พุทธชิโนรส (๓) – พระราหุลเถระ

พุทธชิโนรส (๓)

เวลาเป็นสิ่งที่เราควรหวงแหนไว้ เพราะเรามีเวลาที่จะอยู่บนโลกนี้อย่างจำกัด การเสียเวลาของชีวิตจึงเป็นการสูญเสียสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง เวลาที่เราเสียไปแล้วจะเอาทรัพย์นับพันล้านมาแลกกลับคืนมาก็ไม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้นำความแก่ ความเจ็บ และความตายมาให้ นั่นหมายถึงโอกาสและเวลาในการสร้างบารมีของเราเหลือน้อยลงแล้ว ดังนั้น เวลาจึงหมายถึงชีวิต หมดเวลาคือหมดชีวิต เราเองไม่รู้ว่าเราจะเหลือเวลาอีกเท่าไร มากหรือน้อยขนาดไหน เพราะความตายนั้นไม่มีนิมิตหมาย ดังนั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้ จึงควรใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่น้อยนี้ ในการแสวงหาหนทางพระนิพพาน ด้วยการทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้ เราจะได้ชื่อว่าเกิดมาใช้เวลาได้คุ้มค่าอย่างแท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ตรัสไว้ใน จิตตวรรค คาถาธรรมบท ว่า
“น ตํ มาตา ปิตา กยิรา    อญฺเญ วา จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ        เสยฺยโส นํ ตโต กเรฯ

มารดาบิดาหรือว่าหมู่ญาติทั้งหลาย ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้ แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ พึงทำบุคคลนั้นให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น”

มารดาบิดาหรือหมู่ญาติ ให้การเลี้ยงดูบุตรธิดา ให้การศึกษา ให้ทรัพย์สมบัติ เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตในปัจจุบันชาติได้อย่างสบาย แต่ไม่มีมารดาบิดาคนใดในยุคปัจจุบันนี้ ที่จะสามารถมอบความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง ๔ ให้แก่ลูกได้ ไม่ต้องพูดถึงโลกุตตรสมบัติ หรือโลกิยสมบัติมีปฐมฌาน เป็นต้น ยิ่งถ้าเป็นโลกุตตรสมบัติยิ่งยาก แต่ว่าจิตที่บุคคลตั้งไว้โดยชอบเท่านั้น จึงจะสามารถให้สมบัติเหล่านั้นได้ทั้งหมด เหมือนกับเรื่องราวการสร้างบารมีของพระราหุลเถระ ที่ตั้งจิตไว้ชอบ จึงทำให้สามารถได้สมบัติใหญ่ทั้งหลายในอนาคตได้

* ครั้งก่อนได้กล่าวถึงตอนที่ปฐวินทรพญานาค ถวายมหาทานกับพระบรมศาสดาตลอด ๗ วัน และตั้งความปรารถนาให้ได้บังเกิดเป็นพระโอรสของพระพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จากนั้นก็ไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราชพร้อมกับท้าววิรูปักษ์ แล้วทูลพระองค์ว่า “ข้าพระองค์ทำบุญแล้ว แต่มิได้ปรารถนาให้มาเกิดในเทวโลกนี้ พระเจ้าข้า” ท้าวสักกะจึงตรัสถามหาสาเหตุว่า “ก็ท่านเห็นโทษหรือความไม่ดีอะไรหรือ”

พญานาคทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นความไม่ดีแต่อย่างใด แต่ได้เห็นอุปเรวตสามเณร ผู้เป็นพระโอรสของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดความประทับใจ จึงตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธชิโนรสในอนาคตกาล พระเจ้าข้า” เมื่อพญานาคทูลชี้แจงให้ทรงทราบและทูลเชิญชวนว่า “ข้าแต่จอมเทพ ข้าพระองค์มีความประสงค์จะขอให้พระองค์ทรงตั้งความปรารถนาไว้สักอย่างหนึ่งเถิด เพื่อว่าเราทั้งสองจะได้เกิดมาสร้างบารมีร่วมกันอีก ไม่ต้องพลัดพรากจากกันในชาติต่อไป”

สมเด็จอมรินทราธิราชทรงรับคำของพญานาค ต่อมาได้ทรงทัศนาภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง ทรงพิจารณาว่า “กุลบุตรนี้ออกจากตระกูลไหนบรรพชาหนอ” ครั้นทราบว่า “กุลบุตรนี้เป็นบุตรของตระกูลที่มีบุญวาสนา และเป็นกุลบุตรผู้มีศรัทธามาก ขออนุญาตมารดาบิดาออกบวช ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยอมอดอาหารอยู่ถึง ๑๔ วัน เพื่อให้ได้บวชในพระพุทธศาสนา”

ครั้นพระองค์ทรงทราบแล้ว ได้ทำสักการบูชาแด่พระชินสีห์อยู่ถึง ๗ วัน จากนั้นทรงตั้งความปรารถนาว่า “ข้าแต่พระชินเจ้า ด้วยอำนาจแห่งมหากุศลนี้ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธาในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนกับพระภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธารูปนี้เถิด พระเจ้าข้า”

พระตถาคตเจ้าทรงเห็นด้วยอนาคตังสญาณว่า “ปณิธานของท้าวสักกะจักสำเร็จ” จึงทรงพยากรณ์ว่า “มหาบพิตร พระองค์จะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ในพระศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า”

เมื่อเวลาล่วงมาถึงพระศาสนาของพระผุสสสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกัปที่ ๙๒ จากภัทรกัปนี้ ท้าวสักกเทวราชได้มาเกิดเป็นเจ้าหน้าที่จัดไทยธรรมถวายแก่พระสงฆ์ โดยคอยรับใช้พระราชโอรส ๓ พระองค์ ของพระมหินทราชา ได้ทรงร่วมกันสมาทานศีล ๑๐ และทรงบริจาคทาน

มาในภพชาติสุดท้าย ท่านได้มาเกิดเป็นลูกเศรษฐีมีนามว่า รัฐบาล ท่านได้ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งได้รับยกย่องให้เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายฝ่ายผู้บวชด้วยศรัทธา สมดังมโนปณิธานที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้

ฝ่ายพญานาคปฐวินทรนั้น ได้กลับมาเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากิกิ ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีพระนามว่า ปฐวินทรราชกุมาร มีพระกนิษฐภคินีอยู่ ๗ พระองค์ด้วยกัน ซึ่งทั้ง ๗ พระองค์นั้น ต่างพากันสร้างวิหารขึ้น ๗ แห่งถวายพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภายหลังเมื่อพระราชกุมารนั้นได้รับตำแหน่งเป็นอุปราช ก็ตรัสขอวิหารกับพระกนิษฐภคินีทั้ง ๗ พระองค์นั้นว่า “พระน้องนางทั้งหลาย วิหารทั้ง ๗ แห่งที่น้องๆ ทั้ง ๗ ได้ช่วยกันสร้างไว้นั้น ขอจงแบ่งให้พี่สักวิหารหนึ่งเถิด”

พระกนิษฐภคินีทั้ง ๗ พระองค์ พากันทูลปฏิเสธว่า “พระเจ้าพี่ แทนที่ท่านจะประทานแก่น้องๆ แต่กลับมาขอแบ่งกับพวกเรา พระเจ้าพี่ได้เป็นอุปราชแล้ว ขอจงสร้างบริเวณวิหารขึ้นใหม่เถิด” เมื่อพระปฐวินทรอุปราชได้สดับเช่นนั้นแล้ว ทรงมีพระวิริยอุตสาหะสั่งให้สร้างวิหารขึ้นใหม่ เป็นวิหารที่มีกุฏิถึง ๕๐๐ หลัง และพระองค์ได้สั่งสมบุญกุศลจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อละจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก

ในยุคพุทธกาลนี้ พระปฐวินทรอุปราชได้มาบังเกิดเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ และพระนางพิมพา ในเมืองกบิลพัสดุ์ ในวันที่ประสูติจากครรภ์ของพระมารดานั้น ตรงกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเสด็จออกผนวชพอดี และทรงได้รับการขนานพระนามว่าราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง ที่ทรงพระนามเช่นนี้ เพราะว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงอุทานในเวลาที่พระโอรสประสูติว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ ซึ่งแปลว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้ว เครื่องพันธนาการเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าพระราหุลท่านจะมีพระนามในความหมายว่าบ่วง แต่ท่านสามารถหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารได้ เรื่องราวการออกผนวช เพื่อหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารของพระราหุลกุมาร จะเป็นอย่างไรนั้น เราคงต้องมาติดตามกันในครั้งต่อไป

เราจะเห็นได้ว่า การสร้างบุญแล้วตั้งความปรารถนาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเรือปราศจากหางเสือแล้วคงไปไม่ถึงจุดหมาย ชีวิตถ้าปราศจากการอธิษฐานจิต ก็ยากที่จะไปถึงจุดหมายเช่นกัน การอธิษฐานจิตเป็นการตั้งผังสำเร็จให้กับตัวเรา เมื่อมีความปรารถนา อีกไม่นานความสำเร็จก็จะตามมา  ดังนั้น ทุกครั้งที่ทำความดีเราต้องอธิษฐานจิตให้ดี อธิษฐานอะไรก็ได้ที่ถูกต้องดีงาม แต่อย่าลืมอธิษฐานให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานด้วย เพราะพระนิพพานเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของทุกชีวิต และก็หมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๓๒ หน้า ๓๙๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17084
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *