พุทธชิโนรส (๖) – พระราหุลเถระ

พุทธชิโนรส (๖)

ภายใต้กระแสโลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อจะเอาชนะ บางคนต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ชัยชนะภายนอกยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง เพราะผู้ชนะย่อมก่อเวร จากคู่แข่งเปลี่ยนมาเป็นคู่แค้น เป็นชัยชนะที่ไม่ยั่งยืน วันหนึ่งก็ต้องกลับพ่ายแพ้ ไม่มีใครที่เป็นผู้ชนะตลอดกาล แต่สำหรับนักสร้างบารมีแล้ว เราต้องเร่งสร้างบารมีแข่งกับวันเวลาของชีวิตที่เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่คือคู่แข่งที่แท้จริงของเรา แม้เวลาจะเหลือน้อยลง แต่บุญบารมีของเราต้องให้เพิ่มขึ้นทับทวี ทั้งทาน ศีล ภาวนา สิ่งเดียวเท่านั้นที่เราจะต้องเอาชนะคือ กิเลสอาสวะภายใน ยามใดที่เรากำจัดกิเลสอาสวะได้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง เป็นชัยชนะที่มีแต่ความสุขล้วนๆ เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีวันกลับมาแพ้อีก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สุภสูตร ทีฆนิกาย ว่า
“ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียแล้ว ชนเหล่าใดสำรวมดีแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชนเหล่านั้น ย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้น ไม่เดินตามหลังมาร”

การสำรวมกาย วาจา ใจ เป็นการสั่งสมความบริสุทธิ์ตั้งแต่กายภายนอก เข้าไปสู่จิตใจภายใน ความบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถกำจัดกิเลสอาสวะเอาชนะพญามารได้ เมื่อความบริสุทธิ์เต็มเปี่ยม ความสะดุ้งกลัวต่อพญามารจะหมดสิ้นไป แต่กลับเป็นฝ่ายมารที่สะดุ้งกลัวต่อบุคคลผู้มีกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์บริบูรณ์เต็มเปี่ยม ดังนั้น ความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยมเหมือนกับพระราหุล ที่ท่านรักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ชีวประวัติของท่านน่าสนใจอย่างมาก สมแล้วที่ได้เป็นพุทธชิโนรส เป็นโอรสทั้งทางโลก และทางธรรม

เมื่อครั้งที่แล้วได้เล่าถึงตอนที่สามเณรราหุลบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุ แม้บวชแล้วท่านก็ยังคงหาโอกาสรับโอวาทจากพระพุทธองค์อยู่เสมอ ท่านประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และอยู่ในโอวาทเสมอมา เมื่อบวชพระได้ครึ่งพรรษา ท่านได้รับโอวาทจากพระพุทธองค์ว่า

* “ดูก่อนราหุล เธอประสงค์จะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ต้องพิจารณากรรมนั้นก่อนว่า กรรมนี้ที่เราประสงค์จะทำด้วยกาย วาจา หรือใจนั้น จะเป็นการเบียดเบียนตัวเรา เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งตัวเราและผู้อื่นหรือไม่ กรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผลหรือไม่หนอ ถ้าหากเธอเห็นว่า จะเป็นการเบียดเบียนตัวเราหรือผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งตัวเราและผู้อื่น กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล ก็ไม่ควรทำกรรมนั้น

แต่ถ้าหากเธอพิจารณาเห็นว่า กรรมนี้ที่เราประสงค์จะทำด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเรา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนทั้งตัวเราและผู้อื่น กรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นผล จึงควรทำกรรมนั้น และในเวลาที่เธอทำกรรมนั้นอยู่ ควรคิดอย่างนี้เรื่อยไป หากเธอพิจารณาเห็นว่า กรรมนี้ที่เรากำลังทำด้วยกาย วาจา หรือใจ จะเป็นการเบียดเบียนตัวเราหรือผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งตัวเรา และผู้อื่น เธอพึงเลิกทำกรรมนั้นเสีย

แต่ถ้าหากเธอพิจารณาเห็นว่า กรรมนี้ที่เรากำลังทำด้วยกาย ไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเรา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนทั้งตัวเราและผู้อื่น เธอพึงทำกรรมนั้นต่อไป แม้ครั้นเธอทำกรรมนั้นด้วยกายแล้ว ควรพิจารณาดูอย่างนั้นอีก ถ้าเธอเห็นว่า กรรมที่เราทำนี้ เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล ให้เธอเปิดเผยต่อครูบาอาจารย์ หรือต่อเพื่อนพรหมจรรย์ในพระศาสนา แล้วเธอพึงสำรวมระวังต่อไป

เมื่อเธอพิจารณาเห็นว่า กรรมนี้ที่เราทำด้วยกาย วาจา ใจ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นผล เธอพึงมีปีติปราโมทย์ แล้วตั้งใจศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวัน และกลางคืน ดูก่อนราหุล สมณะหรือพราหมณ์ทุกจำพวกในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้ชำระกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์ ล้วนต่างก็พิจารณาอย่างนี้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เธอควรศึกษาว่า เราจะพิจารณาบ่อยๆ แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเราให้บริสุทธิ์”

วันหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ตรัสพระธรรมเทศนาปรารภถึงมารเข้ามาผจญพระราหุลว่า ในยามวิกาลวันหนึ่งมีพระเถระจำนวนมากพากันเดินทางมาเพื่อฟังธรรม เห็นพระราหุลบวชใหม่ ก็บอกให้ท่านไปหาที่จำวัดในที่อื่น ซึ่งในตอนนั้นพระราหุลได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว แต่เพิ่งบวชพระยังไม่ทันได้พรรษา

เนื่องจากพระราหุลเป็นคนว่าง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อพระเถระอาคันตุกะ ท่านจึงลุกออกไปจากที่พัก เมื่อหาที่จำวัดที่เหมาะสมภายในพระเชตวันไม่ได้ ท่านจึงได้ไปนอนอยู่หน้ามุขพระคันธกุฏีของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในขณะนั้นเอง ท้าววสวัตดีมารได้เห็นพระราหุลจำวัดอยู่ที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จึงคิดว่า พระหน่อเนื้อพุทธางกูรผู้เป็นเสมือนแก้วตาดวงใจของพระสมณโคดมนอนอยู่ข้างนอก ส่วนพระองค์บรรทมอยู่ภายในพระคันธกุฎี เมื่อเราบีบคั้นพระโอรส พระพุทธองค์ก็จะเป็นเหมือนถูกบีบคั้นไปด้วย มารผู้ลามกเมื่อคิดแล้ว ก็แปลงเป็นช้างใหญ่แล้วเอางวงรัดศีรษะของพระราหุล และมารยังได้ส่งเสียงแผดร้องดังลั่น

พระบรมศาสดาบรรทมอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่า ช้างนั้นเป็นท้าววสวัตดีมาร จึงตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้ลามก บุคคลเช่นท่าน แม้มีจำนวนเป็นแสน ก็ไม่สามารถเพื่อจะทำให้ราหุลบุตรของเราเกิดความสะดุ้งกลัวได้ เพราะบุตรของตถาคตเป็นผู้มีปกติไม่สะดุ้งกลัว ไม่มีตัณหา มีความเพียรมาก มีปัญญามาก” จากนั้นก็ได้ตรัสต่ออีกว่า

“ภิกษุผู้ถึงความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสะดุ้งกลัว ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนใจ ฉลาดในนิรุตติ และบท รู้จักความประชุมเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งอักษรทั้งหลาย ภิกษุนั้น ตถาคตกล่าวว่า มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ” ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบ ท้าววสวัตตีมารผู้มีใจบาปก็ได้อันตรธานหายไป เพราะคิดว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้าทรงรู้จักตัวเรา

จะเห็นได้ว่า การสั่งสมความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่เราต้องหมั่นสั่งสมไปเรื่อยๆ เพราะความบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้น จะกำจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองอันเป็นมลทินของใจ ออกไปทีละเล็กทีละน้อย แม้ท่านพระราหุลจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังต้องสำรวมระวังกาย วาจา ไม่ให้ไปกระทบใคร ส่วนใจของท่านบริสุทธิ์แล้ว ความคิดเบียดเบียน หรือพยาบาทไม่มีอีกต่อไป แต่การกระทำอาจพลั้งพลาดไปทำให้ใครขุ่นเคืองใจก็ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานโอวาทให้ท่านฟังบ่อยๆ

ส่วนว่าหน้าที่ของเราในการเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ ก็เริ่มจากหมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บุญที่เราสั่งสมบ่อยๆ จะชำระกาย วาจา ใจของเราให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เหมือนนายช่างทองขจัดสนิมทองออกไปทีละน้อย โดยเฉพาะความบริสุทธิ์ของใจที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่ง ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ เป็นความบริสุทธิ์ที่มาคู่กับความสุข เหมือนเพชรที่คู่กับความใสและความสว่าง ยิ่งใจเราหยุดนิ่งมาก ยิ่งมีความบริสุทธิ์มาก มีความสุขมาก และเมื่อความบริสุทธิ์เต็มเปี่ยม เราจะเป็นผู้ที่พญามารสะดุ้งกลัว เพราะกิเลสอาสวะเข้ามาปนเป็นไม่ได้ สมบัติทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นกับเรา จะบริสุทธิ์ตามไปด้วย ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนกระทั่งวิชชาธรรมกายก็จะเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย จะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดทะลุปรุโปร่งในธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะต้องสั่งสมไว้มากๆ ให้สมกับเป็นนักสร้างบารมี นักรบแห่งกองทัพธรรม ที่ได้สร้างบารมีกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน

* มก. เล่ม ๒๐ หน้า ๒๖๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17101
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “พุทธชิโนรส (๖) – พระราหุลเถระ”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *