๔-๔ หยาดเหงื่อที่หลั่ง…ต่างกลั่นเป็นบุญ

วัยของลูกเณร เป็นวัยที่เหมาะสมในการศึกษาวิชชาธรรมกายอย่างยิ่ง
เพราะว่าวัยนี้มีโรคน้อย สุขภาพยังแข็งแรง เครื่องกังวลก็ไม่มี เหนื่อยแป๊บเดียว เดี๋ยวพักก็หาย
ลูกเณรยังเหนื่อยไม่จริง วัยขนาดหลวงพ่อนี่เหนื่อยจริง นั่งเฉยๆ ก็เหนื่อย นอนเฉยๆ ก็เหนื่อย
ในวัยของลูกเณรกำลังแข็งแรง สดชื่น เบิกบาน มีความพร้อมทุกอย่างเลย ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนตัวเราให้ดี
ทุกกิจกรรมมีเอาไว้เพื่อการสร้างบารมีทั้งนั้น อย่าคิดเพียงตื้นๆ ว่า ทำไมเราจะต้องทำงานโน่น ทำงานนี่ ลำบากลำบนจังเลย อย่าไปคิดอย่างนั้น

วัดของเราเป็นของลูกเณรทั้งหมด ต่อไปเมื่อหลวงพ่อไม่อยู่แล้ว ทีมของลูกเณรเจริญเติบโตขึ้น ก็ต้องมารองรับในสิ่งที่หลวงพ่อและชุดบุกเบิกได้สร้างขึ้นมา
ลูกเณรอยู่ในชุดรักษา และทำให้เจริญต่อไป
เราต้องเรียนรู้งานทุกระบบ ตั้งแต่ในห้องน้ำหลวงพ่อก็ทำมาแล้ว ต้นไม้ใบหญ้า ขุดลอกคันคูคลอง ทำความสะอาด จัดเสนาสนะ ตลอดจนกระทั่งงานทุกอย่าง
เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเรียนรู้ไปทุกระบบ เป็นงานที่เราต้องทำ เมื่อทำแล้ว
นอกจากจะได้เรียนรู้งานแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เลือดลม
เดินสะดวก และเป็นการฝึกความมีระบบระเบียบแก่เราด้วย
คนที่มีใจรักความสะอาด มีอานิสงส์คือ สิ่งสกปรกจะเข้าใกล้เราไม่ได้
จะไปเกิดในภพไหนก็แล้วแต่ จะไปเป็นชาวสวรรค์ วิมานเราก็จะสว่างมีรัศมียิ่งกว่าใคร
ลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งที่สกปรกไม่เข้ามาใกล้เราเลย
จะไปไหน มีแต่ความสะอาด ราบรื่น มีระบบ มีระเบียบตลอด
นี่เป็นอานิสงส์ที่จะติดตัวเราไปในภพเบื้องหน้า
เพราะฉะนั้นมีเรี่ยวแรงทำไปเถอะลูก เราจะได้เรียนรู้ไปทุกระบบ
ต่อไปเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รุ่นหลังตามมาเราก็จะได้สอนเขาได้
แนะนำเขาได้ว่า อย่างนี้ควรทำอย่างนี้ไม่ควรทำ

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
วันที่ วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ที่มา
หนังสือ ผ้าสีสุดท้าย
อ่านในรูปแบบ EBook ที่นี่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *