สามเณรนิโครธ (๑)

สามเณรนิโครธ (๑)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของเรา ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว มีความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ได้เข้าถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ที่ความทุกข์ใดๆ เข้าไปไม่ถึง จึงมีแต่ความสงบเย็น เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เป็นเอกันตบรมสุข แต่กว่าที่พระองค์จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดนี้ได้ ก็ต้องสั่งสมบารมีกันมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน พวกเราซึ่งเป็นชาวพุทธก็ต้องเจริญรอยตามพระองค์ ตั้งใจสั่งสมความดีให้เต็มที่ หมั่นเจริญสมาธิภาวนากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ปัพพชิตวิเหฐกชาดก ว่า
“โย ทิสฺวา ภิกฺขุ จรณูปปนฺนํ
ปุรกฺขิตฺวา ปญฺชลิโก นมสฺสติ
ทิฏฺเฐว ธมฺเม ลภเต ปสํสํ
สคฺคญฺจ โส ยาติ สรีรเภทา

ผู้ใดเห็นภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ ให้ท่านยืนอยู่เบื้องหน้า ประคองอัญชลีนมัสการแล้ว ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปสู่สุคติสวรรค์”

ความสุขในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ เรียกว่าอามิสสุข เป็นความสุขที่เกิดจากตาได้เห็นรูปสวยๆ หูได้ยินเสียงเพราะๆ ได้รับประทานอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล เป็นต้น เป็นสุขภายนอกที่เห็นกันได้ง่าย ความสุขประการที่ ๒ คือ ความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดจากการทำความดี ได้สั่งสมบุญ คือเมื่อได้ทำบุญและสบายใจ ใจปลอดโปร่งเบาสบาย ปราศจากความโลภเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะสุขที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา เป็นความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ได้เข้าถึงธรรมภายใน เมื่อเทียบกับความสุขภายนอก เป็นสุขที่เลิศกว่า ประณีตกว่า เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย

ความสุขภายในนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ลงมือปฏิบัติ จะไม่พบกับความสุขชนิดนี้ ทำให้ไม่รู้จัก แม้อ่านจากตำรับตำราก็ยากที่จะเข้าใจ เช่น พระท่านบอกว่า ผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีความสุข จิตจะร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรมก็จะนึกค้านว่าคนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องคอยระวังไปหมด สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ จะดื่มจะเที่ยวจะเล่นก็สนุกสนานร่าเริงกว่าการรักษาศีล สนุกกว่าการนั่งหลับตา นั่นเขาคิดเข้าใจไปเอง

แต่เมื่อใดที่ได้รักษาศีล ได้ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความสุขชนิดนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย และจิตใจ หน้าตาผิวพรรณวรรณะจะผ่องใส จะพูดจาก็ไพเราะ จิตใจก็ร่าเริงเบิกบาน ผู้ที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้คือผู้ที่ประพฤติธรรม เช่นสมณะทั้งหลาย ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจให้ประพฤติธรรม ให้อยากทำความดี อยากให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะได้รับการกระตุ้นให้ทำความดีจากการได้เห็นสมณะ และเมื่อลงมือสร้างความดีให้เต็มที่ ก็ทำให้มีสุคติโลกสวรรค์

สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึงบรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนอบรมตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญามาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ สงบจากบาปอกุศล การได้เห็นสมณะท่านเรียกว่า เป็นอุดมมงคล เพราะเป็นต้นทางที่จะทำให้เราได้ทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อได้เข้าไปหา ได้สนทนาธรรม และฟังธรรม เราจะได้รู้จักเส้นทางไปสู่สวรรค์นิพพาน เหมือนดังเรื่องสามเณรนิโครธผู้เป็นสมณะน้อย แต่เป็นผู้จุดชนวนให้พระเจ้าอโศกผู้มีฝ่ามือชุ่มด้วยโลหิตเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา และช่วยยอยกพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน

* เรื่องของสามเณรนิโครธ ผู้เป็นเหล่ากอของสมณะรูปนี้มีอยู่ว่า หลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี  หลังจากที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกทำสงคราม ก็คิดจะหาความสงบพระทัย  เดิมทีพระองค์ทรงนับถือลัทธินอกพุทธศาสนาอยู่ ๓ ปี ได้ถวายภัตตาหารให้แก่นักบวชในลัทธิต่างๆ วันละหลายแสนคน พอเข้าปีที่ ๔ ก็ได้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะอานุภาพของสามเณรนิโครธ

สืบเนื่องจากพระเจ้าพินทุสารผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอโศก ได้ทรงนับถือพวกพราหมณ์ พระองค์ได้ทรงตั้งนิตยภัตไว้ให้พวกพราหมณ์ ตาปะขาว และปริพาชก เป็นต้น มีประมาณหกแสนคน พระเจ้าอโศกจึงดำเนินตามพระราชบิดา ในวันหนึ่งได้ประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นพวกพราหมณ์ ผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยมารยาทที่เหินห่างจากความสงบเรียบร้อย ไม่มีความสำรวมอินทรีย์ ทั้งไม่ได้รับฝึกหัดกิริยามารยาท จึงทรงดำริว่า “การที่เราใคร่ครวญเสียก่อนแล้วให้ทานเช่นนี้ ในเขตที่เหมาะสมจึงจะควร” ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสเรียกพวกอำมาตย์ว่า “พวกท่านจงนำสมณะ และพราหมณ์ที่คิดว่าฝึกตัวมาดีแล้ว เข้ามาในพระราชวัง เราอยากถวายทานกับเนื้อนาบุญเช่นนั้น”

พวกอำมาตย์ได้นำนักบวชนอกศาสนา มีตาปะขาว ปริพาชก อาชีวก และนิครนถ์ เป็นต้น มารับภัตตาหาร เพราะเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ พวกนักบวชที่มารับทานจากพระองค์ บางพวกนั่งบนตั่ง บางพวกนั่งบนแผ่นกระดาน นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ไม่มีอาจาระที่น่าเลื่อมใสเลย  พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาการนั่งของผู้ที่แสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์เหล่านั้นแล้ว ทรงทราบด้วยพระปัญญาของพระองค์เองว่า นักบวชเหล่านั้นไม่น่าจะมีธรรมที่เป็นสาระอยู่ภายใน พอถวายภัตตาหารแล้วทรงส่งกลับไป

มีอยู่วันหนึ่ง พระเจ้าอโศกประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นสามเณรนิโครธ ผู้ฝึกฝนตนเองมาดี มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ กำลังเดินผ่านไปทางพระลานหลวงพอดี สามเณรนิโครธก็คือหลานของพระเจ้าอโศกนั่นแหละ มารดาของสามเณรคืออดีตน้องสะใภ้ของพระเจ้าอโศก ซึ่งพระองค์ได้ประหารชีวิตพี่น้องร่วมอุทรจนหมด แต่น้องสะใภ้คนนี้สามารถหลบหนีออกนอกเมืองไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลในขณะที่ยังมีครรภ์แก่

เมื่อให้กำเนิดโอรสก็ตั้งชื่อว่า นิโครธ  ชาวบ้านได้ให้เกียรติและดูแลพระนางเป็นอย่างดี เคารพนับถือเหมือนพระเทวี นางตั้งใจเลี้ยงดูโอรสเป็นอย่างดี พอเติบโตขึ้นมีอายุได้ ๗ ขวบ พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อ มหาวรุณ ได้มารับไปบวช เพียงเวลาปลงผมเสร็จเท่านั้น สามเณรก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที

วันหนึ่งสามเณรนิโครธ ได้นุ่งสบงทรงจีวรออกบิณฑบาต และตั้งใจว่าจะไปเป็นเนื้อนาบุญโปรดโยมมารดาสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากทางลัดไปบ้านโยมมารดาจะต้องเดินผ่านพระราชนิเวศน์ เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกซึ่งกำลังประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร จึงได้ทอดพระเนตรเห็นสามเณรนิโครธ นุ่งห่มเรียบร้อย มีอินทรีย์สงบ ทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก กำลังเดินผ่านหน้าพระลานหลวง

ครั้นทอดพระเนตรเห็น ทรงรำพึงว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลาย มีจิตฟุ้งซ่านเหมือนมฤคที่วิ่งพล่าน ส่วนกุมารนี้ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน การมองดู การเหลียวดู การเหยียดแขนคู้แขน ช่างสงบเสงี่ยมสง่างามเหลือเกิน ภายในของกุมารนี้น่าจะมีโลกุตตรธรรมอย่างแน่นอน ยิ่งเพ่งพินิจดูกิริยาอาการ ก็ให้บังเกิดความเลื่อมใสในสามเณรมาก จึงรับสั่งพวกอำมาตย์ให้ไปนิมนต์สามเณรเข้ามาในพระราชมณเฑียร

ด้วยความเลื่อมใส และไม่ทันใจพระองค์ พระเจ้าอโศกจึงส่งอำมาตย์ชุดใหม่ไปโดยรับสั่งว่า จงรีบนำสามเณรรูปนั้นมาโดยเร็ว ฝ่ายสามเณรก็เดินมาตามปกติของท่านอย่างองอาจสง่างาม เมื่อสามเณรมาถึงแล้ว จะสามารถยกใจพระเจ้าอโศกให้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่อย่างไร เรามาคอยติดตามศึกษากันต่อไป

เราจะเห็นว่า คนที่มีจิตใจสงบ สามารถสยบผู้ที่มีจิตใจว้าวุ่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่ฝึกฝนตนเองมาอย่างดีแล้วคือ เป็นคนสงบกาย วาจา ใจ ผลแห่งการฝึกตัวมาอย่างดีนี้ จะส่งผลดีไปถึงคนรอบข้างที่ได้พบเห็น ใครได้พบเห็นและจะประทับใจ อยากเข้าใกล้ อยากสนทนาปราศรัยด้วย  ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนอบรมตนกันให้ดี ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จะได้ช่วยกันยอยกพระพุทธศาสนา ช่วยกันแนะนำเส้นทางสวรรค์นิพพานให้กับเพื่อนร่วมโลกที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องโลกและชีวิต และมุ่งทำใจให้ใสบริสุทธิ์อยู่เสมอ ทำใจหยุดใจนิ่งกันเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน

* มก. เล่ม ๑ หน้า ๘๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17113
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

2 thoughts on “สามเณรนิโครธ (๑)”

  1. 🌟น้อมกราบสาธุ สาธุ สาธุครับ🌟
    🏵️💮🌺🌸🌼🏵️🌼🌸🌺💮🏵️

  2. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *