อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ยอดกัลยาณมิตร)

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ยอดกัลยาณมิตร)

เส้นทางยาวไกลในสังสารวัฏ เป็นเส้นทางที่จะต้องสั่งสมบุญบารมีให้มากๆ เพราะบุญกุศลไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะมองข้าม หรือประมาทคิดว่า จะทำเมื่อไรก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ เพราะกว่าที่เราจะไปถึงเป็นหมายที่แท้จริงของชีวิตคือ ปราบอาสวกิเลสให้หมดสิ้นได้นั้น ไม่ใช่เรื่องพอดีพอร้าย  หากเรายังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ไม่เร่งสั่งสมบุญ และทำความเพียรด้วยการทำใจหยุดนิ่งควบคู่กันไป เส้นทางนั้นก็ยิ่งจะยาวไกลออกไป ดังนั้น การสั่งสมบุญควบคู่ไปกับการหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม จึงเป็นภารกิจหลักที่เราต้องหมั่นทำเป็นประจำสม่ำเสมอ

มีวาระแห่งสุภาษิตปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย ชาดก ความว่า
“ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ ทุกข์ และตัณหาอันเป็นแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันไปจากข้าศึก ให้ถึงพระนิพพานเป็นที่เข้าไประงับทุกข์ นี้แลเป็นสรณะอันเกษม นี้เป็นสรณะอันอุดม บุคคลอาศัยสิ่งนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

ผู้ใดก็ตามที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมเป็นอยู่อย่างมีความสุข ในอดีตกาลมีพระอริยสาวกมากมาย ที่ท่านเข้าถึงพระรัตนตรัย แล้วต้องการที่จะให้เพื่อนร่วมโลกได้เข้าถึงจุดแห่งบรมสุขที่ท่านเข้าถึง หลวงพ่อจะขอกล่าวถึงบุคคลสำคัญของโลกที่มีหัวใจยอดกัลยาณมิตรคือ นอกจากจะสร้างบุญด้วยตนเองแล้ว ยังชักชวนให้เพื่อนพ้องได้มาสู่เส้นทางธรรมที่ถูกต้อง

* บุคคลท่านนี้ ท่านเป็นมหาเศรษฐี เป็นผู้ที่ประชาชน พ่อค้าคหบดีต่างก็รู้ว่า ท่านมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะอันสูงสุด แม้ว่าจะเข้าสังคมกับบุคคลที่นับถือต่างศาสนา มีความเชื่อที่แตกต่างกันท่านก็องอาจ ไม่ปิดบังคุณของพระรัตนตรัยแต่อย่างใด  ในขณะเดียวกันตัวท่านก็พยายามทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร ชักชวนเพื่อนให้มาสู่เส้นทางธรรม เพื่อจะได้ฟังธรรม และประพฤติธรรม มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านเศรษฐีได้ชวนเพื่อนกลุ่มใหญ่ถึง ๕๐๐ คนที่มีความเลื่อมใสต่อนักบวชนอกศาสนา โดยเข้าไปเป็นพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ท่านเศรษฐีดำริว่า วันนี้อยากจะชวนเพื่อนไปทำบุญฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน

พอเกิดความคิดอย่างนี้ ท่านเศรษฐีได้ชักชวนเพื่อนผู้เป็นสหายของท่านทั้ง ๕๐๐ คน ให้ถือระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นอันมาก น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และผ้าเครื่องปกปิดไปยังพระเชตวัน ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วบูชาด้วยของหอม และดอกไม้ เป็นต้น และได้ถวายทานด้วยเภสัช และผ้าแด่ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนสุดข้างหนึ่ง เพื่อนๆ ที่เป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์ ด้วยความที่เกรงใจท่านเศรษฐีก็พากันถวายบังคมพระบรมศาสดา เศรษฐีทำอย่างไรตนเองก็ได้ทำอย่างนั้น และนั่งดูพระพักตร์ของพระบรมศาสดา

แลเห็นพระพักตร์อันงามสง่าดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ เห็นพระวรกายอันประดับด้วยพระลักษณะมหาบุรุษถึงพร้อมด้วยอนุพยัญชนะ มีพระรัศมีรุ่งเรืองแผ่ออกจากพระวรกายด้านละวา พระพุทธรังสีนั้นหนาแน่นเปล่งออกเป็นวงๆ ดุจพวงอุบะเป็นคู่ๆ จึงพากันคิดอยู่ในใจว่า พระมหาสมณโคดมนี้ ช่างงดงามเหลือเกิน ไม่น่าแปลกเลยว่า ทำไมสาวกทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในองค์พระโคดมเหลือเกิน บัดนี้พวกเราได้พากันนั่งลงฟังธรรมของสมณะนั้นด้วยความคิดว่า พระองค์จะแสดงธรรมได้สมกับที่เขาร่ำลือกันแค่ไหน จึงพากันนั่งใกล้ๆ ท่าน

ขณะนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสธรรมิกถาอันไพเราะวิจิตรด้วยนัยต่างๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจท้าวมหาพรหม ทั้งน่าฟัง มีความงดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย เหล่าสาวกของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว ต่างก็มีจิตเลื่อมใสได้ลุกขึ้นถวายบังคมพระทศพล และได้ประกาศเลิกนับถืออัญญเดียรถีย์ ได้ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ตั้งแต่นั้นมาสหายของท่านเศรษฐีทั้ง ๕๐๐ ได้พากันไปสร้างบุญที่พระวิหารพร้อมกับท่านเศรษฐีเป็นประจำ ทำความปีติให้บังเกิดแก่ท่านเศรษฐีมาก ที่สามารถทำให้เพื่อนของตนกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิได้

ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จออกจากกรุงสาวัตถีกลับไปกรุงราชคฤห์ เพื่อเปลี่ยนสถานที่หลีกเร้น ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไป อดีตสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นต่างก็พากันเปลี่ยนใจได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปนับถือพวกอัญญเดียรถีย์อีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นความเชื่อเดิมของตน ครั้น ๗-๘ เดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จกลับมายังพระเชตวัน ท่านเศรษฐีพาสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดาอีกครั้งหนึ่ง ได้บูชาพระบรมศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้ เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

ท่านเศรษฐีได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเรื่องที่เพื่อนๆ ของท่านได้แปรเปลี่ยนไปในขณะที่พระองค์ไม่อยู่คือ ได้กลับไปนับถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ได้ดำรงตนอยู่ในฐานะเดิมอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเผยมณฑลพระโอษฐ์ ประดุจเปิดผอบแก้วอันเต็มด้วยของหอมต่างๆ อันมีกลิ่นหอมด้วยของหอมอันเป็นทิพย์ เพราะอานุภาพของวจีสุจริตที่ทรงบำเพ็ญมิได้ขาดสายตลอดโกฏิกัปนับไม่ถ้วน เมื่อจะทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ก็ตรัสถามว่า “ได้ยินว่าพวกท่านผู้เป็นอุบาสก ทำลายสรณะ ๓ เสีย แล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ จริงหรือ”

พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้ พากันกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุเบื้องล่างจรดอเวจีมหานรก เบื้องบนจรดภวัคคพรหม และไปตามขวางหาประมาณมิได้ ไม่มีใครที่ประเสริฐกว่าพระตถาคต บุคคลจะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ผู้ถึงพระรัตนตรัยอันประกอบด้วยอุดมคุณอย่างนี้ ชื่อว่า จะเป็นผู้บังเกิดในนรกเป็นต้นย่อมไม่มี อนึ่งผู้พ้นจากการบังเกิดในอบายแล้ว ยังจะเกิดขึ้นในเทวโลกได้เสวยมหาสมบัติ เพราะเหตุไร พวกท่านจึงพากันทำลายสรณะเห็นปานนี้ แล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ กระทำกรรมอันไม่สมควรเลย”

แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า “ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ชนเหล่านั้น จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ ละร่างกายของมนุษย์นี้ไปแล้ว จักยังกายเทพให้บริบูรณ์ มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากถูกภัยคุกคาม ย่อมถึงภูเขาบ้าง ป่าบ้าง อาราม และต้นไม้ที่เป็นเจดีย์บ้าง ว่าเป็นสรณะ นั่นแลมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันอุดม เขาอาศัยสิ่งนั้นเป็นสรณะแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ นี้แลเป็นสรณะอันเกษม นี้เป็นสรณะอันอุดม เขาอาศัยสิ่งนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแล้วตรัสถามว่า “ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ชื่อว่าพุทธานุสติกัมมัฏฐาน ธัมมานุสติกัมมัฏฐาน สังฆานุสติกัมมัฏฐาน ย่อมให้โสดาปัตติมรรค ย่อมให้โสดาปัตติผล ย่อมให้สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ย่อมให้อนาคามิมรรค อนาคามิผล ย่อมให้อรหัตมรรค อรหัตผล พวกท่านได้ทำลายสรณะเห็นปานนี้ กระทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว”

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงให้โอวาทอุบาสกทั้งหลายแล้ว ท่านเศรษฐีก็ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวชมเชยแล้วประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า “บัดนี้ การที่พวกอุบาสกเหล่านี้ ทำลายสรณะอันสูงสุดแล้ว ถือสรณะที่ผิด ยึดถือเอาด้วยการคาดคะเน ยึดถือเอาอย่างผิดๆ แล้วเกิดความเสื่อมเสียขึ้นนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมให้กระจ่างชัด ทำลายความเห็นผิดของผองเพื่อนของข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกท่านจงเงี่ยโสตฟังโดยเคารพ แล้วพระองค์ทรงแสดงธรรมประกาศอริยสัจ ในเวลาจบอริยสัจ ๔ อุบาสกทั้ง ๕๐๐ คนทั้งหมดนั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้มีความมั่นคงในพระรัตนตรัยไม่คลอนแคลน

เราจะเห็นว่า ศรัทธาของคนเรานั้นต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง หากว่าได้กัลยาณมิตรผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ ไม่ย่อท้อ อย่างเช่นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้มีหัวใจผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ที่อุตส่าห์ชักชวนเพื่อนๆ ให้เข้ามาสู่เส้นทางธรรม ทำให้ได้พบกับสันติสุขที่แท้จริง พบกับพระรัตนตรัยภายใน เมื่อท่านรู้เส้นทางที่ถูกต้องและไม่ทอดทิ้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมโลก ทั้งทำความดีด้วยตนเอง และชักชวนคนอื่นทำด้วย ถ้าเราทำอย่างนี้ สิ่งที่เราจะได้ก็คือ บุญกุศล และมหาปีติ ที่ได้ทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่โลก เราจะเกิดความภาคภูมิใจไปจนตราบชีวิตจะหาไม่

* มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๑๕๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17639
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ยอดกัลยาณมิตร)”

  1. ✨ น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *