ผู้ชนะสิบทิศ จักรพรรดิราชติโลกวิชัย ตอนที่ ๔ ( พลานุภาพแห่งบุญ )

ผู้ชนะสิบทิศ ตอนที่ ๔ ( พลานุภาพแห่งบุญ )

ไม่มีผู้เสมอด้วยปัญญา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำ และในป่า อาหารทิพย์ รัตนะทุกอย่าง ของหอมทุกชนิด ยวดยานทุกชนิด ดอกไม้ทุกชนิด สิ่งที่เราปรารถนาเข้ามาหาเรา เราเป็นใหญ่กว่าเทวดา และมนุษย์ เป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยรูปลักษณะ

สังขารร่างกายของเราทุกคน กำลังเดินทางไปสู่ความเสื่อมสลาย ร่างกายที่เคยแข็งแรง ก็อ่อนแอลงไปตามกาลเวลา บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายจึงดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท เพราะตระหนักดีว่า คุณค่าที่แท้จริงและเป็นแก่นสารของชีวิตนั้น คือ การสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเป็นเสบียงเดินทางไกลในสังสารวัฏ จนกว่าจะสามารถกำจัดอาสวกิเลสทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไป ได้เข้าถึงพระนิพพานอันเกษม

มีวาระแห่งภาษิตใน พุทธาปทาน ความว่า

ไม่มีผู้เสมอด้วยปัญญา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่ แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำ และในป่า อาหารทิพย์ รัตนะทุกอย่าง ของหอมทุกชนิด ยวดยานทุกชนิด ดอกไม้ทุกชนิด สิ่งที่เราปรารถนาเข้ามาหาเรา เราเป็นใหญ่กว่าเทวดา และมนุษย์ เป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยรูปลักษณะ

นี่เป็นคำกล่าวของพระเจ้าติโลกวิชัย วันนี้จะนำเรื่องราวของพระองค์มาเล่าต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากที่พระองค์ได้สร้างมหาทานบารมี และได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ทำให้สรรพสัตว์ทั่วทั้งโลกธาตุต่างยินดีปรีดา พากันตั้งความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะในศาสนาของพระองค์ โลกในยุคนั้นสว่างไสวด้วยแสงธรรม เพราะทุกคนประพฤติปฏิบัติธรรมกันเป็นปกติ

*พระองค์ทรงอาศัยอยู่ในรัตนมหาปราสาท ในปราสาทแก้ว มีสิ่งที่ทำให้รื่นรมย์ใจมากมาย รอบปราสาทมีนกยูงรำแพน หางดูสวยงาม มีหงส์ทิพย์ส่งเสียงไพเราะขับกล่อม และหมู่นกการะเวกก็พากันขับขาน กลองทุกชนิดดังขึ้นเอง พิณทุกชนิดก็ดีดขึ้นเอง เครื่องสังคีตทุกชนิดบรรเลงเองอย่างน่าอัศจรรย์ และยังมีบัลลังก์ทองใหญ่ที่มีรัศมีสว่างไสว ตั้งอยู่ในกำหนด พุทธเขต และในหมื่นจักรวาลเรียงรายสวยงามมาก

ในแต่ละที่ จะมีต้นไม้ประจำทวีป ต้นไม้ประจำทวีปทั้งหมดต่างส่องแสงสว่างเป็นอย่างเดียวกันสืบต่อกันไป หญิงนักร้องฟ้อนรำก็เต้นรำขับร้องไป สร้างความเบิกบานสราญใจให้พระเจ้าจักรพรรดิ และยังมีเหล่านางอัปสร ประดับประดาด้วย เครื่องประดับทิพย์สวยงาม พากันมาปรากฏอยู่รายรอบปราสาท พระเจ้าติโลกวิชัยยังให้ชักธงทุกชนิดมี ๕ สี งามวิจิตรประดับไว้บนยอดไม้ ยอดภูเขา และบนยอดเขาสิเนรุ เมื่อหมู่มนุษย์ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ และเทวดาเข้ามาหาพระองค์ ต่างก็ประณมมือไหว้แวดล้อมปราสาทอยู่

พระเจ้าจักรพรรดิมีเมตตาต่อผู้อยู่ในเขตแดนที่ปกครอง พระองค์จะตั้งจิตอธิษฐานว่า ปวงสัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเป็นอยู่ทุกจำพวก ขอจงได้อาหารอันน่าพอใจด้วยใจของเรา เมื่อตั้งจิตอย่างนี้ อาหารทั้งหลายก็บังเกิดขึ้น พระองค์สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งโลกเพียงแค่ใจนึกคิดเท่านั้น นี้เป็นพลานุภาพที่เกิดจากการสร้างบารมี ที่ท่านให้ทานอย่างหมดใจ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ รวมถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระอรหันตเจ้าทั้งปวง

เมื่อพระองค์สวรรคต จักรแก้วก็อันตรธานหายไป สาเหตุที่จักรแก้วหายไปนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ การสวรรคตของพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระเจ้าจักรพรรดิทรงออกผนวช จักรแก้วจะอันตรธานหายไปก็ต่อเมื่อผ่านไป ๗ วัน นับจากวันสวรรคตหรือทรงออกผนวช

ในจักรวาลหนึ่งจะมีพระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้นได้ครั้งละพระองค์เดียวเท่านั้น พระเจ้าจักรพรรดิจะไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์ เพราะจะทำให้มนุษย์ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์บารมีไม่เท่ากัน ความคิด คำพูด และการกระทำก็จะไม่เสมอกัน สรรพสัตว์ที่อยู่ในโอวาทของพระเจ้าจักรพรรดิก็จะไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน และอานุภาพแห่งจักรแก้ว มีมากเกินกว่าจักรวาลเดียวจะรับได้ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิรบชนะ พิชิตไปทั้ง ๔ ทวีป จักรแก้วจะลอยสถิตนิ่งๆ ท่ามกลางนภากาศ เพราะหากมีการเคลื่อนไหวสักเล็กน้อย นั่นจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์นั้น ดังนั้น เวลาที่พระเจ้าจักรพรรดิปรารถนาที่จะรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง และเป็นการเตรียมพระองค์ไว้ก่อน พระองค์ จะสั่งให้ขึงเชือกไว้ทั้งข้างล่างและข้างบนของจักรแก้ว จากนั้นราชบุรุษจะไปวัดระดับของการเคลื่อนย้ายของจักรรัตนะนั้น ทุกๆ วัน หลังจากที่พระเจ้าติโลกวิชัยจักรพรรดิราชสวรรคตแล้ว จักรแก้วนั้นก็อันตรธานไป

ด้วยอำนาจแห่งความดีที่ท่านได้สั่งสม และด้วยการตั้งความปรารถนาของพระองค์ ครั้นละโลกแล้ว ท่านได้บังเกิดบนดาวดึงสพิภพ ท่องเที่ยวอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้น คือ เป็นเทวดาและมนุษย์โดยไม่รู้จักคติอื่นเลย นี้เป็นผลแห่งการตั้งความปรารถนาด้วยใจ ตอนเป็นเทพบุตรก็เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย เป็นมนุษย์ก็เป็นใหญ่ในเมืองมนุษย์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ ไม่มีผู้เสมอด้วยปัญญา

บุญที่สร้างไว้ดีแล้วนั้น ทำให้ท่านสมความปรารถนาในทุกสิ่ง หากปรารถนาสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นโภชนาหาร รัตนะอันมีค่า หรือผ้าชนิดต่างๆ เพียงแค่ท่านนึกถึง และชี้มือไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำ หรือในป่า สิ่งที่ต้องการ จะน้อมเข้ามาหาท่านทันที

พระองค์ท่านถึงกับเปล่งอุทานว่า ” เราปรารถนาของหอม ชี้มือไปในป่า ของหอมทุกอย่างย่อมบังเกิดขึ้นแก่เรา เราปรารถนายวดยาน ชี้มือไปบนอากาศ ยวดยานทุกชนิดย่อมเข้ามาหาเรา เราปรารถนาดอกไม้ ชี้มือไปในแผ่นดิน ดอกไม้ทุกชนิด ย่อมเข้ามาหาเรา เราปรารถนาเครื่องประดับ ของเคี้ยว น้ำผึ้ง น้ำตาล เพียงแค่ชี้มือเท่านั้น เครื่องประดับ ของเคี้ยว น้ำผึ้ง น้ำตาล ก็บังเกิดขึ้นแก่เรา ” นี่เป็นพลานุภาพแห่งบุญที่พระองค์ได้สั่งสมไว้อย่างดีแล้วในภพชาตินั้น

พระองค์ท่านให้ทานแก่คนไม่มีทรัพย์ คนเดินทางไกล ยาจก เพื่อต้องการบรรลุพระสัมโพธิญาณอันประเสริฐ เพียงตั้งความปรารถนา มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกต่างร่าเริงยินดีที่จะได้มีส่วนในบุญกับพระพุทธเจ้า และในภพนั้น ท่านได้ท่องไปทั่วทิศทั้งสิบ ที่มีพุทธเขตนับไม่ถ้วน ได้สร้างบารมีอย่างเต็มที่ด้วยกายมนุษย์ สำเร็จทุกอย่าง ดุจของทิพย์ที่สำเร็จได้ด้วยใจปรารถนา นอกจากนั้นท่านยังได้อธิษฐานว่า ” ในอนาคตกาลเราจะตีกลองอมฤตธรรมมีเสียงบันลือไพเราะ สละสลวย ปวงชนที่ตามเรามา จงได้ยินเสียงอันไพเราะของเรา เมื่อเมฆฝน คือ ธรรมธาราตกลงมา ปวงชนจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ แม้ผู้มีบารมีอ่อนที่สุด ก็ขอให้บรรลุธรรมาภิสมัย เราได้ให้ทานที่ควรให้ บำเพ็ญศีลโดยไม่เหลือ ถือเนกขัมมบารมี เพื่อบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม ”

เมื่อท่านกล่าวถึงตรงนี้ ท่านก็ได้กล่าวเตือนมวลมนุษย์ทั้งหลายว่า ” ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านและความวิวาทโดยเป็นภัย และเห็นความเพียรความไม่วิวาทโดยเป็นความเกษม จงปรารภความเพียร กล่าววาจาอ่อนหวานแก่กันและกัน จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพระพุทธเจ้าและ
พระอรหันต์ทั้งหลายมาประชุมกัน ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้บูชา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเถิด เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย พระธรรมของพระองค์ก็เป็นอจินไตย เมื่อบุคคลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรมอันเป็นอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย ”

เราจะเห็นว่า ชีวิตของผู้ชนะสิบทิศที่แท้จริงนั้น คือผู้ที่เห็นคุณค่าของการสร้างบารมี จะแสวงหาทางสร้างบารมีไปทั่วทุกทิศ ด้วยใจที่เคารพเลื่อมใสไม่มีประมาณ และจะสร้างบารมีจนหมดใจ จะไม่ประมาทในการสร้างบารมี แม้จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่งแล้วก็ตาม ดังนั้น พวกเราควรประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์ ทำอย่างเต็มที่เต็มกำลังของเรา การเกิดมาในภพชาตินี้ จะคุ้มค่าสมกับที่ได้เกิดมาพบต้นแบบแห่งการสร้างบารมี

*มก. พุทธาปทาน เล่ม ๗๐ หน้า ๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/324
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *