ประวัติหลวงปู่วัดปากน้ำ 2

. เรียบเรียง (2:24:57)
วีดีโอ ยุคสมัยหลวงปู่วัดปากน้ำ
เล่าประวัติโดยพระครูสมุห์สุวิทย์ สุวิชฺชาโภ

วันนี้จะเป็นการพูดถึงประวัติของครูบาอาจารย์องค์ที่มีความสำคัญมากๆ เป็นองค์ปฐมของพวกเรา ซึ่งก็คือพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายและก็เป็นพระผู้ปราบมาร ท่านเป็นครูของพวกเรา เพราะฉะนั้นประวัติและการทำงานของท่านจะบอกให้เห็นถึงสิ่งที่เราจะต้องศึกษา แล้วก็จะได้เห็นร่องรอยที่ท่านได้ทำไว้ โอกาสที่เราจะได้ตามร่องรอยของท่าน เดินตามท่านก็จะได้ตรงตามและก็แน่วแน่ ประวัติของท่านมีความสำคัญมาก เพราะสิ่งที่ท่านทำเอาไว้จะบอกถึงสิ่งที่เป็นผลงานและความตั้งใจที่ท่านได้ทำ ประวัติในช่วงต้นที่เป็นวีดีโอ ก็เป็นภาพของท่านเมื่อครั้งที่ย้อนหลังไปประมาณ 50 กว่าปี เขาเก็บเอาไว้ แล้วก็มาตัดต่อทำเป็นประวัติขึ้น

ในช่วงถัดไปนี้จะเป็นการเล่าถึงประวัติของท่านเสริมเข้ามา เพราะว่าในประวัติของท่านนั้นยังมีอีกหลายตอนทีเดียวที่มีความสำคัญ และบางช่วงจะเป็นตอนที่มีความสำคัญมากๆ เพราะเข้าไปในเนื้อหาของการทำงานของท่าน อย่างที่เราได้ชมวีดีโอในตอนต้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ซึ่งจากนี้ไปก็จะเรียกว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่

@ แผ่นดินที่เหมือนดอกบัวใบบัว ที่สองพี่น้อง สุพรรณบุรี
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเป็นชาว เกิดที่อำเภอสองพี่น้องริมคลองสองพี่น้อง สุพรรณบุรี
ตรงบ้านเกิดของท่านนั้นเป็นแผ่นดินที่ชาวบ้านร่ำลือกันว่าเป็นแผ่นดินใบบัว แผ่นดินใบบัว คือ เป็นแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ เป็นแผ่นดินที่มีความชุ่มเย็น มีความอุดมสมบูรณ์ มีคำร่ำลือว่าเป็นแผ่นดินที่ไฟไม่เคยไหม้ เพราะความชุ่มชื่นของพื้นน้ำที่ล้อมรอบทำให้แผ่นดินผืนนี้มีความสดชื่น
พระเดชพระคุณหลวงปู่เกิดในปีพุทธศักราช 2427 ปีวอก

แผ่นดินผืนนี้ มีผู้รู้ท่านบอกว่า จะดูเป็นแผ่นดินใบบัวก็ได้หรือจะดูเป็นแผ่นดินที่เหมือนดอกบัวก็ได้ เพราะแผ่นดินผืนนี้ดูแล้วเหมือนดอกบัว 2 ดอก ให้นัยยะสำคัญว่า แผ่นดินผืนนี้ มีพระมหาเถระเกิดขึ้นมา ถึง 2 ท่าน และทั้ง 2 ท่านนั้น เป็นอากับหลาน พระมหาเถระที่เป็นอานั้นก็คือพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี ส่วนอีกท่านหนึ่ง ท่านเกิดมาในปีพุทธศักราช 2439 แล้วก็เกิดปีวอกเหมือนกัน ห่างกันอยู่ 1 รอบพอดีพอดี แล้วต่อมาท่านผู้นี้ได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ของประเทศไทย

ผู้พูดเคยไปที่บ้านเกิดของหลวงปู่เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ 2535 อยากจะไปชมบ้านที่เป็นบ้านเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พอไปถึง เขาก็บอกว่าให้ไปตั้งหลักที่วัดสองพี่น้อง แล้วให้มองข้ามคลองมาก็จะเห็นบ้านหลวงปู่ พอมาถึงที่บ้านหลวงปู่ ก็พบพวกสายสกุลที่เป็นชั้นหลาน แล้วก็ชั้นเหลนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ แล้วเขาก็ชี้ให้ดูบ้านของหลวงปู่กับบ้านของสมเด็จพระสังฆราช หน้าบ้านท้ายบ้านชนกัน ท้ายบ้านหลวงปู่ชนกับหน้าบ้านของสมเด็จพระสังฆราช ต่อกันอยู่ บอกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเครือญาติที่เหนียวแน่นของคนสองพี่น้อง

แผ่นดินใบบัวเป็นแผ่นดินที่สดชื่นแล้วก็ชุ่มชื่น แผ่นดินที่ล้อมรอบก็เป็นทุ่งนาที่เขียวขจี เพราะฉะนั้นครอบครัวของหลวงปู่ในยุคนั้นท่านจึงมีอาชีพเกี่ยวกับเรื่องการทำนา ส่วนโยมพ่อของท่านนั้นทำอาชีพอีกอาชีพเสริมเข้ามาก็คือเป็นพ่อค้าข้าว เป็นพ่อค้าข้าวรับซื้อข้าวจากบริเวณสุพรรณบุรีแถวอำเภอสองพี่น้อง แล้วก็ล่องเรือนำมาขายที่อำเภอนครชัยศรี จนกระทั่งเข้ามาถึงพระนคร ในประวัติบอกว่าเป็นเรือข้างกระดานลำใหญ่ เดินทางค้าขายอย่างนี้ประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน

@ ในวัยเด็ก ที่ต้องเล่าเรียน
หลวงปู่ในสมัยที่ท่านเป็นเด็ก เท่าที่ได้คุยกับสายสกุลญาติที่เป็นชั้นหลาน ซึ่งจะมีการเล่าสืบทอดต่อกันมา ก็จะเล่าถึงหลวงปู่ด้วยความเคารพรักมากๆ หลวงปู่ท่านเป็นคนที่ใจเด็ดเดี่ยว เป็นคนจริงทำจริง ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วไม่เคยทอดทิ้ง จะต้องทำให้ถึงเป้าหมาย

หลวงปู่ไม่ใช่คนกลัวลำบาก เป็นคนที่สู้งาน เพราะฉะนั้นตั้งแต่เล็ก ท่านก็รู้จักการทำงาน ช่วยงานทางบ้านไม่ว่าจะเป็นการทำนาหรือช่วยโยมพ่อของท่านเกี่ยวกับเรื่องการค้าข้าว นิสัยท่านเป็นคนขยันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการงานทางบ้านท่านก็ดูแลอย่างดี

ในสมัยเด็กนั้นหลวงปู่ท่านยังเริ่มต้นด้วยการศึกษาเล่าเรียน สมัยก่อนนั้นไปเรียนกันที่วัด แรกๆก็เรียนกันที่วัดสองพี่น้อง จนกระทั่งตอนหลังท่านก็มาเรียนที่วัดบางปลา ยุคนั้น ถ้าเรียนที่วัดนั้นจะไม่ใช่เรียนแค่ภาษาไทย จะต้องเรียนภาษาขอมด้วย เพราะฉะนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเรียนภาษาขอมกันมาตั้งแต่ตอนที่ท่านเป็นเด็ก ทำไมวัดต่างๆถึงสอนภาษาขอม ก็เป็นเพราะว่าในยุคนั้น คัมภีร์ใบลานที่จารึกธรรมะต่างๆ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ตามวัดต่างๆในสมัยนั้นเวลาเล่าเรียนศึกษาก็จะเรียนภาษาขอมไปด้วย พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็เรียนมาตั้งแต่เด็ก และความทรงจำท่านดี เพราะฉะนันการเรียนรู้ท่านก็ไว
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเป็นบุตรชายคนโต ท่านมีโยมพี่สาวที่เราเรียกกันว่าย่าดา แล้วก็มีน้องชายอีก 3 ท่าน

@ ในวัยก่อนบวช ที่ต้องทำมาค้าขาย
จนกระทั่งเมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่อายุ 14 ปี ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมาในชีวิตคือ โยมพ่อท่านละโลกเสียชีวิต สิ่งที่ปรากฏในประวัติ เมื่ออ่านแล้วก็รู้สึกทึ่ง แล้วก็เคารพในหลวงปู่มากๆ อายุ 14 นั้นถือว่าเป็นวัยรุ่น พอโยมพ่อท่านเสีย หลวงปู่ท่านก็พร้อมที่จะเข้าไปแบกภาระแทนโยมพ่อ เรื่องงานค้าข้าวท่านก็เข้าไปดูแล
คุณสมบัติคนที่จะเป็นผู้นำนั้น จะเป็นคุณสมบัติที่สู้งาน เห็นภาระที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่หนักใจเลย แล้วก็พร้อมที่จะเข้าไปรับภาระการงานเหล่านั้น ความที่ท่านเป็นลูกชายคนโต ท่านคงเข้าใจ แล้วท่านก็เลยพร้อมที่จะเข้าไปดูแลเรื่องการค้าข้าว ท่านเรียนรู้เรื่องการค้าข้าวมาตั้งแต่ตอนที่ท่านอายุ 14 สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของผู้นำที่จะรับภาระหรือรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือหมู่คณะ
ความลำบากในชีวิตเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นก็คือสิ่งที่ได้ฝึกฝนหลวงปู่ จนกระทั่งท่านมีความสามารถที่จะรับผิดชอบงานต่างๆได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ตอนที่ท่านเป็นวัยรุ่น ท่านต้องค้าข้าวแทนโยมพ่อ ล่องเรือมาทางนครชัยศรี บางทีก็เข้ามาถึงพระนคร เดือนหนึ่งเดินทางอยู่ 2-3 เที่ยว ท่านทำด้วยความขยันขันแข็ง

@ ตั้งสัตยาธิษฐานบวชตลอดชีวิต ที่คลองลัดบางนางแท่น
จนกระทั่งท่านอายุ 19 อายุ 19 นี้ เป็นจุดที่ท่านได้ตัดสินใจเกี่ยวเรื่องวิถีชีวิตของท่าน อายุ 19 ท่านล่องเรือค้าข้าวมาถึงนครชัยศรี พอขายข้าวได้หมด จะกลับบ้าน ก็แล่นเรือเปล่าทวนน้ำขึ้นมา แต่ว่า ถึงจะเรือเปล่า แต่ก็มีเงินที่ได้จากการค้าข้าวติดตัวมาด้วย ท่านมาถึงตรงที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าคลองอีแท่น คลองนี้เป็นคลองลัดแต่แคบ ช่วยย่นระยะทางได้ แล้วท่านตัดสินใจที่จะเข้าคลองบางอีแท่น ในประวัติท่านบอกว่า คลองก็เล็กโจรก็ร้าย เพราะคลองนี้เป็นคลองเล็ก ตลิ่งสูงสามารถเทียบกับเรือได้ แล้วก็มีโจรดักปล้นอยู่กลางทาง แต่เมื่อท่านตัดสินใจเข้าคลองบางอีแท่นแล้ว ท่านก็ไม่ถอยหลัง ท่านก็เดินหน้า ตลอดทางกว่าจะมาถึงปากคลองอีกด้านหนึ่งนั้น ท่านก็เลยเริ่มได้ตระหนักถึงภัยของชีวิต ภัยของชีวิตจะเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะโดนโจรปล้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ชีวิตต้องเสี่ยงตลอดทาง

จนกระทั่งมาถึงปากคลอง ท่านก็นึกถึงภัยของชีวิต แล้วก็ระลึกถึงความตายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ได้เตือนสำนึกของท่านให้เกิดขึ้น เมื่อท่านระลึกถึงความตาย ว่าทุกคนนั้นในที่สุดแล้วก็ต้องตาย แล้วท่านก็ได้สติ ระลึกถึง แล้วท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานขึ้นในขณะนั้น ตั้งจิตอธิษฐานว่า”อย่าเพิ่งให้ตายซะก่อนเลย ขอให้ได้บวชซะก่อน และเมื่อบวชแล้วจะไม่สึก บวชถวายชีวิต”

สิ่งนี้เป็นจิตอธิษฐานของท่าน ที่ปักลง วิสัยแห่งการเป็นผู้นำของหลวงปู่ท่านชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องนี้ พอท่านตั้งจิตอธิษฐานนั้น มีความรู้สึกว่าสิ่งที่หลวงปู่อธิษฐานนั้น หนักแน่นเหมือนขุนเขาที่วางลงบนพสุธา ไม่คลอนแคลน ไม่ถอนถอย ใจของท่านเมื่อตอนอธิษฐานเป็นอย่างไรในขณะนั้น ท่านก็ดำเนินไปตามที่ใจอธิษฐาน ท่านไม่เคยคิดถอนถอยกลับกายเป็นอย่างอื่น
พระเดชพระคุณหลวงปู่ ในประวัตินั้น เมื่อท่านระลึกถึงวันที่ท่านบวช ท่านจะระลึกนึกถึงวันที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานที่คลองบางอีแท่น เมื่อตอนที่ท่านอายุ 19 แล้วท่านก็บอกว่า ตัวเราเองนั้นบวชใจ บวชจริงมาตั้งแต่อายุ 19 ไม่เปลี่ยนแปลง เวลาท่านนับเวลาในการบวชของท่าน ท่านก็จะระลึกถึงตั้งแต่ตอนที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานที่คลองบางอีแท่นนี่แหละ ตั้งแต่ตอนที่ท่านอายุ 19 แล้วก็นับเวลาตั้งแต่วันนั้นเป็นวันแรก จนกระทั่งไปถึงวันที่ท่านได้บวชจริงๆ ซึ่งจะปรากฏเมื่อตอนที่เล่าประวัติไปถึงตอนที่ท่านได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้

ความเป็นผู้นำของท่านนั้นปักแน่น ใจของท่านปักแน่นไม่ถอนถอย นี่คือคุณลักษณะของพระเดชพระคุณหลวงปู่ จิตใจมั่นคง ทำอะไรทำจริง ถ้าไม่ถึงเป้าหมายไม่ถอยกันละ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงตอนที่ท่านปฏิบัติธรรม คำว่าเข้ากลางไม่ถอนถอย เวลาท่านพูดถึงจึงเป็นธรรมชาติที่เป็นใจของท่านเอง เป็นอย่างนั้น เพราะท่านไม่ถอนถอยตั้งแต่ตอนที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องการบวช

การบวชเป็นเรื่องสำคัญ การบวชเป็นการก้าวออกจากการใช้วิถีชีวิตในการครองเรือน เข้าสู่เมกขัมมะคือการออกจากกาม การที่จะปฏิบัติต่อไปเข้าสู่หนทางที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใสนั้น จำเป็นต้องอาศัยใจที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไป แล้วในเพศของพระ ในเพศของการที่เราบวช ในเพศที่เราอยู่ในเพศที่เป็นเนกขัมมะ จะช่วยส่งเสริมทำให้เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้นสามารถที่จะรุดหน้าเข้าไปในหนทางที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใสได้ดี

เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลวงปู่ตั้งต้นในวันนั้น ถือว่าเป็นก้าวแรก เหมือนหันหางเสือเรือให้ตรงทิศตรงแนว แล้วหลังจากนั้นก้าวต่อไปก็จะเริ่มต้นเข้าไปสู่หนทางแห่งการสร้างบารมีของท่านยิ่งๆขึ้นไป สิ่งที่เหลืออยู่หลังจากตอนที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานแล้วก็คือ ทำสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์นั้นให้สมบูรณ์ เพื่อไปถึงวันบวช

อายุ 19 ยังไม่พอ ก็ต้องรอคอยเวลาให้ถูกต้องตามพระวินัย คือ 20 ปีบริบูรณ์ ในขณะเดียวกันด้วยใจกตัญญูกตเวทีที่มีต่อโยมแม่ เพราะท่านเหลือแต่โยมแม่ เพราะโยมพ่อท่านสิ้นแล้ว ท่านก็มีความตั้งใจว่าจะหาทรัพย์จำนวนหนึ่งเพื่อให้ไว้กับโยมแม่ได้ใช้จ่าย หลังจากนั้นท่านก็ตั้งอกตั้งใจทีเดียวที่จะทำการงานค้าขายล่องเรือข้าวนี่แหละ พยายามทำ แล้วก็เก็บหอมรอมริบ จนกระทั่งได้เงินอยู่จำนวนหนึ่ง ได้มอบไว้ให้กับโยมแม่และตัวท่านเองก็ขอลาบวช

@ ตั้งใจบวชตลอดชีวิต ที่วัดสองพี่น้อง
ความพร้อมมาเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ท่านอายุเข้า 22 ปี อายุก็ได้ แล้วก็ได้มอบปัจจัยคือทรัพย์จำนวนหนึ่งให้กับโยมแม่ แล้วท่านก็ขอลาบวช ขออนุญาตบวชที่วัดสองพี่น้อง

พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านบวชที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ในปีพ.ศ. 2449 ได้มีการนิมนต์พระอาจารย์ดีจากวัดประตูสารที่ตัวเมืองสุพรรณบุรีมาเป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระคู่สวดนั้นก็คือวัดที่อยู่ที่วัดสองพี่น้องเองก็คือพระครูวินยานุโยคซึ่งเรียกกันว่าพระอาจารย์เหน่ง อีกท่านหนึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ก็คือพระอาจารย์โหน่ง แล้วท่านก็บวชที่วัดสองพี่น้อง

ในประวัติบอกว่า พอวันรุ่งขึ้นท่านก็เริ่มต้นเรียนเรื่องวิปัสสนา แล้วผู้ที่สอนพระเดชพระคุณหลวงปู่ในวันรุ่งขึ้นนั้นก็คือพระอาจารย์โหน่งที่เป็นพระอนุสาวนาจารย์ของท่าน แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็เรียนทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระควบคู่กันไป ท่านสนอกสนใจเรียนมากๆ เรียนภาษาไทยบวกภาษาขอมไปด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในพรรษาแรกที่ท่านอยู่ที่วัดสองพี่น้อง นั่นคือความตั้งใจของท่านที่จะท่องบทสวดมนต์ให้จบทั้งหมด

สมัยที่ผู้พูดบวชพรรษาแรกที่วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น สมเด็จพระอุปัชฌายะท่านบอกอย่างนี้ บวชเป็นพระจะต้องสวดมนต์ได้ ก็ต้องพรรษาหนึ่งแล้วก็ไปถึงแค่พรรษาสองนี่แหละ พอหลังจากนั้นแล้วมักจะไม่ค่อยท่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พรรษาที่ 1 ท่านตั้งใจท่องบทสวดมนต์ทั้งหมด ก็คือเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แล้วท่านก็ท่องได้หมดจริงๆ ตั้งแต่บทแรก ก็คือบททำวัตรสวดมนต์นี่แหละ จนกระทั่งไปถึงตอนท้าย แม้กระทั่งพระปาฏิโมกข์ท่านก็ท่องได้หมด

@ ค้นหาความหมายของคำว่า “อวิชชาปัจจยา”
ในบทสวดมนต์ที่ท่านท่องนี้ มีเกร็ดประวัติที่เป็นเกียรติประวัติที่สำคัญมากๆอยู่เรื่องหนึ่งคือ เมื่อท่านท่องบทสวดมนต์ไปนั้น ท่านไปติดใจอยู่คำๆหนึ่งที่อยู่ในบทสวดมนต์คือคำว่า “อวิชชาปัจจยา” ท่านสงสัยว่าคำนี้หมายถึงอะไร และท่านก็ไปถามพระที่อาวุโส ซึ่งเป็นญาติผู้พี่ของท่านที่บวชมาก่อน ไปถามเขาว่า “อวิชชาปัจจยา “ นี้ หมายถึงอะไร พระที่เป็นพระญาติผู้พี่นั้นก็ตอบว่า “ไม่รู้ “ ไม่รู้ คือ ท่านไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็ไปถามองค์ที่ 2 ที่มีอาวุโสมากขึ้นถามว่า คำๆนี้หมายถึงอะไร พระรูปนั้นท่านก็บอกว่า คำๆนี้เขาไม่แปลกันหรอก ถ้าอยากจะรู้ต้องไปเรียนเพิ่มเติมที่บางกอก

เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญอยู่ 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้เข้ามาศึกษาต่อที่บางกอกคือพระนคร และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆคือเรื่องของคำว่า “อวิชชาปัจจยา”” นั่นเอง อวิชชาปัจจยานี้อยู่ในบทสวดมนต์ที่เราเรียกกันว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนั้นพูดถึงการอาศัย ซึ่งเป็นเครื่องอาศัยต่อเนื่องให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดชาติ ชรา มรณะ ก็คือการเวียนว่ายตายเกิดเกิดขึ้น มีความสำคัญมากๆ แม้กระทั่งพระบรมศาสดา ก่อนที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ในคืนตรัสรู้ธรรมนั้น ในยามสุดท้ายที่เราบอกว่า ท่านเข้าถึงอาสวักขยญาณ ก็คือการทำอาสวะกิเลสให้สิ้นนั้น การที่จะสิ้นได้นั้น ก็คือการพิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาทอันนี้นี่แหละ

ปฏิจจสมุปบาทอันนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ อวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญานัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทนา เวทะนายะปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ภะวะปัจจะยา ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ

นี่คือสูตรอะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายที่ท่านได้พูดถึงได้บทสวดมนต์ก่อน ก่อนที่จะเกิดการเวียนว่ายตายเกิด ตัวต้นเหตุที่เป็นตัวต้นปัจจัย ปัจจัยตัวต้นคืออวิชชา ซึ่งเป็นตัวสำคัญ เห็นในเกียรติประวัติแล้ว มีความรู้สึกว่าถูกคู่เสียนี่กระไร เพราะว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่เกิดมาเพื่อทำเรื่องราวนี้ให้กระจ่าง

คำว่าอวิชชานั้นมีความหมายลึก เพราะว่าเป็นเหตุปัจจัย ตัวต้น วิชชานั้นแปลว่าความรู้แจ้ง อวิชชานั้นก็หมายถึงความไม่รู้แจ้ง หรือถ้าเราพูดสั้นๆก็คือ ความไม่รู้ แต่ความไม่รู้อันนี้เป็นตัวก่อกำเนิดจนกระทั่งส่งต่อทอดจนกระทั่งทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด เกิดภพเกิดชาติ เกิดชรา ชราคือความแก่ มรณะคือความตาย แล้วต่อทอดทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นอวิชชาเป็นตัวตั้งต้น ตราบใดที่อวิชชายังอยู่ การเวียนว่ายก็ยังเกิดขึ้น อวิชชาคือความไม่รู้ ที่เราแปลกันโดยทั่วไป แต่ความไม่รู้อันนี้จริงๆแล้วคืออะไร มันมีความลึกอยู่ในนี้ เพราะว่า แค่ความไม่รู้แล้วทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดนั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เพราะว่าความไม่รู้ตัวนี้มันคืออะไรกันแน่ แต่พอจะเจาะลึกก็มีความรู้สึกว่ามันไม่รู้ว่าคืออะไร และในบทสวดมนต์ก็ไม่ได้พูดถึงเลยว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดคำว่าอวิชชาขึ้น เหมือนกับว่าอวิชชานี้เป็นตัวตั้งต้น เป็นปัจจัยตัวตั้งต้นที่ทำให้เรื่องราวต่างๆเกิดขึ้น

สำคัญขนาดไหน สำคัญขนาดที่ว่ากิเลสทุกตระกูลมีรากเหง้าอยู่ที่อวิชชาตัวนี้ เพราะฉะนั้นจะกำจัดกิเลสให้หมด จะต้องมาถึงตรงจุดๆนี้ แล้วก็ดับตรงจุดนี้ให้ได้ ถ้าดับตรงจุดนี้ได้ การดับอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดขึ้น จนกระทั่งพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อวิชชานี้ถ้าแปลอีกอย่างหนึ่ง ในความหมายอีกนัยยะหนึ่ง ก็จะให้นัยยะได้

พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเคยแปลคำว่า อรูปพรหม พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านแปลคำว่า อรูปพรหม ท่านไม่ได้แปลว่า พรหมไม่ไม่มีรูป โดยทั่วไปเขาชอบแปลกันว่า พรหมไม่มีรูป แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านแปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม การที่แปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม เป็นการบอกว่า เป็นคนละพวกกับ รูปพรหม นั้นเอง เพราะอรูปพรหมนั้นมีความละเอียดกว่า อยู่ในอรูปภพที่แยกออกไปต่างหาก

เพราะฉะนั้นคำว่า อวิชชา ถ้าเราแปลในทำนองนี้ คำว่า อวิชชา ก็จะแปลได้ว่า ไม่ใช่วิชชา ถ้าจะแปลว่า ไม่ใช่วิชชา นั่นก็จะเป็นการบอกนัยยะว่าเป็นคนละพวกกับพวกวิชชา
ถ้าวิชชาหมายถึงความสว่างไสว ความรู้แจ้ง อวิชชา ก็คือความไม่รู้แจ้ง ถ้าหากว่า วิชชาหมายถึงความบริสุทธิ์ อวิชชาก็หมายถึงความไม่บริสุทธิ์ นั่นคือความที่ทำให้เกิดความมืดความหมองมัวเกิดขึ้น แล้วก็ปิดบังความจริงต่างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านติดไว้ในใจ จนกระทั่งท่านเข้าถึงธรรม และท่านก็ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้

@ ศึกษาคันถธุระ ที่วัดโพธิ์

พระเดชพระคุณหลวงปู่ในพรรษาที่ 1 ท่านอยู่ที่วัดสองพี่น้อง 7 เดือน พอพ้น 7 เดือน ท่านก็ขอลาเข้ามาศึกษาต่อที่บางกอกอย่างที่ตั้งใจ แล้วก็มาอยู่ที่วัดพระเชตุพน ซึ่งก็คือวัดโพธิ์ ปีที่ท่านเข้ามานั้น นับตามปีที่ท่านบวช ท่านบวชปีพ .ศ 2449 ที่มาอยู่ที่วัดพระเชตุพนนั้นก็คือปีพศ. 2450 ท่านมาอยู่ใหม่ๆลำบากนะ ถ้าใครนึกถึงวัดพระเชตุพนออก เป็นวัดที่ใหญ่ เป็นวัดที่มีความสำคัญ อยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง บริเวณนั้นเป็นเขตพระบรมราชวัง แล้วยังมีสถานที่ราชการสำคัญๆ แล้วก็ยังมีวัดสำคัญๆอยู่ใกล้ๆนั้นอยู่หลายวัด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือบ้านเรือนญาติโยมก็จะน้อย

ในประวัติ พูดถึงเมื่อตอนที่ท่านมาอยู่ใหม่ๆมีเกล็ดบอกว่า ท่านออกบิณฑบาตวันแรกไม่ได้อาหาร วันที่ 2 ก็ไม่ได้อาหาร พอถึงวันที่ 3 ท่านได้อาหารมาเป็นข้าว 1 ทัพพี กล้วยน้ำว้า 1 ลูก พอท่านกลับมาที่กุฏิ ท่านจะฉัน ท่านก็เห็นสุนัขแม่ลูกอ่อนผอมโซเดินเข้ามา ท่านเห็นแล้วท่านก็นึก “เราก็หิวเจ้าก็หิวพอกัน” เพราะฉะนั้นด้วยใจเมตตาของท่าน ท่านก็เลยแบ่งข้าวซึ่งมีอยู่แค่ทัพพีเดียวเป็น 2 ส่วน
ส่วนหนึ่งท่านฉัน อีกส่วนหนึ่งท่านให้สุนัขแม่ลูกอ่อนที่หิวโซนั้นกิน สุนัขนั้นก็กินข้าวหมด พอมาถึงกล้วยน้ำว้าซึ่งมีอยู่ผลเดียว ท่านก็แบ่งครึ่ง ท่านฉันไปครึ่งหนึ่ง แล้วก็ให้สุนัขแม่ลูกอ่อนนั้นอีกครึ่งหนึ่ง
สุนัขแม่ลูกอ่อนไม่กินกล้วย สุนัขกรุงไม่กินกล้วย ถึงจะผอมโซแค่ไหนหิวแค่ไหนก็ไม่กิน

ผู้พูดเคยไปที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าไปในเขตสวน คนงานเลี้ยงสุนัข พอโยนกล้วยน้ำว้าให้ สุนัขนี่งับทันทีเลย สุนัขต่างจังหวัดคุ้นอยู่กับการกินกล้วยน้ำว้า ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ว่าสุนัขกรุงเทพฯไม่กิน
แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเมื่อสละกล้วยครึ่งผลนั้นให้สุนัขไปแล้ว ท่านก็ตัดใจให้ไปเลย แล้วท่านก็เห็นภัย เห็นความยากลำบากในการดำรงชีวิตของพระ แล้วท่านก็ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แต่นี้ไปขอความอดอยากอย่างนี้อย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย” และด้วยบุญบารมีที่ท่านสั่งสมมานั้น หลังจากนั้นเรื่องอาหารของท่านก็เป็นที่สะดวกสบายขึ้น

ท่านก็มาที่วัดพระเชตุพนศึกษาร่ำเรียนทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แต่ก่อนที่จะเข้ามาที่พระนครนั้น จากวัดสองพี่น้องท่านหยิบใบลานมาผูกหนึ่ง ใบลานผูกนี้มีความสำคัญ เพราะว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านคงจะเห็นอะไรบางอย่าง แล้วก็สะกิดใจ แล้วท่านก็มีความตั้งใจว่า ตราบใดที่ยังแปลคัมภีร์ผูกนี้ไม่ได้กระจ่างแจ้งทั้งหมด ท่านก็ยังไม่เลิกศึกษาคันถธุระ แต่ถ้าเมื่อไหร่แปลได้หมดท่านก็จะเลิกศึกษาคันถธุระแล้วก็มุ่งสู่วิปัสสนาธุระล้วนๆ คัมภีร์ที่ท่านเอามาด้วย ที่ท่านต้องเอามาศึกษาแล้วก็แปลไปในระหว่างการเรียนนั้น เข้าใจว่าเป็นคัมภีร์ที่เขียนด้วยตัวอักขระขอม

ผู้พูดเคยไปที่วัดสองพี่น้อง ไปเมื่อตอนต้นปี แล้วก็ไปดูตู้ที่เก็บคัมภีร์ ในตู้นั้นก็มีคัมภีร์ที่เป็นผูกๆอยู่เต็มตู้ แล้วก็ส่วนใหญ่ทีเดียวที่ยังจารึกด้วยอักขระขอมอยู่ แล้วเข้าใจว่าคัมภีร์ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่เอามานั้นก็คือคัมภีร์ที่จารึกด้วยอักขระขอม แล้วมีความสำคัญเพราะว่าเป็นคัมภีร์ที่พูดถึงมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐาน หรือว่าสติปัฏฐานนั้น เป็นคัมภีร์ที่สำนักปฏิบัติต่างๆใช้เป็นพื้นฐานในการฝึกปฏิบัติ พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านหยิบคัมภีร์นี้ติดตัวมา แล้วก็แบกไปไหนมาไหนท่านก็เอาคัมภีร์นี้ติดตัวไปด้วย เพื่อจะศึกษาให้กระจ่าง

จนกระทั่งไปถึงพรรษา 11 (มาอยู่กรุงเทพรวมทั้งหมด 10 พรรษา) พอถึงพรรษาที่ 11 ก็แปลคัมภีร์ผูกนี้ได้กระจ่าง คัมภีร์ผูกนี้ที่ว่ามีความสำคัญนั้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่รองรับการปฏิบัติ แล้วก็จะทำให้รองรับการพูดถึงเรื่องของวิชชาธรรมกาย ที่พูดถึงพื้นฐานเรื่อง 18 กายเอาไว้ เพราะมหาสติปัฏฐาน จะพูดถึงเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม เรื่องของกายนั้น พูดไว้ชัดเจนทีเดียวว่า กาเยกายานุปัสสี แปลตรงๆโดยไม่ต้องไปอ้อมตรงไหนเลยก็คือ การตามเห็นซึ่งกายในกาย การตามเห็นซึ่งกายในกายนั้น เป็นอย่างนี้จริงๆ เมื่อหลวงปู่ท่านเข้าถึงธรรมที่โบสถ์วัดบางคูเวียง เมื่อท่านไปเห็นกายข้างในแล้วท่านก็กระจ่างแจ้งว่า สิ่งที่ในคัมภีร์พูดถึงว่ากายในกาย กาเยกายานุปัสสีนั้น เป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะข้างในมีกายในอยู่จริงๆ กาเยกายานุปัสสี นี้ไม่ต้องไปอ้อมเลย ชัดเจนอยู่ในตัว ตามเห็นซึ่งกายในกาย และเมื่อท่านใดสามารถที่จะเข้าไปสู่ภายในเห็นกายในได้ ความสงสัยจะสิ้น พอหลวงปู่แปลคัมภีร์บทนี้ได้ครบถ้วน ท่านก็ขออนุญาตไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์บนบางคูเวียง ซึ่งพอไปถึง จนกระทั่งถึงพรรษาที่ 12 ท่านก็อยู่จำพรรษาที่แห่งนี้

@ บรรลุธรรม ที่วัดโบสถ์บน (1:18:00)

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น หลวงปู่ท่านศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ แล้วก็ต่อเนื่องกันมาตลอด ก่อนที่มาถึงวัดโบสถ์บนนี้ ท่านศึกษามาหลายแห่ง ที่ไหนเขาว่าดีท่านก็ไป แล้วก็ขอศึกษา ศึกษากับพระอาจารย์โน่งตั้งแต่ที่วัดสองพี่น้อง พอเข้ามาที่กรุงเทพฯมาที่บางกอกท่านก็ไปศึกษาอยู่กับพระอาจารย์หลวงพ่ออยู่องค์หนึ่งที่วัดพระเชตุพนท่านเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ ท่านก็ไปขอศึกษา ที่วัดสามปลื้มมี ท่านก็เข้าไปขอศึกษา แล้วก็มีพระอาจารย์สิงห์วัดละครทำที่อยู่ใกล้วัดระฆังเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ ท่านก็ไปขอศึกษา จนกระทั่งทำได้อย่างที่พระอาจารย์ท่านแนะนำ แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็ยังขอศึกษาต่อ การศึกษาต่อของท่าน ท่านทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ

จนกระทั่งมาถึงวัดโบสถ์บางคูเวียงในพรรษาที่ 12 นี้ จนกระทั่งถึงกลางพรรษาที่เราพูดกันว่า วันเพ็ญเดือนสิบ ในประวัติ ท่านผู้รู้ท่านบอกว่า หลวงปู่ท่านเริ่มจับดวงได้แล้ว ดวงนั้นเริ่มเข้ามาสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันเพ็ญเดือน 10 นั้น ดวงที่การกายก็เริ่มนิ่ง นิ่งอยู่ที่กลางกายจนกระทั่งถึงตอนเย็น ตอนที่ท่านตั้งความปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรม ตอนเย็นวันนั้น เมื่อท่านเข้าในพระอุโบสถของวัดโบสถ์บน ท่านได้ที่นั่งประมาณอยู่กลางโบสถ์ แล้วท่านตั้งอธิษฐานว่า “ที่บวชมา 15 พรรษา ถึงพรรษานี้ยังไม่ได้เข้าไปถึงธรรมะที่แท้จริงที่พระบรมศาสดา ท่านทรงเข้าถึง”
ฟังให้ดีนะ ท่านใช้คำว่า 15 พรรษาตั้งแต่บวช แต่พรรษาที่ท่านอยู่ที่วัดโบสถ์บางคูเวียงนั้นคือพรรษาที่ 12 แต่ถ้านับเป็น 15 พรรษา เพราะว่าท่านนับตั้งแต่วันที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานที่จะขอบวชตลอดชีวิต ตอนที่ท่านอายุ 19 ท่านนับตั้งแต่ อายุ 19 มาถึงที่พรรษา 12 ที่วัดโบสถ์บางคูเวียงนั้น รวมแล้วก็คือ 15 พรรษา เป็นสิ่งที่บอกว่าเรื่องการบวชนั้นอยู่ในใจของพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านตลอดเวลา
ท่านอธิฐานว่า “ตั้งแต่บวชมา 15 พรรษายังไม่ได้เข้าถึงธรรมที่แท้จริงที่พระบรมศาสดาท่านทรงเข้าถึง” แล้วท่านนึกอธิษฐานอ้อนวอนขอให้ได้เข้าถึงธรรมที่พระบรมศาสดาท่านทรงเข้าถึงด้วยเถอะ แม้เพียงส่วนน้อยที่พระบรมศาสดาท่านทรงเข้าถึง ก็ขอได้โปรดประทาน แต่ถ้าการประธานนี้ ถ้าเข้าถึงธรรมนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์แก่พระศาสนาก็อย่าให้ได้เข้าถึงเลย แต่ถ้าการเข้าถึงนี้จะเป็นประโยชน์กับพระศาสนาขอได้โปรดประทานด้วย และถ้าหากว่าเข้าถึงแล้วตัวท่านเองก็จะตั้งใจเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนา คือตั้งใจสละชีวิตที่จะทำการเผยแผ่ แล้วก็แก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนา ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้กระจ่างแจ้ง”

แล้วท่านก็นั่งอยู่ที่กลางโบสถ์ มีเกร็ดประวัติพูดถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ในขณะนั้นว่า ใจท่านก็จดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย วันนั้นเป็นวันที่ท่านจดที่ศูนย์กลางกายมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านอยู่ในอุโบสถ ใจจดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย แล้วก็มีดวงกลมใสบริสุทธิ์สถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ท่านเห็นอย่างนี้และก็ต่อเนื่องไม่ได้เคลื่อนไปไหนเลย ดวงก็อยู่ที่ศูนย์กลางกาย แต่ตอนนั้นท่านยังไม่รู้ว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อ จนกระทั่งไปถึงกลางดึกของคืนนั้น ในประวัติของท่าน ผู้รู้ท่านก็บอกว่า มีเสียงหนึ่งเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางของดวง เป็นแสงสว่างแว็บขึ้นมา แล้วก็มีเสียงเกิดขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แล้วก็เป็นดวงใส จุดใสๆบริสุทธิ์เกิดขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็ใจจดต่อเนื่องตามเข้าไป ความที่ใจของท่านจดต่อเนื่อง แล้วก็ตามเข้าไปนี้ ท่านจึงเข้าไปสู่ภายในที่อยู่ตรงกลางตรงนั้น เข้าไปได้

สิ่งที่ปิดความรู้ความเห็นของมนุษย์ทั้งหลายก็ถูกเปิดขึ้น ด้วยพลานุภาพแห่งใจหยุดใจนิ่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระเดชพระคุณหลวงปู่ใจจดเข้าไปก็เห็นหนทาง เป็นแสงสว่างเข้าไปสู่ภายใน แล้วก็เห็นดวงเกิดขึ้น แล้วก็ต่อเนื่องกันเข้าไปเรื่อยๆ ถึงตรงจุดนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านบอกว่า “มันยากอย่างนี้ รู้เห็น รู้จำ รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน” ที่หยุดเป็นจุดเดียวกันนั้นก็คือ หยุดที่ศูนย์กลางกาย รู้เห็น รู้จำ รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน รู้เห็น รู้จำ รู้คิดนี้ ต่อมาท่านได้ใช้ศัพท์ให้ง่ายขึ้นว่า “เห็น จำ คิด รู้ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย” นั่นเอง

พอรู้เห็น รู้จำ รู้คิด หยุดเป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์กลางกาย พอหยุดก็จะดับ พอดับแล้วก็จะเกิด ถ้าไม่ดับไม่เกิด พอเมื่อเข้าไปสู่ภายในแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้นี่แหละ พอหยุดแล้วถึงจะเกิดขึ้นได้ แล้วท่านก็เข้าไปสู่ภายใน แล้วท่านก็ได้เห็นธรรมตามลำดับที่อยู่ภายในนั้นในคืนวันนั้น และในคืนนั้นท่านยังเห็นอีกว่า ท่านจะไปสอนที่ไหนเป็นแห่งแรก เพราะว่าท่านเห็นวัดบางปลาเกิดขึ้นในนิมิต แล้วท่านก็รู้ว่ามีโอกาสที่จะไปสอนแล้วจะมีผู้รู้เห็นตามที่วัดบางปลา เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้เข้าถึงธรรมในคืนวันนั้น แล้วท่านก็คงทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งออกพรรษา รับกฐินเสร็จ ท่านค่อยไปที่วัดบางปลา และที่นั้นเองท่านได้สอนธรรมะภาคปฏิบัติ

@ พยานการบรรลุธรรม ที่วัดบางปลา

ท่านเริ่มสอนธรรมะภาคปฏิบัติที่วัดบางปลานั้นเป็นแห่งแรก และก็มีผู้รู้เห็นตามเป็นพระ 3 คฤหัสถ์ 4 รู้เห็นตามท่านเกิดขึ้นมา

แล้วหลังจากนั้นท่านก็เดินทางไปที่สุพรรณบุรี ไปที่สองพี่น้อง แล้วขึ้นไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตัวจังหวัดสุพรรณบุรีนั้นไปวัดของพระอุปัชฌาย์ คือ วัดที่พระอาจารย์ดี พระอุปัชฌายะของท่านอยู่ แต่ตอนนั้นพระอุปัชฌาย์ท่านสิ้นแล้ว แล้วท่านก็เลยได้ไปสอนธรรมะตามคำนิมนต์ของญาติโยมที่นั่น แต่พอสอน ท่านก็สอนธรรมะภาคปฏิบัตินี่แหละ ญาติโยมที่ปฏิบัติตามก็สนอกสนใจ แล้วก็ความสนอกสนใจนั้น ทำให้ญาติโยมที่มาฟังธรรมในครั้งต่อไปหนาแน่นขึ้น แล้วท่านก็รู้ว่าเจ้าอาวาสของวัดประตูสารในขณะนั้นก็คงจะไม่ค่อยชอบใจนัก พราะฉะนั้นพอท่านสอนครั้งที่ 2 แล้ว ท่านก็เลยขอลาจากวัด ไปที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ไปอยู่ที่นั่นญาติโยมก็ไปขอศึกษา และนี่ก็คือเหตุการณ์ที่เป็นปกติ ก็คือผู้ปกครองบ้านเมืองจังหวัดสุพรรณในสมัยนั้นเป็นสมุหเทศาภิบาล ท่านก็มีความรู้สึกว่าประชาชนจะสนใจเกี่ยวเรื่องนี้มาก
ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกว่า มันจะเกิดความไม่สงบเกิดขึ้น ก็เลยทำหนังสือมาที่กรุงเทพฯ หนังสือนั้นก็เลยมาถึงที่วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน ขอให้เรียกตัวกลับ พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเลยต้องกลับจากสุพรรณบุรี แล้วก็มาที่วัดพระเชตุพน

แล้วที่วัดพระเชตุพนนี้ พระอาจารย์ของท่านซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนในยุคนั้น ท่านเห็นว่าจะปล่อยให้หลวงปู่ท่านไปเที่ยวสั่งสอนในสภาพนี้คงไม่ได้ แล้วพอดีขณะนั้นวัดปากน้ำภาษีเจริญว่างเจ้าอาวาส เข้าใจว่าคงว่างมาพักหนึ่งแล้ว แล้วก็มีสภาพที่เกือบจะร้าง แล้วท่านเห็นว่าเป็นจังหวะที่จะให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้อยู่เป็นที่ ท่านก็เลยแต่งตั้งให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ พร้อมกับตั้งฐานะให้เป็นพระครูสมุห์ ก็เป็นพระครูฐานาของท่านเองนี่แหละ แล้วก็มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

@ ปักหลักวิชชาธรรมกาย ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เมื่อพูดถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ ต้องบอกว่าเป็นสถานที่ถูกที่ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ เพราะมีผู้รู้ได้เล่าว่า แผ่นดินวัดปากน้ำ เป็นแผ่นดินที่พระเดชพระคุณหลวงปู่นั้นท่านตั้งหลักสร้างบารมีและศึกษาวิชชาค้นคว้าสร้างบารมียิ่งๆขึ้นไป ไม่ว่าท่านจะเกิดมาในชาติไหน สุดท้ายแล้วท่านก็จะมาปักหลักที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ไม่ว่าชาตินั้นแผ่นดินจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร เป็นสถานที่อย่างไร ท่านก็จะมาสู่แผ่นดินผืนนี้ แล้วก็ศึกษาค้นคว้าปักหลักสร้างบารมีให้ต่อเนื่องยิ่งๆเข้าไป

วัดปากน้ำภาษีเจริญนึกแล้วก็อัศจรรย์ พอหลวงปู่ท่านจะมาปักหลักสร้างบารมี พอนึกประวัติย้อนหลังแล้วก็จะนึกอัศจรรย์ แม่น้ำเจ้าพระยาในยุคเก่าตั้งแต่ตอนต้นกรุงศรีอยุธยานั้น แม่น้ำเจ้าพระยาพอมาถึงบริเวณนี้จะไหลเข้าทางปากคลองบางกอกน้อย อ้อมเข้าไปสู่ข้างใน แล้วก็ไหลอ้อมมาออกทางคลองบางกอกใหญ่ คือ คลองบางหลวง จากปากคลองบางหลวง ไหลออกสู่อ่าวไทย แม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนั้นยังไม่ได้เป็นแม่น้ำสายตรง ที่จากคลองบางกอกน้อยต่อเนื่องมาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ แต่วิ่งไหลอ้อมเข้าไปสู่ข้างใน พอมาถึงยุคของสมเด็จพระไชยราชา ในตอนต้นกรุงศรีอยุธยานั้น กษัตริย์พระองค์นี้ท่านโปรดให้ขุดคลองลัดขึ้น ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยจดปากคลองบางกอกใหญ่ ก็คือคลองบางหลวง เป็นคลองลัดสามารถย่นระยะทางได้อย่างมากทีเดียว ก็เหลือเพียงระยะทางสั้นๆ แต่การขุดคลองในคราวนั้น ก็เลยทำให้ครองลัดขยายกว้างเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่วิ่งอ้อมไปสู่ข้างในนั้น กลายมาเป็นคลอง แม่น้ำเจ้าพระยาสายตรงจากปากคลองบางกอกน้อยมาถึงปากคลองบางหลวง ถ้านับความกว้างอย่างน้อยก็สัก 200-300 เมตร แต่คลองบางกอกน้อยวิ่งเข้าไปสู่ข้างในนั้น ในปัจจุบันลดลงมาเหลือแค่คลองแคบๆเหลือสัก 30 เมตรเห็นจะได้

วัดปากน้ำด้านหนึ่งนั้นติดกับคลองบางหลวงนี่แหละ อีกด้านหนึ่งก็เป็นคลองด่านภาษีเจริญ คลองบางหลวงตรงที่จดวัดปากน้ำนั้น เหลือกว้างอยู่ประมาณสัก 30 เมตรนี่แหละ กะด้วยสายตานะจ๊ะ
เพราะเห็นจนกระทั่งคุ้นตาตอนที่ไปที่วัดปากน้ำใหม่ๆ แล้วถ้าหากเรานึกว่า ถ้าคลองบางหลวงในยุคตอนต้นกรุงศรีอยุธยาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และวัดออกข้างละ 100 เมตรจากกลางคลอง วัดออกข้างละ 100 เมตรหรือ 100 กว่าเมตร พื้นที่วัดปากน้ำครึ่งค่อนทีเดียวที่กลายเป็นแม่น้ำ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่แม่น้ำกลายมาเป็นคลอง แล้วก็แผ่นดินของวัดปากน้ำก็งอกเงยขึ้นมาเป็นแผ่นดินที่รองรับการสร้างบารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่าน นี่คือความอัศจรรย์น้อยๆ ของวัดปากน้ำ ซึ่งยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายเหลือเกิน

พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น ถ้านับตาม พ.ศ. น่าจะเป็น พ.ศ. 2461 แล้วท่านก็เป็นเจ้าอาวาสที่นั่นตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งท่านละสังขารในปีพ.ศ 2502 รวมระยะเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญรวมหมดนั้น 41 ปี แต่เป็น 41 ปีที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในด้านของวิชชาธรรมกายและก็ในเรื่องของงานเผยแผ่พระศาสนาจนกระทั่งงานปรับปรุงวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ในประวัติพูดถึงตอนที่ท่านไปอยู่ใหม่ๆที่วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น ถ้าพูดง่ายๆ ชาวบ้านในถิ่นไม่ค่อยยอมรับการมาของท่านเท่าไหร่นักหรอก แม้กระทั่งพระในวัดก็ไม่ค่อยยอมรับท่าน
ซึ่งอยู่ในประวัติของท่านเอง ที่ได้เขียนถึงเรื่องพวกนี้ แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่เมื่อมาถึงที่ใด ท่านก็มีความตั้งใจที่จะทำ ท่านก็เลยตั้งใจที่จะพัฒนาวัดปากน้ำให้เจริญขึ้นระดับหนึ่งที่จะใช้ในการทำงานในพระศาสนาได้ ท่านตั้งใจทำ แล้วก็เริ่มพัฒนาวัด แล้วค่อยวางระเบียบวินัย ที่ไหนที่หย่อนวินัยท่านก็ปรับให้วินัยเข้มแข็งขึ้น

ที่ไหนถ้าเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เพราะว่าพอมาถึงที่นั่นแล้วพระเณรก็ไม่ศึกษาเล่าเรียนท่านก็ปรับให้มีการศึกษาเล่าเรียนขึ้น แล้วก็เป็นพื้นฐานที่ท่านบอกกับพระทุกรูปว่า ต้องเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเอาคันถธุระคือการศึกษาปริยัติธรรมก็ได้หรือการปฏิบัติธรรมก็คือวิปัสสนาธุระก็ได้ แล้วท่านก็เอาจริง แล้วก็ค่อยๆทำ ใครคัดค้านท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้ไม่ขัดขวาง แล้วก็ค่อยๆทำให้ดีขึ้น แล้วท่านค่อยๆวางการปกครองของวัดปากน้ำจนกระทั่งสำเร็จลุล่วงเป็นพื้นฐานที่ท่านจะได้ศึกษาวิชชายิ่งๆเข้าไป

อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านมาถึงวัดปากน้ำแล้วก็ทำขึ้น นั่นก็คือการตั้งโรงครัว อย่างที่เล่าในประวัติ ตอนที่ท่านมาอยู่วัดโพธิ์ใหม่ๆวัดพระเชตุพนใหม่ๆ ท่านลำบากในเรื่องอาหารขบฉัน แล้วท่านก็ต้องตั้งจิตอธิษฐานว่า “ความลำบากความอดอยากอย่างนี้อย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย” เพราะฉะนั้นเมื่อท่านมาถึงที่วัดปากน้ำ ท่านก็เลยทำสิ่งเหล่านี้ให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะรองรับการศึกษาของพระเณรที่จะเกิดขึ้น
ท่านตั้งโรงครัวเกิดขึ้นแล้วก็หาเจ้าภาพมาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารพระตั้งแต่ยุคนั้น ยุคตั้งแต่เป็น 10 แล้วก็เป็นร้อยจนกระทั่งตอนท้ายท่านเลี้ยงได้เป็นพันด้วยอาหารจากโรงครัวของท่าน แล้วไม่เคยขาดเลย ตั้งหลายสิบปี ท่านไม่เคยขาดเลยในการตั้งโรงครัวเลี้ยงภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาอยู่ในที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ..ไม่เคยขาดอาหารเลย สิ่งเหล่านี้ท่านทำอย่างต่อเนื่อง

เรื่องการศึกษา ทางการศึกษาพยายามปรับปรุงให้พระเณรได้มีการศึกษาเล่าเรียน และสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนั้นก็คือ สิ่งที่ท่านทำเพื่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องวิชชาธรรมกายยิ่งๆขึ้นไป ในตอนต้นได้พูดถึงสติปัฏฐาน พูดถึง กาเยกายานุปัสสี จนกระทั่งไปถึงที่ท่านเข้าถึงธรรมที่โบสถ์วัดบางคูเวียง เมื่อท่านเข้าไปถึงภายใน ท่านเห็นกายใน ในสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รองรับกับมหาสติปัฏฐานสูตรที่พูดถึงกาเยกายานุปัสสี ตอนที่ผู้พูดเข้าไปที่วัดปากน้ำใหม่ๆ ได้เห็นหลักวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านวางเอาไว้ วางพื้นฐานเอาไว้เกี่ยวกับเรื่อง 18 กาย ก็มีความทึ่งความอัศจรรย์

ท่านวางไว้นี่ชัดเจนแน่นอน ขึ้นอยู่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นจะสามารถทำใจหยุดทำใจนิ่งเข้าไปถึงภายในได้เพียงไรเท่านั้น และสิ่งเหล่านี้ที่ท่านได้วางพื้นฐานเอาไว้ได้ ก็เกิดขึ้นมาจากการที่ท่านได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง การที่ท่านได้ศึกษาค้นคว้า ตั้งแต่มหาสติปัฏฐานที่ท่านได้มาจากคัมภีร์ผูกนั้น จนกระทั่งเข้าไปถึงธรรมภายใน แล้วก็ได้วางพื้นฐานเรื่อง 18 กายเอาไว้ กาเยกายานุปัสสี วิหารติ เป็นสิ่งที่ตามเห็นซึ่งกายในกายได้อย่างเป็นปกติได้ทุกคน..เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่มีอยู่แค่กายเดียว กายในพื้นฐานของกายในนั้น จะอยู่ที่เรื่องของ 18 กาย พระคุณหลวงปู่ท่านก็วางไว้อย่างชัดเจน เอาไว้ให้เราได้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป แล้วเมื่อท่านศึกษาลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป ก็น่าอัศจรรย์ยิ่ง จากพื้นฐานเรื่อง 18 กายนี้ มีความลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอย่างที่จะสุดจะประมาณได้ และก็เลยเป็นที่มาของเรื่องที่ว่า ได้พูดถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ว่า ท่านได้ตั้งโรงงานทำวิชชาขึ้น

@ ในโรงงานทำวิชชา ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (1:42:54)

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติแห่งการศึกษาปฏิบัติของท่าน ก็คือเรื่องโครงงานทำวิชชา ภาพที่พวกเราได้มีโอกาสได้เห็นอยู่บนจอ เป็นภาพที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่าของพระธรรมรัตนากร ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านมาอยู่ตั้งแต่ท่านเป็นสามเณร แล้วเมื่อถามถึงที่ทำวิชชาที่ต่อเติมจากกุฏิของพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้น ท่านก็ได้พูดเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไร แล้วเราก็ได้สเก็ตภาพนี้ขึ้น เป็นเพิงจาก ที่ต่อเนื่องมาจากกุฏิของท่าน ทำแบบง่ายๆ ขอให้ได้ใช้ก่อนเถอะ หลังแรกเป็นเพิงจาก พระเดชพระคุณหลวงปู่นั้น ท่านจะอยู่ที่เรือนไทยหลังนี้ แต่อยู่ชั้นบน เวลาท่านจะมาเข้าที่ทำวิชชานั้น ท่านจะเดินลงมาจากบันไดแล้วเข้าทางประตูด้านข้าง แล้วก็เข้าทางด้านประตูที่อยู่ใต้เพิงจากนั้น ซึ่งเป็นทางด้านที่พระเข้ากัน ที่เพิงจากนี้มันจะมีประตูอยู่ 2 ประตู ประตูอีกด้านหนึ่งนั้นจะอยู่อีกฟากหนึ่ง เป็นที่ทางด้านแม่ชีคืออุบาสิกาเดินเข้า ส่วนฟากที่อยู่ใกล้ประตูทางที่ลงมาจากกุฏินี้ เป็นที่สำหรับพระเดินเข้า

พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านก็มานั่งภาวนาอยู่ที่หลังนี้นี่แหละ แล้วก็ใช้คำว่าทำวิชชาเพื่อศึกษาวิชชากันลึกซึ้งยิ่งๆเข้าไป วิชชาลึกซึ้งขนาดไหน ผู้พูดก็คงจะได้แค่อ้างอิงถึงคุณยายอาจารย์มหารัต อุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง พอได้มีโอกาสได้พบท่าน ได้พูดคุยกับท่าน ได้เป็นศิษย์ของท่าน

ได้ถามยายว่า ยายๆ ตอนที่ยายเข้าวัดปากน้ำยายเข้าไปตอนที่อายุเท่าไหร่
คุณยายท่านก็ตอบว่า ตอนที่ยายถึงวัดปากน้ำนั้น ยายอายุ 29
ถ้ายายเข้าไปตอนที่ยายอายุ 29 ยายเกิดปีพุทธศักราช 2452 ถ้าบวก 29 นั่นคือปี พ.ศ. 2481
ก็เลยถามยายต่อว่า ยายๆ ตอนที่ยายเข้าไปตอนนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านทำวิชชาหรือยัง
คุณยายท่านก็ตอบว่า เขาทำกันแล้ว
ยาย..ที่ทำวิชชาแล้วเนี่ย เชี่ยวหรือยัง
คุณยายท่านตอบว่า กำลังเริ่มเชี่ยว
ถามต่ออีกว่า ยาย..แล้วมาเชี่ยวจริงๆเนี่ยเชี่ยวเต็มที่เนี่ยตอนไหน
คุณยายท่านก็ตอบว่า มาเชี่ยวเต็มที่จริงๆก็คือตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในช่วงที่ต้องทุ่มเทกันสุดชีวิต เพื่อรักษาประเทศเอาไว้ให้ปลอดภัย พร้อมกับเข้าไปในเหตุแห่งวิชชา

เพราะฉะนั้นถ้าตามคำบอกเล่าของคุณยายอาจารย์ นั่นก็คือ เมื่อยายเข้าไปถึงตอนปีพ.ศ 2481 นั้นหลวงปู่ท่านเริ่มทำวิชชาแล้ว แล้วก็เริ่มเชี่ยว ก็คงทำมาหลายปี ถ้าไปถอดความจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเทศน์ เวลาท่านพูดถึงเรื่องทำวิชชา ท่านจะพูดถึงว่าตัวผู้พูดคือตัวท่านหยุดเข้ากลางไม่ถอนถอย ท่านบอกว่า ท่านหยุดเข้ากลางไม่ถอนถอยมา 20 กว่าปีแล้ว
เมื่อเอาเวลาที่ท่านพูดถึง ก็ประมาณได้ว่า ท่านเริ่มหยุดไม่ถอนถอยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ตั้งแต่ก่อนยายจะเข้าไปอยู่ประมาณ 7 ปี ตอนที่ท่านหยุดไม่ถอนถอยนี้ ก็เข้าใจว่า ท่านเริ่มรู้แล้วว่า ท่านเป็นใคร มีหน้าที่มาทำเรื่องอะไร และจำเป็นต้องทุ่มทั้งชีวิต และทีมงานก็จะต้องทุ่มตามเพื่อทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิตให้สำเร็จให้ได้ เส้นทางที่ท่านเดิน คือ เส้นทางที่ท่านนำหมู่คณะมุ่งหน้าไป แล้วก็เป็นเส้นทางที่หมู่คณะจะได้มีโอกาสตามท่านเข้าไป เป้าหมายของท่านคือไปให้ถึงที่สุด แล้วก็เป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึงที่สุดเลยก็คือเดินตามทางสายกลางเข้าสู่ตรงกลาง ไม่แวะที่ไหนเลย เข้ากลางอย่างเดียว
สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่พูดคือ หยุดไม่ถอนถอย หยุดไม่ถอนถอยของท่านคือ หยุดเข้ากลางตลอด นั่งเดินยืนนอนหรือจะทำอะไรอยู่ ใจก็หยุดเข้ากลางตลอด ตั้งแต่ปีพศ. 2474 แล้วไม่ถอยคืนเลย

สิ่งที่สั่งสมเป็นอุปนิสัยของพระเดชพระคุณหลวงปู่ มาชัดเจนเมื่อท่านปฏิบัติธรรมขั้นละเอียดเข้าไปสู่ภายในตรงนี้นี่แหละ เมื่อท่านมุ่งหน้าสู่อะไร แล้วต้องไปให้สุด ไม่ถอย มีแต่มุ่งหน้าสู่เป้าหมายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ถอยกันละ เพราะฉะนั้นต้องเป็นเรื่องของคนที่จิตใจแข็งแกร่ง ใจหยุดใจนิ่ง นิ่งสนิท นิ่งสนิทจนกระทั่งไม่มีสิ่งอื่นที่จะรบกวนจิตใจให้ถอนถอย หรือจะมีสิ่งอื่นมารบกวน แต่จิตใจของท่านก็ยังนิ่งพอที่จะเข้ากลางได้ตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังจากคุณยาย และคุณยายก็มักจะพูดถึงให้ฟังหลายครั้ง เพราะตอนนั้นผู้พูดเองก็ยังเป็นนิสิตแล้วก็ไปเรียนธรรมะปฏิบัติกับท่าน พระเดชพระคุณหลวงพ่อธรรมะ พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตะเรานี่แหละพาเข้าวัด แล้วก็ไปปฏิบัติ แล้วได้มีโอกาสได้อยู่ใกล้ยาย สิ่งหนึ่งที่ยายอยู่ในที่ทำวิชชาและยายเป็นหัวหน้าทำวิชชา แล้วเป็นหัวหน้ามือหนึ่งไม่มีสอง แล้วสิ่งที่ท่านพูดให้ได้ยินได้ฟัง แล้วทำให้คาดคะเนถึงสิ่งที่ยายได้ปฏิบัติ ได้ทำใจหยุดนิ่งเข้ากลางตามพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้น ไปเพื่ออะไร อย่างไร

คุณยายท่านจะบอกว่า คุณ..คุณ สิ่งทั้งหลายที่เห็นอยู่นี้หรือว่าเรื่องทั้งหลาย มันเกิดมาแต่เหตุ เรื่องทั้งหลายทั้งหมดมีเหตุเป็นแดนเกิด และจะดับได้ต้องดับที่เหตุ ข้างนอกดับไม่ได้ นั่นคือการปฏิบัตินั้นจะต้องเข้าไปสู่เหตุ แล้วก็เป็นเหตุลึกๆ เหตุที่เป็นตัวเนื้อจริงๆที่อยู่ข้างใน เหตุที่ละเอียดมากๆ เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นหรือว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่ได้พบ เกิดมาแต่เหตุทั้งนั้น บางทีท่านก็บอกว่า “ไหลมาแต่เหตุ” จะดับได้ต้องดับที่เหตุ

สิ่งนี้ต้องอยู่ในใจของพระนักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่แล้วก็คุณยาย เป็นลูกศิษย์ลูกหาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อต้องอยู่ในใจ สิ่งนี้ยายได้จากการปฏิบัติ เพราะธรรมชาติยายคือจะหยุดนิ่งเข้ากลางแล้วเข้าไปสู่เหตุ ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่จะใช้เรื่องอะไร ยายทำหน้าที่อยู่สิ่งเดียว นั้นก็คือใจหยุดใจนิ่งเข้าไปสู่เหตุตัวจริงที่อยู่ภายใน

และเรื่องนี้ก็รับกับสิ่งที่เป็นเนื้อหาธรรมะจริงๆ ที่พระบรมศาสดาท่านทรงสอน แล้วก็สอนตั้งแต่พระสาวกชุดแรก ก็คือพระปัญจวัคคีย์ ในพุทธประวัติ เมื่อพระบรมศาสดาสอนปัญจวัคคีย์ให้เข้าถึงธรรมในวันอาสาฬหะ ที่มีการพูดถึงการแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร และการเข้าไปถึงธรรม แล้วหลังจากนั้นพระปัญจวัคคีย์ก็ได้เข้าถึงธรรม จนกระทั่งเป็นพระอรหัต แล้วหลังจากนั้นก็ได้ออกมาเผยแผ่ หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ได้เดินทางไปที่กรุงราชพฤกษ์ แคว้นมคธ ได้เข้าไปบิณฑบาต แล้วบุคคลสำคัญท่านหนึ่งก็ได้เห็นพระอรหันต์สาวก พระอัสสชิท่านบิณฑบาต เดินบิณฑบาตด้วยอาการสงบและสว่างไสว ท่านก็เกิดศรัทธา ท่านที่พบเห็นท่านนี้ ท่านเป็นปริพาชก ซึ่งต่อมาก็คือพระสารีบุตร แต่ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวชนะ ท่านเห็นแล้วท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใส ก็ตามพระอัสสชิไป เมื่อเห็นว่าพระอัสสชิท่านรับบาตรเสร็จ ฉันเสร็จ ท่านก็เข้าไปขอสนทนา

ท่านก็ถามว่า ใครเป็นศาสดา ท่านปฏิบัติตามธรรมของใคร และธรรมนั้นมีว่าอย่างไร
พระอัสสชิท่านก็ตอบอย่างนี้ ท่านก็บอกว่า ท่านบวช มีพระสมณโคดมเป็นพระศาสดา เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ  เราปฏิบัติตามธรรมของท่าน ส่วนคำที่ท่านสอนนั้น เนื่องจากเราเป็นผู้บวชใหม่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างพิสดาร แต่ขอเป็นแบบสั้นๆ
พระสารีบุตรในตอนนั้นท่านก็บอกว่า ก็เอาสั้นๆเถอะ เอาสั้นๆ แต่ได้ใจความ
พระอัสสชิท่านบอกว่า พระศาสดาของเราสอนว่าอย่างนี้

“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”

ถ้าแปลตามความก็คือ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุมีเหตุเป็นแดนเกิด  เตสํ เหตํุ ตถาคโต   พระตถาคตเจ้าพระบรมศาสดานั้นได้ตรัสบอกเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น เตสญฺจ โย นิโรโธ   และบอกถึงความดับแห่งธรรมเหล่านั้น จ เอวํ วาที มหาสมโณ นี่แหละคือวาทะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระมหาสมณะของเรา ฟังอีกทีนะจ๊ะ

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ
ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และตรัสบอกถึง ความดับคือนิโรธของธรรมเหล่านั้น นี่แหละคือวาทะคือคำสอนของพระมหาสมณพระสัมมาสัมพุทธะของเรา

ตามเนื้อหานี้ เหมือนกับสิ่งที่คุณยายของเราพูดนั่นแหละว่า สิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุ มีเหตุเป็นแดนเกิด ถ้าจะดับต้องไปที่เหตุ ดับที่ผลดับไม่อยู่ เพราะฉะนั้น นี่คือเนื้อหาแห่งการปฏิบัติที่จะต้องเข้าไปสู่เหตุ และเหตุนี้มันจะมีเหตุลึกๆเข้าไปสู่ภายใน การจะเข้าไปสู่เหตุนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติล้วนๆ อาศัยการท่องจำเข้าไม่ถึงเหตุ เพราะเหตุลึกที่อยู่ภายในนั้นจะอยู่ที่กลางกาย และการจะเข้าไปสู่ที่เหตุนั้น จะมีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น ไม่มีวิธีการที่ 2 เลย ก็คือ ต้องหยุดนิ่ง ต้องใจหยุดเท่านั้น ถึงจะเข้าไปสู่ภายในได้

ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถที่จะปักใจของเราให้สงบ แล้วก็หยุดนิ่งเพียงไร ถ้าหากว่าเราสามารถปักใจให้หยุดนิ่งได้สนิท แล้วก็จะสามารถที่จะปรับเข้าไปสู่ภายในได้อย่างลึกซึ้งเพียงนั้น

คำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่สอนนั้นจริงแท้แน่นอน ถ้าหากว่าเราทำใจหยุดได้ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นมา หนทางสายกลางนั้น ต้องอาศัยใจหยุดใจนิ่งเท่านั้นจึงจะเข้าสู่ตรงกลาง เข้าไปสู่ภายในที่อยู่ตรงกลางได้ ไม่มีวิธีการที่ 2 และไม่มีหนทางที่ 2 ที่จะเข้าไปสู่เหตุภายในที่ละเอียดลึกซึ้งได้

ต้องอาศัยหนทางสายกลางสายเดียว หนทางสายกลาง จึงเรียกว่า “ทางสายกลาง” เพราะว่าต้องเข้าสู่ตรงกลางเท่านั้น และก็เป็นหนทางเอกสายเดียว เป็นเอกายนมรรค เพราะไม่มีหนทางสายที่ 2 เป็นหนทางแห่งอาริยะ เป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะว่าเมื่อเข้าสู่ตรงกลางแล้ว จะมีแต่ความบริสุทธิ์ยิ่งๆเข้าไป

ความสะอาดบริสุทธิ์จริงๆ เราไม่สามารถหาได้จากภายนอก แต่ความบริสุทธิ์จริงๆนั้น มีอยู่แต่ภายใน ความบริสุทธิ์ที่แท้จริงนั้น จะมีแหล่งกำเนิดอยู่ตรงกลาง ที่มีความบริสุทธิ์จริงๆเข้าไป เพราะฉะนั้นเมื่อใจยิ่งหยุดนิ่งเข้ากลาง ก็จะเข้าสู่แหล่งที่มีความบริสุทธิ์ที่อยู่ตรงกลางยิ่งๆเข้าไปเรื่อยๆ ที่ไหนที่มีความบริสุทธิ์ กิเลสอาสวะก็จะเจือจางลง แล้วก็จะเจือจางลงไปเรื่อยๆ แล้วก็จะสามารถเข้าไปสู่เหตุที่แท้จริงที่อยู่ภายใน

เป้าหมายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ที่ท่านทำก็มีเป้าหมายที่อยู่ตรงกลางของกลางที่มีความบริสุทธิ์ยิ่งๆเข้าไป ที่มีความลึกซึ้งอันนั้น บางทีท่านบอกว่า ท่านจะเข้าไปให้ถึงกายที่อยู่ภายในของท่าน ไปถึงกายที่เป็นกายต้น เป็นต้นของการเริ่มต้นของท่านเอง นี่คือสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเทศน์ท่านสอนไว้ อยู่ในคำเทศน์ของท่านในบางบทบางตอน

โรงงานทำวิชชาจึงเป็นที่ประชุมรวมของผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย และเป็นที่ประชุมรวมของผู้ที่สามารถทำใจหยุดทำใจนิ่งเข้าไปสู่ตรงกลางที่มีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆเข้าไป และขอให้รู้เถอะว่าคุณยายอาจารย์ของเรานั้นคือหนึ่งในทีมงานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ และเป็นหนึ่งในหัวหน้าที่ทำวิชชาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ และเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านชมว่า “หนึ่งไม่มีสอง”

อุปนิสัย การปฏิบัติของคุณยายเรานั้น คือแนวทางที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านทำ และท่านเป็น ผู้พูดไม่มีโอกาสได้พบพระเดชพระคุณหลวงปู่ เพราะตอนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านละโลกนั้น เมื่อปีพศ. 2502 นั้น ผู้พูดอายุได้ 9 ขวบ ยังเป็นเด็กอยู่เลย ยังไม่รู้จักเลย แต่มีโอกาสได้มาพบคุณยาย มีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน สนทนากับท่าน และได้ถามท่านอยู่หลายๆเรื่อง ได้เห็นการปฏิบัติ ได้เห็นธรรมชาติของความเป็นอยู่ ของการวางตัว ของการปฏิบัติของคุณยาย

ยายจะเป็นคนที่สมถะง่ายๆ แล้วก็อยู่กับเรื่องใจหยุดใจนิ่งของท่านเท่านั้น ข้างนอกอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าข้างนอกจะบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญหรือว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน หลวงพี่ไม่เคยเห็นยายมีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เป็นสิ่งที่น่าตกใจหรือน่ากลัว ท่านจะมีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เจอได้ และก็เป็นเรื่องที่แก้ไขได ในขณะที่ใครก็ตามที่คิดว่าเรื่องเหล่านั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก
แต่พอเรื่องนั้นมาถึงยาย ยายบอกว่าไม่เป็นไร แล้วยายจะจัดการเอง จะช่วยเอง วิธีการที่ยายทำนั้นก็คือ ยายพอว่างจากพวกเราแล้ว ยายก็จะไปสู่เรื่องของการทำใจหยุดทำใจนิ่ง เข้าไปสู่ภายใน

เรื่องอะไรก็ตาม ยิ่งใหญ่แค่ไหน มันจะมีตัวเหตุอยู่ข้างใน ถ้าหากว่าใจหยุดใจนิ่งเข้าไปถึงตรงจุดนั้น ได้เข้าไปถึงเหตุได้ ก็สามารถที่จะไปขจัดเหตุแห่งความไม่ดีเหล่านั้นได้ ซึ่งก็ต้องมีวิธีขจัด ถ้าขจัดได้ เหตุดับ ผลข้างนอกก็จะดับตามไปนะ เพราะฉะนั้นหลวงพี่ยังไม่เคยเห็นท่านมีอาการรู้สึกว่าเดือดร้อนกับเรื่องอะไรที่มันเกิดขึ้นเลย แต่ยายจะนิ่งเหมือนขุนเขา นิ่งเหมือนขุนเขา เหมือนกับที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเป็น ก็คือใจหยุดใจนิ่ง นิ่งเหมือนขุนเขา ใจของพระเดชพระคุณหลวงปู่นิ่งเหมือนขุนเขา นิ่งแล้วเข้าสู่ภายใน ขนาดนั่งเดินยืนนอน เรื่องอะไรจะเกิดขึ้นข้างนอก ใจท่านก็ยังสามารถวิ่งเข้าไปสู่ภายในได้

สิ่งที่พยายามจะพูด สิ่งที่พยายามเล่า พูดถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ และก็มีส่วนหนึ่งที่มาถึงคุณยายอาจารย์ของเรานั้น ก็เพื่อให้เราได้เห็นภาพแห่งการทำงาน แห่งการสร้างบารมี แห่งการฝึกปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ แล้วก็ต่อทอดมาถึงคุณยาย

หนทางที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านมุ่งไปสู่เรื่องการปฏิบัติจนกระทั่งลึกซึ้งเข้าไปสู่ภายใน หนทางที่ท่านมุ่งเข้าไป อยากจะบอกว่า คือหนทางที่หมู่คณะกำลังจะเดินตามท่านเข้าไปนั่นเอง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงที่จะมาขจัดตัวต้นเหตุที่ทำไว้จนกระทั่งเกิดสังสารวัฏ ที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตัวเหตุจริงๆมันอยู่ข้างในตัว ที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ที่บอกว่าคืออวิชชานั่นแหละ ที่มันอยู่ข้างในลึกๆเข้าไปที่อยู่ข้างใน

อวิชชาที่พูดถึงในตอนต้นที่ว่าเป็นตัวปัจจัยตั้งต้นให้เกิดขึ้นนั้น ในบทสวดมนต์ปฏิจจสมุปบาทนั่นไม่เคยบอกเลยว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอวิชชา ดังนั้นอวิชชาตัวนั้นจึงเป็นตัวตั้งต้น แต่ตัวตั้งต้นตัวนั้นมีความลึกซึ้งเข้าไปสู่ภายใน และจะมีวิธีที่จะแก้ไขก็คือดับให้ได้เท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านจึงทุ่มเททำปฏิบัติเพื่อเตรียมเข้าไปสู่ภายใน เข้าไปถึงต้น ตัวต้นให้ได้

รอยเท้าที่ท่านเดินจะทิ้งร่องรอยให้เราเห็น และก็จะเป็นร่องรอยที่บอกว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ เป็นร่องรอยที่บอกทิศทางว่าท่านกำลังไปในทางไหน และบอกถึงร่องรอยที่เป็นเป้าหมายที่หลวงปู่จนกระทั่งมาถึงทีมงานทั้งหมดจะมุ่งไปให้ถึง และเป็นร่องรอย เป็นเป้าหมายที่มาถึงพวกเราทุกๆคน ที่จะได้มีโอกาสได้รับรู้ถึงการทำงาน การปฏิบัติธรรม การเข้าถึงธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่
เราจะได้มีกำลังใจที่จะทำกันต่อไป

และทั้งหมดที่เราจะมีโอกาสได้ทำ ก็อยู่ตรงที่คำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ที่จะนำความสำเร็จมาสู่เราในการที่เราจะเดินตามร่องรอยของพระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าไป มีวิธีปฏิบัติวิธีเดียวเท่านั้นที่จะตามท่านได้ก็คือ ต้องทำใจหยุดทำใจนิ่ง ปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านได้สอน ท่านได้เน้น นั่นคือ “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” นั่นเอง

ชีวิตของหลวงปู่ท่านทุ่มเทให้กับการปฏิบัติหลายสิบปี วางพื้นฐานไว้แน่น ทั้งระดับที่นำมาใช้เพื่อเผยแผ่ นำมาใช้ในระดับที่ปฏิบัติเข้าไปสู่ธรรมะภายในที่ลึกซึ้งสำหรับผู้ที่เข้าถึง และก็เป็นสิ่งที่พวกเราจะได้นำมาใช้ประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

ในช่วงท้ายชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงปู่ จริงๆท่านอยากจะทำงานให้สำเร็จในชาตินี้ด้วยซ้ำไป จนกระทั่งมาถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อท่านเริ่มอาพาธแล้วท่านก็เลยเริ่มรู้ว่า สิ่งที่จะตั้งใจทำให้สำเร็จในชาตินี้มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น ท่านก็เลยผ่อนคลายระดับการปฏิบัติลงไปส่วนหนึ่ง แล้วก็หันมาเน้นเกี่ยวกับการวางพื้นฐานเผยแผ่เอาไว้ให้สำหรับลูกหลานถัดๆไปที่เป็นศิษยานุศิษย์ ที่เป็นรุ่นถัดไปนี้ ได้มีโอกาสได้รู้และได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยหันมาเน้นการเผยแผ่ แล้วก็เน้นเรื่องการสอนปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งเน้นไปถึงเรื่องของการเรียนปริยัติธรรมมากขึ้น หลวงปู่ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เศษๆ จนกระทั่งท่านสร้างเสร็จได้ฉลองกันก็คือ 2499-2500 นี่แหละ ก็ได้ฉลองโรงเรียนปริยัติธรรมซึ่งมีขนาดใหญ่ ต้องถือว่าขนาดใหญ่มากในยุคนั้น

และท่านก็เลยได้ปูพื้นฐานสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้กับศิษยานุศิษย์ แล้วก็มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะของผู้พูดเองเป็นผู้สืบทอดรับต่อทอดกันมา แล้วก็ได้ปูพื้นฐานเกี่ยวเรื่องทั้งทางด้านปริยัติธรรมและการปฏิบัติในแนวของวิชชาธรรมกายต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน

พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำอยู่ตั้งแต่ปี 2461 ท่านละสังขารปี พ.ศ. 2502 รวมระยะเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ 41 ปี 41 พรรษา ยาวนานพอสมควรนะ
แล้วสิ่งที่ท่านปูพื้นฐานไว้ก็มีทั้งด้านปฏิบัติและปริยัติธรรม ก็ประวัติคร่าวๆ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ที่จะเล่าให้พวกเราฟังก็มีอยู่เพียงนี้ ก็ขอจบการบรรยายประวัติหลวงปู่ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

โอวาท พระครูสมุห์สุวิทย์ สุวิชฺชาโภ
ถอดเทป ปาโมกข์

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *