กัณฑ์ ๒๓ ปัพพโตปมคาถา

กัณฑ์ที่ ๒๓ ปัพพโตปมคาถา

๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ (๓ หน)

ยถาปิ เสลา วิปุลา นภํ อาหจฺจ ปพฺพตา
สมนฺตา อนุปริเยยฺยํุ นิปฺโปเถนฺตา จตุทฺทิสา
เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ อธิวตฺตนฺติ ปาณิโน
ขตฺติเย พฺราหฺมเณ เวสฺเส สุทฺเท จณฺฑาลปุกฺกุเส
น กิญฺจิ ปริวชฺเชติ สพฺพเมวาภิมทฺทติ
น ตตฺถ หตฺถีนํ ภูมิ น รถานํ น ปตฺติยา
น จาปิ มนฺตยุทฺเธน สกฺกา เชตุํ ธเนน วา
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน
พุทฺเธ ธมฺเม จ สงฺเฆ จ ธีโร สทฺธํ นิเวสเย
โย ธมฺมจารี กาเยน วาจาย อุท เจตสา
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทตีติฯ

สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๔๑๕/๑๔๘-๑๔๙

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา ว่าด้วยปัพพโตปมคาถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภถึงภูเขาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ด้วยบัดนี้เราท่านทั้งหลายหญิงชายทุกถ้วนหน้า ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตบรรดามาสโมสรในที่นี้ ล้วนมีสวนะเจตนาใคร่เพื่อจะสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เพราะเราท่านทั้งหลายหญิงชายทุกถ้วนหน้าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ตั้งแต่วัยเด็กเล็กมาก็แปรไปเป็นลำดับ นับว่าไม่มีใครหยุดยั้งลงสักวินาทีเดียว หยุดยั้งที่ไม่แปรไปอนุวินาทีเดียวก็ไม่มี พอเกิดมาก็แปรเรื่อย อนุวินาทีเดียว ไม่มีเลยที่หยุดยั้งอยู่ แปรไปเรื่อย ไม่มีหยุดยั้งตั้งแต่นิดเดียวจนกระทั่งถึงวินาศดับสูญไป ไม่เหลือเลยแต่คนเดียว ตั้งแต่บุรพชนต้นตระกูลของเรามาจนกระทั่งบัดนี้หญิงก็ดี ชายก็ดีเหมือนกันหมด ปรากฏว่าพอเกิดมาก็แปรไป อนุวินาทีหนึ่งมิได้หยุดแปรไป ปัจจุบันแปรไปทีละนิดๆ จนกระทั่งดับจิตทุกคน บางคนก็ไม่ถึงที่สุดชีวิต ดับเสียในต้นชีวิต บางคนก็ไม่ถึงกลางชีวิต ดับเสียในก่อนกลางชีวิต บางคนก็ไม่ถึงปลายชีวิต ดับเสียก่อนปลายชีวิต บางคนมีบุญวาสนาเต็มฤทธิ์จึงจะถึงปลายชีวิต เป็นดังนี้เสมอไป ถ้าไม่มีบุญวาสนาเต็มด้วยฤทธิ์แล้ว ไม่ถึงปลายชีวิตสักคนเดียว

ดังนั้นจึงน่าสังเวช น่าสลดใจ พระจอมไตรจึงได้ทรงรับสั่งเทศนาว่า ยถาปิ เสลา วิปุลา นภํ อาหจฺจ ปพฺพตา สมนฺตา อนุปริเยยฺยํุ นิปฺโปเถนฺตา จตุทฺทิสา แปลเป็นสยามภาษาว่า ภูเขาทั้งหลายล้วนแล้วด้วยศิลาอันไพบูลย์สูงจรดฟ้า หมุนบดสัตว์เข้ามาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศแม้ฉันใด เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ อธิวตฺตนฺติ ปาณิโน ความแก่และความตายย่อมท่วมท้นสัตว์ทั้งหลายฉันนั้นเทียว ขตฺติเย จะเป็นกษัตริย์ก็ตาม พฺราหฺมเณ จะเป็นพราหมณ์ก็ตาม เวสฺเส เป็นพลเรือนก็ตาม สุทฺเท เป็นไพร่ก็ตาม จณฺทาล เป็นคนครึ่งชาติก็ตาม ปุกฺกุเส เป็นคนเทหยากเยื่อเชื้อฝอยก็ตาม น กิญฺจิ ปริวชฺเชติ ไม่งดเว้นอะไรๆ ไว้เลยให้หลงเหลือ ย่อมท่วมทับหมดทั้งสิ้น น ตตฺถ หตฺถีนํ ภูมิ ภูมิเป็นที่ไปของช้างทั้งหลายในความแก่และความตาย นั้นย่อมไม่มี ภูมิเป็นที่ไปของรถทั้งหลายในความแก่และความตายนั้นย่อมไม่มี หรือ คนเดินเท้า คนเดินเท้านั้น ทหารที่จะเข้าไปรบเดินไปด้วยเท้า เขาเรียกว่าทหารราบ เดินไปตามพื้นดิน คนเดินเท้าไปในความแก่และความตายนั้นไม่มี น จาปิ มนฺตยุทฺเธน สกฺกา เชตุํ ธเนน วา อันใครๆ ไม่อาจจะชนะความแก่และความตาย ด้วยการรบด้วยเวทมนต์ หรือด้วยการรบด้วยทรัพย์ จะเอาชนะความแก่และความตายไม่ได้เลย ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน เพราะเหตุนั้นบุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่อมาเห็นประโยชน์ของตนแล้ว ผู้ทรงปัญญาควรตั้งความเชื่อในพระพุทธเจ้า ตั้งความเชื่อในพระธรรม ตั้งความเชื่อในพระสงฆ์ โย ธมฺมจารี กาเยน วาจาย อุท เจตสา บุคคลใดเป็นผู้ประพฤติธรรม กาเยน ด้วยกาย หรือ วาจาย ด้วย วาจา อุท เจตสา หรือว่าด้วยใจ อิเธว นํ ปสํสนฺติ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อม สรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ด้วยประการดังนี้

เนื้อความของพระบาลี ปัพพโตปมคาถา ขยายความเป็นสยามภาษา นี้แปลบาลีเป็นสยามทีเดียว ถ้าจะแปลขยายเป็นสยามแท้ๆ กะเทาะบาลีออกเสียทั้งหมด เป็นเนื้อความดังนี้ ภูเขาทั้งหลายล้วนแล้วด้วยศิลาอันไพบูลย์ สูงจรดฟ้า กลิ้งหมุนทับบดสัตว์เข้ามาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศแม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสิ้นฉันนั้น เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม เป็นพลเรือนก็ตาม เป็นไพร่ก็ตาม เป็นคนครึ่งชาติก็ตาม เป็นคนเทหยากเยื่อเชื้อมูลฝอยก็ตาม ไม่งดเว้นใครๆ ไว้ให้เหลือเลย ย่อมครอบงำหมดทั้งสิ้น ภูมิเป็นที่ไปของช้างทั้งหลายในความแก่ความตายนั้นไม่มี ภูมิของรถทั้งหลายในความแก่ความตายนั้นก็ย่อมไม่มี ภูมิเป็นที่เดินเท้า ภูมิเป็นที่ ไปด้วยเท้าในความแก่ความตายนั้นก็ย่อมไม่มี ใครๆ ไม่อาจสามารถจะสู้รบด้วยเวทมนต์ หรือจะสู้รบด้วยทรัพย์ก็ไม่อาจสามารถจะสู้ได้ ไม่อาจจะเอาชนะได้

เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นประโยชน์ของตนชัดดังนี้แล้ว ผู้ทรงปัญญาควรตั้งความเชื่อไว้ในพระพุทธเจ้า ควรตั้งความเชื่อไว้ในพระธรรม ควรความเชื่อไว้ในพระสงฆ์ บุคคลใดเป็นผู้ประพฤติกรรมด้วยกาย เป็นผู้ประพฤติธรรมด้วยวาจา เป็นผู้ประพฤติธรรมด้วยใจ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ นี่เป็นภาษาสยามล้วน ไม่มีบาลีเจือปนทีเดียว ได้ความชัดดังนี้

บัดนี้จะอรรถาธิบายขยายความในปัพพโตปมคาถา ความว่า วันคืนเดือนปีที่เราเกิดมาย่อมผ่านเราไปเนืองนิตย์ ท่านจึงได้ยืนยันว่า อิมินา วีติวตฺเตน รตฺตินฺทิเวน อายุปิ ขียติ ชีวิตํ อุปรุชฺชติ วันคืนเดือนปีล่วงไปๆ มิได้ล่วงไปแต่วันคืนเดือนปีเปล่า ชีวิตของเราล่วงตามวันคืนเดือนปีนั้นไปด้วย ชีวิตที่เป็นอยู่ร้อยปี พอหมดไป เสียวันหนึ่งก็ขาดร้อยปีไปวันหนึ่งแล้ว ลดคืนหนึ่ง ผ่านร้อยปีไปคืนหนึ่งแล้ว หมดเสียวันกับคืนหนึ่ง ขาดร้อยปีไปวันกับคืนหนึ่งแล้ว อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อวันคืนเดือนปี ล่วงไปเท่าไร ชีวิตก็หมดไปเท่านั้น

เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้ว เดินรุดหน้าไปข้างเดียว เกิดมาแล้วไม่มีถอยหลังเลย จะยั้งอยู่ไม่ได้อนุวินาทีหนึ่งก็ไม่ได้ รอสักประเดี๋ยวเถอะน่า ยังห่วงลูกรักลูกอยู่ ไม่ได้ รอประเดี๋ยวเถอะน่ายังห่วงพระห่วงเณรนัก ไม่ได้ รอไม่ได้ทั้งนั้นแหละไม่ว่าใคร นี่เพิ่งรู้ ชัดว่าวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ไม่ใช่ล่วงไปแต่วันคืนเดือนปีเปล่า ชีวิตจิตใจล่วงไปด้วย ความเป็นอยู่ล่วงไปด้วย ล่วงไปอย่างวอดวายเช่นนี้ สภาพความเป็นเองปรุงแต่ง หรือว่าใครปรุงแต่งอยู่ที่ไหน เรื่องนี้หมดทั้งประเทศ หมดทั้งชมพูทวีป หมดทั้งแสนโกฏิจักรวาล หมดทั้งอนันตจักรวาล ตลอดนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ มากน้อยเท่าใดนั้น ไม่รู้กันทั้งนั้น ว่าเป็นเพราะเหตุอะไร แต่วัดปากน้ำมีคนรู้ขึ้นแล้วเป็นดังนี้เพราะอะไร

ที่ตั้งวัยให้แก่ยับเยินไปเช่นนี้ เป็นเองหรือใครทำอยู่ที่ไหน รู้ทีเดียวว่าใครทำอยู่ที่ไหน รู้ว่าไม่ใช่ใคร จับตัวได้ คือพญามารนั่นเองเป็นคนทำให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย เกิดแก่เจ็บตายอย่างยับเยิน เกิดก็อย่างยับเยินเดือดร้อน พ่อไม่ตาย บางทีแม่ตาย บางทีลูกก็ตายแม่ก็ตาย พ่อก็ยังจะตายตามอีก โดดน้ำตาย เสียอกเสียใจ นี่พญามาร ทำทั้งนั้น สำหรับประหัตประหารฝ่ายพระ ถ้าว่ามนุษย์ผู้ใดเป็นฝ่ายพระละก็ มารข่มเหงอยู่อย่างนี้แหละไม่ขาดสาย ไม่เช่นนั้นก็ด้วยวิธีใดด้วยวิธีหนึ่ง บางทีหมั่นไส้นัก ทำเก่งกาจอวดดิบอวดดี ให้ฆ่ากันตายเสีย ให้กินยาตายเสีย ให้โดดน้ำตายเสีย ให้ผูกคอตายเสีย นี่ใครทำ พญามารทั้งนั้น ไม่ใช่ใคร ไม่มีใครรู้ แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นิพพานถอดกายมีเท่าไรไม่มีใครรู้ ไม่รู้เรื่องทีเดียวในเรื่องนี้ ว่าพญามารเขาคอยบีบคั้นอยู่ ให้เกิดแก่เจ็บตาย ให้เกิดก็เกิดอย่างยับเยิน หน้าบิดหน้าเบี้ยวเดือดร้อน ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ตายคางก็เหลืองเทียว ไม่ตายก็เกือบตาย นี่พญามารเขาทำ ตามปรกติแล้วไม่เป็นดังนี้ เกิดก็อย่างไม่ได้เดือดร้อนนัก จะคลอดบุตรก็เหมือนถ่ายอุจจาระเหมือนถ่ายปัสสาวะ ไม่เดือดร้อนเหมือนกับคลอดลูกออกเต้าธรรมดานี้ จะคลอดบุตรก็เหมือนถ่ายอุจจาระเหมือนถ่ายปัสสาวะทีเดียว ไม่เดือดร้อนแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ที่เดือดร้อนยับเยินเช่นนี้เพราะพญามารเขาส่งฤทธิ์ส่งเดช ส่งอำนาจ ส่งวิชาที่ศักดิ์สิทธิ์ มาบังคับบัญชา บังคับให้เป็นไป

เมื่อเป็นดังนี้ ที่ท่านวางบาลีว่า ให้เราท่านทั้งหลายพินิจพิจารณาว่าภูเขาทั้งหลายล้วนแล้วด้วยศิลาตัน ไม่มีน้ำเหลวเปลวปล่อง คำว่าไพบูลย์นั่น ตันสนิท ไม่มีน้ำเหลวเปลวปล่อง เป็นเนื้อหินทั้งแท่งทึบทีเดียว ไม่มีโพรงไม่มีถ้ำในสถานที่ใดๆ กลิ้งมาทั้ง ๔ ทิศจรดกัน โตเท่าไรก็กลิ้งเข้ามา บดเข้าไป กลิ้งเข้ามาจรดกันศูนย์กลาง คิดดูซีภูเขาใหญ่ขนาดนั้น สูงจรดฟ้า ภูเขานั่นไม่ใช่เล็กน้อย กลิ้งเรื่อยเข้ามา แล้วใครเล่าจะเหลือ ที่ถูกเข้าแล้วใครจะเหลือ ไม่มีใครเหลือแต่คนเดียว มดปลวกไม่เหลือทั้งนั้น เรือดไรเหาเล็นไม่เหลือทั้งนั้น ต้นไม้ต้นหญ้าไม่เหลือ วอดวายหมดทีเดียว ถึงภูเขาเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอ หนักไม่พอ จมหมดหายหมด ราบลงไปหมดทีเดียว มันสูงถึงจรดฟ้าเช่นนั้น กลิ้งเข้ามาโดยรอบทิศทั้ง ๔ แล้วมาติดอยู่ตรงกลาง เล็กเข้ามาติด อยู่ตรงกลางก็ไม่เหลือเลย หายหมด เมื่อกลิ้งเข้ามาแกก็จะกลิ้งออกไปอีกนั่นแหละ แกไม่หยุดสักทีหนึ่ง นี่กลิ้งออกไปอีก กลิ้งออกไปอีกก็อีกนั่นแหละ ถูกใครๆ ก็ราบไป ไม่เหลือเลยสักคนเดียว นี่แหละเหมือนความแก่และความตาย เกิดมามีเว้นความแก่สักคนเดียวไหม ไม่มีเลย เว้นตายสักคนเดียวไหม? ไม่มีเลย เกิดมาแล้วก็แก่ตาย เกิดมาแล้วก็แก่ตายอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ความแก่และความตายนี่สำคัญนัก ไม่ละไม่เว้นผู้หนึ่งผู้ใดให้หลงเหลือไว้เลย ความแก่และความตายนี้ย่อมครอบงำท่วมทับสัตว์ทั้งสิ้นให้ถึงความวินาศไป สัตว์ทั้งสิ้นนั้นคือใคร เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม หรือเป็นพลเรือน พลเรือนนั้นหมายความว่ากระไร พลเรือนในประเทศทั้งหมด ชาวนา พ่อค้า พ่อครัว เหล่านี้แหละเรียกว่าพลเรือน หรือจะเป็นไพร่ คำว่าไพร่ก็ยกเป็น ๒ ชั้น เรียกว่าเจ้า เรียกว่าไพร่ เจ้าพวกหนึ่ง ไพร่พวกหนึ่ง เจ้าเขายกตัวเขาสูงว่าเป็นเจ้า นั่นเป็นไพร่เสีย หรือเป็นคนจัณฑาลคนครึ่งชาติ คนจัณฑาลน่ะเป็นอย่างไร เราไม่รู้จักคนจัณฑาล จณฺฑาโล เขาแปลว่าดุร้าย ไม่ใช่เช่นนั้น คนจัณฑาลเขาแปลว่าคนครึ่งชาติ ไม่ใช่ชาติเดียว คนไม่ใช่ชาติเดียว ใจก็เป็น ๒ ฝ่ายไป บางทีพ่อเป็นไทยแม่เป็นจีน แม่เป็นไทยพ่อเป็นจีน หรือพ่อเป็นจีนแม่เป็นไทย แม่เป็นฝรั่งพ่อเป็นไทย พ่อเป็นฝรั่ง แม่เป็นไทย หรือแม่เป็นลาวเป็นมอญอะไรก็ตามเรื่อง อย่างนี้เขาเรียกว่าคนครึ่งชาติ เป็นฝรั่งเสียชาติหนึ่ง เป็นไทยเสียชาติหนึ่ง ๒ ชาติมารวมกันเสียเป็นชาติเดียวกันอย่างนี้ เขาเรียกว่า จณฺฑาล แปลว่าครึ่งชาติ ปุกฺกุเส ผู้เทหยากเยื่อเชื้อฝอย กวาด ถนนหนทาง ที่เราเห็นปรากฏอยู่ พวก ปุกฺกุเส มีความเป็นอยู่เลวที่สุด ทำงานก็เลวที่สุด ไม่มีอะไรจะเลวกว่านั้นอีก หรือเทอุจจาระ ปัสสาวะ เหล่านี้เรียกว่า ปุกฺกุเส

น กิญฺจิ ปริวชฺเชติ จะมีสักเท่าไรก็ช่าง เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นพลเรือน เป็นคนครึ่งชาติ หรือเป็นคนเทหยากเยื่อมูลฝอยก็ช่าง ไม่ได้งดเว้นไครๆ ไว้ให้ หลงเหลือไว้เลย ไม่ให้เหลือเลย ท่วมทับหมด ท่วมทับหมดนั่นคือใครล่ะ ความแก่ ความตาย คราวนี้ใครจะไปสู้รบกับความแก่ความตาย น ตตฺถ หตฺถีนํ ภูมิ ภูมิ ทางไปรบ หนทางที่จะเข้าไปรบ ที่จะยกพลเข้าไปรบกับความแก่ความตายนั้น หนทาง ช้างก็ไม่มีเข้าไป หนทางรถทั้งหลายก็ไม่มีเข้าไป หนทางเดินที่จะเข้าไปรบด้วยเท้าก็ไม่มีเข้าไป ไม่มีเข้าไปในความแก่และความตายนั้น ไม่มีทางเข้าไปสู้กัน ความแก่และความตายไม่มีทางเข้าไป ใครๆ ไม่อาจสามารถจะเอาชนะความแก่ความตายนั้นด้วยการสู้รบ ด้วยเวทมนต์ เวทมนต์คาถาใดๆ วิชาพราหมณ์เวทมนต์กลคาถาใดๆ ไม่อาจ สามารถจะสู้รบกับความแก่ความตายนั้นได้ หรือจะสู้รบด้วยทรัพย์ มีทรัพย์จะเอาทรัพย์ไปไถ่ถอนตัว แก้ความแก่ความตาย เรื่องความแก่ความตายไม่มีทางสู้ ไม่มีทางแก้ทีเดียว จะแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้

แต่ว่ามีแก้อยู่ที่วัดปากน้ำ วิชชาธรรมกายไปเห็นวิชาเหล่านี้หมด ไปเห็นความ แก่ความตาย เวลานี้เขาว่าสมภารวัดปากน้ำกำลังสู้กับความแก่ความตาย สู้จริงๆ ผู้ เทศน์นี่แหละ ๒๒ ปี ๘ เดือนเศษแล้ว ๘ เดือน ๙ วัน วันนี้แล้ว วินาทีนี้ไม่ได้หยุด เพียรสู้ความแก่ความตายไม่ได้ถอยกันเลย พญามัจจุราชมีเท่าไรจับกันหมด จับกันหมด ตรึงกันหมด ลงโทษกันหมดทีเดียว มีเท่าไร ไม่ให้ทำลายพระ ไม่ให้ข่มเหงพระได้ ให้เลิกข่มเหง ให้เลิกทำลายพระเสียให้ได้ จะแก้ความแก่ ความเจ็บ ความตายใหม่ ไม่ให้มีแก่ ไม่ให้มีเจ็บ ไม่ให้มีตาย เมื่อเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์แล้วก็ให้เป็นมนุษย์เด็ก เด็กก็อย่างหนึ่ง รู้กันได้ชัดๆ เด็กๆ ก็รู้ ไม่สวยไม่งามนักพอสมควร ถ้ายิ่งแก่หนักเข้ายิ่งสวยงามหนักเข้า ยิ่งแก่หนักเข้าก็ยิ่งสวยงามหนักเข้า แล้วก็โตหนักเข้าด้วย ผิดกัน โตหนักเข้าๆ สวยงามหนักเข้า โตหนักเข้า สวยงามหนักเข้า ไม่มีไขลงกัน มีแต่ไขขึ้นกันไป ไม่มีถอยกลับกัน พอครบบารมีของตนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือ พระอรหัตอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นพระพุทธเจ้าพระอรหัต ไม่ต้องไปทรมานให้เหนื่อย ยากลำบากแต่อย่างหนึ่งอย่างใด อยู่ในบ้านในช่องตามชอบใจ พอครบกำหนดเข้าก็เป็น พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหัตทีเดียว เป็นพระพุทธเจ้าพระอรหัต เวลาไปนิพพานไม่ต้องถอดสักกายหนึ่ง กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด กายธรรมโสดา กายธรรมโสดาละเอียด กายธรรมสกทาคา กายธรรมสกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา กายธรรมอนาคาละเอียด กายธรรมอรหัต กายธรรมอรหัตละเอียด ไม่มีถอดกันเลย เป็นทั้งดุ้นทั้งก้อน ไปนิพพานหมดทั้งดุ้นทั้งก้อนทีเดียว

“ไขลง” เป็นการทำวิชชา ของต้นธาตุ-ธรรม ฝ่ายมารหรือบาปอกุศล หรือธาตุ-ธรรมฝ่ายดำ ที่กระทำในธาตุธรรมส่วนละเอียดของสัตว์โลก โดยบังคับเครื่องที่ประจำอยู่ในธาตุ-ธรรมส่วนละเอียดนั้นให้ “เครื่องหมุนซ้าย” และในขณะเดียวกันก็แก้ไขเครื่องให้เดินต่ำลง ทำให้เห็น จำ, คิด รู้ กาย, วาจา และใจ ตลอดจนธาตุ-ธรรม เป็นบาปอกุศลมากขึ้น ในทางปฏิบัติ จะรู้ (ญาณ) เห็น (ทัสสนะ) ธาตุ-ธรรม เป็นสีดำยิ่งขึ้น) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฝ่าย “มาร” ปกครองธาตุ ธรรมมากยิ่งขึ้น เป็นผลให้สัตว์โลกมีความเป็นอยู่ ห่าง บุญ-กุศล-ศีลธรรม พระพุทธศาสนา ยิ่งขึ้นไปอีก อันเป็นผลให้ธาตุ ธรรม ส่วนหยาบของสัตว์โลกทั้งหลายต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร และเกิดในอบายภูมิ ทั้ง ๔ ได้แก่ เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตลอดจน สัตว์นรก รวมทั้งไปเกิดในโลกันต์นรก มากขึ้น “ไขขึ้น” เป็นการทำวิชชา ของพระนิพพานต้นธาตุ ธรรม ฝ่ายพระ หรือ บุญกุศลที่กระทำในธาตุ ธรรมส่วนละเอียดของสัตว์โลก เพื่อแก้ วิชชาของฝ่ายมาร ด้วยการบังคับเครื่องที่ประจำอยู่ในธาตุ-ธรรมส่วนละเอียดของสัตว์นั้นให้ “เครื่องหมุนขวา” และในขณะเดียวกันก็ไขเครื่องให้ เดินสูงขึ้น พันจากการปกครองธาตุ-ธรรมของฝ่าย “มาร” ทำให้เห็น จำ, คิด, รู้ กาย, วาจา และใจ ตลอดจน ธาตุ ธรรม เป็นบุญกุศลยิ่งขึ้น ในทางปฏิบัติจะรู้เห็น (ญาณ – ทัสสนะ ) ธาตุ ธรรม ใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฝ่าย “พระ” ปกครองธาตุ-ธรรมได้ยิ่งขึ้น เป็น ผลให้สัตว์โลก มีความเป็นอยู่ใกล้ชิด บุญ-กุศล ศีล-ธรรม พระพุทธศาสนายิ่งขึ้นไปอีก และห่างฝ่าย “มาร” มากยิ่งขึ้น เป็นฝ่าย “พระ” แต่ ส่วนเดียว เพื่อช่วยให้สัตว์โลกพ้นจากการเกิด, แก่, เจ็บ, ตาย (คือให้ดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน) ไม่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอีก ต่อไป และทำให้เข้าถึงการปกครองที่สุดสายธาตุ-ธรรม ของตัวเอง (ผู้ที่ สร้าง บารมีเพื่อสำเร็จมรรคผลนิพพาน ในฝ่ายสัมมาทิฏฐิ ไปถึงที่สุด สายธาตุสายธรรมของตัว) และในที่สุดไม่มีใครปกครองเลย เรา (ผู้ที่สำเร็จมรรคผลนิพพานในฝ่ายสัมมาทิฏฐิ) ปกครองตัวเราเอง (ไม่มีฝ่าย “มาร” ปกครองธาตุ ธรรม มีแต่ฝ่าย “พระ” ปกครอง ธาตุ-ธรรมแต่ฝ่ายเดียว (คำอธิบายนี้ คัดตามต้นฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๓๓ )

นี้ที่สมภารวัดปากน้ำรบกับพญามัจจุราช รบความแก่ความตาย รบเท่านี้ แก้ให้เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้สมภารวัดปากน้ำไม่แรมราตรีที่อื่นละ ยอมตาย ไม่ถอยกันเลย

เมื่อการสู้รบเช่นนี้ใครเคยได้ยินได้ฟังบ้าง ไม่มีเลย หมดทั้งชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นิพพานถอดกายที่ไหนๆ ไม่มีเลย แล้วไม่มีใครรู้จักเสียด้วยซ้ำ นี่มารู้จักขึ้นแล้วที่วัดปากน้ำ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา อยู่วัดปากน้ำก็จริง แต่ไม่รู้ว่าสมารวัดปากน้ำทำอะไร นี่อัศจรรย์นักอยู่ด้วยกันตั้งหลายสิบปี อยู่วัดปากน้ำทำวิชชานี้ ๒๒ ปี ๘ เดือน ๙ วันวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไร รู้แต่นิดๆ หน่อยๆ รู้จริงจังลงไปไม่มี มีก็ผู้ที่ทำวิชชาตัวยกัน รู้จริงเห็นจริงกันลงไปทีเดียว ทำอยู่ทุกวันๆ นั่นละก็รู้จริงเห็นจริง นี่เป็นวิชชาลึกอย่างนี้ ถ้ารู้สึกเช่นนี้ละก็ จงอุตส่าห์ว่าตั้งแต่นี้ไป เราจะช่วยเหลือแก้ไขด้วยประการใดประการหนึ่ง ท่านรบศึกสำคัญอย่างนี้ ถ้าได้ชนะละก็เราชนะด้วย ถึงเราไม่ได้ทำเลยเราก็ชนะด้วย ถ้าได้สำเร็จเราก็สำเร็จด้วย เราไม่ได้ทำเลยก็สำเร็จด้วย เราต้องสนับสนุนด้วยทางใดทางหนึ่งให้สมควรทีเดียว พวกที่เป็นแล้วตั้งใจแน่วแน่ว่า ตั้งแต่วันนี้ไปเราไม่ถอยหละ เกิตมาเราไม่พบวิชชานี้เราจะต้องสู้อย่างอื่น สู้ไม่ได้ทั้งนั้น เราจะหันสู้วิชชานี้กันสุดฤทธิ์สุดเดช เอาให้ถึงหมดเจ็บหมดแก่หมดตายของพญามารให้ได้ ให้พญามารแพ้ให้ได้ พญามารแพ้เด็ดขาดเมื่อเวลาไร เวลานั้นหมดทุกข์ในโลก เท่าปลายผมปลายขนก็ไม่มี หมดแก่หมดเจ็บหมดตายในโลก เท่าปลายผมปลายขนก็ไม่มี มีความสุขเหมือนยังกับท้าวสวรรค์ หรือเหมือนกับท้าวพรหม หรือเหมือนกับพระนิพพาน สุขขนาดนั้น เป็นสุขสำราญขนาดนั้น นี่แหละที่แสวงหาความสุขกันในโลก ในเวลานี้ทุกชาติทุกภาษา หาความสุขใส่ชาติใส่ภาษาของตัวทั้งนั้น อิจฉาริษยากัน เบ่งกันเต็มฤทธิ์เต็มเดช ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ใครมีกำลังมากก็กดขี่คนมีกำลังน้อยลงไป บังคับกำลังน้อยให้อยู่ใต้อำนาจเสีย ที่ทำกันอยู่นี้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งชมพูทวีป แสนโกฏจักรวาล อนันตจักรวาล ทำกันอยู่อย่างนี้ แม้จะเป็นมนุษย์ก็ต้องทำอย่างนี้ แม้จะไปเป็นเทวดาก็ไปเป็นอย่างนี้ จะไปเป็นพรหมก็ทำอย่างนี้ จะไปเป็นอรูปพรหมก็เป็นอย่างนี้ จะไปเป็นนิพพานแล้วก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าในพระนิพพานไม่ได้หยุดเลย ทำอยู่อย่างนี้ กำลังผจญกับพญามารไม่ได้หยุดเลย วินาทีอนุวินาทีก็ไม่ได้หยุด ต้องทำนิโรธ ดำเนินนิโรธเสมอให้ละเอียดอ่อนไว้ ถ้าว่าละเอียดไม่ทัน เขาก็บังคับเสีย หยาบกว่าเป็นถูกบังคับ ถูกความแก่บังคับ บังคับไม่ให้รู้ด้วย บังคับในไส้ ไส้ธาตุไส้ธรรม เห็น จำ คิดรู้ ต้องใช้ญาณบังคับหมด เมื่อปรากฏรู้ตัวว่าเป็นทาสพญามารอยู่เช่นนี้ ก็ต้องช่วยรีบเปลื้องตัว ต้องรีบพยายามแก้ตัว ถ้ารีบพยายามแก้ตัวให้พ้นไปเสียได้ ก็จะไม่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เอาความชนะเสียให้ได้

พญามารไม่ได้เว้นผู้หนึ่งผู้ใดให้เหลือ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อเป็นคนฉลาดจะทำอย่างไรในเวลานี้ เมื่อทราบชัดประโยชน์ของตนแล้ว ผู้ทรงปัญญาควรตั้งความเชื่อไว้ในพระพุทธเจ้า ควรตั้งความเชื่อลงไปในพระธรรม ควรตั้งความเชื่อลงไปในพระสงฆ์ ตั้งความเชื่อลงไปในพระพุทธเจ้าจะเอาใจจรดลงไปที่ไหน เอากันละ เอากันสดๆ นี่แหละ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ตั้งความเชื่อลงไปในพระพุทธเจ้านั้น ตั้งลงไปตรงไหน ตั้งความเชื่อลงไปในพระธรรมนั้นตั้งลงไปตรงไหน ผู้ที่ไม่เป็นธรรมกายก็ตามกันหมด ไม่รู้จะตั้งตรงไหน ตั้งไม่ถูก แล้วจะตั้งให้ถูกมันก็ไม่ถูก หลบไปหลบมา อยู่นั่นแหละ แล้วทำไงล่ะคราวนี้ นับถือพระพุทธศาสนา ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ว่าตั้งใจเชื่อลงไปในพระพุทธเจ้าแล้ว จะเอาใจไปจรดตรงไหนล่ะถึงจะถูกพระพุทธเจ้า เอาใจไปจรดตรงไหนจึงจะถูกพระธรรม เอาใจไปจรดตรงไหนจึงจะถูกพระสงฆ์

เรื่องนี้ผู้เทศน์นี่แหละ ได้เทศน์ปุจฉาวิสัชนากับพระมหาเคลือบ อายุ ๓๓ พรรษา เขาฉลองพระประธานที่วัดในสวน ถามว่าบัดนี้ท่านมหา ท่านเจ้าของทาน ท่านเจ้าภาพ นิมนต์ท่านกับผมมา ๒ ท่าน นี่มาเทศน์ปุจฉาวิสัชนากันในเรื่องพระประธาน เขาสร้างพระประธาน พระประธานเป็นที่ระลึกนึกคิดของพุทธศาสนิกชน เป็นประธานอยู่ในวัดนี้ จะให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ เราจะระลึกถึงพระพุทธเจ้านั้น เมื่อมาถึงพระประธานเข้านี่แล้ว เราจะเอาใจจรดตรงไหนล่ะถึงจะถูกพระพุทธเจ้า อึกอักแน่ะ พออีกอักผู้เทศน์ต้องอนุโยค การจรดนั้นจะจรดเบื้องศีรษะท่าน หรือจะจรดเบื้องกลางพระองค์ท่าน หรือจะจรดเบื้องพระบาทท่านเข้าไป เป็น ๓ หรือ ปันลงไปอีกก็ได้ มือ เท้า แขนทั้งสอง ศีรษะหนึ่ง ๕ ตัว ๖ ศีรษะ ไปจรดไหนล่ะ ให้แน่ๆ ลงไปซิ อีกอักอยู่ ถ้าว่าจรดเข้าช่องหน้าผากที่พระอุณาโลม ตั้งเป็นช่องอยู่ เขาทำเป็นอุณาโลม ตั้งเป็นช่องอยู่ เขาทำเป็นวงกลมไว้ตรงนั้น ช่องพระอุณาโลม อ้าวไปจรดตรงนั้นเข้าแล้ว ก็รู้ว่า โอ้ นี่ไม่เป็นล่ะซิ ตั้งแต่บวชมา ๓๓ พรรษา จรดไม่ถูก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เลอะแล้ว ถ้าเลอะก็ไล่เข้าป่าทีเดียว เมื่อไปจรดเข้าที่ อุณาโลมก็ไปจรดเอาทองใบเข้าแล้วที่ปิดไว้ตรงนั้น ทีนี้ก็ไล่เข้าป่าไปเลย เอ้าเปิดทองใบเข้าไปถูกรักเข้าอีก ถ้าเปิดรักเข้าไปอีกก็ถูกทองเหลืองทองแดงที่เขาหล่อ เปิดทองเหลืองทองแดงเข้าไปอีกเจอะทราย เปิดทรายเข้าไปอีกไม่มีอะไร ว่างเปล่า เหลวแล้ว นี่คนจรดไม่ถูก พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ไม่ถูก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เป็นอย่างนี้

เมื่อรู้จักหลักดังนี้ เราจะจรดตรงไหน? เราเป็นคนรู้ เราเป็นคนเทศน์เสมอ ๆ กัน เมื่อยังเข้าไม่ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ยังไม่มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จะจรดตรงไหนล่ะ? ใจต้องจรดนิ่งเข้าที่ศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ตรงนั้น ถ้าว่าได้กายมนุษย์แล้ว ตรงนั้นแหละที่จะเป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ต้องทำใจให้หยุดตรงนั้นให้หยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็จรดต่อไป ถ้าเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด นั่นแหละถูกต้อง ถูกธรรมรัตนะ

ถ้าว่าเข้ากายทิพย์ ก็จรดซึ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถ้าเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด นี่แหละที่จรดของใจ
ถ้าว่าถึงกายรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
ถ้าว่าเข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด
ถ้าว่าเข้าถึงกายอรูปพรหม ก็จรดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม
ถ้าว่าเข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด จรดนิ่งอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด
ถ้าว่าเข้าถึงกายธรรม ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม กลางดวงนั้น ถ้าเข้าถึงกายธรรมละเอียด ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด
ถ้าเข้าถึงพระโสดา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา ถ้าเข้าถึงพระโสดาละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาละเอียด
ถ้าเข้าถึงกายพระสกทาคา ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคา ถ้าเข้าถึงกายพระสกทาคาละเอียด ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้ เป็นพระสกทาคาละเอียด
ถ้าว่าเข้าถึงพระอนาคา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอนาคา ถ้าว่าเข้าถึงกายพระอนาคาละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคาละเอียด
ถ้าว่าเข้าถึงกายพระอรหัต หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต ถ้าว่าเข้าถึงกายพระอรหัตละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายพระอรหัตละเอียด ที่ตั้งของใจ ที่จรดของใจ เรียกว่าถูกพุทธรัตนะ ถูกธรรมรัตนะ ถูกสังฆรัตนะ ตัวจริงทีเดียวให้จรดอย่างนี้

นี่แหละที่เทศน์ให้ฟังบ่อยๆ เพื่อจะได้จำอย่างนี้ ถ้าไม่ได้หลักอย่างนี้ก็เหลว จะว่า เด็กหรือแก่เฒ่าปานกลางอย่างไรก็ช่างเถอะ เหลวทั้งนั้น ถ้าไม่ถูกจริงอย่างนี้ ให้รู้จักหลักอันนี้ ใจเราตั้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ถูกส่วนเข้าแล้ว โย ธมฺมจารี กาเยน วาจาย อุท เจตสา วา บุคคลใด ธมฺมจารี แปลว่าประพฤติธรรม บุคคลใดประพฤติธรรม ด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือว่าด้วยใจ กายก็บริสุทธิ์ วาจาก็บริสุทธิ์ ใจก็บริสุทธิ์ ไม่มีพิรุธเลย ได้ชื่อว่าประพฤติธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อิเธว นํ ปสํสนฺติ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละโลกนี้แล้วไปสู่สวรรค์ เมื่อจรดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์แล้ว ก็บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ไม่มีร่องเสียเลย นั่นแหละ ถูกต้องตามร่องรอยความประสงค์ทางพระพุทธศาสนา

ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีชี้ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

โอวาท พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

อ้างอิงเนื้อหา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อการศึกษาและดำรงไว้ซึ่งคำสอน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *