5. คุณวิเศษ
ลูกๆ ที่รักทั้งหลาย
วันนี้ เป็นวันแรกของการอธิษฐานจำพรรษา ซึ่งมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษาร่วมกัน เพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะใช้เวลาจากวันนี้จนถึงวันสิ้นสุดการอยู่จำพรรษาเป็นระยะเวลา ๓ เดือน
เมื่อมีการอยู่ร่วมกัน ก็จะมีการแนะนำ แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ภายในซึ่งกันและกัน ทำให้คลายความสงสัยในสิ่งที่เราเคยข้องใจลงได้ และยังทำให้เกิดพลังหมู่ เป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมซึ่งกันและกัน เมื่อมีสิ่งที่เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ขอให้ใช้เวลาในพรรษานี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมาบวชให้ได้
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และถูกวิธี เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า
ปตฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ
อันวิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน
การเข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนานั้น เรารู้ตัวเองดีว่า ได้บรรลุคุณวิเศษแล้วหรือยัง ตั้งแต่เบื้องต้นคือ เข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงความบริสุทธิ์ จนเข้าถึงความรู้แจ้งภายใน คุณวิเศษเหล่านี้บังเกิดขึ้นในตัวของเราแล้วหรือยัง ถ้าหากยังไม่เกิด ในพรรษานี้ก็จงตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชให้ได้
ใครที่ปฏิบัติธรรมยังเข้าไม่ถึงความสุขภายใน ก็จะต้องพยายามปฏิบัติอย่างจริงจัง เอาให้เข้าถึงให้ได้ ใครยังไม่พบแสงสว่างภายใน ยังไม่พบดวงธรรม ยังไม่พบกายภายใน ยังไม่พบพระธรรมกาย ยังไม่เข้าถึงวิชชาธรรมกาย เพื่อจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงของชีวิต นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำให้ได้ภายในพรรษานี้
สำหรับลูกที่เพิ่งเข้ามาบวชในพรรษานี้ ยังไม่มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง มีแต่กิจวัตรคือ การสวดมนต์ ไหว้พระ ทำภาวนา ช่วยเหลือกิจการงานสงฆ์ส่วนรวมในบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น ก็เป็นโอกาสที่เหมาะอย่างยิ่ง ที่จะใช้เวลาตลอด ๓ เดือนในพรรษานี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยๆ ต้องให้เข้าถึงความสุขภายใน ให้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงที่ทุกคนปรารถนามีลักษณะอย่างไร แตกต่างจากความเข้าใจดั้งเดิมของเราหรือไม่
ความสุขที่แตกต่าง
“ความสุข” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ และสามารถเข้าถึงความสุขแท้จริง ที่ตนเองแสวงหามาตลอดชีวิต
ก่อนบวช เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ความสุข” อย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันไปตามรสนิยมของแต่ละคน บางคนบอกว่าการเข้าคลับเข้าบาร์ดื่มสุราเมรัย นั่นคือความสุข บ้างก็ว่าการเดินทางท่องเที่ยว ชมธรรมชาติตามป่าเขาลำเนาไพร หรือการเดินทางท่องเที่ยวไปรอบโลก คือ ความสุข การมีเงินทอง มีทรัพย์สมบัติมากมาย คือ ความสุข สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราเข้าใจว่าเป็นความสุข
พรรษานี้เราต้องรู้ให้ได้ว่า ความสุขในความหมายที่เราเข้าใจก่อนบวช กับความสุขภายในที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมนั้นแตกต่างกันอย่างไร
ดังนั้น เมื่อเราตัดสินใจเข้ามาบวชแล้ว จงใช้เวลาตลอด ๓ เดือนตั้งใจปฏิบัติสมาธิ กระทั่งเข้าถึงความสุขภายในให้ได้
ความสว่างที่แตกต่าง
ถ้าให้ดียิ่งไปกว่านั้น ต้องปฏิบัติให้เข้าถึงความสว่างภายใน อันเป็นเบื้องต้นในการเข้าถึงธรรม เมื่อความสว่างเกิดขึ้นก็จะขจัดความมืดให้หมดไป สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง เราจะเข้าใจว่า ความสว่างภายในนั้น แตกต่างจากความสว่างภายนอกอย่างไร แตกต่างจากความสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว หรือแสงสว่างที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างไร เข้าถึงแล้วมีรสชาติอย่างไร นี้เป็นความรู้ที่จำเป็นต้องรู้ให้ได้
ดวงที่ควรดู
ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็ต้องปฏิบัติให้เข้าถึงดวงธรรมภายใน อันเป็นจุดเริ่มต้นของอริยมรรค คือ ทางเดินของพระอริยเจ้าที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ต้องให้เข้าถึง ให้เห็น ให้รู้จักว่า ดวงธรรมเบื้องต้นที่เรียกว่า “ดวงปฐมมรรค” นั้นมีลักษณะอย่างไร
เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ตั้งใจปฏิบัติสมาธิกระทั่งเข้าถึงดวงปฐมมรรคได้ การบวชในคราวนี้จะมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลทีเดียว แม้จะสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ สร้างถาวรวัตถุมากมาย บุญยังไม่เท่ากับการเข้าถึงปฐมมรรค
เพราะบุญจากการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ส่งผลเพียงแค่ให้เราไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ซึ่งยังเป็นกามาวจรเท่านั้น แต่บุญจากการเข้าถึงดวงธรรม มีอานิสงส์ใหญ่ จะนำให้เราเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า
เมื่อเข้าถึงแล้ว ถ้ารักษาจุดตรงนี้เรื่อยไป กระทั่งเข้าถึงดวงสว่าง ชัด ใสแจ่มตลอดชีวิต ถึงเวลาหลับตาลาโลกก็ไปเป็นสหายของเทวดาทีเดียว สามารถปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ต้องไปกันเลย
การเข้าถึงดวงปฐมมรรค แสดงว่ามาถูกทางแล้ว เมื่อเห็นจุดเริ่มต้นแล้ว ในไม่ช้าก็จะถึงที่หมายโดยปลอดภัย เป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชในเบื้องต้น
กายภายใน
ถ้ายิ่งไปกว่านั้น ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงกายภายใน รู้จักชีวิตในระดับที่ละเอียด ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ซึ่งเป็นกายที่อยู่ในภพ ๓ ซ้อนอยู่ภายในของกายมนุษย์หยาบ เป็นสิ่งที่เราควรปฏิบัติให้เข้าถึง
เมื่อเข้าถึงแล้ว เราจะเห็นความแตกต่างของชีวิตในแต่ละระดับได้อย่างชัดเจน เกิดความรู้แจ้งเห็นแจ้งและเข้าใจในชีวิต จากเดิมเข้าใจว่าชีวิตมีเพียงระดับเดียว คือ กายมนุษย์หยาบ แต่ความจริงแล้ว ยังมีชีวิตอีกหลายชีวิตที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เราจะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภพภูมิต่างๆ ที่รองรับกายที่เป็นอยู่นั้นอย่างแจ่มแจ้ง
ความรู้แจ้งเห็นแจ้งนั้นจะมาพร้อมๆ กับความบริสุทธิ์ ความสุข ความปีติปราโมทย์ใจ อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน
รัตนะทั้ง ๓ คือ วัตถุประสงค์ของการบวช
ถ้าให้ยิ่งไปกว่านั้น ต้องปฏิบัติธรรมกระทั่งเข้าถึงธรรมกายภายใน เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ปฏิบัติเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ได้ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นนักบวช
เราจะรู้จักว่าที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไร มีรูปพรรณสัณฐานและคุณสมบัติอย่างไร จะเข้าใจคำว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วว่า มีความหมายที่แท้จริงลึกซึ้งกว้างขวางเพียงไร ธรรมกายนี่แหละ คือ แก่นของพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น
เมื่อเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ เราจะเป็นพระที่สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน มีอานิสงส์ใหญ่แก่ตัวเรา ต่อโยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมโลก ทุกคนจะพลอยได้อานิสงส์จากส่วนนี้ด้วย
เราจะได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์อย่างแท้จริง เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ เป็นพระที่สมบูรณ์ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพ กราบไหว้ บูชา ควรแก่การต้อนรับในทุกสถานที่
เพราะฉะนั้น การเข้าถึงรัตนะทั้งสามนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของนักบวช
สมมติสงฆ์
ถ้าบวชเข้ามาแล้วยังเข้าไม่ถึงรัตนะทั้ง ๓ ก็ยังไม่ชื่อว่า ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในเบื้องต้น ยังเป็นพระที่ไม่สมบูรณ์เป็นเพียงสมมติสงฆ์ คือ สมมติว่าเป็นพระสงฆ์ ที่มีพระวินัยกำหนดว่า จะต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ มีเครื่องนุ่งห่ม บริขาร และความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากชาวโลก สมมติเอาไว้ว่า นี่คือพระสงฆ์ สมมติว่าเป็นเนื้อนาบุญ เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพ กราบไหว้ บูชา เหมาะแก่การต้อนรับ ดูแลเอาใจใส่ เป็นเพียงแค่การสมมติเท่านั้น ยังไม่เป็นพระที่สมบูรณ์ ท่านถึงเรียกว่า สมมติสงฆ์
ส่วนเนื้อนาบุญอย่างแท้จริงและเป็นผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้ทั้งมนุษย์และเทวดา ควรแก่การต้อนรับ คือ ผู้ที่เข้าถึงรัตนะภายในทั้ง ๓ นั่นเอง
พรรษานี้ ถ้าลูกๆ เข้าถึงพระรัตนตรัยได้ การบวชครั้งนี้แม้เป็นเพียงช่วงสั้นแค่ ๓ เดือน ก็ถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบวช ได้อานิสงส์ใหญ่ ยิ่งกว่าผู้บวชมาหลายสิบพรรษา แต่ยังเข้าไม่ถึงพระรัตนตรัยภายใน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพิ่งเข้ามาในธรรมวินัยนี้ ควรให้ความเอาใจใส่ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะมีสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บวชใหม่อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีกิจกรรมที่เราจะต้องทำ มีแต่กิจวัตรเท่านั้น กิจกรรมส่วน ใหญ่พระผู้บวชก่อนเป็นผู้รับภาระแทนไป มีอุบาสกอุบาสิกาคอยรองรับแทนพวกเรา
หน้าที่ของผู้บวชใหม่ มีแต่เพียงการศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนตนเองไปตามศีล สมาธิ และปัญญาเท่านั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพระใหม่ที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ในช่วงจังหวะที่ปลอดกังวล พ้นจากเครื่องพันธนาการของชีวิต ปราศจากสิ่งแวดล้อมที่กดดันชีวิตเราให้เครียด ให้สับสนวุ่นวายตลอดเวลา
หากสามารถศึกษาเข้าไปเรื่อยๆ ให้เห็นแผนผังของชีวิต คือ ๑๘ กาย เข้าถึงกายภายใน ๑๘ ชั้น ที่ซ้อนๆ กันไปตามลำดับได้ ยิ่งเป็นสิ่งอันประเสริฐ
ความรู้จากธรรมกาย
แผนผังของชีวิตที่เป็นชั้นๆ เข้าไปทั้ง ๑๘ กาย เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าถึงให้ได้ ถ้าเข้าถึงไม่ได้ ก็ยังไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เราจะได้ศึกษาวิชชาในทางพระพุทธศาสนา เช่น บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ วิชชาทั้ง ๓ ก็จะอยู่ในกำมือของเรา ถ้าเราได้เข้าถึงแผนผังของชีวิต ได้เข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายภายในตัวของเรา
เพราะวิชชาทั้งหมดนี้อยู่ในคลองแห่งธรรมจักขุ อยู่ในญาณทัสสนะของธรรมกาย วิชชาก็ดี แสงสว่างก็ดี ญาณทัสสนะก็ดี จักขุก็ดี ปัญญาก็ดี จะบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะฉะนั้นยังมีสิ่งที่น่าศึกษาอีกมากมายรอเราอยู่
ธรรมะเป็นเรื่องในตัว
ธรรมทั้งหมดนี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกตัว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงนำเอาเรื่องในตัวที่ท่านได้เข้าถึงมาแนะนำสั่งสอน เปิดเผยให้เราได้รับทราบ ให้เราได้เข้าถึงความเป็นจริงของชีวิต เข้าถึงในสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แสง สว่าง ดวงธรรมภายใน กายภายใน สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครๆ สร้างขึ้นมา ไม่ได้เป็นนิมิตที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วจริงในกลางกายของมนุษย์ทุกๆ คน ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ภาษาไหน หรือนับถือศาสนาใด ต่างแต่ว่าใครจะมีความรู้ได้กว้างไกล หรือเข้าถึงได้แค่ไหนเท่านั้น ใครเข้าถึงแค่ไหน ก็รู้จักในสิ่งที่ตนเข้าถึง สิ่งที่ตนยังเข้าไม่ถึง เขาก็ยังไม่รู้จัก
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงในยุคของพระองค์ท่าน มาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้จัก ได้เข้าถึง ได้หลุดพ้น และเกิดญาณหยั่งรู้ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตเช่นเดียวกับพระองค์
เพศนักบวช
เพศนักบวช เป็นเพศที่เหมาะสมต่อการแสวงหาความจริงของชีวิต เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาทำมาหากินแบบชาวโลก มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากชาวโลก ไม่สับสนวุ่นวาย ไม่มีแรงกดดันจากทุกๆ ด้าน
สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศก็เหมาะสมต่อการแสวงหาสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา เหลือแต่เพียงว่าเราจะเอาจริงแค่ไหน และทำถูกวิธีการหรือไม่
เราต้องมีความตั้งใจจริงว่า จะต้องรู้ให้ได้ จะต้องค้นให้เจอในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ ให้ทำกันอย่างจริงๆ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และต้องทำให้ถูกวิธีด้วย
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
วิธีที่หลวงพ่อได้แนะนำเอาไว้นั้น เป็นวิธีที่จะทำให้เข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านได้สรุปไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ คือ ให้นำใจของเราที่ซัดส่ายไปมาในที่ต่างๆ นั้น มาฝึกให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตัวของเราให้ถูกส่วน เมื่อถูกส่วนแล้ว เราจะรู้เห็นความเป็นจริงไปตามลำดับ
ใจจะหยุดได้ เราต้องวางใจอย่างสบายๆ ให้มีสติ มีความสบายและสม่ำเสมอ ทำอย่างต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดินหรือทำภารกิจอะไรก็ตาม ก็ให้มีสติอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ แล้วก็สังเกตดูว่าสบายจริงหรือไม่ หมั่นปรับกาย วาจา ใจ ของเราตลอดเวลา จนกระทั่งใจอยู่ในสภาวะที่พอเหมาะพอดี เมื่อพอเหมาะพอดีแล้ว ใจจะถูกส่วนไปเอง และในไม่ช้าก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวของเรา
อารมณ์ดีและอารมณ์สบาย
อารมณ์ดีและอารมณ์สบายเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ทำให้สติกับความสบายของเราเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนอารมณ์ที่ขุ่นมัว ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ย่อมทำให้ใจเราฟุ้งซ่าน ขุ่นเคือง เร่าร้อน และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรม เพราะฉะนั้นให้รักษาอารมณ์ดี และอารมณ์สบายเอาไว้ให้ดี
จงตั้งพรหมวิหารธรรมขึ้นมาในใจ ให้มีความรู้สึกเป็นมิตร และมีความปรารถนาดีต่อเพื่อนสหธรรมิก และทุกๆ คน แม้เพื่อนสหธรรมิกนั้นอาจจะพลาดพลั้งล่วงเกินเรา โดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม ก็ให้อภัย ไม่ถือสา ไม่สนใจในการล่วงเกิน หรือข้อบกพร่องพลาดพลั้งของเพื่อนสหธรรมิก
รักษาอารมณ์ดี อารมณ์สบายให้ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน มีความรู้สึกเป็นมิตรและปรารถนาดีต่อทุกๆ คน แล้วอารมณ์ดีและอารมณ์สบายที่เรารดน้ำพรวนดินอย่างสม่ำเสมอในจิตใจของเราทุกวันนั้น ก็จะเป็นเครื่องเกื้อกูล สนับสนุนการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราให้เข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้น
ในเทศกาลเข้าพรรษา
ชาวพุทธทั่วไปยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่า ภายในพรรษาจะต้องเพิ่มคุณธรรมในตัว หรืออย่างน้อยก็ลด ละ เลิก สิ่งไม่ดีที่เคยทำมา เช่น ใครเคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวบาร์เที่ยวคลับ เคยหงุดหงิด โมโหร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ อะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็จะลด ละ เลิก ภายใน ๓ เดือนนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เป็นการทดสอบกำลังใจของตัวเอง สั่งสมคุณธรรมภายในตัวให้เพิ่มขึ้น และหากมั่นคงดี เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็จะได้รักษาคุณธรรมนั้นสืบต่อไป แต่หากยังมีพลาดพลั้ง สิ่งเหล่านั้นก็จะเบาบางลงไป
พอถึงพรรษาใหม่ก็ตั้งหลักใหม่ เหมือนบัณฑิตจอบเหี้ยนที่บวชๆ สึกๆ ถึง ๗ ครั้ง ลาสิกขาออกไปทำมาหากิน พอถึงเวลาก็กลับมาบวช พอฝนตกก็นึกถึงจอบ นึกถึงไร่นา ก็สึกออกไปทำนา พอหมดหน้านาแล้วก็มาบวชใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ครั้งที่ ๗ ก็ตัดใจได้ และในที่สุดก็ได้เข้าถึงธรรม บรรลุวัตถุประสงค์ของการบวช ชาวโลกเขามีธรรมเนียมที่ทำสืบต่อกันมาอย่างนี้
ส่วนเราเป็นผู้ที่อยู่ในอู่แห่งศีลธรรม อยู่ในทะเลแห่งศีลธรรม อยู่ในท่ามกลางความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย จึงควรจะสร้างคุณธรรมภายในใจของเราให้ยิ่งกว่าที่ชาวโลกเขาได้ตั้งใจทำกัน
ตรวจตราดูให้ดี
ในระดับความคิด ควรจะตั้งปณิธานเอาไว้ว่าภายในพรรษานี้ เราจะตั้งใจเป็นพระที่สมบูรณ์ จะไม่ตรึกในเรื่องของสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เช่น
กามวิตก เราจะให้ใจสะอาด เกลี้ยงเกลา ประดุจเพชรที่ใสสว่าง หรือประดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ที่ปราศจากหมู่เมฆ ใจผุดผ่อง ใจผ่องใส นั่งก็ยิ้มได้ นอน ยืน เดิน ก็ยิ้มได้ว่า ใจเราผ่องใสอย่างแท้จริง
พยาบาทวิตก คือ ความขุ่นมัว ขัดเคืองใจ ก็จะไม่ให้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าใครจะล่วงเกินเราด้วยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ดี พรรษานี้เราจะไม่ถือสากัน จะให้อภัย ไม่เก็บขังความขุ่นมัวไว้ในใจ ไม่เก็บเอากิริยาท่าทาง หรือถ้อยคำของผู้ที่กล่าวล่วงเกินเรามาไว้ในใจ จนกระทั่งคิดแค้น คิดแก้แค้น คิดอาฆาต เข่นฆ่า ทำลายกัน
พรรษานี้จะไม่ให้พยาบาทวิตกบังเกิดขึ้น ให้จิตใจของเราเยือกเย็น ผ่องใส เป็นมิตรกับทุกคน หันไปรอบทิศมีแต่มิตรรอบตัวเราตลอดเวลา แล้วจิตของเราจะผ่องใสเป็นสมาธิได้ง่าย
วิหิงสาวิตก ความคิดที่จะเบียดเบียนทำลายใคร ก็จะไม่ให้เกิดขึ้นในใจของเราเลย ใจจะมีแต่ความปรารถนาดี ขอให้เขาอยู่เป็นสุข ให้เขาได้เข้าถึงธรรม ให้เขาได้บรรลุธรรม ให้คิดกันอย่างนี้นะลูกนะ
เรื่องถ้อยคำ พรรษานี้ตั้งใจให้ดี ถ้อยคำใดที่ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่เป็นประโยชน์ เป็นคำไม่จริง เป็นคำหยาบเราจะไม่พูด พรรษานี้เราจะพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นปิยวาจาเป็นที่รักของทุกๆ คน กล่าวธรรมภาษิต กล่าวถ้อยคำที่เป็นที่รัก เป็นคำจริง มีประโยชน์ พูดให้ถูกจังหวะ ถูกกาลเทศะ และเป็นคำที่เปี่ยมด้วยเมตตา นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องตั้งใจเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำของเรา
สำหรับการกระทำ ก็ไปศึกษาดูว่า อะไรที่จะทำให้เราเป็นพระที่สมบูรณ์ตามพระธรรมวินัย แต่อันที่จริงวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ถ้าเรารักษาจิตดวงเดียวของเราเอาไว้ให้ตั้งมั่นอยู่ในกลางกาย ให้มีแต่ความใส สะอาด บริสุทธิ์ อย่างนี้ตลอดพรรษา ก็ได้ชื่อว่าครอบคลุมในสิ่งที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด
เมื่อเรามีวัตถุประสงค์ในการเข้ามาศึกษาวิชชาธรรม-กาย มาฝึกอบรมหล่อหลอมตัวเราให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ รวมทั้งมาสร้างบารมี และมาทำหน้าที่กัลยาณมิตร พรรษานี้ก็จะต้องตั้งใจให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้ ผู้ที่ยังทำไม่เป็นก็พยายามทำให้เป็น ผู้ที่ทำเป็น ได้เข้าถึงจุดที่จะศึกษาได้แล้ว ก็ให้ตั้งใจมั่นที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายของเราให้ดี ให้เต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
การศึกษาวิชชาธรรมกายจะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จากสิ่งที่พญามารเขาบังคับบัญชาเราได้
วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาสูงสุด เป็นอสาธารณะ ไม่ทั่วไป การที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายได้นั้น จะต้องเข้าถึงธรรมกายเท่านั้น ธรรมกายนั้นมีอยู่แล้วภายในตัวของเรา ถ้าเราได้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน เราเป็นท่าน ท่านเป็นเราอย่างแท้จริง นั่นแหละจึงจะศึกษาวิชชาธรรมกายได้
เรายังมีสิ่งที่ต้องศึกษาอีกมากมายทีเดียว ลูกทุกรูปยังมีความแข็งแรง มีความสดชื่นของร่างกาย และความปลอดกังวลอยู่ในขณะนี้ ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันเต็มที่ จะมีโอกาสศึกษาวิชชาธรรมกายกันได้อย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้นการศึกษาและฝึกฝนให้ชำนาญยิ่งขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้อย่างที่เราตั้งใจเอาไว้ ส่วนการสร้างบารมี กิจกรรมต่างๆ เราก็ทำกันอยู่แล้ว หน้าที่กัลยาณมิตรชี้หนทางสว่างให้แก่ชาวโลกทั้งหลาย เราก็ทำกันเป็นปกติ แต่พรรษานี้เราจะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่าทุกๆ ปี ที่ผ่านมา
นี่คือสิ่งที่หลวงพ่ออยากจะฝากไว้แก่ลูกทุกๆ รูป ที่ได้สมัครใจเข้ามาอยู่ร่วมกันในอารามแห่งนี้ เพื่อสร้างบารมี เพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงพ่อ เพื่อที่จะศึกษาและฝึกฝนให้ชำนาญในวิชชาธรรมกาย เพื่อที่จะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม เราจะได้บรรลุวัตถุประสงค์กันในคราวนี้
วันอังคารที่ ๓๐ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
หนังสือ พรรษาวิสุทธิ์
www.dhamma01.com/book/02
๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙