานอาหารเช้านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตอยู่หน้าบ้าน หลังจากที่ท่านได้เข้าสมาบัติอยู่ ๗ วัน ซึ่งตามธรรมดาของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เข้านิโรธสมาบัตินานถึง ๗ วัน โดยไม่ได้ฉันภัตตาหารเลยนั้น เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติก็ต้องมีความหิวกระหายมากเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป แต่ท่านสามารถยับยั้งไว้ได้ด้วยอำนาจของมหาสมาบัติ แต่ถ้าไม่ได้ฉันในวันที่ ๗ ก็ต้องดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน เพราะขันธ์ ๕ ไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป

ท่านเศรษฐีพอเห็นพระมาโปรดที่บ้าน เกิดมีจิตเลื่อมใส ท่านสอนตัวเองว่า “ที่เราต้องประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ เพราะเราไม่ได้ให้ทานในกาลก่อน อาหารมื้อนี้รักษาเราไว้ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนภัตที่เราถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า จะนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราหลายโกฏิกัป เราอย่าได้เห็นแก่ประโยชน์ตนเฉพาะแต่เพียงในชาตินี้เลย ด้วยจิตเลื่อมใสที่เราจะได้ถวายอาหารมื้อสุดท้ายแก่พระคุณเจ้านี้ ขอให้ภพชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราต้องอดอยากเถิด”

เมื่อตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดแล้ว จึงน้อมนำถาดภัตนั้นออกมา เดินเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เข้าไปในบ้าน เมื่อท่านนั่งบนอาสนะแล้ว จึงค่อยๆ เกลี่ยภัตในจานข้าวลงไปในบาตร เมื่อภัตเหลือครึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เอามือปิดบาตรไว้ เศรษฐีอยากได้บุญใหญ่ จึงกราบเรียนท่านว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภัตตาหารนี้เพียงพอเฉพาะคนๆ เดียวเท่านั้น ขอท่านจงอย่าสงเคราะห์กระผมในโลกนี้เลย กระผมใคร่ที่จะถวายไม่ให้มีส่วนเหลือ” จากนั้นได้ถวายภัตทั้งหมดลงในบาตร

ครั้นถวายอาหารมื้อสุดท้ายด้วยใจที่เลื่อมใสแล้ว จึงตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ข้าพเจ้าอย่าได้ประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้ ในที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดอีกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าพึงสามารถเพื่อจะให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปได้ทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่พึงงานเลี้ยงชีพด้วยมือของตนเอง ในขณะที่ข้าพเจ้าใช้ให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง และชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว นั่งอยู่ที่ประตูฉางเหล่านั้น มองดูในเบื้องบนเท่านั้น ธารแห่งข้าวสาลีแดง พึงตกลงมาในฉางทั้งหมดให้เต็ม และผู้นี้จงเป็นภรรยา ผู้นี้จงเป็นบุตร ผู้นี้จงเป็นหญิงสะใภ้ และผู้นี้จงเป็นทาสของข้าพเจ้า ในสถานที่ๆ ข้าพเจ้าเกิดแล้วเถิด”

ฝ่ายภรรยาของท่านเศรษฐี คิดว่า “เมื่อสามีของเราไม่ได้รับประทาน เราก็ไม่อาจจะรับประทานได้” จึงถวายส่วนของตัวเองแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตั้งแต่บัดนี้ไป ขอดิฉันอย่าพึงประสบกับฉาตกภัยเห็นปานนี้อีกเลย อนึ่ง เมื่อดิฉันวางถาดภัตไว้ข้างหน้า ให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหมด ตราบใดที่ดิฉันยังไม่ลุกขึ้น ขอภัตที่ดิฉันตักแล้ว จงเต็มบริบูรณ์ดุจเดิมตราบนั้น เกิดกี่ภพกี่ชาติ ท่านผู้นี้ จงเป็นสามี ผู้นี้จงเป็นบุตร ผู้นี้จงเป็นหญิงสะใภ้ และผู้นี้จงเป็นทาสของดิฉัน”

ลูกชายเศรษฐี พอเห็นพ่อแม่ทำเป็นต้นแบบอย่างนั้น ก็เกิดกำลังใจอยากทำความดีตาม ซึ่งในใจก็มีความเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่แล้ว จึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า จากนั้นก็ตั้งความปรารถนาเหมือนที่พ่อแม่อธิษฐาน จะแปลกกันอยู่ตรงที่ว่า “เมื่อข้าพเจ้าถือถุงกหาปณะหนึ่งพัน แม้ให้กหาปณะแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นอยู่ ขอถุงนี้จงเต็มอยู่อย่างเดิม”

ฝ่ายลูกสะใภ้ของเศรษฐี ก็ได้ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกัน และตั้งความปรารถนาว่า “เมื่อดิฉันตั้งกระบุงข้าวเปลือกกระบุงหนึ่งไว้ข้างหน้า แม้ให้ภัตแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ความหมดสิ้นไปอย่าได้ปรากฏ จนกว่าดิฉันจะเลิกให้”

แม้ทาสของเศรษฐีก็มีใจใหญ่ ยอมที่จะอดตายเหมือนเช่นกับเจ้านาย แต่จักไม่ยอมให้พระท่านต้องอดฉัน จึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า จากนั้นจึงตั้งความปรารถนาที่จะขออยู่กับเจ้านายไปทุกภพทุกชาติ และอธิษฐานจิตว่า “เมื่อข้าพเจ้าไถนา ขอให้สามารถไถได้เร็วเป็นพิเศษ คือ รอย ๗ รอยประมาณเท่าเรือโกลน ซ้าย-ขวาด้านละ ๓ รอย และตรงกลางอีก ๑ รอย จงบังเกิดขึ้น”

อันที่จริงแล้ว ด้วยผลบุญแห่งการถวายทานครั้งนั้น หากนายปุณณะปรารถนาตำแหน่งเสนาบดี ก็สามารถจะได้ในวันนั้น แต่เนื่องจากมีความรักในเจ้านายมาก เลยตั้งความปรารถนาว่า “ขอให้ได้เป็นคนรับใช้ของเศรษฐีไปทุกภพทุกชาติ” เมื่อทุกคนอธิษฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกระทำอนุโมทนาในการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของทุกๆ คนที่รักบุญยิ่งกว่าชีวิต แล้วท่านจึงเหาะขึ้นไปสู่ท้องฟ้า โดยบันดาลให้ทุกคนได้เห็นท่านเหาะกลับไปภูเขาคันธมาทน์ และจัดแบ่งภัตให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ด้วยอานุภาพของพระปัจเจกพุทธเจ้า ภัตนั้นสามารถแบ่งได้ทั่วถึงแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าหมดทั้ง ๕๐๐ องค์ เศรษฐีและทุกคนในครอบครัวได้เห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น ยิ่งปีติดีใจว่า ตนเองได้ถวายทานถูกเนื้อนาบุญแล้ว

ส่วนท่านเศรษฐีและครอบครัว หลังจากที่ได้ถวายภัตไปแล้ว จะต้องอดตายหรือไม่ หรือจะมีเรื่องอัศจรรย์อันใดเกิดขึ้น คงต้องมาศึกษากันในครั้งต่อไป ขอให้ทุกท่านฝึกฝนตนเองให้เป็นคนรักบุญ รักธรรมะ รักการสร้างบารมียิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะบุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเราทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า และอย่าลืมนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกันทุกๆ วัน เพียรฝึกใจให้หยุดนิ่งกันเรื่อยไปจนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๕๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17689
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “เมณฑกเศรษฐี ผู้ใจบุญ (๓)”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *